วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“ชัยธวัช” กล่าวเปิดเวที Policy Fest อุดรธานี ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอีสานน่าห่วง โดยเฉพาะการผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มดิ่งลง ชี้ทลายวงจรแล้ง-ท่วม-เจ็บ-จน-หนี้ ต้องใช้การเมืองนำ

 


“ชัยธวัช” กล่าวเปิดเวที Policy Fest อุดรธานี ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจภาคอีสานน่าห่วง โดยเฉพาะการผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มดิ่งลง ชี้ทลายวงจรแล้ง-ท่วม-เจ็บ-จน-หนี้ ต้องใช้การเมืองนำ


วันที่ 22 มิถุนายน 2567 ที่ลานกิจกรรม UD Town อ.เมือง จ.อุดรธานี ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวปาฐกถาเปิดงานก้าวไกล Policy Fest “อุดรจ้วดๆ” ในหัวข้อ “Breaking the Cycle : ทลายวงจรแล้ง ท่วม เจ็บ จน หนี้ ที่อุดรฯ“ โดยระบุถึงที่มาของการจัดงานในวันนี้ ว่าจากการที่พรรคก้าวไกลวางบทบาทเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก นั่นแปลว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ได้แค่ค้านอย่างเดียว แต่จะเตรียมพร้อมเพื่อเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้ รูปธรรมคือการทำงานอย่างจริงจังและจับต้องได้ โดยเฉพาะในการทำนโยบาย ซึ่งพรรคการเมืองควรต้องทำตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาเลือกตั้งเท่านั้น 


ดังนั้น ต้องมีรายละเอียดในแต่ละเรื่อง มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โจทย์สำคัญของประเทศคืออะไร ซึ่งเราได้ประกาศไว้แล้วว่าเรามีวาระที่จะระเบิดศักยภาพของสังคมไทยใน 6 เรื่อง ในวันนี้จะเป็นการพูดในบริบทของภาคอีสาน โดยเฉพาะอุดรธานี


เมื่อปลายปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคอีสาน ข้อสรุปคือเศรษฐกิจภาคอีสานมีความน่าเป็นห่วงกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในระดับชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสานทั้งภาค ไม่ว่าจะจากภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า ฯลฯ ของภาคอีสานจะต่ำกว่าของทั้งประเทศ 1-2% ในปี 2567 โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจของภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะที่คือผูกติดกับภาคเกษตรเป็นอย่างมากยิ่งกว่าภาคอื่นๆ แม้มูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมอีสานจะอยู่ที่ 19% ส่วนภาคเกษตรอยู่ที่ประมาณ 20% แต่น้ำหนักของภาคเกษตรในภาคอีสานก็ยังเยอะมากกว่าภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะประชากรเกือบ 60% ของครัวเรือนอีสานเป็นครัวเรือนเกษตร และเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการเกษตรก็กระจายตัวไปทั่วทั้งภูมิภาค ขณะที่อุตสาหกรรมในอีสานประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผูกติดกับภาคเกษตรเช่นกัน


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่านอกจากครัวเรือนอีสานส่วนใหญ่จะเป็นครัวเรือนเกษตรแล้ว การเกษตรในภาคอีสานยังพึ่งพิงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียง 5-10% เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ชลประทาน ที่เหลือทั้งหมดพึ่งพิงแต่น้ำธรรมชาติ ปัญหาคือเมื่อไรที่ธรรมชาติผันผวน การเกษตรภาคอีสานก็จะผันผวน และรายได้ของคนอีสานก็จะผันผวนตามไปด้วย ภัยแล้งจะเป็นปัญหาหนักในปีนี้ และอาจจะต่อเนื่องไปอีกสี่ปี นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจอีสานจะลบ 1-2% เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ เพราะได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศผันผวนอย่างรุนแรง ขณะที่ศักยภาพในการผลิตของภาคเกษตรไทยก็ดิ่งหัวลงในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกไปแล้ว นี่คือความน่ากังวลของภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน นั่นหมายความว่าการลงทุนที่ใส่เข้าไปแม้จะมากแต่ผลผลิตจะน้อยลง 


