วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตวิธีคิดและการทำงานต่อกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์สู้ศึก COVID-19 (24 เม.ย. 63)


ธิดา ถาวรเศรษฐ : ข้อสังเกตวิธีคิดและการทำงานต่อกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์สู้ศึก COVID-19 (24 เม.ย. 63)

แม้นดูเหมือนว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการสู้ศึก COVID-19 ในเชิงเปรียบเทียบกับหลายประเทศ

แต่ดิฉันคิดว่าท่ามกลางการต่อสู้กับโรคร้ายระบาดทั่วโลก เรามีต้นทุนการสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี มีบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และวิถีประวัติศาสตร์พัฒนาการการต่อสู้ของประชาชน ทำให้พัฒนาการด้านสาธารณสุขเราโดดเด่นยิ่งกว่าพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ดิฉันคิดว่าในสถานการณ์ COVID-19 เราควรทำได้ดีกว่านี้มาก ๆ หากไม่ถูกชี้นำผิด ๆ จากด้านการเมืองและการนำของรัฐบาลในระยะต้นของการระบาด ทำให้เราเสียหายทั้งด้านเม็ดเงินที่ต้องจ่ายและการล้มตายของผู้คน ที่สำคัญทำให้เกิดมาตรการเข้มข้นในการปิดเมือง ปิดประเทศ ในช่วงระยะหลังนี้ ทำให้ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในแผ่นดินนี้ย้อนหลังไปร่วม 80 ปี

ดิฉันขอเริ่มต้นให้มีการถอดบทเรียนโดยผู้คนด้านสาธารณสุขก่อน ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ดิฉันได้พูดในรายการไปแล้ว

ในฐานะประชาชน โดยจุดยืนผลประโยชน์ประชาชน และพอจะมีความรู้เรื่องโรคติดเชื่ออยู่บ้าง ดิฉันมีความเห็นต่อการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยสรุปย่อ ๆ ดังนี้คือ

1) ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีต่อโรคระบาดร้ายแรงตั้งแต่ต้น ๆ ประหนึ่งว่าไม่มีแผนการที่เหมาะสมกับโรคระบาดร้ายแรง เอาประสบการณ์เก่ามาใช้ได้ระดับหนึ่ง เช่น จากโรคซาร์ เท่ากับไม่มียุทธศาสตร์ในการรับมือโรคระบาด Pandemic ที่มีลักษณะร้ายแรงทั้งการดำเนินโรคและการติดต่อรวดเร็ว ซึ่งคณะทำงานด้านสาธารณสุขต้องมีทีมที่แข็งแกร่งพอที่จะนำเสนอต่อสังคมให้ได้ว่า “ชีวิตประชาชนและสาธารณสุขต้องนำการเมือง”

2) เมื่อขาดคณะทำงานที่แข็งแกร่งและมีวิสัยทัศน์ ตลอดจนระบบงานป้องกันที่ดีเพียงพอ ไม่สามารถนำเสนอแผนป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเป็นระบบเชิงรุก ด่านแรกในการตั้งรับก็ถูกตีแตก เพราะระบบการคัดกรองที่สนามบินและจุดทางเข้าประเทศล้มเหลว ปล่อยให้คนติดเชื้อจากภายนอกเข้าประเทศได้อย่างสะดวกสบาย นำเชื้อเข้ามาติดต่อในประเทศไทย

3) ที่มีปัญหามากในการตั้งรับแบบถอยหลังพิงฝาโรงพยาบาล คือการให้นิยาม PUI คนป่วยที่เข้าข่ายการสอบสวนโรคและมีสิทธิตรวจเชื้อได้ฟรี เป็นนิยามที่แคบ ต้องมีไข้และอาการแสดงของทางเดินหายใจเป็นหลัก ทำให้จำกัดการตรวจ COVID-19 เฉพาะผู้สงสัยในระดับ 2-3 หมื่นตัวอย่างอยู่นาน จนเพิ่งขยายนิยามผู้มีสิทธิตรวจ COVID-19 มากขึ้น แสดงถึงจุดอ่อนในการเข้าใจโรคนี้ว่า ผู้มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการก็ติดเชื้อ COVID-19 และเผยแพร่ได้  ดังนั้นประวัติการเสี่ยงสัมผัสเชื้อควรจะถือว่าสำคัญยิ่งกว่าไปยืนวัดไข้แล้วอ้างว่าผ่านการคัดกรอง  บัดนี้แม้มีการแก้ไขให้นิยามกว้างขึ้น แต่ก็หลังจากเชื้อแพร่กระจายเสียหายไปโดยใช่ที่ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม และควรอธิบายด้วยว่าปัจจุบันที่แสนกว่า Test นั้น จำนวนคนยังอยู่ระดับหมื่น อาจไม่ถึงห้าหมื่นคน ไม่ใช่ตรวจแสนกว่าคน

