วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2567

[ถอดบทสัมภาษณ์] อ.ธิดา ยืนยัน แก้ไข ความยุติธรรมแบบไทย ด้วยการลุยนิรโทษกรรม เปิดกว้างถกเถียง ม.112

 


[ถอดบทสัมภาษณ์] อ.ธิดา ยืนยัน แก้ไข ความยุติธรรมแบบไทย ด้วยการลุยนิรโทษกรรม เปิดกว้างถกเถียง ม.112


จาก สำนักข่าวทูเดย์ [https://www.youtube.com/watch?v=_xKCGtvYKZA]


คำถาม : กรณีที่เกิดขึ้นกับ “บุ้ง เนติพร” สะท้อนภาพอะไรบ้างในสังคมไทย?


มันมี 2 มุมนะ ในความคิดของอาจารย์นั้น สังคมไทยยังมีการแบ่งแยกแนวคิดกันอยู่ แนวคิดหนึ่งคือแนวคิดจารีตนิยม ซึ่งจำเป็นต้องใช้อำนาจนิยมจึงจะทำให้ตัวเองเป็นแนวคิดที่ประสบชัยชนะได้ เราจะใช้คำว่า “จารีตอำนาจนิยม” อีกแนวคิดหนึ่งก็คือเป็นแนวคิดเสรีนิยมแล้วก็ประชาธิปไตย สองแนวคิดนี้ยังมีการปะทะกันทั้งทางความคิดและทางความเป็นจริง อาจจะเรียกว่าเป็นสงครามที่ยังไม่จบ การที่เรามีชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย มันก็คือระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ


ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ หมายความว่า “ป้าย” เพื่อให้ทันสมัยเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าผู้ที่มีอำนาจเดิม แนวคิดแบบจารีต แล้วก็เป็นคณาธิปไตย เป็นอภิชน บางคนก็เรียกอภิชนาธิปไตยก็ได้ คือเป็นคนชั้นนำในสังคม ก็ผนึกกำลังกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายกองทัพและข้าราชการที่ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งมาจากประชาชน ชนชั้นนำเหล่านี้ยังต้องการยึดอำนาจเอาไว้กับตัวเอง ดังนั้น สงครามซึ่งมีทุกอย่างทั้งทางความคิดและในความเป็นจริง คือทางความคิด และการต่อสู้บนถนนและบนสนามเลือกตั้ง อันนี้ก็คือสนามรบทั้งนั้นเลย


ถ้าในฝั่งพวกจารีตอำนาจนิยม ในกรณีของ “บุ้ง” ถ้าเรามองเทียบกลับไปเหมือนกับกรณี “ลุงนวมทอง” ที่มีทหารออกมาบอกว่า “ไม่มีใครที่จะยอมตายเพื่อระบอบประชาธิปไตย” ลุงนวมทองเขาโกรธมาก เขาต้องการพิสูจน์ ไม่ใช่นายทหารคนนี้ แต่ต้องการพิสูจน์ให้พวกฝั่งจารีตและอำนาจนิยมรู้ว่า มีคนที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อที่ต่อสู้ คือเขามีแค่ตัวคนเดียวกับรถแท็กซี่ เขาก็ใช้แท็กซี่กับตัวของเขาในการต่อสู้


ส่วน “บุ้ง” เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งต่อสู้ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมมันจะขึ้นกับระบอบการเมือง อาจารย์เคยพูดหลายครั้งว่า ประชาชนเรียกร้องความยุติธรรม แต่ถ้าการเมืองยังเป็นการปกครองโดยฝั่งจารีตอำนาจนิยม ไม่มีทางเลย เพราะมันยังเป็นความยุติธรรมแบบไทย ๆ ก็คือเป็นความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ คือความยุติธรรมมันจะขึ้นกับการปกครอง เพราะฉะนั้นในสมัยโบราณ กฎหมายประเภทที่ว่าตอกเล็บ บีบขมับ เป็นจารีตนครบาล หรือกฎหมายตราสามดวง นี่ทันสมัยขึ้นมาแล้วนะในสมัยรัตนโกสินทร์ มันก็หนักจนกระทั่งเราต้องเสียเอกราชทางศาล เพราะว่าคนต่างประเทศรับไม่ได้ แล้วคนพื้นเมืองก็ไปขึ้นอยู่กับคนต่างประเทศ พอไปขึ้นอยู่ในสังกัด กฎหมายไทยก็จัดการไม่ได้ พระมหากษัตริย์ก็ปกครองไม่ได้ มันจึงต้องมีการปรับปรุงให้เป็นกฎหมายสมัยใหม่ แต่การปรับปรุงกฎหมายสมัยใหม่ซึ่งมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ มันยังเป็นความต่อเนื่องที่ไม่ได้ทะลุเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริง แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เหมือนกัน


ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย เรื่องศาล ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนะ ยังต่อเนื่องมาเลย คือเราแต่มัวเอาธุระว่าทำอย่างไรให้เนื้อหากฎหมายนั้น สากลยอมรับได้ ในขณะที่ความคิดแบบจารีตและการปกครองยังเป็นอภิชนาธิปไตยอยู่ ต่อให้กฎหมายทันสมัยขึ้นมาอีกสักหน่อย แต่ถ้าคนใช้กฎหมายยังเป็นคนที่มีความคิดจารีตอำนาจนิยม กฎหมายอันนั้นก็มาตอบโจทย์อีกแบบหนึ่ง ในความคิดของอาจารย์ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่


หลายคนอาจจะบอกว่าเราเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เรามีการเลือกตั้งแล้ว แล้วมันใช่มั้ย? อย่างน้อยเราก็เห็นว่าพวกองค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งทางกองทัพ หรือศาล ที่มาของเขาเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจเป็นของประชาชน ผู้ออกกฎหมายมาจากประชาชนจริง ๆ ก็สามารถเอามาใช้กับข้าราชการ ทหาร หรือพลเรือน ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนะ ถ้าอำนาจเป็นของประชาชนจริง ๆ จะเป็นความยุติธรรมหรือจะเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมต่าง ๆ มันก็เป็นไปในระบอบประชาธิปไตยจริง


คำถาม : แต่ตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว คือรัฐบาลของคุณเศรษฐา ยังไม่ได้เป็นแบบที่อาจารย์พูดมาเลยเหรอครับ


ไม่เป็นเลย! ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองยังดำรงอยู่ คุณอย่าลืมว่าเราทำรัฐประหาร และกฎหมายที่มาจากการทำรัฐประหารมีมากมายที่เอามาใช้ การทำรัฐประหารนั้น ถ้าพูดถึงคนเสื้อแดง คดีที่ยังดำเนินอยู่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 54 หยุดเลย ฟรีซเลย ก็คือที่กำลังเข้าใกล้ทหาร เข้าใกล้ ศอฉ. ถูกฟรีซ แต่ขณะเดียวกันก็ไปหาชายชุดดำ จะเอาเรื่องเผาบ้านเผาเมืองอะไรต่าง ๆ มา เพื่อสร้างความชอบธรรมว่าที่ไปฆ่าคนเสื้อแดงโดยใช้อาวุธนั้น สมควรแล้ว นี่เรากำลังพูดถึงเรื่อง “บุ้ง” ที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพไต่สวน แต่คนเสื้อแดงอีก 62 ศพ ยังไม่ได้ชันสูตรเลย รวมทั้งทหารด้วย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ด้วย ไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพ เพราะมันยิ่งทำยิ่งใกล้ตัวไง ใกล้ตัวการสั่งการ


ในทัศนะของอาจารย์ เรื่องคดีความของคนเสื้อแดงที่มันถูกฟรีซ แล้วไปตั้งข้อหาเรื่องล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมือง ชายชุดดำ ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมที่ว่าตายไป ใช้กระสุน ใช้งบประมาณเป็นพัน ๆ ล้าน คนตาย 99 ศพ คล้าย ๆ กับว่าถูกต้องแล้ว เพราะพวกนี้มันเลว! เผาบ้านเผาเมือง! ล้มเจ้า!


