วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2567

[ถอดบทสัมภาษณ์] อ.ธิดา เผย นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย มันต้องไปด้วยกัน ลั่น ไม่คิดฝากความหวังที่พรรคการเมือง

 


[ถอดบทสัมภาษณ์] อ.ธิดา เผย นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย มันต้องไปด้วยกัน ลั่น ไม่คิดฝากความหวังที่พรรคการเมือง

 

จาก สำนักข่าวทูเดย์ [https://www.youtube.com/watch?v=qBJtsF3_wiU]

 

คำถาม : การทวงความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องมา 14 ปี จนถึงปัจจุบัน ได้ความยุติธรรมสักกี่เปอร์เซ็น

 

คือเรียกว่าเราเคยคืบหน้าไปก่อนรัฐประหาร พอหลังรัฐประหารมันจบเลย พูดกันตรง ๆ ว่า รัฐประหารที่ทำขึ้นมา ที่มีการจัดการกับอธิบดี DSI นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ขู่ไว้เลยว่า ถ้ายังทำคดีต่อ เด้งแน่! พอทำรัฐประหารก็เด้งทันที ตอนนี้ไปถึงยึดทรัพย์แล้วมั้ง เพราะว่าคุณธาริตแกก็กลับไปกลับมา ช่วงแรกแกก็อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์กับศอฉ. พอเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ความจริงก็ปรากฏอยู่ว่าจริง ๆ เป็นอย่างไร เรื่องที่เขาทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่มันไม่ถูกต้องสำหรับผู้ปกครองที่มาจากการทำรัฐประหาร

 

พูดง่าย ๆ เลยว่า 62 ศพ ยังไม่มีการชันสูตรพลิกศพเลยซึ่งต้องทำภายใน 30 วัน แต่นี่ 14 ปี แล้วที่อาจารย์เคยบอก ทหาร, กระทั่งร่มเกล้า ก็ไม่มีสำนวนชันสูตรพลิกศพเพื่อส่งฟ้อง แปลว่าเขาไม่ต้องการให้มีการฟ้องเลย ฟรีซหมดแม้กระทั่งทหารเอง ที่อาจารย์เคยถามว่าคุณไม่อยากรู้เหรอว่า “ร่มเกล้า” ตายเพราะอะไร แล้วละครเรื่องชายชุดดำ กลัวจะถูกพิสูจน์ว่ามันไม่จริงใช่มั้ย หรือยังไง?

 

62 จาก 90 กว่าศพ ไม่ได้ทำสำนวนชันสูตรฯ ที่ทำสำนวนชันสูตรไปแล้ว 33 ศพ ประมาณ 17 ศพ ที่บอกว่ามาจากทหารยิง คดีมันคืบหน้า แต่ในที่สุดนักการเมืองก็ไม่ได้ถูกลงโทษ เพราะ ป.ป.ช. ไปตัดตอนบอกว่าเขาทำตามหน้าที่ ไม่มีความผิด! แล้ว ป.ป.ช. มาจากไหน? แล้วในส่วนของคดีบางคดีที่ทำการไต่สวนไปแล้ว เขาบอกว่าให้นักการเมืองไปทางหนึ่ง ทหารไปทางหนึ่ง ในส่วนของทหาร พอไปถึงอัยการศาลทหารก็จบ ไม่มีการฟ้องร้อง ถ้าพูดตามแบบนี้แปลว่าเขา “ปิดประตู” 100% และสิ่งที่ปิดประตู 100% นั้นก็คือคดีที่คืบหน้า

 

