วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“ธงชัย” การตายของบุ้งเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ฟ้องอย่างชัดเจนว่า ระบบราชทัณฑ์ทั้งหมดล้มเหลวและเป็นฆาตกร!

 


“ธงชัย” การตายของบุ้งเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ฟ้องอย่างชัดเจนว่า ระบบราชทัณฑ์ทั้งหมดล้มเหลวและเป็นฆาตกร!


ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล : 14 มิ.ย. 67 วาระครบ 1 เดือน บุ้ง-เนติพร เสียชีวิต


ผมอยากพูดในประเด็นว่า ทำไมเวลาคนพูดถึง “บุ้ง” ต้องเริ่มจากว่า บุ้งเป็นคนอย่างงั้นอย่างงี้ เราเคยถามมั้ยว่า “ลุงนวมทอง” นิสัยยังไง? ไม่ถาม ทำไมไม่ถามล่ะ เราเคยถามมั้ยว่าคนที่เสียชีวิตอีกมากมายนิสัยอย่างไร? ผมเข้าใจนะว่าคุณรู้จักรับรู้ว่าภาพพจน์ของ “บุ้ง” ในสายตาคนในสังคมมันกลายเป็นปัญหา ผมเข้าใจความพยายามทำให้เห็นเขาเป็นมนุษย์ปกติธรรมดาคนหนึ่ง แต่ผมอยกจะถามคนทั้งหลายว่า แล้วถ้าหากว่าเขาเป็นคนนิสัยไม่ดีล่ะ แปลว่าเขาสมควรตายใช่มั้ย? ถ้าเขาเป็นคนที่ก้าวร้าว แปลว่าเขาสมควรตายในคุกใช่มั้ย?


เพราะฉะนั้น ทำต่อไปเถอะครับ พยายามจะ defence เขา ทำให้เขาเห็นความเป็นมนุษย์ปกติ แต่ทุกครั้งกรุณาจบลงด้วยการถามว่า ผมไม่รุ้ว่าผมต้องมาอธิบายทำไมว่า “บุ้ง” เป็นมนุษย์ปกติ เพราะต่อให้เขาเป็นคนที่นิสัยไม่ดี เขาก็ไม่สมควรตาย! การตั้งคำถามทั้งหลายต่อนิสัยบุคลิกของเขาเป็นการทำให้ประเด็นเบี่ยงออกไป อย่าไปยอมซิ!


ประเด็นที่ผมสิ่งที่ผมกำลังจะพูดอันดับแรกเลย อย่าเบี่ยงประเด็น!


ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องน่าเสียใจซ้ำหนักกว่าเดิมถ้าหากการเสียชีวิตของ “บุ้ง” จะค่อย ๆ เลือนไปจากความทรงจำของผู้คน ราวกับว่าไม่มีอะไรผิดปกติที่เกิดขึ้น และคุณกำลังรู้สึกเหมือนกับผมใช่มั้ยว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นอย่างนั้น ถ้าหากเราต้องการให้สังคมไทยรู้จักและรำลึกถึง “บุ้ง” ผมเห็นด้วยกับการพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่น่าสนใจและน่าคิดก็คือ บรรยากาศการพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเยอะแยะผมเห็นด้วยทุกประเด็น ผมเองเป็นส่วนหนึ่งในการก่อปัญหา คือผมเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าปัญหากระบวนการยุติธรรมมันยากยิ่งกว่าที่เราคิด หลายปีมาแล้วผมเริ่มพูดให้เห็นว่าเราสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น คุณรู้หรือไม่ว่าเผลอ ๆ การแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมมันต้องใช้เวลามากและนานกว่าปัญหาเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยเยอะ


ผมขอย้ำอีกครั้งว่า “ประชาธิปไตยกับความยุติธรรม” ไม่มีทางไปโดด ๆ มันต้องไปด้วยกัน ฉะนั้น ถ้าต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยโดยไม่ต่อสู้เรื่องขบวนการยุติธรรม ให้ตายก็ไม่มีทางสำเร็จ! สองอย่างนี้เป็นสองอย่างของเหรียญเดียวกัน เราเริ่มพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมช้ากว่าการเริ่มพูดถึงประชาธิปไตยไปประมาณ 40 ปี แต่มันไม่สายที่จะเริ่มแล้วต้องลุยกันต่อ


กระนั้นก็ตาม เราอยากให้คนจดจำ “บุ้ง” ในเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมันดี แต่คุณแน่ใจหรือว่าการพูดแค่นี้มันพอ โอเค ผมคิดว่ามันดีและยังต้องพูดต่อ ต้องลุยกันเรื่องกระบวนการยุติธรรมต่อทั้งที่ปัญหาเยอะมาก ผมอยากให้ขมวดประเด็นเข้ามาบางอย่างสำหรับ “บุ้ง” ผมเข้าใจครับว่าเขาเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันใหญ่โตมาก แต่ผมอยากเสนอบางข้อว่า เราอยากให้สังคมไทยรำลึกถึง “นิติพร เสน่ห์สังคม” ในแง่ไหนล่ะ?


