วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ธิดา ถาวรเศรษฐ : “เพื่อไทย” กลายเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ไว้ใจได้ของ “จารีตอำนาจนิยม”


“เพื่อไทย” กลายเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ไว้ใจได้ของ “จารีตอำนาจนิยม”


บทสัมภาษณ์ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ จากรายการ MatiTalk โดย มติชนสุดสัปดาห์ (ลิ้งค์ : https://www.youtube.com/watch?v=sHnQhSv0b4Y&t=97s)


คำถาม : ใครเป็นผู้คุมเกม อำนาจนิติสงคราม?


ในระยะสั้น โดยเฉพาะช่วงนี้ ฝั่งจารีตอำนาจนิยมเป็นผู้คุม ที่แล้วมาถ้าเราย้อนหลังไปจาก 2475 คณะราษฎรคุมอำนาจอยู่ได้เพียง 15 ปี และหลังจากนั้นฝ่ายที่มาคุมอำนาจก็กลายเป็นกองทัพ แต่เป็นกองทัพที่ยังสมัครสมานสามัคคีและขึ้นกับฝ่ายจารีตนิยม บทเรียนก็คือถ้าทหารไม่เป็นอันเดียวกับจารีต ฝั่งจารีตก็สามารถที่จะจัดการโค่นล้มทหารชุดนั้นได้ อย่างเช่นการโค่นล้ม จอมพล ป. แล้วเอา จอมพลสฤษดิ์ ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งในปี 2516 การโค่นล้ม จอมพลถนอม โดยมีกำลังของฝ่ายต่าง ๆ ที่ก้าวหน้าและรวมทั้งนักศึกษา จริง ๆ ก็ต้องการโค่นล้มทหารในช่วงของจอมพลถนอม


เพราะฉะนั้นเกมของฝั่งจารีตอำนาจนิยมก็คือเขาก็ต้องพยายามสามัคคีกับกองทัพ ให้กองทัพไปด้วยกันได้กับจารีต และมันก็ไปกันได้ดีพอสมควรในช่วงสงครามเย็นเพราะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งการที่อยู่ในยุคที่สหรัฐฯ มีบทบาทด้วย พอเราข้ามมาถึงตอนนี้ เมื่อทุนนิยมที่มีนายทุนสร้างพรรคการเมืองขึ้นมา และทำท่าว่าจะสามารถยึดอำนาจความนิยมของประชาชนได้ในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบประชาธิปไตยแบบสากล เกมของการที่จะต้องมาช่วงชิงอำนาจจากฝั่งจารีตอำนาจนิยมจึงได้เปิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษหลัง ที่เราเจอคือ 2549, 2557 มาจนถึงทุกวันนี้ยังพยายามอยู่


เรามองว่าช่วงที่เขาทำการรัฐประหารปี 2557 เขาพยายามวางแผนอย่างดีนะ แก้ปัญหาที่แล้วมาที่บอกว่า “เสียของ” นั่นก็คือมีกองทัพ ความมั่นคง แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมเกม โดยเฉพาะหลัง 2557 มา ก็ใช้กฎหมายในการควบคุมเกม ภายใต้คำขวัญ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ตามแบบของพวกจารีต เขาก็พยายามจะควบคุม มาถึงขั้นนี้ดูจะควบคุมไม่อยู่ ก็ใช้อำนาจของกฎหมายมากขึ้น ๆ ในการจัดการอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น การยุบพรรค การลงโทษเยาวชน โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 การจับกุมคุมขัง และการที่ให้พรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกปฏิเสธการแก้ไขมาตรา 112 เป็นความพยายามที่กล้ามากในทัศนะอาจารย์ เพราะมันเสี่ยง โดยไม่คำนึงว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว


มาถึงตอนนี้ความพยายามในการคุมเกมยังดำรงอยู่ เพราะว่ากองทัพสำคัญ แล้วก็การใช้กฎหมาย ดังนั้นองค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด ถ้ายังอยู่ในมือของชนชั้นนำจารีตอำนาจนิยม ก็จะเป็นอาวุธชั้นดีในการประหัตประหารฝ่ายก้าวหน้า ระยะสั้นเขาจะคุมได้ระดับหนึ่ง แต่ระยะยาว ผู้คุมเกมจริง ๆ ต้องเป็นประชาชน ในความคิดของอาจารย์ ยกเว้นว่าฝั่งจารีตอำนาจนิยมคือถ้าไม่โง่อย่างสุด ๆ นะ ก็คือยอมแลกแบบถวายหัวเลย เพราะมิฉะนั้นสถานการณ์ก็จะไปแบบพม่า เนื่องจากประชาชนมีการตื่นตัวมีการเปลี่ยนแปลง เขาไม่ได้สนใจเศรษฐกิจอย่างเดียว แน่นอนเขาต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการเสถียรภาพทางการเมือง แต่เขาก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มีอนาคต ที่มองเห็นความหวัง และมันกำลังเปลี่ยนไปตลอด ดังนั้น การที่ใช้กลยุทธ์ดึง “เพื่อไทย” มาอยู่กับฝั่งจารีตอำนาจนิยม อันนี้ก็เป็นการพลิกยุทธวิธีเพื่อจะคงอำนาจไว้ แต่ในส่วนของเขาก็ไม่เป็นเอกภาพ ขนาด 2 ลุง ก็ไม่เป็นเอกภาพ แล้วไม่ได้มีแต่เพียง 2 ลุงนะ


คือในฝั่งจารีตอำนาจนิยมนั้น ความไม่เป็นเอกภาพสูงมาก ในอดีตเขาก็เคยโจมตี “คุณทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” เยอะ แล้วตอนนี้ถ้าเขาจะมาชื่นชม เขาก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในประเทศไทยขณะนี้เป็นดุลอำนาจที่ฝั่งประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว 70% ในความคิดอาจารย์ เหลือพื้นที่สำหรับ “อนุรักษ์นิยม-จารีตนิยม-อำนาจนิยมที่เผด็จการ” อาจารย์ว่าสัก 10% เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว เขาไม่ได้ต้องการแค่ให้อยู่สบายแล้วก็มีเศรษฐกิจดีสักหน่อย แต่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนะอาจารย์คิด


เพราะฉะนั้น ระยะยาวก็ต้องแลกกัน คือประชาชนจะต้องเป็นผู้ที่กำหนดชะตากรรมเอง นี่คือสิ่งที่เป็นสากล เพราะฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการเมืองระบอบเดียวที่ได้รับความชื่นชมหรือการยอมรับมากที่สุด เพราะ win-win ทั้งคู่ จะเป็นฝ่ายอนุรักษ์หรือเป็นจารีตก็ตั้งพรรคมาแข่งกับเขา มีปัญหามั้ยล่ะ? ขนาดในเยอรมันที่ว่าพรรคนาซีเขายังพยายามจะทำ หรือโดยเฉพาะอังกฤษ ก็พรรค Conservative (พรรคอนุรักษ์นิยม) ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน คือแข่งกันในเกม “ประชาธิปไตย” คือ ชนะใจประชาชนและขีดความสามารถ แต่ถ้าจารีตอำนาจนิยมไม่ยอม ใช้เพียงแต่อาวุธปืน อาวุธกฎหมาย เป็นความเสี่ยงถ้าจารีตอำนาจนิยมไม่ปรับตัว เพราะฉะนั้น “ระยะยาว” อาจารย์มองว่าประชาชนนี่แหละเป็นผู้กำหนด แต่ “ระยะสั้น” ดูเหมือนคล้าย ๆ กับว่าจารีตอำนาจนิยมเป็นผู้กำหนดเกมในช่วงนี้


จริง ๆ เราก็ไม่อยากจะบอกว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นพรรคการเมืองที่ยืนอยู่กับผลประโยชน์ของตัวเองทั้งหมด แต่มันก็คล้าย ๆ ส่วนใหญ่เขาตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าประเทศไทยเป็นประเทศอาณานิคม สมมุติอย่างอินเดียเขามีพรรคคองเกรส (Indian National Congress) หรือประเทศสิงคโปร์ คือเขามีพรรคที่มาจากการต่อสู้ของประชาชน พอสู้กับจักรวรรดินิยมเสร็จเขาก็ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเหล่านั้นจะรวบรวมนักต่อสู้เอาไว้ด้วย ก็จะมีอดีตของการต่อสู้