แต่ส่วนที่ยังไม่ทำ ไม่ทำตามกฎหมายนะ 62 ศพที่ไม่ทำสำนวนชันสูตรฯ คุณผิดกฎหมายนะ นี่อาจารย์จะเตือนทั้ง ตำรวจ-DSI-อัยการ เรามาเรียกร้องคือให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเร่งรัดตรวจสอบ อย่างแรกเลยก็คือไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย พวกนี้ผิดกฎหมายนะ กฎหมายเขาบอกต้อง 30 วัน และนี่ 14 ปี แล้วส่วนที่คืบหน้าไป เราต้องการข้อที่ 2 คือแก้กฎหมาย เพราะว่าเราไปตันที่ทหาร และฝั่งนักการเมืองก็ไปตันที่ ป.ป.ช. แต่ทางพรรคเพื่อไทยและคุณณัฐวุฒิก็ต้องการแก้ให้ประชาชนไปฟ้องเองได้ หมายถึงญาติไปฟ้องตรงเองได้ แต่ว่ามันก็ไม่สำเร็จ และอาจารย์ก็ไม่ได้ appreciate กับวิธีนี้ เพราะอาจารย์ต้องการให้นักการเมืองมาขึ้นศาลพลเรือน และต้องการให้ทหารมาขึ้นศาลพลเรือนเหมือนกัน


ทำไม? คุณเป็นนักการเมือง ก็โทษมันตั้ง 20 ปี คุณไปอยู่ตรงนั้นโทษอย่างมากก็ 7 ปี คุณฆ่าคน แล้วคุณมี 3 ศาล หัวโขนที่เป็นนักการเมืองทำไมต้องมีสิทธิ์พิเศษและหัวโขนที่เป็นทหารทำไมต้องมีสิทธิพิเศษ ในเมื่อคุณทำความผิดอาญาต่อประชาชน คุณก็ต้องมาขึ้นศาลพลเรือนเหมือนกับประชาชนทั่วไป ตรงนี้ที่เป็นข้อเรียกร้องสำหรับพรรคการเมืองทั้งสองพรรค

 

คำถาม : เข้าใจว่าสิ่งที่เรียกร้องไม่ใช่ครั้งแรก

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เรารู้ว่าเขาก็กำลังหาเสียง เราก็เสนอชัดเจน จนกระทั่งเอาข้อมูลทั้งหลายที่เมื่อกี้บอก 62 ศพ อยู่ในนี้หมด (หนังสือการขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 – 2566 จาก นปช. ถึง คปช.53) มีสีบอกหมดเลยว่า ตายอย่างไหน ตายที่ไหน แล้วอยู่โรงพักไหนที่ยังไม่ได้ทำ และผลชันสูตรพลิกศพเป็นยังไง นี่อาจารย์ทำหมด เพราะว่าเขาไม่ทำ แต่ว่าเราจะฟ้องร้องประชาชน

 

เราเข้าใจเมื่อตอนทำรัฐประหาร ตัวอำนาจรัฐก็มาจัดการ แต่หลังรัฐประหารไปแล้ว ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยจริง ไม่มีคนเขียนสคลิปหรือคนควบคุมอยู่ข้างหลัง คุณทำซิ! ยกเว้นว่าคุณกลัว! คุณไม่กล้าทำ!

 

คำถาม : พอเวลาผ่านไป อาจารย์ยังพอมีความหวังมั้ยกับพรรคการเมืองที่ ณ ตอนนี้ไม่ได้เป็นคณะรัฐประหาร มาจากการเลือกตั้งแล้ว

 

คือในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อาจารย์คิดว่าอย่างน้อยควรจะทำ 1 ข้อที่ง่ายที่สุดเลย คือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการเร่งรัดตรวจสอบ และข้อมูลอาจารย์ทำให้หมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย อาจารย์เคยเอาไปให้พรรคเพื่อไทยแล้ว เขาก็บอกว่าเขาทำเรื่อง ป.ป.ช. เขาจะพูดในสิ่งที่เขาอยากจะทำ แต่สิ่งที่เราอยากจะขอเขาไม่พูด

 

