วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เลือกระดับอำเภอจบแล้ว แต่การเลือก สว. ยังไม่จบ! ผู้สมัคร สว. เล่าประสบการณ์หลังตกรอบแรกกับความผิดปกติที่พบ ด้านอาจารย์ นักวิชาการ สะท้อนปัญหาหลักตัวระบบที่บิดเบี้ยว แนวปฏิบัติแต่ละอำเภอมาตรฐานต่างกัน

 


เลือกระดับอำเภอจบแล้ว แต่การเลือก สว. ยังไม่จบ! ผู้สมัคร สว. เล่าประสบการณ์หลังตกรอบแรกกับความผิดปกติที่พบ ด้านอาจารย์ นักวิชาการ สะท้อนปัญหาหลักตัวระบบที่บิดเบี้ยว แนวปฏิบัติแต่ละอำเภอมาตรฐานต่างกัน


วันนี้ (11 มิ.ย. 67) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ร่วมกับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) จัดงานเสวนาและแถลงข่าว “บอกเล่าประสบการณ์ผู้สมัคร ส.ว. ดวงแตก”


เวลา 13.00 น. ได้มีการแถลงข่าวปัญหาการเลือกสว. ระดับอำเภอ โดย ฉัตรชัย พุ่มพวง Actlab, ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), กฤต แสงสุรินทร์ We Watch, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw ดำเนินรายการโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล CALL


โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1. เจ้าหน้าที่ กกต. ควรทำให้กระบวนการรวดเร็วกว่านี้ เนื่องจากบางอำเภอมีกระบวนการล่าช้ามาก หากในระดับจังหวัดถ้าเจ้าหน้าที่ล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อการเลือกด้วย 2. ขอพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์มากกว่านี้ และ 3. ขอความชัดเจนของทุกเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น การพูดคุยกันของผู้สมัครในสถานที่เลือก หาก กกต.ต้องชัดเจนว่าให้ผู้สมัครทำอะไรได้บ้าง และต้องมีมาตรฐานที่เท่ากัน


จากนั้น เวลา 13.30 น. รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้สมัคร สว. ที่ตกรอบในระดับอำเภอ ว่าเผชิญกับอะไรบ้างในกระบวนการเลือกกันเองครั้งแรกในโลก ประกอบด้วย ณัฏฐธิดา มีวังปลา อ.เมือง จ.จันทบุรี กลุ่มสาธารณสุข, พัชรี พาบัว อ.เมือง จ.ลพบุรี กลุ่มประชาสังคม, สากล พูนกลาง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ กลุ่มอาชีพอิสระ, เกรียงไกร สันติพจนา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กลุ่มศิลปะวัฒนธรรม, พนิดา บุญเทพ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลุ่มประชาสังคม ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw


ต่อมา 14.40 น. เสวนา “ติดตามผลและปัญหาการเลือก สว.” โดยผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงการเลือก สว.ครั้งนี้ว่า ระบบเลือกนี้เป็นระบบที่ใช้ไม่ได้ นี่คือการเลือกผู้แทนของประชาชนชาวไทย แต่เป็นระบบที่ยุ่งยาก ซับซ้อน มีปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ และการลงกลุ่มอาชีพนั้นก็มีปัญหามาก จะทำอย่างไรให้การเลือกระดับจังหวัดไม่มีปัญหา


ส่วนการร้อง กกต. มีเวลาแค่ 3 วันถึงวันที่ 12 มิ.ย.67 เท่านั้น หากผู้ที่ผ่านระดับจังหวัดเข้ามามีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไปถึงระดับประเทศก็จะมีปัญหา ดังนั้น ระบบจึงร้องเป็นรอบ รอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วค่อยไปร้องเรียนจึงไม่ทัน