4) จากการให้นิยามคับแคบเพื่อจำกัดการตรวจหาเชื้อ เท่ากับไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก มีแต่ตั้งรับ คัดกรอง ลวก ๆ และถอยหลังพิงฝาโรงพยาบาล โดยตั้งรับแบบที่ถือเอาความสามารถของโรงพยาบาลเป็นหลัก ไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ณ บริเวณที่สงสัยสัมผัสโรคระบาด เราเพิ่งเริ่มที่ภูเก็ตและกำลังทำในบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เข้มข้นพอ ถ้ายังไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้ดีพอ คุณจะเอาอะไรไปทำให้ฝ่ายการเมืองยอมเปิดการล็อคเมือง ล็อคผู้คน ล็อคประเทศ เพราะเขากลัวการติดเชื้อรอบใหม่

5) การแสดงตัวเลขจำนวนการทดสอบตัวอย่างและผล ตลอดจนรายละเอียดสับสนมาก จนกระทรวงลบรายงานนี้ออกไป เพราะเมื่อแสดงว่ามีผลรอยืนยันหลายหมื่นตัวอย่าง สร้างความกังวลให้กับคนที่ติดตามตัวเลข ในที่สุดก็ลบทิ้งจากรายงานทั้งหมดย้อนหลัง

แสดงถึงความเลอะเทอะในข้อมูลและการรายงาน อีกทั้งต้องให้สาธารณชนเข้าใจว่าการตรวจแสนกว่าตัวอย่าง จริง ๆ แล้วเป็นจำนวนคนกี่คน เพราะหนึ่งคนส่งตรวจหลายครั้ง หลายตัวอย่าง ที่จริงต้องมีข้อมูลการทดสอบที่ดีและชัดเจนว่าตรวจกี่ราย ผลบวก ผลลบ และที่รอผลอยู่ จริง ๆ มีเท่าไร? ไม่ใช่มาลบทิ้งเฉย ๆ

6) ปัญหาการบริหารอุปกรณ์การแพทย์และการป้องกันบุคลากรการแพทย์ให้ปลอดภัย ควรจะมีการประเมิน ทบทวนและแก้ไข ไม่ใช่ห้ามรายงานว่าขาดแคลน มีการย้ายคนที่ออกมาปูดเรื่องเหล่านี้

7) การประเมินสถานการณ์ การวิเคราะห์ และวางแผนการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมกับคณะแพทย์มหาวิทยาลัย, คณะแพทย์โรคทรวงอก, คณะแพทย์โรคติดเชื้อ และคณะแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ไปเป็นคนละทางสองทาง ทำให้ขาดพลังในการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลและการเมือง ในการที่ให้สาธารณสุขนำการเมืองในช่วงโรคระบาด

8) กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานด้านสาธารณสุขควรถอดบทเรียนสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจัง ไม่ใช่ชื่นชมด้านบวก ละเลยด้านลบที่มีปัญหาไม่ใช่น้อย ต้องตรวจสอบถอดบทเรียนอย่างจริงจัง ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการปรับรื้อโครงสร้างการทำงาน จากรับ/ถอย มาเป็นรุกและรับอย่างมีจังหวะก้าว ไม่ใช่ปล่อยให้การเมืองนำแบบผิดทิศผิดทาง และต้องรุกเพื่อประชาชน  ให้ชีวิตประชาชนและสุขภาพเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารประเทศ นี่คือความมั่นคงแท้จริง ไม่ใช่การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ดังนั้นต้องมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไปจนสถานการณ์ปกติ ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร ผลักดันให้รัฐต้องจัดงบประมาณใหม่ที่เน้นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา เพื่อสร้างคนไทยที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ใช่ยืนกุมเป้าขอรับกระผมต่อฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลแต่ละยุค และจะได้ไม่หลงผิดไปชื่นชมระบอบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เพราะนี่ก็คือบทเรียนเช่นกัน!