กมธ.งบฯ 68 พิจารณางบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซัดของบ 1.52 แสนล้านแต่แจกแจงด้วยเอกสารเพียงหน้าเดียว แถมยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพ สูตรคำนวณสัดส่วนงบลงทุนก็ไม่ชัดเจน ย้ำต้องส่งเอกสารแจงรายละเอียดเพิ่ม ก่อนจะเริ่มพิจารณาต่อได้
วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดคำของบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยการประชุมได้ดำเนินมาถึงวาระรายการงบกลาง เรื่อง ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เป็นผู้เข้ามาชี้แจง
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังได้แจกแจงแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะมาจาก 3 แหล่ง คือ 1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท 2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.72 แสนล้านบาท และ 3) การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท
โดยระหว่างการชี้แจงได้มีกรรมาธิการหลายคนสอบถามถึงรายละเอียดในการดำเนินโครงการ เช่น ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงนำมาโครงการนี้มาใส่ไว้เป็นรายการใหม่ในงบกลาง เพราะเมื่อพิจารณาตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแล้ว การตั้งเป็นงบกลางจะทำได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง แต่วันนี้ในเมื่อสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาชี้แจงในกรรมาธิการแล้ว แสดงว่าเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้แล้วใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดจึงไม่บรรจุงบโครงการนี้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังตั้งแต่แรก เพราะเมื่อมาถึงขั้นกรรมาธิการ การนำงบส่วนนี้กลับไปอยู่กับหน่วยรับงบประมาณที่เหมาะสมก็เป็นไปไม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า จากงบประมาณ 1.52 แสนล้านบาทมีการกำหนดให้ร้อยละ 80 เป็นรายจ่ายลงทุน ตนจึงขอสอบถามว่าตัวเลขส่วนนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะโครงการดังกล่าวก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ระบุให้ประชาชนนำไปใช้ในการลงทุน แทนที่จะใช้ในการบริโภค
ขณะที่ วีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคก้าวไกล ตั้งประเด็นคำถามว่า งบประมาณ 1.52 แสนล้านบาทไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ แต่เหตุใดเอกสารชี้แจงที่กรรมาธิการได้รับกลับไม่มีอะไรให้ดูสักอย่าง ทั้งที่มาของโครงการ ข้อมูลประมาณการต่างๆ ก็ยังไม่มี ข้อมูลที่ให้มาเท่านี้น้อยเกินไป น่าจะเตรียมข้อมูลมาใหม่ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด แล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง
ด้านผู้ชี้แจงจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังตอบคำถามว่า เหตุผลของการใช้งบกลางในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพราะยังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดจะมารับดำเนินโครงการนี้ ส่วนกระทรวงการคลังเป็นเพียงผู้ทำคำขอตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทเท่านั้น
ส่วนในเรื่องของแหล่งเงินจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลน่าจะยังใช้ช่องทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แม้ในขณะนี้จะยังไม่ได้ส่งหนังสือหารืออย่างเป็นทางการไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็มีการหารือเป็นการภายในถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ ส่วนเรื่องการใช้เงินยืนยันได้ว่ายังอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแน่นอน
ด้านผู้ชี้แจงจากสำนักงบประมาณได้ตอบคำถามถึงกรณีการคำนวณสัดส่วนรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 โดยระบุว่าตามนิยามความหมาย รายจ่ายลงทุนคือรายจ่ายที่รัฐบาลใช้จ่ายเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ถ้ายึดตามความหมายนี้ก็ควรเป็นรายจ่ายลงทุนท้้งหมด
แต่จากการหารือกับสำนักเศรษฐกิจการคลัง ที่มาของการคิดคำนวณมาจากข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งระบุว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 50 ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าทุนหรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับทุนคิดเป็นร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าทั่วไป ประชาชนต้องบริโภคจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับราคาขายสินค้าจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะเป็นส่วนของต้นทุนการผลิตประมาณร้อยละ 60 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และเป็นส่วนของกำไรอีกประมาณร้อยละ 30 หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน
ดังนั้น ในภาพรวมของค่าใช้จ่ายครัวเรือน จะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นรายจ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าทุนโดยตรงร้อยละ 50 และค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตอีกร้อยละ 30 จึงเป็นที่มาของรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 ในโครงการนี้
ด้านวีระตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าต้นเรื่องอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะขอให้สรุปหรือนำรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 3 ครั้งมาให้กรรมาธิการดูได้หรือไม่ จะได้รู้ว่าคุยกันอย่างไรถึงได้ข้อสรุปออกมาแบบที่ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพเช่นนี้
นอกจากนี้ การคำนวณงบรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 ตามที่ชี้แจงมานั้นไม่ถูกต้องแน่นอน น่าจะต่ำกว่านั้นมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการบริโภคเสียมากกว่า
จากนั้น สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงได้เสนอให้ประธานในที่ประชุม “แขวน” รายการนี้ ซึ่งหมายถึงให้รอการพิจารณารายการนี้ใหม่จนกว่าจะได้เอกสารที่แสดงรายละเอียดครบถ้วน โดยจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองประธานกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานในที่ประชุมได้แสดงความเห็นว่าเห็นด้วย และไม่มีกรรมาธิการท่านอื่นเห็นแย้ง จึงดำเนินการตามที่สุรเชษฐ์ได้ร้องขอ