คำถาม : บางคนบอกกับคนเสื้อแดงว่า “พวกมันสมควรแล้ว, สมควรตาย, เผาบ้านเผาเมือง, ล้มเจ้า, ไม่รักสถาบัน” ผมเปรียบเทียบกับเคสของคุณบุ้งเหมือนกัน เขาบอกว่า “สมควรแล้วเหมือนกัน คุณอยากตายเอง คุณอดอาหาร คนพวกนี้ล้มเจ้า” มันมีความคล้ายกันอยู่นะอาจารย์


เหตุผลมันเหมือนที่อาจารย์พูดตอนนั้น ก็คือสงครามนี้ยังดำเนินอยู่ เป็นสงครามระหว่างกลุ่มจารีตนิยมอำนาจนิยมที่ต้องการยึดอำนาจเอาไว้กับคณะบุคคลซึ่งเป็นชนชั้นนำ แต่ในฝ่ายประชาชนในแนวคิดเสรีนิยมนั้นต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบไทย ๆ ที่อำนาจเป็นของประชาชนจริง มันถึงจะได้ความยุติธรรมแบบของประชาชน ดังนั้นมันถึงเป็นเรื่องเดียวกัน แม้กระทั่งเวลาผ่านมา 14 ปี ก็เพราะระบอบมันยังเหมือนเดิม มันยังไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง ๆ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ จึงได้ความยุติธรรมแบบไทย ๆ


การเสียชีวิตของคุณบุ้ง คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยก็ต้องแสดงความเสียใจอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของคนบางกลุ่มในสังคมเขาด้อยค่า เย้ยหยัน สมน้ำหน้า เหตุการณ์แบบนี้ อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงเหมือนกัน อาจารย์มองอย่างไร?


อย่างที่บอกเลยว่าประชาชนก็ถูกชักนำ คือฝั่งจารีตอำนาจนิยมที่ต้องการครองอำนาจอยู่ แต่นอน เขาจะเป็นส่วนบนของสังคม (คน 1%) คนชั้นกลางระดับบนมีความพึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่แล้ว เขากลัวการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าคนเหล่านี้ก็จะยอมรับวิธีคิดแบบจารีตอำนาจนิยม พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเป็นสมัยโบราณ คุณเป็นขุนนางคุณสบาย เป็นไพร่คุณลำบาก มาในยุคทุนนิยม ถึงคุณไม่ได้เป็นขุนนางขุนศึก (ข้าราชการก็เป็นขุนนางแล้ว) แต่ถ้าคุณอยู่ในระดับเศรษฐกิจโครงสร้างชั้นบน แล้วยังพยายามพูดถึงเรื่องลูกจีนรักชาติมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร


คือมันเป็นสงครามทั้งชนชั้น สงครามความคิดและวัฒนธรรม เมื่อมีชนชั้นนำจารีตอำนาจนิยมเขาไม่ได้อยู่ลอย ๆ นะ มันก็มีคณะที่สมาทานความคิดแบบนี้ คนแบบนี้เขาก็ต้องพูดแบบนี้แหละ เหมือนบุ้งที่เขาเคยบอกว่าเมื่อก่อนเขาเป็น กปปส. นะ จนกระทั่งเขามาสะเทือนใจเมื่อรู้เรื่องของคนเสื้อแดง แล้วเขารู้สึกเจ็บปวดว่าเขามีส่วนไปสนับสนุนการทำรัฐประหารปี 2557 ดังนั้น เขาก็เลยพลิกกลับเพื่อที่จะมาแก้ไข เหมือนอาจารย์ไปเลี้ยวชีวิตตอนปี 2516 เมื่อเห็นทหารฆ่าประชาชน เรารู้สึกสะเทือนใจว่าคนเหล่านั้นเขากล้าพลีชีพ แล้วเราคนเป็น ๆ นั่งอยู่เฉย ๆ เราก็เลยมีความคิด อาจารย์เข้าใจบุ้งมากที่เขาพูดว่าชีวิตเขาหักเหเลย เพราะว่าครั้งหนึ่งเขาเคยคิดแบบหนึ่ง พอเขามาตาสว่างรู้ความจริง เขาก็เลยอุทิศชีวิต เขาทำอย่างเข้มแข็งมาก อย่างกล้าหาญ คือคนเราการสละชีวิตคือมันถึงที่สุดแล้ว


ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคการทำรัฐประหารปี 2549 ที่ลุงนวมทองรับไม่ได้ ก็เหมือนกับที่คนเสื้อแดงก็รับไม่ได้จนเกิดความสูญเสีย แล้วบุ้ง มาถึง ณ บัดนี้ ก็รับไม่ได้ แต่ว่าคนที่จะอุทิศชีวิต เมื่อกี้ที่อาจารย์พูดว่า ต้องการให้ฝั่งจารีตอำนาจนิยมรู้ว่า ที่บอกว่าคนไม่สามารถเสียสละชีวิตได้ ตอนนั้นที่คนปรามาสลุงนวมทอง ใครจะมารักประชาธิปไตยถึงขนาดยอมสละชีวิต “ลุงนวมทอง” ไม่ได้ประชดนายพันเอกคนนั้นคนเดียว แต่เขาต้องการให้ฝั่งจารีตอำนาจนิยมทั้งหลายรู้ว่า คนที่เป็นแบบนี้มี คือยินดีที่จะอุทิศ แต่อย่างอาจารย์นะ อุทิศชีวิตแต่ยังเป็นชีวิตเป็น ๆ แต่พวกเขายอมเสียสละชีวิตที่เป็นร่างกายเขา อย่างอาจารย์ก็สมาทานเลยว่า หลังจาก 14ตุลา16 เขาตายต่อหน้าเรา ดังนั้นเราคนเป็น เราต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ให้เขาตายเปล่า นั่นก็คือ 50 กว่าปีมาแล้วที่อาจารย์มาถึงทุกวันนี้


เพราะสงครามระหว่างความคิด แล้วก็ระหว่างสงครามอำนาจว่า จะเอาอำนาจเป็นของประชาชน หรืออำนาจเป็นของชนชั้นนำ มันยังดำรงอยู่ ถ้าหากชนชั้นนำจารีตนิยมอยู่ในฐานะผู้ปกครองตัวจริง ดิฉันใช้คำว่า “ตัวจริง” นะ เพราะประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไง เอาไว้ติดป้ายเหมือนโรงละครว่าโรงละครนี้เป็นโรงละครเวทีประชาธิปไตย แต่มันไม่ใช่ จะเรียกว่ามีคนเชิดแบบหนังตะลุงก็ได้ หรือว่ามีคนเขียนบทโขนก็เล่นไป แต่จริง ๆ มันเป็นแค่ชื่อประชาธิปไตย


เพราะฉะนั้น สงครามความคิดนี้และผู้คน มันก็เหมือนกัน เหมือนกับที่เยาะเย้ยถากถางลุงนวมทอง เยาะเย้ยถากถางคนเสื้อแดง จนกระทั่งมาเยาะเย้ยถากถางที่บุ้ง ซึ่งถ้าคนเสื้อแดงที่มีจิตวิญญาณของนักต่อสู้ หรือประชาชนที่มีจิตวิญญาณของนักต่อสู้และเข้าใจว่าสิ่งที่บุ้งทำนั้น บุ้งยอมพลีชีพเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคนที่ต้องการความยุติธรรมนั้นมีจริง เขาไม่ได้ต้องการเพื่อตัวเขา แต่เขาทำเพื่อคนรุ่นหลัง ลุงนวมทองเขาทำเพื่อให้คนที่ทำรัฐประหารให้รู้ว่าคนที่รักประชาธิปไตยยินดีพลีชีพได้จริง


ในทัศนะอาจารย์นะ มุมมองของฝั่งจารีตอำนาจนิยมเขาต้องคิดใหม่นะ ถ้าคุณอยากให้ประเทศเดินไปด้วยดีนะ ตอนนั้นลุงนวมทองคนเดียว มาบัดนี้อาจารย์ดูแนวคิดและวิธีคิดวิธีทำงานของเยาวชน อาจารย์คิดว่ามันเป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นมาในขั้นสูงขึ้น เพราะนั้นฝั่งจารีตอำนาจนิยม คุณใช้ทหารปราบคนเสื้อแดงในฐานะไพร่ แต่ตอนนี้คุณใช้กฎหมายเพื่อมาจัดการตั้งแต่ปี 2563 คดีความมากมายเต็มไปหมด


คำถาม : คดีความที่เกิดขึ้น คือที่มาที่ไปมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วคุณบุ้งก็ใช้ร่างกายของตัวเองต่อสู้ด้วยการอดอาหาร ในการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ถามว่ามาตรา 112 กับสังคมไทยในปัจจุบันดูจะเป็นความขัดแย้งกันมั้ย?