อาจารย์พูด 3 ข้อ ตั้งคณะกรรมการ, แก้ไขกฎหมาย และอันที่ 3 ชาติหน้าก็ไม่รู้จะกล้าทำหรือเปล่า ก็คือให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศมาพิจารณาเป็นพิเศษ ครั้งที่แล้วอาจารย์ไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ แล้วอัยการเขาก็ตามมาถึงประเทศไทย มาคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ขอให้เซ็นให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจ เอาเฉพาะตอนนี้ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาเฉพาะกลุ่มศอฉ. แต่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเพื่อไทยตอนนั้น ไม่เซ็น

 

ในความคิดของอาจารย์ เขามี 2 เหตุผล 1) กลัวว่าจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งไม่จริง! 2) อาจจะคิดว่าทหารจะเกี่ยวข้อง เพราะว่าศาลโลกเขาบอกเราว่า ตอนที่เราไปฟ้องอภิสิทธิ์ เขาบอกอภิสิทธิ์คนเดียวทำไม่ได้ ก็ต้องฟ้องทีเดียวทั้งหมด เขาอุตส่าห์มาประเทศไทย บอกว่าคุณไม่ต้องกลัว เอาแค่เฉพาะคดีนี้ แล้วถ้าในประเทศมัน work หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศคืบหน้าดี เขาก็จะไม่ทำอะไร เขาเพียงแต่มาเพื่อเป็นหลักให้ประชาชนที่ถูกกระทำได้มีความสบายใจว่ามีศาลอาญาระหว่างประเทศมาดู และในความคิดอาจารย์ มันเป็นการปรามการทำรัฐประหาร ก็จะไม่กล้าทำอีก แต่ว่าตอนนั้นเพื่อไทยไม่เซ็น

 

เพราะฉะนั้นใน 3 ข้อเรียกร้อง ง่ายที่สุดคือตั้งกรรมการ และข้อที่ 2 แก้กฎหมาย มันต้องใช้ทั้ง 2 พรรค ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย นี่เรามองอย่างเป็นมิตรนะ ไม่ได้มองอย่างศัตรูนะ เราก็หวังว่าคุณควรจะทำนะ

 

คำถาม : แล้วความคืบหน้า เขาจะทำมั้ย?

 

เพื่อไทยไม่ได้พูดในเชิงนั้น เขาพูดแต่ไอ้ที่เขาทำ เช่นหมายถึงว่า ป.ป.ช. ซึ่งคุณทำก็ทำไป แต่ในที่สุดคุณก็ดึงออกมาเอง คุณก็ไป “เจอตอ” แบบนั้น อาจารย์มองว่า เหมือนกับที่คุณสุทินพูดว่าจะพยายามแก้เรื่องรัฐประหาร เรื่องปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารที่ทำความผิดอาญาต่อประชาชนมาขึ้นศาลพลเรือนแบบประชาชนมันง่ายกว่า ไม่ต้องแก้มาก

 

คำถาม : ถ้าอาจารย์บอกว่าเพื่อไทยยังดูไม่มีท่าที แล้วก้าวไกลเป็นยังไง?

 

ก้าวไกลเขามีจดหมายมา โดยให้เลขาของคุณชัยธวัชส่งมา ว่าเขาได้ส่งเรื่องให้กรรมาธิการเข้าไป ก็คุยในคณะกรรมาธิการ ประมาณนั้น แต่อาจารย์ก็เข้าใจว่าขณะนี้เขาก็คงมุ่งมั่นในเรื่องนิรโทษกรรม เพราะฉะนั้นเราถึงมีคำขวัญว่า “นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย” ตอนนี้ก็เพิ่ม “บุ้ง” เข้ามาอีกคน เราก็เข้าใจเรื่องนิรโทษกรรมว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะมันเกี่ยวข้องกับคนในพรรคเขาเยอะ แล้วก็เกี่ยวข้องกับประชาชนคนรุ่นใหม่เยอะ อาจารย์ก็สนับสนุน แต่มันทำไปด้วยกันได้ ไม่จำเป็นว่าทำนิรโทษกรรมแล้วไม่ทวงความยุติธรรมให้คนตาย

 

นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย” คือไม่ใช่ว่าอาจารย์จะเรียกร้องแต่ทวงความยุติธรรมให้คนตาย แต่เราเห็นปัญหาว่าคนเป็นก็ต้องได้รับการนิรโทษฯ มันต้องไปด้วยกัน และมันต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไม่งั้นความยุติธรรมแบบไทย ๆ ก็จะเกิดขึ้น และประเทศชาติจะพินาศ ฝ่ายจารีตอำนาจนิยม ถ้าคุณไม่ปรับ คุณก็พินาศ

 

คำถาม : แล้ววันที่ 19พฤษภานี้ อาจารย์เชิญพรรคการเมืองมั้ยครับ?

 

อาจารย์ไม่เชิญแล้ว แล้วต่อไปนี้จะไม่เชิญ ปกติเชิญเฉพาะวันที่ 10เมษา ตอนนั้นที่เชิญทีแรก ให้เขามา Promise ก่อนเลือกตั้ง ประกาศว่าจะทำอะไรบ้าง อาจารย์ก็รู้แล้ว เดี๋ยวดูว่าหลังเลือกตั้งจะทำหรือไม่ทำ ตอนก่อนเลือกตั้งนั้นเชิญพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค แต่จุดเด่นคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล แล้วเพื่อไทยก็ส่งคุณเดียร์มาพูด แต่ว่าอาจารย์ชูศักดิ์กับคุณภูมิธรรมมานั่งประกบ ความหมายก็คือนั่นเป็นฉันทานุมัติของผู้นำของพรรคแล้ว อาจารย์ก็โอเค ส่วนคุณต๋อม ชัยธวัช ก็มาพูดทีหลัง แต่ตอนที่คุณต๋อมพูดคุณภูมิธรรมกลับไปแล้ว เพราะคุณต๋อมเขาก็ฉลาด รอบแรกเขาก็ไม่พูดอะไร ปล่อยให้คุณเดียร์พูดยาว แล้วพอคุณเดียร์พูดเสร็จ คุณต๋อมเขาก็พูดเยอะ

 

แล้วครั้งที่แล้ว อาจารย์ก็เลยเชิญมาอีกทีหนึ่ง เพื่ออยากให้เขาบอกว่าตอนนี้คุณเป็นรัฐบาลแล้ว หรือคุณเป็นฝ่ายค้านแล้ว คุณจะทำอะไรตามที่คุณเคยบอกมั้ย อาจารย์ก็เลยหวังว่าเปิดเวทีให้เขามาบอกว่าเขาได้ทำอะไรบ้าง ผิดหวังค่ะ! ทั้งสองพรรคเลย มันก็เกิดปรากฏการณ์ด้วยว่าพรรคเพื่อไทยส่งคุณชนินทร์มา แล้วมีมวลชนไม่พอใจ มันก็เลยทำให้แทนที่จะเป็นเวทีที่เป็นเรื่องเป็นราว กลายเป็นเวทีต่อว่าไม่พอใจกัน อาจารย์ก็ออกไปห้ามนะ แต่มวลชนกับมวลชนก็ทะเลาะกันก่อน แล้วมันก็เลยมาออกอยู่ที่นี่

 

อาจารย์ก็เลยคิดว่า นี่พูดตรง ๆ เลยนะ ถ้าจะจัดอีกทีก็ต้องเลือกตั้งครั้งหน้ามั้ง ถึงจะให้มาพูด ที่เกิดขึ้นคือ 1) มิตรต่อมิตร กลายเป็นมองเป็นศัตรู แต่ก่อนเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงเป็นมิตรกัน ตอนนี้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็เชียร์ ประเภทปลายแถวมาก ๆ ซึ่งไม่เข้าใจการเมืองชัดเจนก็จะมาโกรธ ต่อว่าคนเสื้อแดงที่อาจจะไม่สนับสนุนเพื่อไทยแล้ว