นอกจากนี้ยังเสนอว่าการเลือกในรอบที่จะถึงนี้ ต้องมีการรู้จักกัน อยากให้มีการแนะนำตัวให้เต็มที่ อย่าให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการฮั้วกัน และอย่างน้อยที่พูดมาก็มีน้ำหนักที่ กกต. รับฟัง


ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึงประเด็นการร้อง กกต. มีเวลาแค่ 3 วันถึงวันที่ 12 มิ.ย. 67 เท่านั้น หากผู้ที่ผ่านระดับจังหวัดเข้ามามีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไปถึงระดับประเทศก็จะมีปัญหา ดังนั้น ระบบจึงร้องเป็นรอบ รอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วค่อยไปร้องเรียนจึงไม่ทัน ถ้าไม่ร้องภายใน 3 วันนี้ จบ 


ผศ.ดร.ปริญญา ได้ทิ้งท้ายว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา และมี สส.ปัดเศษจากบัตรใบเดียว ซึ่งครั้งนี้ก็คงจะเป็น สว. ที่จับสลาก แต่คิดว่าไม่ควรที่จะเป็นเช่นนั้น ควรจะเพิ่มเติมความโปร่งใสให้มากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าระบบจะมีปัญหา


ด้านรศ.พิชาย เชื่อว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ จะได้ สว. ที่ดีกว่าเมื่อครั้งคสช.แต่งตั้ง มองว่ากระบวนการที่ได้มาจะมีปัญหาอยู่บ้าง และมีโอกาสที่บางกลุ่มบางก้อนอาจจะมีเครือข่ายจัดตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งหนีไม่พ้น เพราะประเทศไทยก็อยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นจริงว่า การเลือกครั้งนี้เป็นวิธีที่ทำให้กลุ่มพลังในสังคมเข้าไปแข่งขันและช่วงชิงเพื่อที่จะเข้ามายืนอยู่ในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องปกติ


รศ.พิชาย ระบุว่า กล่าวแบบเข้าข้างตัวเองฝ่ายที่มีจิตใจสนับสนุนประชาธิปไตยจะได้เข้าเป็น สว. เกิน 70 คน เพื่อที่จะช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เหลือก็จะมีประมาณ 100 กว่าคน ก็จะเป็นกลุ่มอำนาจที่เหลือ จะมีอำนาจในการคุมสภาพของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ


ทั้งนี้ ได้ย้ำว่า การเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้มีการฮั้วกันจริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ในเครือข่ายของบางหน่วยงาน แต่หลายพื้นที่เป็นไปอย่างอิสระ โดยอาศัยการแนะนำแลกเปลี่ยนกัน 


อย่างไรก็ตามระบบการเลือกตั้งแบบนี้แม้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ยังดีกว่าเอาปืนมาจี้ประชาชน แล้วมีการแต่งตั้ง สว. เหมือนครั้งที่ผ่านมา


ขณะที่ ดร.ปุรวิชญ์ ตั้งคำถามว่า เมื่อมีกระบวนการเลือกแบบนี้จะนำไปสู่การได้มาซึ่งสว. แบบไหน? และก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า จะได้ สว. แบบไหน? จากที่เห็นการเลือกระดับอำเภอ และได้ฟังผู้สมัครที่ตกรอบมาเล่าประสบการณ์มันยืนยันได้ว่า เรื่องที่ ทาง กกต.บอกว่าต้องแบ่งเป็น 20 กลุ่มโดยให้เหตุผลว่า ป้องกันการจัดตั้งได้ มันไม่จริง ย้ำว่าจากที่ผู้สมัครเล่ามา เนื่องจากกระบวนการบิดเบี้ยว ถ้าไม่อยากให้มีการจัดตั้ง ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม


สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่มีแนวปฏิบัติ และมาตรฐานไม่เหมือนกันนั้น เห็นว่าเป็นปัญหาหลักเสมอมาในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงขอให้ทำแต่ละพื้นที่มีมาตรฐานที่เท่ากัน ดร.ปุรวิชญ์ กล่าว 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สว67 #กกต