คนเรียนรู้จะอยู่กับโรคได้
แต่อยู่ด้วยความหิวไม่ได้ เมื่อไหร่รัฐบาลจะเข้าใจคนจน ?
นายณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด‘เต้น’’ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 63
ว่า 'ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้
รัฐบาลจะสามารถแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็น 0
ได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้น
กับการดำรงชีวิตของประชาชนได้ เพราะสังเกตจากวิธีคิด
วิธีการทำงานของรัฐบาลยังย่ำอยู่กับที่
ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้หมายความเพียงแค่จำนวนผู้ติดเชื้อ
จำนวนผู้ป่วย จำนวนผู้ตาย หรือจำนวนผู้รักษาหายเท่านั้น แต่หมายถึง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม
และการเมืองที่โลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
ในหลายประเทศสถานการณ์ของโลกเลยจุดสูงสุดไปแล้ว
ผู้คนในสังคม ต่างเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสนี้
แต่สถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจยังไม่ถึงที่สุดและยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า
ถึงที่สุดของผลกระทบนี้คือจุดไหนอย่างไร
ในประเทศไทยนานนับเดือนที่ผ่านมา
เราถูกทำให้ใจจดใจจ่ออยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ
ทั้งที่ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีมากมายกว่านั้นหลายเท่า
แล้ววันนี้
เมื่อเรื่องการระบาดของโรคลดลง การระบาดของอาการอดอยากหิวโหยของผู้คน
จึงปรากฏออกมาแรงและชัดขึ้นทุกที ในทัศนะผมเห็นว่า เชื้อไวรัสตัวนี้ร้ายแรงที่สุด
เท่าที่มวลมนุษยชาติเคยพบมา ฤทธิ์เดชของมัน ไม่ได้อยู่ที่การเข้าไปอยู่ในร่างกายคน
แต่ฤทธิ์เดชที่แท้จริงอยู่ที่การเข้าไปทำลายกระบวนการทางสังคมเดิม ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิม
และมีอิทธิพลเหนือวิถีชีวิตเดิมของมนุษย์ทั่วโลก ตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ยังไม่มียารักษา มีทางเดียวเท่านั้น คือ เราต้องรีบกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติ
โดยการอยู่ร่วมกับเชื้อนี้
ผมไม่ได้บอกให้หลับหูหลับตา
เดินออกจากบ้านมาใช้ชีวิต แต่ผมเรียกร้องให้เปิดหูเปิดตา
เข้าใจความจริงและกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิต
คนเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคได้
แล้ววันนี้เกิดความเข้าใจมากขึ้น อย่างมีนัยยะสำคัญ
-ประชาชนอยู่ร่วมกับโรคได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความหิวโหย
สังเกตได้จากการออกตั้งจุดบริการอาหาร
15 วันติดต่อกันของผม ผู้คนที่ออกมาแม้เต็มไปด้วยความอดอยากหิวโหย
แต่ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ให้ความร่วมมือกับมาตรการคัดกรอง
ไม่มีใครเอะอะแสดงความไม่พอใจ
คนเคยเป็นแฟนคลับ
เป็นกองเชียร์ เห็นหน้ากันในสถานการณ์ทางการเมือง นานๆ เจอกันที
ปกติจะจับไม้จับมือโอบเอวโอบไหล่
นี่รักษาระยะห่างแบบคนเข้าใจสถานการณ์
ภาพแบบนี้อธิบายว่าคนส่วนใหญ่ทำใจแล้วว่าจะต้องอยู่กับมันอีกนาน และรู้ชัดด้วยว่า
จะอยู่กับมันอย่างไรให้ปลอดภัยปลอดโรคปลอดเชื้อ
แต่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่กับความหิวโหยได้นานๆ
ไม่มีกระบวนการเรียนรู้หรือกระบวนการทางสังคมใด ที่จะทำให้มนุษย์รับความหิวโหยได้อย่างต่อเนื่องและทำใจว่าจะต้องอยู่ในสภาพนี้
มีแต่กระบวนการทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ
การดำเนินชีวิตเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์พ้นจากความหิวโหยและก็เดินหน้าต่อไปได้
ผมเคยเรียกโรคระบาดนี้ง่ายๆ
ว่าโรคห่า ลองถามใจคนทั่วไปก็ได้ครับว่าถึงวันนี้
ระหว่างโรคห่ากับโรคหิว
คิดว่าจะมีชีวิตรอดได้จากโรคอะไรง่ายว่า การป้องกันรักษาควบคุมการระบาดของโรค
ให้คะแนนผ่านครับ เดินหน้าต่อไป
แต่การรักษาโรคหิวให้กับประชาชน
สอบตก แล้วทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้
แก้สถานการณ์เฉพาะหน้า
ให้คนมีกินไปวันๆ ยังทำไม่สำเร็จ เกิดปัญหาฟ้องตัวเองอยู่ทุกวันหน้ากระทรวงการคลัง
ไม่ต้องพูดถึงมาตรการระยะยาวที่ใช้เม็ดเงินถึง 1.9 ล้านล้าน
ที่เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และมากด้วยคำถามจากหลายฝ่าย
วันนี้เรื่องโรคห่า
ปล่อยหน่วยแพทย์เค้าเถอะครับ ผมเชื่อว่าเค้าคิดเค้าทำกันได้ แต่ว่าโรคหิวเนี่ย
รัฐบาลจะเอายังไง
-เปลี่ยนการคลายล็อคจากรายมาตรการเป็นรายพื้นที่
ล็อคดาวน์คนไม่มีงานไม่มีเงินมาเป็นเดือน
ถึงวันนี้คลายล็อค 6
ประเภท ผมไม่เชื่อว่า จะเปลี่ยนสถานการณ์ได้
เพราะสถานการณ์ในแต่จังหวัดแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่าง
จะใช้มาตรการเหมือนกันหมดก็คงตอบโจทย์ไม่ได้
ผมเคยเสนอมาหลายรอบ
วันนี้จะย้ำข้อเสนอเดิมอีกที แทนที่จะกำหนดมาตรการคลายล็อคเป็นรายมาตรการ
น่าจะกำหนดเป็นรายพื้นที่ เช่น 9 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย เปิดได้หมดครับ
ยกเว้นผับบาร์สถานบันเทิงหรือกิจกรรมที่ต้องรวมคน ไม่ใช่ 6 ประเภท
อย่างที่กำลังประกาศอยู่นี้
เอา
9 จังหวัดปลอดเชื้อเป็นพื้นที่นำร่อง ปิดทางเข้าออกให้แข็งแรง คนในจะออก
คนนอกจะเข้า ต้องอยู่ภายใต้มาตรการคัดกรองเข้มข้นสูงสุด แต่กิจการห้างร้านทั้งหลาย
ให้เค้าเปิดบริการ
แต่ละผู้ประกอบการจะออกแบบวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ
ตัวประชาชนผู้เป็นผู้บริโภคก็จะมีมาตรการในการดูแล ป้องกันตัวเองเช่นเดียวกัน
มันน่าจะเปลี่ยนเกมจากรับเป็นรุกแบบนี้ไหมครับ ถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ที่ผ่านมาบางจังหวัดปิดล็อคพื้นที่
คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า แต่คนติดเชื้ออยู่ข้างใน เค้าก็ยังทำกัน
แล้วก็ยอดผู้ติดเชื้อยังลดลงได้
นี่เอาจังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเลยปิดล็อคแน่นหนาให้คนพื้นที่เค้าทำอยู่ทำกินกันไป