 

คือเพื่อไทยเขาก้าวข้ามขั้ว คำถามว่าแล้วจะให้คนเสื้อแดงทั้งหมดเห็นดีเห็นงามไปกับเขา มันเป็นไปได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเขาก็เงียบ ๆ เวลาเลือกตั้งเขาก็ไปเลือกอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ก็เห็นแกนนำบางคนเขาพูดจาดีนะ พอมีเรื่องนี้เกิดขึ้นอาจารย์ก็พยายามอธิบายเหมือนกัน

 

คำถาม : มีคนในเพื่อไทยโทรมาตำหนิอาจารย์บ้างไหมกับงานรำลึก #14ปีเมษาพฤษภา53

 

ไม่มีถึงขนาดนั้น แต่เป็นการคุยกัน มีเหมือนกัน อาจารย์ก็อธิบายให้ฟัง ข้อที่ 1) คนที่ส่งเสียงพวกนั้นคือ “มวลชน” ถ้าเป็นคนที่เข้าใจทฤษฎีนะ เวลาเราบอกเป็นมวลชนเขาจะเข้าใจ คือเวลามวลชนด่า คุณไม่มีสิทธิ์ไปด่าตอบนะ เพราะเขาคือมวลชน เขาจะพูดอะไรก็ได้ ไม่ใช่แกนนำ เหมือนที่อาจารย์ว่าหลายทีแล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งด้วย กองเชียร์ส้ม กองเชียร์แดง เวลาพูดกันให้เป็นมวลชนนะ แต่แกนนำสำคัญไม่ควรจะมาด่ากัน ตอนนั้นเรายังมองในแง่ดีว่าเขาจะจับมือไปด้วยกันได้

 

ข้อที่ 2) เราก็ออกไปห้าม คุณหมอเหวงก็ออกไปห้าม แต่มันไม่ปรากฏในนี้เพราะเราจะอยู่เวทีข้างล่าง คุณบรรเจิด พ่อของเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ก็ออกไปห้าม

 

ข้อที่ 3) แน่นอนว่ามันมีภาษาซึ่งมันไม่สอดคล้อง แต่อาจารย์ว่าบางส่วนเขาก็เข้าใจนะ แกนนำเพื่อไทยบางคนเขาก็ยอมรับความจริงว่า สิ่งที่ทำไปก็มีคนที่ไม่พอใจ เขาก็ต้องยอมรับผลจากการกระทำ อาจารย์ชอบคำนี้มากนะ หมายความว่ามีคนด่า อาจารย์ก็บอกว่าก็เหมือนกันแหละ อาจารย์ก็ถูกด่าเหมือนกัน ก็คือกองเชียร์เพื่อไทยที่ไม่ลืมหูลืมตาอะไร เขาไม่คิดเหรอว่าอาจารย์สู้มา 50 ปี อาจารย์จะเป็นกองเชียร์พรรคการเมืองอะไรได้ บ้าแล้ว! ไม่ได้พลีชีพ แต่ก็เหมือนพลีชีวิตนะ อาจารย์ไม่พลีชีพนะ แต่เหมือนว่าชีวิตของอาจารย์จะเป็นการเมืองภาคประชาชนทั้งหมด ถ้ามวลชนพูดอะไร อาจารย์ก็ไม่ถือสา

 

คำถาม : วันที่ 19พฤษภา ไม่เชิญพรรคการเมืองเพราะอะไร

 