มีทางเป็นไปได้ไหมที่เราจะขมวดประเด็นลงให้มันโฟกัสให้ชัดโดยที่ไม่ผิดประเด็น โดยที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมด้วย และเมื่อพูดถึง “บุ้ง” ลุยในประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้ห้ามพูดถึงกระบวนการยุติธรรมนะ แต่ลุยในประเด็นที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ให้หนัก โดยการพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในแง่อื่น ๆ ยังมีเรื่องต้องพูดอีกเยอะ


ประเด็นที่ผมจะเสนอก็คือว่า เราควรจะทำให้การเสียชีวิตของเขามีความหมาย มีคุณค่าชัดเจนที่สังคมร่วมกันรำลึกได้


ในระยะแรกของการเสียชีวิตของเขา มีการกล่าวโทษกับข้อเรียกร้องของเขาว่าผลักไสเขาให้ไปตายแทนที่จะห้ามปรามกัน เราควรตอบกลับไปว่า “อย่าเบี่ยงประเด็น” เพราะประเด็นมีอยู่ง่ายนิดเดียวก็คือ “คุก” ต้องยกเครื่อง ระบบราชทัณฑ์ทั้งหมดต้องรื้อ การตายของ “บุ้ง” ฟ้องเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ฟ้องอย่างชัดเจนว่าระบบราชทัณฑ์ทั้งหมดล้มเหลวและเป็นฆาตกร


ผมเห็นว่าการตายของบุ้งเกิดจากการที่พวกเราไม่ใช่ไม่ห้าม แต่เราเรียกร้องให้คนรับฟังและตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านั้นเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่การชี้นิ้วโทษกันอย่างไร้สาระเป็นการเบี่ยงประเด็น ต้นเหตุมีหลายประการ การไม่ให้ประกันตัว การมีนักโทษการเมืองนับร้อยในคุก กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม เหล่านี้ถูกทั้งนั้น แต่เหตุที่ตรงและสำคัญที่สุดซึ่งสังคมไทยพูดกันมานานแต่กลับพูดในลักษณะร้องเรียนเป็นครั้ง ๆ สังคมไทยไม่ได้สนใจอย่างจริงจัง ไม่มีการเรียกร้องให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังว่าต้องสะสางเสียทีคือ การราชทัณฑ์


“ราชทัณฑ์” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการปฏิรูปเป็นแบบสมัยใหม่น้อยที่สุด น้อยกว่าตำรวจ น้อยกว่าอัยการ น้อยกว่าศาล ราชทัณฑ์ปัจจุบันเป็นมรดกของการลงทัณฑ์แบบจารีตอยู่มากกว่าส่วนอื่นของกระบวนการยุติธรรม โดยพื้นฐานที่สุดกิจการราชทัณฑ์ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Department of Corrections อันนี้เป็นการให้ใช้ภาษาพูดตามอาชญวิทยาสมัยใหม่ แต่คำที่ใช้ในภาษาไทยเขาไม่เคยใช้คำที่มีความหมายว่า Corrections เขาใช้ว่า “ราชทัณฑ์” คำนี้มีมาแต่โบราณไม่เคยเปลี่ยนแปลง


การลงโทษแบบจารีตโดยพื้นฐานที่สุดคือการปฏิบัติต่อ “คนคุก” ต่ำกว่ามนุษย์ปกติ เพราะหวังว่าการทำเช่นนั้นจะให้เข็ดหลาบ รากฐานความคิดเช่นนั้นหรือเปล่าจึงทำให้คุกแออัดยัดเยียดมาตั้งแต่โกฎิปีแล้ว เป็นสาเหตุให้อาหารการกินมันแย่กว่าอาหารที่มนุษย์ควรจะกิน เพราะพื้นฐานแค่นี้ใช่หรือไม่ที่ในคุกยังเป็นสังคมที่ใช้อำนาจกันอย่างดิบ มีขาใหญ่มีระบบมาเฟียในคุก เพราะพื้นฐานความคิดแบบนี้ใช่มั้ย? เพราะพื้นฐานอย่างนี้หรือเปล่าที่ทำให้วิธีปฏิบัติต่อคุกโดยเฉพาะคุกหญิงใช้วิธีการทำให้อับอาย ส่วนคุกชายใช้กำลัง เพราะพื้นฐานอย่างนี้หรือเปล่าจึงมีอำนาจมืดสารพัดชนิด