อย่างที่อาจารย์บอกว่ามันยังมีสงครามระหว่างคน 2 กลุ่ม คนกลุ่มหนึ่งต้องการให้อำนาจการปกครองเป็นแบบเดิม อีกกลุ่มหนึ่งต้องการให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือประชาชน คือคนหนึ่งต้องการประชาธิปไตยแบบไทย ๆ แบบเดิม อีกพวกหนึ่งต้องการประชาธิปไตยแบบสากล แต่มาตรา 112 เนื่องจากอาจารย์กลับไปย้อนดูตั้งแต่อดีต อาจารย์บอกได้เลยว่าสมัยที่มีการปฏิรูปกฎหมายในยุค ร.5 นะ โทษต่ำกว่าปัจจุบันนะ


คือในความคิดของอาจารย์ เรารู้ว่ามีการแยกพวกกัน พวกหนึ่งคือการไม่แตะ 112 แปลเอาเองว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี อันนี้คิดผิดนะ อาจารย์จะบอกให้ พวกที่บอกว่าไม่แตะ 112 พวกนี้คือพวกไม่จงรักภักดี พวกนี้ต้องการทำลายสถาบัน ในประวัติศาสตร์ สมัย ร.5 อาจารย์จะดูว่าแม้กระทั่งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่แตะอยู่ 2 จุด จุดหนึ่งก็คือความหนักเบาของโทษ แม้กระทั่งมีการตัดสินไปแล้วก็ตาม อาจารย์พูดมาเสมอเลย สมัย ร.5 ไม่มีโทษขั้นต่ำ ปัจจุบันโทษขั้นต่ำ 3 ปีนะ ร.6 ก็ไม่มีโทษขั้นต่ำ นั่นคือสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ต้องติดป้ายประชาธิปไตย คือเขายังฉลาดกว่า เพราะว่ามันมีฝ่ายที่มาช่วยปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือจะเป็นคนญี่ปุ่น ไม่มีโทษขั้นต่ำ แปลว่าไม่ลงโทษก็ได้ หรือให้ไปทำงาน หรืออะไรก็ได้ แล้วโทษขั้นสูง มี 5 ปี แล้วก็ 7 ปี นี่ของเราโทษขั้นต่ำ 3 ปี โทษขั้นสูง 15 ปี แล้วนี่มันเป็นประชาธิปไตยแบบไหน? ที่ในกฎหมายประมาณเดียวกันลงโทษประชาชนแรงยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อ่านหนังสือกันหรือเปล่า


และข้อสำคัญคือ ในทัศนะอาจารย์ 112 เป็นกฎหมายของคณะรัฐประหารปี 2519 ก็คือเป็นผลพวงการทำรัฐประหารปี 2519 แล้วถามว่าทำไมถึงจะแก้ไขไม่ได้ ร.5 ท่านเปลี่ยนจากยุคโบราณ กฎหมายตราสามดวง คุณจะเอาอย่างนั้นหรือ ลากลิ้น มาเป็นอย่างที่ว่า ไม่มีโทษขั้นต่ำ, ร.6 ก็ไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่ว่าช่วงนั้นมีปฏิวัติบอลเชวิค ท่านก็เลยปรับขึ้นมาเป็น 7 ปี, สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยัง 7 ปีเหมือนเดิมนะ คณะราษฎรเติมคำว่า “ถ้าสิ่งที่พูดนั้นเป็นประโยชน์สาธารณะและไม่ผิดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความผิด” เข้าไป


แล้วคุณมาดูปี 2519 มันไม่ได้ออกมาจากประชาชน ไม่ได้มาจากเทวรูปอะไรที่ไหน ไม่ได้มาจากประกาศิตจากสวรรค์ มันมาจากชุดคณะรัฐประหาร 2519 ซึ่งผ่าน 6ตุลา ที่ฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัย คำถามว่าแล้วมันเป็นยังไง คุณคิดว่ามันดีพร้อม ตั้งแต่ยุค 2519 นี่พูดถึงกฎหมายโดยทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงดีหรือเลวนะ มันก็มีสิทธิ์ปรับปรุงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยน อันนี้มันยิ่งถอยหลังไปกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วจะให้หมายความว่าไง?


