วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567

กลุ่ม Peace and Harmony - 24 มิถุนาฯ ยื่นหนังสือผู้นำฝ่ายค้าน จี้กมธ.นิรโทษกรรม รวม ม.112 ชี้ เป็นคดีการเมือง ด้าน "ชัยธวัช" ย้ำ กมธ.นิรโทษฯ เห็นพ้องตั้ง คกก. กลั่นกรอง ไม่กำหนดฐานความผิดเจาะจง เพื่อให้ทุกคดีที่เกี่ยวพันกับการเมืองรวม ม.112 เข้าสู่กระบวนการได้

 


กลุ่ม Peace and Harmony - 24 มิถุนาฯ ยื่นหนังสือผู้นำฝ่ายค้าน จี้กมธ.นิรโทษกรรม รวม ม.112 ชี้ เป็นคดีการเมือง ด้าน "ชัยธวัช" ย้ำ กมธ.นิรโทษฯ เห็นพ้องตั้ง คกก. กลั่นกรอง ไม่กำหนดฐานความผิดเจาะจง เพื่อให้ทุกคดีที่เกี่ยวพันกับการเมืองรวม ม.112 เข้าสู่กระบวนการได้

 

วันนี้ (27 มิถุนายน 2567) เวลา 13.00 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา กลุ่มPeace and Harmony Organization นำโดยนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้แก่คนในชาติอย่างแท้จริง เนื่องในวาระสำคัญแห่งชาติ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ สส.พรรคก้าวไกล รับเรื่อง

 

โดยนายเกียรติชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น และที่ผ่านถือว่าเป็นคดีการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองของคนในชาติ ขอให้กมธ.นิรโทษกรรมมีความเห็นนิรโทษกรรม มาตรา 112 เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

 

ทั้งนี้สำหรับรายละเอียดในหนังสือมีใจความว่า สืบเนื่องจากการศึกษาของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังรับฟังเสียงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีมาตรา 112 ไม่ครบถ้วน และมีแนวทางสรุปแล้วว่าจะไม่นิรโทษกรรมผู้ต้องหาในคดีตามมาตรา 112 ทำให้ผลการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการและหลักสิทธิเสรีภาพตามประชาธิปไตย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างรู้สึกผิดหวังและเสียใจ รวมทั้งไม่สามารถยอมรับได้ว่าคดีมาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง

 

จึงขอฝากผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนำข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ไปพูดคุยอย่างจริงจังในคณะ กมธ. เนื่องจากคดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมืองและเป็นผลมาจากการรัฐประหาร และฝากไปยังฝ่ายรัฐบาลว่า หลายท่านเคยได้รับการนิรโทษกรรมมาก่อน ปัจจุบันจึงสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีได้ การนิรโทษกรรมจึงเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ และสามารถยุติความขัดแย้งในสังคมได้

 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การแบ่งขั้วและการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาเช่นนี้ย่อมทำให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปได้ยากลำบาก เนื่องจากประชาชนขาดความสามัคคีและความร่วมมือที่จะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ องค์กรรณรงค์เพื่อสันติและความปรองดองจึงเห็นว่า ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มหาทางยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทุกคดี ไม่มียกเว้นมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความขัดแย้งของชาติในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล ดังนี้

 

1. การดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีการเมือง จำนวนคดีที่พุ่งสูงขึ้นมักจะสอดคล้องกับเหตุการณ์การเมืองเสมอเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างต่อคณะรัฐประหาร โดยการนำสถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้าง แบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

 

1) หลังการรัฐประหาร 2549

2) หลังการรัฐประหาร ปี 2557 - ปี 2561 มีการใช้มาตรา 112 เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหาร

3) หลังการชุมนุมของประชาชนในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ที่สำคัญคือมีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 20 คน ถูกดำเนิน และจากสถิติทั้งหมดที่ผ่านมา มีคดีมาตรา 112 ถึง 1206 คดี

 

2. การดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกใช้และตีความเกินเลยตัวบทกฎหมายในหลายครั้ง จึงยิ่งชัดเจนมากว่าคดีมาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะเป็นการบิดเบือนตัวบทกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่าง

 

3. ตลอดกระบวนการยุติธรรม เหยื่อที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ ทั้งสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการประกันตัว

 

4. จากเหตุผล 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น จึงมีความชัดเจนว่าคดีมาตรา 112 เข้าเกณฑ์การกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เป็นไปตามนิยามของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 

5. สถานการณ์การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันสะท้อนภาพของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากมีการนิรโทษกรรมก็จะช่วยปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ดีขึ้นในสายตานานาอารยประเทศที่เห็นว่าประเทศไทยเคารพสิทธิมนุษยชน

 

6. การนิรโทษกรรมควรเป็นหนทางในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้กับคณะรัฐประหาร

 

7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 เพราะสถาบันกษัตริย์ควรวิจารณ์ได้ หากวิจารณ์ไม่ได้พระองค์จะเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดช่วงเวลาต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 พระองค์ก็ทรงรับสั่งเช่นกันว่าพระองค์ไม่สนับสนุนกฎหมายอาญามาตรา112 การใช้มาตรา112 อย่างกว้างขวางเช่นนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชดำรัสและคำรับสั่งของสถาบันกษัตริย์

 

8. เนื่องในวโรกาสสำคัญของชาติ วันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 การนิรโทษกรรม ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติเพื่อเป็นการเดินหน้าพัฒนาชาติในทุกด้าน ดังนั้น จึงขอให้คณะ กมธ.วิสามัญฯ มีความเห็นให้มีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

 

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าหากจะใช้กระบวนการออกตัวบทกฎหมายผ่านสภาฯ เนื่องในวาระ 28 กรกฎาคม 2567 คงต้องใช้อีกกระบวนการหนึ่งคือการใช้อภัยโทษ ส่วนการผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ในส่วนของรายงานและข้อเสนอของอนุ กมธ.ที่คณะ กมธ.วิสามัญแต่งตั้งขึ้นนั้น ได้รวบรวมคดีทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงการดำเนินคดีมาตรา 112 ไปด้วย

 

โดยข้อมูลข้อเท็จจริงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง และปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารทุกครั้งได้อ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรม และมีพฤติการณ์แอบอ้างเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเพื่อปราบปรามพี่น้องประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้มีสถิติการใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชนในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

 

อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.วิสามัญฯ ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้ใช้กลไกการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดีทางการเมือง โดยในวันนี้จะลงลึกในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และมีข้อเสนอในคดีที่มีความเห็นต่างกันสูง ก็จะให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมกำหนดเงื่อนไขและกระบวนการเพื่อพิจารณานิรโทษกรรมคดีนั้น ๆ เป็นพิเศษ

 

ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอที่ได้รับจากพี่น้องประชาชนเสนอต่อที่ประชุมในวันนี้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กรรมาธิการ #นิรโทษกรรม #มาตรา112 #ชัยธวัชตุลาธน