วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566

4 พรรคการเมือง ยื่น กกต. ประสานกระทรวงการต่างประเทศ อำนวยความสะดวกเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เชื่อคนใช้สิทธิเยอะขึ้น ขอให้เปิดใช้สิทธิทางไปรษณีย์เป็นช่องทางหลัก


4 พรรคการเมือง ยื่น กกต. ประสานกระทรวงการต่างประเทศ อำนวยความสะดวกเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เชื่อคนใช้สิทธิเยอะขึ้น ขอให้เปิดใช้สิทธิทางไปรษณีย์เป็นช่องทางหลัก

 

วันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมตัวแทนอีก 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย สุขุมพงศ์ โง่นคำ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้แก้ไขวิธีการเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักร

 

ชัยธวัช กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีความคาดหวังสูงมาก เพราะมองเป็นโอกาสเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนประเทศ แต่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไร ประชาชนกลับยิ่งไม่เชื่อมั่นมากขึ้น ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรมได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร

 

ปัญหาของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีทั้งการกำหนดวันหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นวันทำงาน เช่น เบลเยียม มาเลเซีย การไม่มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ประชาชนต้องไปใช้สิทธิด้วยตัวเองที่สถานทูตหรือหน่วยเลือกตั้ง เช่น เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ หรือต่อให้มีการเลือกตั้งแบบไปรษณีย์ ก็กำหนดวันส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานทูต เร็วอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ เช่น ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ กำหนดส่งบัตรกลับถึงสถานทูตวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นเวลาที่เหลือมากเกินความจำเป็นในการส่งบัตรกลับประเทศไทย ที่จะต้องส่งถึงเขตเลือกตั้งก่อน 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม

 

การใช้ความสะดวกความสบายของผู้จัดการเลือกตั้งมากำหนดการเลือกตั้ง แทนที่จะมุ่งรักษาสิทธิคนไทยในต่างประเทศ ตั้งคำถามได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือไม่ เพราะผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ชัดเจนมากว่าคนไทยนอกราชอาณาจักรส่วนใหญ่ ไม่ได้เลือกผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่มีความพยายามจะลดสัดส่วนคะแนนจากคนกลุ่มนี้ แทนที่จะส่งเสริม” ชัยธวัชกล่าว

 

ดังนั้น จึงขอเสนอให้ กกต. ประสานกระทรวงการต่างประเทศ นำวิธีเลือกตั้งทางไปรษณีย์กลับมาเป็นวิธีหลัก ส่วนกรณีเลือกตั้งที่สถานทูต ไม่สมควรจัดการเลือกตั้งในวันธรรมดา และขอให้มีการกำหนดวันส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังสถานทูตไทย โดยมีระยะเวลาที่ไม่เร่งรัดประชาชนมากเกินไป เช่น ให้ส่งกลับมาสถานทูต วันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอในการส่งบัตรกลับประเทศไทย อีกทั้งขอให้สถานทูตที่มีความพร้อม สามารถนับคะแนนที่สถานทูตและส่งผลการนับคะแนนที่รับรองกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องส่งบัตรกลับมานับในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศทันเวลา

 

เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งในประเทศ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่ระบุแค่หมายเลข ในชั้นกรรมาธิการร่างกฎหมายเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พยายามผลักดันให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และหมายเลขพรรคการเมือง เป็นเบอร์เดียวกัน เพื่อสะดวกต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และแสดงความยึดโยงระหว่างพรรคกับผู้สมัคร แต่ก็ไม่สำเร็จ

 

ดังนั้น ในเมื่อต้องเป็นคนละเบอร์ เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนและเพื่อป้องกันการทุจริตให้ได้มากที่สุด กกต. ควรออกแบบให้ในบัตรเลือกตั้ง มีหมายเลข มีชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรค และโลโก้พรรค แต่ถ้า กกต. บอกว่าทำไม่ได้ ต้องย้อนไปการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นก็พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบตามจำนวนเขต แต่มาครั้งนี้ถ้า กกต. บอกว่า 400 เขต สะดวกพิมพ์แค่แบบเดียว เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่ อีกทั้งอาจทำให้เกิดบัตรเขย่ง หากมีใครพิมพ์บัตรเลือกตั้งปลอม พิมพ์แบบเดียวใช้ได้ทุกเขต

 

นอกจากนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า กกต. จะมีระบบรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์หรือไม่ เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือเมื่อแต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จแล้ว สามารถส่งคะแนนไปที่ กกต. ส่วนกลาง และรายงานได้ทันทีว่าแต่ละหน่วยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชน เพราะถ้าคะแนนแบบเป็นทางการกับแบบไม่เป็นทางการ ไม่ได้แตกต่างกัน ประชาชนก็วางใจได้ แต่ถ้าคะแนนต่างกันมาก ประชาชนก็จะตั้งคำถาม ถือเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม

 

นี่เป็นคำถามที่ กกต. ต้องตอบ ทั้งเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนยากลำบากในการใช้สิทธิ และการเปิดช่องให้เกิดการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ตอนนี้ กกต. ยังมีเวลาทำบัตรเลือกตั้งใหม่ ขอยืนยันว่าบัตร 400 เขต 400 แบบ สามารถทำได้” ชัยธวัชระบุ

 

ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าเรื่องการเลือกตั้งนอกราชครั้งนี้ ในส่วนประเทศที่มีมุสลิม อย่างประเทศมาเลเซีย มีคนไทยไปประกอบธุรกิจร้านอาหาร และลูกจ้างจำนวนมาก สถานทูตมาเลเซียการกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในช่วงที่เป็นวันฮารีรายอ ซึ่งในวันนั้นคนไทยจะกลับบ้านกันมาก ดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งปิดกันการใช้สิทธิ จึงขอเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งเป็นวันหยุด ในขณะที่สถานทูตประเทศอียิปต์ ให้คนไปใช้สิทธิที่สถานทูต ซึ่งประเทศอียิปต์ใหญ่มาก ประชาชนต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายทำให้ไม่สะดวกในการไปใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม 1 เสียง 1 สิทธิ์ เป็นโอกาสเดียวที่ทำให้คนรวย คนจน เท่ากัน ตนอยากให้ 1 สิทธิ์ 1 เสียงของประชาชนมีเกียรติยศ และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ประชาชนต้องการได้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เลือกตั้ง66 #เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร