‘ก้าวไกล’ เปิด 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ ประกาศ 7 วาระสู่อนาคต ปักธงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม ตั้ง 3 เป้าหมาย รากฐานชีวิตคนไทยมั่นคง - กติกาแข่งขันเป็นธรรม -
พาธุรกิจไทยบุกตลาดโลก
วันที่
22 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
พรรคก้าวไกลเปิดตัวแกนนำหลักทีมเศรษฐกิจ 7 คน
ซึ่งมีส่วนผสมที่หลากหลายกกลมกล่อม ทั้งในแง่อาชีพ มีทั้ง ส.ส. นักวิชาการ
ข้าราชการ นักธุรกิจ ในแง่ช่วงวัย มีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นเก๋า
และในแง่มิตินโยบายเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจภาคเมือง เศรษฐกิจภาคชนบท
เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค
โดยทั้ง
7 คน ประกอบด้วย (1) วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (2)
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล (3) วรภพ วิริยะโรจน์ (4)
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล (5) ชัยวัฒน์
สถาวรวิจิตร (6) เดชรัต สุขกำเนิด และ (7) ศิริกัญญา ตันสกุล
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล
คือการเติบโตอย่างเป็นธรรม (Inclusive Growth) ด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโต
แต่ขณะเดียวกัน ดอกผลของการพัฒนาต้องถูกกระจายอย่างเป็นธรรม โดยมี 3 เรื่องหลักที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm
Ground) การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair
Game) และ การผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ
ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (Fast Forward Growth)
วีระยุทธ
กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์จาก GRIPS มหาวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะ
ประเทศญี่ปุ่น ประกาศวาระ ‘หมดยุค Made in Thailand ถึงเวลา Made
with Thailand’ โดยกล่าวว่า นโยบาย Made in Thailand ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
คือการชวนคนเข้ามาลงทุน ลดแลกแจกแถม มีมาตรการภาษีสร้างแรงจูงใจ
ทำให้จีดีพีประเทศโตขึ้น แต่คนไทยได้ส่วนแบ่งดอกผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
และนโยบายนี้ไม่เหมาะกับธรรมชาติอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
ที่ห่วงโซ่การผลิตไม่ได้ยึดติดกับดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง
แต่เกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน
ซึ่งประเทศไทยตกขบวนไปแล้ว มีการออกแบบในสหรัฐอเมริกา ใช้ชิปจากไต้หวัน
ตัวเก็บประจุจากญี่ปุ่น จอภาพจากเกาหลีใต้ ประกอบในจีนและอินเดีย
ใช้สิทธิบัตรจากสวีเดน ดังนั้น ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับคำว่า ‘In’ หรือการลงทุนในดินแดน แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ คนไทย
การผลิตแบบไทย สิทธิบัตรไทย เข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งของซัพพลายเชนโลก
“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและภาคการผลิต
ให้เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนยุทธศาสตร์
รวมถึงเปลี่ยนผู้ทำนโยบายเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยได้” วีระยุทธกล่าว
สิทธิพล
วิบูลย์ธนากุล อดีตผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
อดีตกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi ประกาศวาระ
‘เปิดโอกาส เปิดตลาด SME’ โดยกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี SME
3 ล้านราย จ้างงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ที่ผ่านมา SME อ่อนแอลงเรื่อยๆ พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย
5ต. ทำให้ SME กลับมาเข้มแข็งเป็นพลังของเศรษฐกิจไทย
ประกอบด้วย (1) ‘เติมทุน’ คือทุนตั้งตัว 100,000 บาท และทุนสร้างตัว 1,000,000 ล้านบาท
ให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น โดยภายใน 4
ปีภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ตั้งเป้าจะสร้างผู้ประกอบการ SME ที่เข้มแข็งกว่า 1 ล้านราย (2) ‘เติมตลาด’ เพื่อให้ SME เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น (3)
‘ตั้งสภา’ SME ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้
มีปากเสียงทัดเทียมกับทุนใหญ่ รวมถึงกำหนดนิยาม SME ให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาบริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทขนาดย่อยมาแข่งขัน
(4) ‘ตัดรายจ่าย’
โดยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลในระบบก้าวหน้า ให้ SME เสียภาษีอัตราต่ำลง
และ SME สามารถนำค่าจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี และ (5) ‘แต้มต่อ’
ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่สนับสนุน SME สร้างระบบบริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก
เติบโตไปด้วยกัน รวมถึงนโยบายทีเด็ดอย่าง "หวยใบเสร็จ"
ที่จะทำให้การอุดหนุนสินค้าจากร้านรายย่อย ลุ้นได้เงินล้านทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
วรภพ
วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกาศวาระ
‘ทลายทุนผูกขาดเพื่อลดค่าครองชีพ’ โดยกล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ SME จำเป็นต้องจัดการกับทุนผูกขาด
ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสุราที่มีมูลค่าเกือบ 500,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งพรรคก้าวไกลจะแก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิเติบโตไปแข่งขันกับรายใหญ่ได้
การผูกขาดพลังงานหรือค่าไฟฟ้า ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเสนอให้ยุติการผูกขาดสายส่ง
เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ปลดล็อคหลังคา เปิดให้บ้านเรือนใช้ ระบบ Net Metering ได้ ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคา กลางวันไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ขายคืนเข้าระบบ
และจัดสรรก๊าซธรรมชาติของอ่าวไทยใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศ
ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลจะยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่
เปลี่ยนที่มาและเพิ่มอำนาจในการยุติการควบรวม
และสามารถสั่งให้แยกกิจการที่ผูกขาดเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
อภิสิทธิ์
ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการ TCDC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ประกาศวาระ ‘ระเบิดพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ โดยกล่าวว่า
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท
มีคนทำงานในอุตสาหกรรมราว 900,000 คน
พรรคก้าวไกลพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เทียบเท่านานาอารยประเทศ
โดยจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย
(1) เติมงบประมาณ
โดยต้องมีทิศทางการใช้จ่ายที่ชัดเจนไปในทางเดียวกัน
ผ่านการเติมเงินกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนตัวเล็กในการแสดงความสามารถ
และกองทุนนี้ต้องทำหน้าที่เหมือนกองทุนตั้งตัวของ SME (2) สร้างสวัสดิการให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์
ซึ่งมีทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายส่วน เช่น คนยกของ คนจัดไฟ
ทุกคนต้องมีสวัสดิการรองรับ ให้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี รองรับความไม่แน่นอน
(3) เพิ่มทักษะความรู้และคุณภาพแก่คนในอุตสาหกรรม
รวมถึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในจังหวัดต่างๆ โดยนำพื้นที่ราชพัสดุหรือพื้นที่ทหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์
และ (4) ให้เสรีภาพแก่คนทำงาน
ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่กดทับวิธีคิดสร้างสรรค์ เช่น กฎหมายเซ็นเซอร์
ชัยวัฒน์
สถาวรวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงินและนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล
ประกาศวาระ ‘แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์’ โดยกล่าวว่า ข้อมูลเปรียบเหมือนน้ำมันดิบในโลกยุคใหม่
จากประสบการณ์การทำงานในภาคการเงินและธนาคาร
เห็นอุปสรรคมากมายที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจเพียงเพราะขาดทรัพยากรข้อมูล ดังนั้น
บทบาทของรัฐภายใต้รัฐบาลก้าวไกล
จะปรับเปลี่ยนเป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล 3 อย่าง
ได้แก่ (1) การพัฒนามาตรฐานข้อมูลและสร้าง
"ถนนข้อมูล"
ที่จะทำให้ข้อมูลสามารถเชื่องโยงกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน (2) การสร้างกฎจราจรให้มีกลไกควบคุมเรื่องความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองความปลอดภัย
และ (3) การสร้างพื้นที่จัดเก็บทรัพยากรข้อมูลให้พร้อมใช้
เป็นขุมทรัพย์สำหรับภาคเอกชน นำมากลั่นสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มบริการใหม่ๆ
ต่อยอดมูลค่าให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดด
ช่วยลดต้นทุนและกำแพงในการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ อย่างมหาศาล เช่น การมีข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสามารถช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละคนได้ดีขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง
เดชรัต
สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ประกาศวาระ
‘หยุดแช่แข็งชนบทไทย’ โดยกล่าวว่า
ที่ผ่านมาโอกาสของภาคเกษตรไทยน้อยกว่าภาคการผลิตอื่น
ในขณะที่เราหวังให้เกษตรกรอยู่คู่กับเมืองไทย แต่เราไม่เคยมีสวัสดิการและความมั่นคงในที่ดินให้เกษตรกร
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ปัญหาเรื้อรัง ในขณะที่ตนเป็นข้าราชการ
สามารถออกจากระบบได้เพราะมีบำนาญรองรับ แต่พี่น้องเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 70
ปี กว่า 400,000 คน
ไม่สามารถออกจากภาคการเกษตรได้เพราะยังอยู่ในวงจรหนี้ ดังนั้น รัฐบาลก้าวไกลจะเปิดทางเลือกให้เกษตรกร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ เกษตรกรที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต
ต้องได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทต่อเดือน
หากเจ็บป่วยติดบ้านติดเตียงต้องมีคนดูแลรักษา
เด็กที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรต้องได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือน
ส่วนเรื่องที่ดินทำกิน
พรรคก้าวไกลพร้อมตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิและรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน 10 ล้านไร่ โดยมีมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบหรือแสวงหาผลกำไรจากนายทุน
พี่น้องเกษตรกรที่อยู่มาก่อนรัฐประกาศทับที่จะต้องได้รับโฉนด
หน่วยงานราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินต้องคืนให้แก่ประชาชน
รวมถึงการปลดล็อกหนี้สิน เช่น
รัฐช่วยเช่าที่ดินของเกษตรกรเพื่อปลูกป่าและนำมาชำระหนี้
พรรคก้าวไกลเชื่อว่านโยบายทั้งหมดนี้ จะเพิ่มทางเลือกในชีวิตให้แก่เกษตรกร
และหยุดการแช่แข็งภาคการเกษตรและชนบทไทย เปลี่ยนชนบทไทยให้ไม่เหมือนเดิม
ศิริกัญญา
ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประกาศวาระ ‘ยกเครื่องภาครัฐ
นำเศรษฐกิจไทยก้าวหน้า’ โดยกล่าวว่า การเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ต้องอาศัย 5 กลไก
ได้แก่ (1) งบประมาณ
หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะมีการทำงบประมาณฐานศูนย์ (zero based budgeting) จัดงบประมาณโดยจัดลำดับความสำคัญใหม่
เนื่องจากที่ผ่านการจัดงบประมาณของภาครัฐไม่สะท้อนทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น
แผนงบประมาณของภาครัฐ มีแต่การใช้หนี้สร้างถนนหรือแหล่งน้ำ
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมมีงบประมาณเพียงแค่หลัก 10 ล้านบาท (2)
กิโยตินกฎระเบียบ เพราะกฎระเบียบยิ่งมาก คนที่ต้องแบกรับภาระคือ SME
หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต้องมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ลดกฎระเบียบให้ได้ 50% หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก
แต่จากประสบการณ์ในสภาฯ 4 ปี ตนเห็นแล้วว่าสามารถทำได้
ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราพร้อมงัดข้อกับระบบราชการ
ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ในการประกอบธุรกิจให้สะดวกยิ่งขึ้น
กลไกที่
(3) ปรับโครงสร้างกระทรวง เพื่อให้การยุบ-ควบรวมหน่วยงานรัฐ
เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ไข
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) การกระจายอำนาจ
เนื่องจากท้องถิ่นมีศักยภาพมหาศาลที่จะระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลก้าวไกลจะเติมงบประมาณ อำนาจและทรัพยากร ไม่ให้ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง
แต่จะเป็นตัวจุดพลังทางเศรษฐกิจไทยให้กลับมา สร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และ (5)
การต่างประเทศ หากจะดำเนินนโยบายแบบ Made with Thailand ต้องมีสำนักงานผู้แทนการค้าที่ดูทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน
เพื่อแสวงหาโอกาสของประเทศไทย
วางตำแหน่งและยุทธศาสตร์ของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน
เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก
“ต้องปรับใหญ่ทั้ง 5 กลไก
เพื่อให้การทำงานของภาครัฐตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่
ที่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก
เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ไม่เหมือนเดิมและเติบโตไปสู่อนาคตได้”
ศิริกัญญาทิ้งท้าย