ตัวอย่างที่สะท้อนถึงที่สุดของความคิดว่าผู้ต้องหาต่ำกว่ามนุษย์ปกติคือ “ตรวน” เลิกตีตรวนกำไรข้อมือ-ข้อเท้า ได้มั้ย? หรือการที่บอกว่าทำประกันไม่ทันเพราะหมดเวลาราชการ คนหนึ่งคนถ้าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรต้องติดคุกเพิ่มแม้แต่วันเดียว คืนเดียว หรือ 2 ชม. อภิสิทธิ์ที่คุณทักษิณได้รับไม่ผิดเลย แต่อภิสิทธิ์นั้นไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ มันควรเป็นสิทธิปกติของผู้ต้องขังทุกคนต่างหาก ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนั้นทุกคน แม้แต่ผู้ต้องขังไม่ทางการเมืองก็ควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนั้นทุกคน


แต่เฉพาะผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวนมากยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิดด้วยซ้ำไป ทุกวันนี้กลายเป็นว่าใครจะได้รับสิทธิพิเศษอันนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจ ขึ้นอยู่กับการเมือง ขึ้นอยู่กับดีล ขึ้นอยู่กับเงิน ผู้ต้องขังที่เป็นประชาชนสามัญทั่วไปทันทีที่คุณกลายเป็นคนคุก คุณกระเถิบถดถอยลงกว่าการเป็นมนุษย์ปกติทันที อย่าว่าแต่มีสิทธิ์ได้อย่างมนุษย์ปกติเลย คุณมีสิทธิได้รับแต่อาหาร ความแออัดยัดเยียด และสารพัดอย่าง อย่างที่คนคุกตาม “ระบบราชทัณฑ์แบบจารีต” มอบให้กับคุณ


แต่แง่มุมสำคัญที่สุด หลักฐานการลงทัณฑ์แบบจารีตและใกล้ชิดกับกรณี “บุ้ง” ที่สุดคือ การรักษาพยาบาลคนคุก เรามาทำให้การเสียชีวิตของ “บุ้ง” มีความหมาย ด้วยการพุ่งเข้าไปสู่ประเด็นยกเครื่องปรับปรุงระบบราชทัณฑ์กันได้หรือไม่? ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ ยกระดับอาหารให้มนุษย์กินได้ และการปฏิบัติทั้งหลายราวกับเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่าต้องเลิก ยกเลิกการใส่กำไลข้อมือ-ข้อเท้า “ตีตรวน” ทั้งหมด แล้วปรับปรุงระบบการรักษาพยายาลของราชทัณฑ์ทั้งระบบ


พรรคการเมืองทั้งหลาย รัฐบาลเราท่านทั้งหลาย ให้เรากลับมาสนใจกรณี “บุ้ง” เราอาจจะเห็นต่างกันว่า “บุ้ง” เป็นคนยังไง? เรายังอาจจะเห็นต่างกันได้เลยว่าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปอะไรก่อนหลัง ผมขอถามพรรคการเมืองนักการเมืองทั้งหลายว่าคุณเห็นว่าคุกไทยวิเศษแล้วหรือ มีใครบ้างที่ไม่ยอมรับว่าระบบราชทัณฑ์และความเป็นอยู่ของคนในคุกมีปัญหา ใครยืนยันได้ว่าเป็นสวรรค์หรือดีที่สุดอยู่แล้ว ที่ทุกคนเห็นด้วยว่าเป็นปัญหา ปรับปรุงระบบราชทัณฑ์ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังทุกประเภททุกแห่ง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีนี้อีก


อย่าให้การเสียชีวิตของ “บุ้ง” สูญเปล่าเลย พรรคการเมืองทั้งหลาย เรามาทบทวนกันดีไหมว่า ระบบอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงในการราชทัณฑ์ การแพทย์ การรักษาพยาบาล ฝากให้คิดว่าจะทำให้การเสียชีวิตของ “บุ้ง” มีความหมายชัดเจนอย่างไร เพราะนับจากนี้ไปถ้า “คุก” ไม่เกิดการปฏิรูปจริงจัง ทุกคนจะบอกว่านี่คือผลพวงจากการเสียชีวิตของ “บุ้ง”


ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในการราชทัณฑ์ครั้งใหญ่ เป็นผลที่เราทำให้การเสียชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ในกรณีนี้คือ “บุ้ง” มีความหมายอย่างสำคัญขึ้นมาต่อการราชทัณฑ์ของไทย เพราะการราชทัณฑ์ของไทยเกี่ยวข้องกับคนเป็นแสน ให้คนเป็นแสนเหล่านั้นได้รับรู้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาแออัดน้อยลง มีอาหารการกินที่เป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะ “บุ้ง” ผมฝากไว้แค่นี้ ขอบคุณมากครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #บุ้งทะลุวัง #บุ้งเนติพร #1เดือนบุ้งเสียชีวิต