วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

"อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล" อดีต ผอ.TCDC ขึ้นเวทีในนามพรรคก้าวไกล โชว์วิสัยทัศน์สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย้ำสิ่งสำคัญที่สุดต้องแก้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ


"อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล" อดีต ผอ.TCDC ขึ้นเวทีในนามพรรคก้าวไกล โชว์วิสัยทัศน์สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย้ำสิ่งสำคัญที่สุดต้องแก้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ

 

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ผู้สื่อขาวรายงานว่า ที่ โรงแรม พูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม. อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะ “ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้ขึ้นเวทีในเสวนา “อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอ 5 นโยบายสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอภิสิทธิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญที่รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสร้างระบบสวัสดิการที่สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ และแก้กฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพ

 

อภิสิทธิ์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 7.5% ของ GDP มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 9 แสนคน แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในอุตคสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

 

ตั้งแต่เราได้ยินคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำว่า Soft Power ไม่ต่ำกว่า 20 ปี วันไหนที่เอกชนไปประสบความสำเร็จ เราก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ขึ้นมาชมเชย หยิบมงกุฎ หยิบชฎา หยิบข้าวเหนียวมะม่วงมาชมเชย แต่ข้อเท็จจริงกว่าคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จได้ ล้วนมาจากความอุตสาหะของกาย เงิน ของคนเหล่านั้น”

 

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่าจากงบประมาณทั้งหมดของประเทศไทย 3.3 ล้านล้านบาท มีส่วนที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพียงแค่ 8,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้งบประมาณ 310 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ของประเทศเกาหลีใต้ ได้งบประมาณในปีที่แล้วถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างลิบลับ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย 5 มิติเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย

 

เรื่องแรก พรรคก้าวไกลจะเสนอให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ พร้อม ๆ กับที่เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ เรามีสถาบันการศึกษาที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ 130 แห่ง มีธุรกิจที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 82,072 ราย เราต้องรื้อระบบโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพราะโครงสร้างงบประมาณเดิมยิ่งสร้างปัญหา ไม่แหลมคมพอ กระจัดกระจาย รวมทั้งระบบการจัดซื้อในรัฐบาลต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อพุ่งเป้าไปสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

 

สอง พรรคก้าวไกลจะปรับระบบสวัสดิการคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีชีวิตเพิ่มมากขึ้น ให้เขาเห็นปลายแสงสว่างในชีวิตว่ามาทำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้วไม่ได้่ตกทุกข์ได้ยากลำบาก เราอาจเห็นร้านอาหารที่มีชื่อ อาจเห็นชื่อเสียงของนักดนตรีไทย แต่หลังบ้านของสิ่งเหล่านั้นเป็นหลังบ้านที่น่าสงสาร

 

สาม พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนพื้นที่บางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทดลองของคนในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ว่างในพื้นที่ราชพัสดุ ที่ดินทหารและส่วนราชการอีกเยอะแยะที่สามารถเอามาเป็นแล็ปให้พวกเขาได้ทดลอง นอกจากนี้ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายให้ตอบโจทย์ เช่น เสนอคูปองให้พัฒนาความรู้ เพื่อนำไปบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ไปบวกกับเทคโนโลยี ไปบวกกับทุนเดิมทางวัฒนธรรม

 

สี่ พรรคก้าวไกลเสนอให้รวบรวมกองทุนต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ในวันนี้เรามีกองทุนหลายกองทุน เช่น กองทุนใน กสทช. กองทุนในกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนสื่อสร้างสรรค์ แต่กองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง เราต้องปรับเนื้อหากองทุนเพื่อมาตอบโจทย์ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กว้างมากขึ้น เราต้องทำกองทุนให้ตอบโจทย์ผู้สร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้น พรรคก้าวไกลเสนอให้การปรับกองทุนและเพิ่มเงินในกองทุน เพื่อทำให้กองทุนความคิดสร้างสรรค์นี้สามารถกู้ยืมได้ สามารถต่อยอดไอเดียออกมาเป็นผลงานได้

 

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎระเบียบ และพ.ร.บ. ต่างๆ ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นความสามารถ เช่น เรื่องกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในการเซนเซอร์ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล 5 ข้อที่ว่ามา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีเสรีภาพ มีสวัสดิการของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องแก้กฎหมาย

 

ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บริหารองค์กรด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การมหาชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีต ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), อดีตผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ปัจจุบันเป็นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพมหานคร

 

สาเหตุที่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล อภิสิทธิ์กล่าวว่าตนได้ติดตามพรรคก้าวไกลมาตลอด 4 ปี ทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่เห็นผลงานรูปธรรมและที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อเปิดโอกาสให้สิทธิคนตัวเล็กสามารถมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ได้เทียบเท่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกฎหมายสุราก้าวหน้า

 

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ทำงานในฐานะผู้บริหารองค์การมหาชนที่ต้องไปของบประมาณในสภา พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ตั้งคำถามไม่เหมือนส.ส.พรรคอื่น ที่มักถามรายชิ้นว่าทำไมอะไรแพง อะไรถูก แต่พรรคก้าวไกลถามตรงประเด็นไปที่เนื้องานโครงการ และ impact ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจริง ๆ นอกจากนี้ ในการเสนอนโยบาย พรรคก้าวไกลพูดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชัดเจนที่สุด ทุกพรรคพูดเรื่องนี้แต่ไม่บอกว่าทำอะไร แต่นโยบายพรรคก้าวไกลมีรายละเอียดพอสมควร

 

ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นานในการเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล เพราะเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผอ.สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นเพียงคนปฏิบัติตามนโยบาย แต่ถ้าเราได้ทำงานระดับนโยบาย ผมเชื่อว่าเราจะเห็น impact มากขึ้น เช่น การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.เซนเซอร์ภาพยนตร์ ที่การทำสิ่งเหล่านีในระดับปฏิบัติแก้ไขไม่ได้ ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” อภิสิทธิ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #เลือกตั้ง66