ไม่แน่นะครับลองสอบถามกันดู อาจจะมีจังหวัดยกมือขึ้นมาขอเป็นจังหวัดนำร่องก็ได้
-ความหิวไม่เคารพกติกา อย่าคิดแบบรัฐราชการ
ไม่มีใครดูแลประชาชนให้รอดพ้นจากโรคนี้ได้เท่ากับตัวประชาชนเองหรอกครับ
และตัวประชาชนเองนั่นแหละ ที่รู้ว่าทั้งโรคห่าและโรคหิว
ทำให้เค้ามีโอกาสตายได้ไม่น้อยไปกว่ากัน
แต่ถ้าเลือกทำงานเป็นรัฐราชการอย่างที่ผ่านมา
เอาปลัดกระทรวงมานั่งหัวโต๊ะในทุกกรรมการ
กลไกระเบียบกฎหมาย หลักเกณฑ์หลักการทั้งหลาย จะกลายเป็นเรื่องเทอะทะ เป็นอุปสรรค
ไม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลได้โดยง่าย
ดูเอาเถอะครับหลายเรื่องที่ออกมา แล้วบอกว่าเป็นมาตรการแก้ปัญหา ไอ้ที่ไปติดขัด คือติดขัดอยู่ตรงระเบียบหลักเกณฑ์
กติกาทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ตัวกติกาทั้งหลาย
ก็กรรมการหรือคณะทำงานนั่นแหละเป็นคนกำหนดออกมา
เมื่อเห็นอยู่ว่ากติกามันแก้ปัญหาไม่ได้
และในที่สุดกติกา กลายเป็นปัญหา แทนที่จะเลือกลดข้อจำกัดของกติกา
กลับเลือกที่จะคงความเข้มแข็งของกติกาเอาไว้
ถ้าความหิวมันรู้จักเคารพกติกาบ้างก็ดีสิครับ ผมถึงเรียกร้องว่า
ถ้าจะเอากันแบบนี้ก็ขอให้นายกรัฐมนตรีและคนใหญ่คนโตในรัฐบาลทั้งหลายชวนลูกชวนเมียอดข้าวอยู่กับบ้านสักวันหนึ่งแล้วคิดแก้ปัญหานี้
เผื่อจะเข้าใจอะไรมากขึ้น
เมื่อใช้ระบบราชการในการแก้ปัญหา
แล้วไม่มีการกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค ที่บอกว่า
ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดพิจารณา ที่จะผ่อนคลายการล็อคดาวน์
ก็เป็นแต่เพียงมาตรการควบคุม การระบาดของโรค แต่ไม่ได้ให้เครื่องมือ
ในการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
ผู้ว่าฯ
แต่ละจังหวัดจึงทำได้เพียงแค่ สั่งเปิด สั่งปิดกิจการ
แต่ไม่มีงบประมาณไปแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและทันที
เราจึงเห็นข่าวผู้ว่าจังหวัดเลยไปไถ่ของจากโรงจำนำให้ชาวบ้าน
จึงเห็นข่าวผู้ว่าพิษณุโลกควักเงินตัวเองจ่ายช่วยเหลือประชาชน
เรื่องพวกนี้พอได้รับรู้ก็ได้เพียงชื่นใจครับ
แต่แก้ปัญหาใหญ่ระดับประเทศขนาดนี้ไม่ได้ ส่วนมาตรการระยะยาว คือการใช้งบประมาณ 1.9 ล้านล้าน
ในการฟื้นฟู เศรษฐกิจ
-จับตาพ.ร.ก.เงินกู้ เมื่อนายกฯ ตู่ ไม่เปิดสภาฯ
ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
เพื่อถกอภิปรายและพิจารณาเรื่องนี้ ปัญหาใหญ่ขนาดนี้
นายกรัฐมนตรีจะใช้แต่ปลัดกระทรวง กับข้าราชการอยู่ได้ยังไง
ตัวแทนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย
สมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย เขาต้องมีบทบาทและได้ปฏิบัติหน้าที่
ที่จริงไม่จำเป็นต้องให้ใครร้องเลยครับ
เป็นดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะรวบรวมเสียงในรัฐบาล เปิดสภา
ให้ปากเสียงของประชาชนได้ทำงานคู่ขนานไปกับรัฐบาลได้ทันทีแต่นี่นอกจากไม่ริเริ่มแล้วยังตีกัน
แถมมีลูกหาบมาตีกิน ว่า พวกที่เสนอให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญคือ
พวกจ้องจะเล่นเกมการเมือง เล่นงานรัฐบาล
ถ้าคิดได้แค่นั้น
ต้องย้อนกลับไปเป็นรัฐบาลรัฐประหารครับ ไม่ใช่รัฐบาลที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากการเลือกตั้งเหมือนตอนนี้
กรอบวงเงินกู้มหาศาล
ต้องการรายละเอียด ต้องการความชัดเจน และต้องการให้กลไกตรวจสอบ
ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
แต่นี่เกมดูเหมือนรัฐบาลต้องการจะใช้ข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา
เอากฎหมายเงินกู้เข้าสภาช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
ซึ่งวิกฤตความหิวโหยของประชาชนกำลังพุ่งขึ้นสูงสุดพอดี
แล้วใช้บรรยากาศนั้นกดดันการทำหน้าที่ของสภา ว่าจะพิจารณากันช้ากันนานไม่ได้
เนื่องจากชาวบ้านรอการแก้ปัญหา
กฎหมายก็จะถูกเรียกร้องให้ผ่านไปโดยเร็ว
การพิจารณาตรวจสอบก็ทำได้แค่ลวกๆ แล้วในที่สุดปลายทางของเงินก้อนนี้
อาจจะกลายเป็นมหาวิกฤตการทุจริตคอรัปชั่น
หรือการบริหารจัดการงบประมาณที่ไร้ศักยภาพ ปัญหาก็จะตกอยู่ที่ประชาชนในที่สุด
ผมไม่ได้ติเรือทั้งโกลนไม่ได้ติโขนก่อนทรงเครื่อง
แต่ดูแต่ละเรื่องแต่ละเรื่องที่ผ่านมาสิครับ เอาเฉพาะแค่ช่วงโควิด-19 รัฐบาลชุดนี้
เดี๋ยวก็จะซื้อเรือยกพลขึ้นบก เดี๋ยวก็จะซื้อยานยนต์หุ้มเกราะ
เดี๋ยวก็จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก cptpp
ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันโวยวาย
สังคมไม่ช่วยกันตรวจสอบ ป่านนี้ ผ่านไปแล้วทุกเรื่อง แล้ววงเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน
แม้ว่าจะค่อยๆ ทยอยกู้มาก็ตาม จะปล่อยให้เดินข้ามหัวตัวแทนของประชาชน
ไปอยู่ในมือในดุลยพินิจของรัฐบาล ที่มีวิธีการทำงานแบบที่ผ่านมานี้ได้อย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์
ลูกหาบพรรคพลังประชารัฐออกมาคัดค้านก็ยังพอทนนะครับ เพราะเห็นกันอยู่ว่า
กติกานี้ร่างมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ แต่คุณชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา ไปเอากะเค้าด้วย
ไม่แสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าสถานการณ์นี้รัฐสภา ต้องรีบทำหน้าที่
อ้างแต่เพียงประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจ
อ้างแต่เพียงเป็นเรื่องจำนวนเสียงตามตัวบทกฎหมาย
วิกฤตใหญ่ที่สุดในโลกขนาดนี้ แล้วยังมาคิดเป็นหลักการ เป็นขั้นตอนปกติ
ไม่ต้องคนอายุ 80
อย่างคุณชวนล่ะครับ เอาใครที่ไหนมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาก็ได้
นี่ไม่ใช่หาเรื่องมาโจมตี หรือเอาสถานการณ์โควิด-19 มาเล่นเกมการเมืองนะครับ
แต่มันเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ไม่พูดกันชัดๆ ไม่ได้
ถ้าจะหาคนเล่นเกมการเมืองในสถานการณ์นี้
ต้องไปดูในพรรคพลังประชารัฐ ที่เขากำลังเล่นเกมแย่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค
แย่งเก้าอี้กรรมการบริหารและแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี'นายณัฐวุฒิกล่าว
(ทีมงาน)