วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ผู้จัดมลายูรายา พบ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ฯ “จาตุรนต์” ยกโมเดลสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ภาษามาลายูในการเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก

 


ผู้จัดมลายูรายา พบ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ฯ “จาตุรนต์” ยกโมเดลสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ภาษามาลายูในการเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก 


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ฯ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน จ.นราธิวาส โดยเวทีที่ 2 คือการรับฟังกลุ่มสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเคยพบกับทางกมธ.แล้วในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ จ.ปัตตานี แต่ในวันนี้ทางสมัชชาได้มาสะท้อนภาพรวมของการจัดงานมลายูรายา 2024 (Melayu Raya 2024) ที่จัดไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา


กิจกรรมมลายูรายาถูกจัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในปีนี้จัดไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นคือภาพเยาวชนมุสลิมสวมชุดมลายูมารวมตัวที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานีนับหมื่นคน แต่เมื่อคณะกรรมาธิการสอบถามตัวแทนสมัชชาถึงที่มาของการจัดกิจกรรม กลับพบว่าเกิดขึ้นมาจากปัญหาของความไม่เข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมของภาครัฐ


ผู้มาให้ข้อมูลสะท้อนว่า “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งถูกอธิบายจากรัฐทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทำให้คิดไปว่าคือการทำให้สังคมมลายูถูกกลืนหายไปจากการจัดกิจกกรมของรัฐที่มักถูกอ้างว่าเพื่อส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และรัฐก็ไม่ออกมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้วรัฐต้องการส่งเสริมอะไรกันแน่ จึงทำให้ภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมขึ้นมาเอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเข้ามาออกแบบกิจกรรม ก่อนจัดกิจกรรมผู้จัดได้พูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐมาหลายครั้ง อะไรที่รัฐไม่เห็นด้วยก็จะตัดออกไปจากกิจกรรม แม้กระทั่งเพลงที่จะใช้ในงานก็ส่งเนื้อเพลงให้เจ้าหน้าที่ดูก่อน


“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ในปี 2565 คือมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม 9 ราย ด้วยข้อหาที่รุนแรงคืออั้งยี่ซ่องโจร ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของพวกเขาเพียงเพื่อรณรงค์ทางวัฒนธรรมมลายู และสร้างสำนึกในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่รัฐทำไม่เพียงเป็นการใช้กฎหมายพิเศษปิดกั้นการแสดงออกเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์แล้ว ยังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐรับปากไว้ก็อาจทำไม่ได้จริง ไม่น่าเชื่อถือ” 


จนมาในปีนี้กิจกรรมเป็นไปด้วยความราบรื่นและถูกสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ผู้ให้ข้อมูลบางคนก็เล่าว่าก่อนจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ก็ยังให้ผู้ใหญ่บ้านในบางหมู่บ้านประกาศไม่ให้เยาวชนไปร่วมกิจกรรม


ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า นี่คือภาพสะท้อนที่สำคัญ เพราะตลอดการทำงานของคณะกรรมาธิการที่ผ่านมาเราพบว่าการจะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้นั้นควรรส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนอย่างเปิดเผย และอยู่ร่วมกันได้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศและรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน 


“ก่อนหน้าที่จะจัดเวทีในวันนี้ ผมได้ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาในกรรมาธิการเพื่อศึกษาการใช้ภาษามาลายูซึ่งเป็นภาษาแม่ของคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ในการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก สืบเนื่องมาจากทั้งยูเนสโกและการไปคุยกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าส่วนใหญ่ทั่วโลก ถ้าภาษาแม่ไม่ตรงกับภาษาประจำชาติ เขาจะให้ใช้ภาษาแม่ในการศึกษาจึงจะประสบความสำเร็จ แต่การศึกษาไทยที่ให้เด็กในชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาไทยที่เด็กไม่เข้าใจไปเรียนในทุกวิชา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ออกมาพบว่าต่ำที่สุดในประเทศไทย”


นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ากรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ฯ ต้องการทำข้อเสนอที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา รวมถึงภาษา ประธานกรรมาธิการกล่าวทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธ #กรรมาธิการ #ชายแดนใต้