แต่พรรคการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ที่แล้วมา เนื่องจากมีทหารกุมอำนาจเป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นก็เป็นพรรคของบ้านใหญ่ในท้องถิ่น รวบรวม 5 คน ก็ได้เป็นรัฐมนตรี 1 คน อะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นวิถีทางการเป็นระบอบประชาธิปไตยของเรา พรรคการเมืองจึงไม่ได้มีลักษณะทเป็นพรรคที่มาจากการต่อสู้ แต่ที่ผ่านมาในอดีต “พรรคเพื่อไทย” แม้เขาเป็นพรรคที่มาจากนายทุนก็จริง แต่ว่าถูกกระทำจากการทำรัฐประหาร ก็ดูคล้าย ๆ กับว่าเขาได้พยายามต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการ เพราะก็คือพรรคเขาถูกกระทำ ก็ถูกจัดเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และเมื่อมีพรรคใหม่ขึ้นมา เช่น พรรคอนาคตใหม่กับพรรคก้าวไกล มันก็ดูเป็นความหวัง


เพราะการเกิดของพรรคอนาคตใหม่กับพรรคก้าวไกลนั้น ดูแล้วมีสีสันของนักต่อสู้มากกว่าพรรคเพื่อไทยเดิม พรรคเพื่อไทยเดิมตอนนั้นการเมืองมันเอื้อประโยชน์ มีรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านการต่อสู้ 2535 มา การเมืองมันกำลังดูเป็นประชาธิปไตย มีปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว ฉะนั้น “คุณทักษิณ” มาถูกที่ถูกเวลา ได้ใจประชาชน แต่ว่าตัวเขาเองไม่จำเป็นต้องต่อสู้อะไรทางการเมือง เพราะว่าปี 2535 ได้ปูพื้นฐานและมีรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่แล้ว


ถ้ามาดูตอนนี้ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่า สีสันและธาตุของพรรคก้าวไกลนั้นมีธาตุของการเกิดขึ้นของผู้ที่ร่วมการต่อสู้มามากกว่า แต่ก็ถูกมองว่าเป็นพรรคนายทุนเหมือนกัน เป็นนายทุนใหม่ แล้วก็กลายเป็น “เสือตัวใหม่” ที่น่ากลัวกว่า “เสือตัวเก่า” ซึ่งเป็นนายทุนเหมือนกัน ประมาณนั้น


คำถาม : แล้ว “ชนชั้นนำ” ต้องฝากความหวังไว้ที่ใคร?


ในอดีต “พรรคประชาธิปัตย์” คือตัวแทนของจารีตอำนาจนิยมเลย แต่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าล้มเหลว และไม่ใช่เพียงแต่ชนชั้นนำไม่เอาแล้วนะ ประชาชนก็ไม่เอาด้วย จบ! คือถ้าจารีตอำนาจนิยมขืนฝากความหวังไว้ที่ “ประชาธิปัตย์” ต่อไป เขาต้องทำรัฐประหารไม่รู้จบ แล้ว “ประชาธิปัตย์” ก็ยังไม่ชนะสักที ประมาณนั้น


ทีนี้ถามว่าพรรคไหน? คุณประยุทธ์ไปตั้งพรรคใหม่ นั่นก็แสดงว่ามีความขัดแย้งกันเอง คือเดิมเขาตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” และครั้งที่แล้วคะแนนเสียงเขาก็ดูเยอะนะ แปลว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมทั้งหลายประชาชนมาเทคะแนนให้ “พลังประชารัฐ” ดังนั้น “พลังประชารัฐ” เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนฝั่งจารีตอำนาจนิยมบวกกัน แต่ตอนนี้ก็ไม่ใช่ และการที่ “รวมไทยสร้างชาติ” กับ “พลังประชารัฐ” แยกกันอยู่ และการดำเนินงานในวุฒิสมาชิก (สว.) ก็ดูเหมือนจะมีคนละสายกัน ไม่ได้เป็นเอกภาพ


ถ้าอาจารย์ดูนะ ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมไม่มีความหวังเลยกับพรรคไหน แต่เป็นยุทธวิธี ก็คือต้องดึง “พรรคเพื่อไทย” มา เพื่อที่จะช่วยให้แพที่กำลังจะล่ม คือแพอันนี้มันแข็งแรง มีแรงยึดมากหน่อย มีผู้คนมากหน่อย ก็เอามาผูกกับแพที่กำลังจะล่ม แต่อาจารย์ว่ามันจะล่มด้วยกันหมด วิธีการก็คือเอาพรรคเพื่อไทยเข้ามา แต่เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายจารีต เขาจะให้ “เพื่อไทย” เป็นตัวแทนเขาหรือเปล่า? อาจารย์ว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันยาก เพราะว่าใน “เพื่อไทย” มีพื้นฐานของฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ในระดับจำนวนหนึ่ง และโดยเฉพาะโหวตเตอร์