ให้เป็นงานมวลชนธรรมดา เพราะว่าเราต้องการให้เขามาแสดงวิสัยทัศน์ หรือแสดงความคิด ตอนนี้เหลือเป็นการกระทำ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกและสำคัญมากก็คือ เราจับมือและจะเป็นสะพานเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ เพราะคนเสื้อแดงทั้งแก่ ทั้งจน ทั้งเจ็บ ทั้งตายด้วย บางส่วนก็ละทิ้งอุดมการณ์การต่อสู้ไปแล้ว มัวแต่ไปทำมาหากิน หรือไปรอรับผลประโยชน์จากนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ยามที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลทีไร เราจะมีปัญหาแบบนี้ทุกทีเลย บางทีนักการเมือง หรือสส. หรือแกนนำของพรรคบางคนเขาก็ไม่อาจจะเข้าใจว่าคนเสื้อแดงมีหลากหลาย ก็มีสิทธิ์ที่จะให้เขาเข้าใจผิดได้

 

เช่น บางคนอาจจะบอกว่าเป็นผู้นำ มีคะแนน มีคนเยอะ แต่บางคน พรรคไหน ๆ ก็รับหมด ในขณะเดียวกันคำว่าเพื่อผลประโยชน์บางคน พรรคไหนให้เงินก็ไปหมด หรือมิฉะนั้นก็เป็นคนเสื้อแดงประเภทเป็นกองเชียร์พรรค อาจารย์ไม่อยากมองในแง่ไม่ดีนะ เพราะว่าประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่าอาจารย์ยังไม่ได้มองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นปฏิปักษ์ ปฏิปักษ์ก็คือฝั่งจารีตอำนาจนิยมผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แม้การจับมือครั้งนี้มันจะดูคล้าย ๆ จะตีความอย่างนั้นก็ได้ ถ้าตีความอย่างตรง ๆ ที่สุดคือคุณก้าวข้ามไปอยู่ฝั่งโน้นแล้ว

 

แต่อาจารย์อยากให้มองว่า เขาอาจจะไม่มีทางเลือกและเป็นยุทธวิธี เพราะว่าเขาเป็นพรรคการเมือง เขาไม่ใช่นักต่อสู้ แต่เราก็ไม่ควรที่จะผลักมิตรทั้งหมดไปเป็นศัตรู เพราะฉะนั้นวันที่ 19พฤษภานี้ นอกจากจะทำพิธีสงฆ์ อาจารย์ก็เลยถือโอกาสได้ขออนุญาตกับญาติวีรชนว่า เราจะให้มีรูปของ “บุ้ง” ในการถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้บุ้งด้วย เราก็เลย late มา คือเดิมพระจะต้องสวดตอน 16.30 น. ก็เปลี่ยนมาเป็น 17.30 น. หลังจากนั้นก็เป็นปาฐกถาสั้นโดย อ.อนุสรณ์ อุณโณ ท่านพูดเรื่อง “หญ้าแพรกกับช้าง” ในสังคมไทย (หัวข้อปาฐกถา : แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ) บางคนมองว่าไม่เห็นช้าง แต่ว่าบางคนเห็นแต่ช้างก็ไม่เห็นหญ้าแพรก

 

หลังจากนั้นก็จะเป็นญาติ เป็นอาจารย์ เข้าใจว่าณัฐวุฒิจะมาด้วยถ้าไม่ติดอะไร คุณหมอเหวง หลังจากนั้นเวทีก็จะเป็นเวทีคนรุ่นใหม่มาแถลงการณ์ มีการแสดง และมีดนตรีทั้งนักร้องเสื้อแดงและวงสามัญชน หลังจากนั้นก็จะไปจุดเทียน แล้วจะมีรูปของบุ้งเอาไปวางไว้ด้วย เพราะอาจารย์ขออนุญาตพวกญาติแล้ว เขาบอกว่าเขายินดี โอเค ปีนี้จะเป็นปีพิเศษ หมายความว่าเราทำบุญอุทิศส่วนกุศล จุดเทียนและวางดอกไม้ ไม่ใช่เฉพาะวีรชน 2553 เราได้เติมบุ้ง ในปี พ.ศ. 2567 เข้าไปด้วย และอาจารย์คิดว่าถ้าบุ้งรู้ บุ้งคงจะดีใจ เพราะว่าบุ้งได้ความสะเทือนใจของคนเสื้อแดง ทำให้ชีวิตกลับมาเพื่อที่จะชดเชยสิ่งที่เขารู้สึกผิดที่เขาเป็น กปปส. และไปหนุนให้เกิดการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นเขาก็เลยเป็นชีวิตที่กลับใหม่เข้ามาอุทิศตัวเองและเข้าใจคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้น อาจารย์คิดว่าถ้าบุ้งรู้บุ้งคงจะดีใจ เพราะอาจารย์ก็ถือว่าเธอเป็นวีรชนด้วย แต่เป็นวีรชนไม่ใช่ 2553 แต่เป็นยุค 2567 ไม่น่าเชื่อ 14 ปี เราก็ยังต้องมีวีรชนเพิ่ม ก็เลยฝากพวกเราไว้ด้วยว่าถ้าใครไปไม่ทันก็มาร่วมงานทำบุญได้ที่สี่แยกราชประสงค์