และดิฉันก็เห็นด้วยกับที่คุณเสรีพิศุทธ์พูดถึงว่าควรจะแบ่งแยกลักษณะที่ว่า หมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้าย ควรจะแยกออกจากกัน นี่พูดถึงเดิมนะที่มีการแก้ไข แล้วคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างสุด ๆ เลย คุณอานันท์ ปันยารชุน, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขาก็มองแบบนี้ ถ้าพวกจารีตจะรู้สึกว่าถ้าใครแตะ 112 จะเป็นพวกไม่จงรักภักดี แต่ดิฉันพูดตรงข้าม ถ้าคุณไม่ให้แตะ 112 คุณนี่แหละเป็นพวกไม่จงรักภักดีและทำให้สถาบันมีปัญหา เพราะอะไรก็ตามมันต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม


แน่นอนว่าระบอบการปกครองของเรามันเป็นแบบนี้ แต่ดิฉันก็รู้สึกเสียใจกับปัญญาชนจำนวนมาก และนักกฎหมายจำนวนมากที่มองไม่เห็น คุณคิดว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, คุณอานันท์ ปันยารชุน ไม่จงรักภักดีเหรอ? แกอนุรักษ์นิยมแต่ไม่ใช่จารีต คือเป็นอนุรักษ์นิยมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่จารีตนี่หัวชนฝาเลย เหมือนอย่างครั้งที่แล้วไม่ให้แตะเลย ดิฉันพูดแบบนี้พูดอย่างมีหลักฐานนะ ไม่ได้พูดมโนเอาเองนะ ที่มาของ 112 ปัจจุบัน ที่มาของ 112 ในอดีต อาจารย์ว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ทันสมัยกว่ายุคปัจจุบัน


ดิฉันอยากจะเรียกร้องไปยังฝั่งจารีตอำนาจนิยมว่า คุณต้องดูกรณีของ “บุ้ง” ว่าเขาใจเด็ดแค่ไหน แล้วมันจะไม่ใช่มีแต่บุ้งคนเดียวนะ ที่บางคนกลับมากินอาหาร อาจารย์ว่าเขาเป็นห่วงพ่อแม่ แต่ใจเขาเด็ดเดี่ยวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตะวัน, แบม รอบก่อนอาจารย์ก็เคยไปขอว่าชีวิตเขาอย่าไปหยุดตรงนั้นเลย แล้วคนที่ใจไปไม่ใช่มีแค่ “บุ้ง” ไม่ใช่มีแค่ “ตะวัน” มันจะมีอีก แล้วคนเหล่านี้เป็นเยาวชน อาจารย์อยากจะเรียกร้องไปยังฝั่งจารีตอำนาจนิยมและพวกที่พูดเรื่อง 112 เหมือนคนไม่มีความรู้เลย แต่มันเป็นอันตรายต่อประเทศ ได้โปรดคิดใหม่ ลองเอาแง่คิดที่อาจารย์บอกว่า ขนาดยุค ร.5, ร.6, ร.7 ยังไม่เป็นแบบนี้เลย แต่ว่าพอมาถึงยุคนี้ มันเป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นคุณกับประเทศ และไม่เป็นคุณกับสถาบัน


คำถาม : ตอนนี้พอพูดถึงมาตรา 112 มันดูเหมือนจะแตะไม่ได้แก้ไม่ได้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่เอาแล้ว ยกเว้นพรรคก้าวไกลที่ชัดเจนว่าสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ พรรคเพื่อไทยก็อ้อม ๆ แอ้ม ๆ