“เพื่อไทย” มีเวลาแค่ Period นี้นะ สมัยนี้นะ ถ้าคุณไม่ดำเนินการอะไรทางการเมืองที่เป็นการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตที่ดีนะ อาจารย์ว่าเที่ยวหน้าลำบากแน่! 10 ล้านเสียง คุณจะรักษาได้แค่ไหน? ฉะนั้น “เพื่อไทย” มีเวลาแค่นี้ ถ้ากล้าที่จะทำการเปลี่ยนแปลงแล้วได้รับอนุญาตให้ทำได้ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นความหวังที่ “เหลือเชื่อ” เขา (ฝ่ายจารีต) ไม่ต้องการให้เปลี่ยน แต่ประชาชนต้องการเปลี่ยน แล้วถ้า “พรรคเพื่อไทย” เปลี่ยนตามประชาชน “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้ประชาชน แต่จารีตนิยมก็อาจจะมีการจัดการ


ดังนั้น มันเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับฝั่งจารีต และเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับ “เพื่อไทย” ด้วย ว่าคุณจะอยู่ยังไง? คุณจะล่มสลายด้วยการที่ประชาชนปฏิเสธ หรือว่าคุณจะต้องถูกจัดการโดยฝั่งจารีตอำนาจนิยม นี่เป็นโจทย์ของ “เพื่อไทย” นะ ว่าเขาจะอยู่ยังไง ก็เป็นเรื่องที่ “เพื่อไทย” จะต้องไปคิดเองไม่ใช่เรื่องของเรา เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ ว่าเขาจะสูญเสียความนิยม เลือกเอาว่าทางไหน?


ถ้าคุณเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการให้ได้รับความนิยมจากประชาชน คุณก็ต้องทำให้ประชาชนถูกใจ แต่ถูกใจตอนนี้มันไม่เหมือนตอน “ไทยรักไทย” แล้วนะ ตอนนั้นคุณทำเศรษฐกิจได้ดี ประชาชนโอเค แต่ตอนนี้ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเมืองไม่ดีเศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีเสถียรภาพ ฝั่งประชาธิปไตยก็ไม่มีเสถียรภาพ ฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ไม่มีเสถียรภาพ


จะเอา “พลังประชารัฐ” จะเอา “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ยังไง ก็ดูคะแนนเสียงที่ประชาชนโหวต อาจารย์ว่าเอาโพลไหน ๆ เอาผู้นำสองพรรคนี้ก็วัดได้แล้วว่าเขา (ฝ่ายจารีต) ฝากความหวังไม่ได้ แล้วถามว่า “เพื่อไทย” ประชาชนที่โหวตเพื่อไทยนั้น ในทัศนะอาจารย์ จิตใจฝ่ายประชาธิปไตย 70-80% อยู่ที่นั่น อาจจะอีกสัก 30-40% ที่ยังไงก็ได้ ไปซ้ายก็ตามไปซ้าย ไปขวาก็ตามไปขวา แต่มันไม่น่าจะใช่ สู้กันมาตั้งเกือบ 20 ปี ยกเว้นพวก FC ใหม่ ๆ


เพราะฉะนั้น ประชาชนเข้าใจการเมือง ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองเพื่ออนาคตที่ดี ไม่ใช่โจทย์แบบ “ไทยรักไทย” คุณทำให้ได้แบบ “ไทยรักไทย” ก็ยาก เพราะคุณถูกเตะตัดขา คุณจะทำ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ก็ยากมาก ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า ทางเศรษฐกิจคุณก็ทำยาก ทางการเมืองคุณก็ทำยาก เพราะว่าคุณต้องทำตามใจฝั่งจารีตอำนาจนิยม และมันก็ขัดกันกับ “ประชาชน” ดังนั้นก็เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องไปแก้ปัญหาเอง


ถ้าเขาทำตามใจ ฝั่งจารีตหวังจะให้ “เพื่อไทย” เป็นพรรคของจารีตอำนาจนิยม อาจารย์ว่าเขาก็ไม่ไว้ใจ ขณะนี้เป็นเวลาลำบากของฝั่งจารีตอำนาจนิยม “เพื่อไทย” กลายเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ไว้ใจได้


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #เพื่อไทย #ก้าวไกล #จารีตอำนาจนิยม