 

คนที่ไปจะไม่ผิดหวัง เพราะว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่อาจารย์ตัดสินใจแล้วว่าต่อไปข้างหน้าเราจะต้องปล่อยมือให้เป็นงานของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะมาเป็นเจ้าของงานมากขึ้น เชิญให้ไปพบกันและให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ด้วย ให้กำลังใจคนเสื้อแดงอุดมการณ์ด้วย ว่าต่อไปนี้ภารกิจเราก็จะส่งให้เขา เราจะมอบเวทีให้เขาอีกประมาณครึ่งหนึ่ง และมีบทกวีของคุณวิสา คัญทัพ ส่งมาด้วย คือคนรุ่นเก่ารุ่นนั้นมี อ.จรัญ ดิษฐาอภิชัย, วิสา คัญทัพ, อ.ธิดา, หมอเหวง คน 14ตุลา ที่มาร่วมกับคนเสื้อแดง นอกนั้นไปอยู่เสื้อเหลืองหมดเลย เป็นไปได้ยังไง? ปัญญาชนทั้งหลาย รวมทั้งกลุ่ม 19กันยา แทนที่จะมาร่วมกับคนเสื้อแดง เขาบอกอาจารย์ว่าเขาไปปรึกษาพวกอาจารย์ที่เป็นนักเขียนดัง ๆ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เด่น ๆ อาจารย์ไม่ขอออกชื่อ บอกไม่เอา! เพราะว่าเกลียดคุณทักษิณ

 

การที่มีการทำรัฐประหารเพื่อทำลายระบอบทักษิณเป็นสิ่งจำเป็น ไปโน่นเลย! นี่ไง! ก็คือจุดยืนเขาไม่ถูก ในความคิดของอาจารย์นะ คุณต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าอำนาจอะไรที่เป็นอุปสรรคและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนที่ก้าวหน้า ถ้าคุณตีโจทย์ตรงนี้ไม่แตก ใครพูดอะไรคุณก็เหไปทางนั้น ทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็นไพร่ชนบท ไพร่ในเมือง ประชาชนมาร่วมน้อย แต่ตอนนี้ปัญญาชนเต็มเลย รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เห็นใจคนเสื้อแดง เพราะเขารู้ว่าคนเสื้อแดงถูกกระทำยังไง โดยเฉพาะ “บุ้ง”

 

สรุปเลยว่า เมื่อการเมืองของเราเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ระบบยุติธรรมของเราก็เลยเป็นแบบไทย ๆ เพราะว่าความยุติธรรมขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในการปกครอง ถ้าเมื่อไหร่อำนาจเป็นของประชาชน ความยุติธรรมจึงจะเป็นของประชาชน อาจารย์ขอทิ้งท้ายเอาไว้ตรงนี้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #14ปีเมษาพฤษภา53 #บุ้งทะลุวัง #นิรโทษกรรมให้คนเป็นทวงความยุติธรรมให้คนตาย