เรื่องที่ดินก็เป็นปัญหาสำคัญ คนอีสานที่อยากมีความมั่นคงในที่ดิน อยากจะทำเกษตร ลงทุน หรือเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเดิมไปเป็นอุตสาหกรรมเกษตร การแปรรูป เศรษฐกิจท่องเที่ยว หรือการพาณิชย์ คำถามใหญ่ก็คือจะมีความมั่นคงในที่ดินอย่างไร ที่ ส.ป.ก. 18 ล้านไร่จะเอาอย่างไร ให้ใช้ที่ดินเป็นสินทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุนได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรแบบเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมไทยได้หรือไม่ ยังมีที่ดินอีก 1 ล้านไร่ที่มีข้อพิพาทกับรัฐ ป่าทับที่ไม่มีสิทธิที่ทำกินอีก 3 ล้านไร่


นี่คือหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในภาคอีสานน่าเป็นห่วงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร ที่กว่า 80% เป็นหนี้และมีหนี้เฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ มูลค่าหนี้สินในภาคอีสานโดยเปรียบเทียบ 8 ปีจากปี 2556-2564 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเฉลี่ยครัวเรือนละ 1.2 แสนบาท กลายเป็น 2.6 แสนบาท โดยที่หนี้สินต่อรายได้สูงขึ้น จาก 7.6 เท่าเป็น 12 เท่า


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าทั้งหมดที่เล่ามานั้นไม่มีอะไรใหม่เลย เป็นสิ่งที่ชาวอีสานต้องสัมผัสอยู่ทุกวัน ความยากจนและกันดารได้ผลักดันให้คนอีสานต้องเดินทางไปทุกที่ และสิ่งที่ได้มาคือทำให้ชาวอีสานมีลักษณะเด่นคือรับรู้โลกกว้างมากกว่า และเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเปรียบเทียบกับบ้านเกิดของตัวเองได้มากกว่า และมีแรงปรารถนาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างแรงกล้ามากกว่า


ปัญหาความแล้งจนเจ็บนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะคนอีสานเอง แต่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง นโยบายของรัฐ กฎหมาย และระเบียบ ความจนทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นจากความจนในอำนาจและโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเมืองด้วย ดังนั้น เราจะออกจากวงจรแล้งจนเจ็บแบบนี้ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่ผ่านมาหลายคนมองคนอีสานว่าโง่จนเจ็บ ไม่มีการศึกษา ไม่เข้าใจการเมือง จึงมีปัญหาถูกซื้อเสียง เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าและระบบอุปถัมภ์ ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่พัฒนา


แต่ตนกลับมองเห็นภาพกลับกัน ประสบการณ์อีสานที่ตนเคยสัมผัสมาทำให้ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วพี่น้องในชนบทโดยเฉพาะภาคอีสานสามารถใช้ประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในการใช้เป็นพื้นที่ต่อรอง กดดัน เรียกร้อง และแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรและสิทธิที่พี่น้องควรจะได้อย่างชาญฉลาดที่สุด 


“มาถึงวันนี้ผมเชื่อว่าพี่น้องเห็นแล้ว ว่าสิ่งที่เราเรียกร้องแลกเปลี่ยนได้กับความไว้วางใจของเรา กับเสียงของเรา คือสิ่งที่มันใหญ่กว่าเงินหลักพันหรือถนนแค่ไม่กี่เส้น คือนโยบายที่จะแก้ปัญหาของเราทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ผมอยากเชิญชวนพี่น้องให้ใช้สิทธิใช้อำนาจของเราในระบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ผลักดันนโยบายที่พี่น้องประชาชนเห็นว่าตอบโจทย์ที่สุดทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว และเป็นนโยบายที่พี่น้องทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและออกแบบได้“ ชัยธวัชกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #PolicyFest #ก้าวไกลอุดร