พรรคเพื่อไทยตอนแรกก็บอกว่าน่าจะมีการเอาไปพูดคุยแก้ไข อาจารย์ก็เข้าใจ แต่ว่าอาจารย์อยากจะพูดถึงคนที่เรียกว่า ให้ตายก็อย่ามาแตะ อาจารย์ว่ามันพูดแบบไหน แล้วสุดท้ายมันไม่เป็นคุณกับประเทศ ไม่เป็นคุณกับสถาบัน และไม่เป็นคุณต่อพรรคการเมืองนั้น ๆ เองนะ ถามว่าคนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดคิดยังไง? แล้วคุณจะอยู่อย่างนี้ไปเหรอ? มันไม่ได้! แล้วก็มองไปรอบ ๆ เพื่อนบ้านเรา มันไม่มีประเทศไหนที่เป็นประเทศนี้ ถามว่าผู้ปกครองและพรรคการเมืองที่มีอำนาจ อายเขามั้ย? อาจารย์ว่าอายนะ ข่าวอย่างนี้ออกไปน่าอายนะ


อาจารย์อายุมากขนาดนี้แล้วนะ ผ่านการต่อสู้ประชาชนมา กว่า50ปี แล้ว อาจารย์ไม่เป็นกองเชียร์พรรคการเมืองไหน เพราะเราสู้มาก่อนมีพรรคการเมืองพวกนี้ทั้งนั้น แต่อาจารย์ยืนอยู่กับฝ่ายประชาชนและมองเห็นว่าสงครามอันนี้ยังไม่จบ พูดง่าย ๆ ว่าเรายังไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริง ดังนั้น การต่อสู้ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งประชาชนเสียเปรียบ สมัยก่อนมีพรรคการเมืองที่ต่อสู้ด้วยอาวุธคือพรรคคอมมิวนิสต์ พอยุคสงครามเย็นหมดก็เข้ามาสู่วิถีทางรัฐสภา ก็ดูเหมือนดี ก็กลายเป็นว่ามาสู้กับนายทุน จารีตอำนาจนิยมก็มาสู้กับนายทุน ซึ่งนายทุนแรก ๆ ก็เป็นคุณทักษิณ ต่อมาก็มาเป็นพรรคอนาคตใหม่


ดังนั้น คุณไม่สามารถจะต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ นี่พูดอย่างหวังดีนะ ถ้าคุณปรับตัวแบบประเทศอังกฤษหรือประเทศญี่ปุ่น คุณยังมีความคิดอนุรักษ์นิยมได้ คือถ้าอำนาจเป็นของประชาชนและเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ปรับให้แนวคิดของจารีตอำนาจนิยมสอดคล้องกับความเป็นจริง คุณก็อยู่ได้นะ แต่ถ้าคุณไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตอนนี้คนรุ่นใหม่อาจารย์เชื่อนะว่าเกือบทั้งหมด 90% ของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบไทย ๆ แล้วคุณจูงให้เขามาทำสงครามกับเรื่อง 112 ทำไม?


คุณก็ทำให้อำนาจเป็นของประชาชน แล้วปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าคุณมีพรรคการเมืองเก่ง ๆ แบบพรรคคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษ พรรคคอนเซอร์เวทีฟก็อยู่ได้ พรรคกรรมกรแทบไม่ได้เป็นรัฐบาล ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องปรับขีดความสามารถและปรับใหม่ให้มันสอดคล้องความเป็นจริง ประชาชนก็พร้อมที่จะสนับสนุนและเลือกตั้ง แต่ตอนนี้มาไกลแล้ว อาจารย์ว่าปรับไม่ทันแล้ว เพราะทุกวันนี้ยังส่งเสียงกัมปนาท แล้วพรรคการเมืองทั้งหลายยังดูไม่ออกอีกเหรอว่าเป็นยังไง คุณจะยุบพรรคกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ประชาชนเขาก็มีเจตจำนงอันแน่วแน่ของเขา


คำถาม : เรื่องของการยุบพรรคก้าวไกล ก็มีเรื่องของ 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องของ “บุ้ง ทะลุวัง” และนักกิจกรรมอีกมากที่ถูกคุมขังแม้ยังไม่ถูกตัดสิน 112 เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันในทางการเมืองตลอดเลย


อาจารย์ว่าเป็นเพราะพวกนั้นบ้า ท่องเหมือนสวดมนต์แล้วไม่รู้คำแปล เหมือนคนไปนั่งฟังพระสวดแล้วไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร 112 ก็เหมือนสวดมนต์เลย กูไมเอา (แก้)กูไม่เอา(แก้) กูไม่เอา(แก้) แล้วไม่รู้หรอกว่าที่มาที่ไปเป็นยังไง? ไม่ศึกษา ได้แต่ท่องเป็นบทสวดว่า กูไม่เอา กูไม่เอา ใครเอาก็แปลว่าเป็นพวกที่ต้องวายวอดไป แล้วคุณลืมตาดูบ้างหรือเปล่าว่าคนในประเทศเป็นยังไง เยาวชนคิดยังไง อย่าไปคิดว่ามีคนบางคนปั่นหัวได้นะ อาจารย์ไม่คิดอย่างนั้นนะ


บางคนบอกว่าเด็กถูกปั่นหัว เยาวชนถูกปั่นหัว ก็เพราะคิดอย่างนั้นมันถึงเจ๊งหมด พรรคที่เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย โอเค คุณอาจจะยังมีอิทธิพลในสื่อจำนวนหนึ่ง คุณอาจจะมีอิทธิพลในคนชั้นนำของข้าราชการทหารพลเรือนอยู่จำนวนหนึ่ง คุณก็ยังรักษาอำนาจได้ คุณมีอิทธิพลกับเจ้าสัวและบ้านใหญ่จำนวนหนึ่ง แม้กระทั่งคนที่ทำงานในข้าราชการระดับสูง หรือในเรื่องโลกสมัยใหม่ก็ยังเป็นความคิดจารีตอำนาจนิยมนะ แต่เขาจะเรียกว่าอนุรักษ์นิยมใหม่ คือทางการเมืองเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ว่าทางเศรษฐกิจเป็นเสรีนิยมใหม่ ก็คือเอาการตลาดเป็นหลัก สุดขั้วเลย อันนี้มันไม่ใช่แบบเคนส์ แบบที่มีการวางแผน ถ้าคุณจะลดความเหลื่อมล้ำหรือจัดการเศรษฐกิจแบบวางแผน พวกนี้ก็โวยวายไม่ยอมเช่น TDRI เป็นต้น เพราะฉะนั้นมันจะเป็นการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม และเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ก็คือทำให้ชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทหาร พลเรือน หรือกลุ่มอำมาตย์ทั้งหลาย และรวมทั้งเจ้าสัวทั้งหลาย ก็ยังครองอำนาจอยู่ได้ ระบบนี้เป็นระบบที่คน 1% มีอำนาจ


สงครามระหว่างคน 1% ที่มีอำนาจซึ่งมีคนที่มีความเชื่อแบบเขา เช่น อาจจะเป็นชนชั้นกลางบน หรือคนในวัยเยนเนอเรชั่นรุ่น Babyboom, รุ่น X, อาจจะมี เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่เอาด้วยแล้ว แล้วคุณจะไปยังไงถ้าคุณไม่ปรับตัว ปรับตัวเสียดี ๆ เลิกท่องมนต์คาถาแบบบ้า ๆ แบบไม่รู้เรื่องเหมือนไปนั่งฟังพระสวดแล้วไม่รู้บาลีที่สวดแปลว่าอะไร 112 ไม่ใช่บทพระสวด ไม่ใช่พระไตรปิฎก ที่คุณบอกว่าจะต้องปฏิบัติ แล้วใครเขียนเล่า ก็ชุดที่ทำรัฐประหารปี 2519 เขียน


อาจารย์ว่าพูดเล่น ๆ นะ สมมุติว่าเป็น ร.5 หรือ ร.6 มาดูเหตุการณ์ตอนนี้ ท่านต้องส่ายหัวว่าทำไมคนรุ่นนี้โง่กว่าท่านเยอะเลย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #มาตรา112 #คนเสื้อแดง #บุ้งทะลุวัง