วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2567

แถลงการณ์ "ราษฎรผู้ร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตย" "92 ปี ประชาธิปไตย(?) ประเทศไทยยังไงต่อ" ชี้การเมืองไทยยังผิดปกติ ขอประชาชนอดทนและร่วมหยัดยืนเพื่อประชาธิปไตยที่แข็งแรง

 


แถลงการณ์ "ราษฎรผู้ร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตย" "92 ปี ประชาธิปไตย(?) ประเทศไทยยังไงต่อ" ชี้การเมืองไทยยังผิดปกติ ขอประชาชนอดทนและร่วมหยัดยืนเพื่อประชาธิปไตยที่แข็งแรง

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ กลุ่ม ThumbRights, แนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม, ทะลุฟ้า เเละองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมจัดงาน “92 ปี ประชาธิปไตย(?) ประเทศไทยเอาไงต่อ” ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.00 น. ในวาระครบรอบ 92 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

โดยเวลา 21.00 น. ร่วมอ่านแถลงการณ์ร่วมในนาม #ราษฎรผู้ร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตย มีใจความว่า

 

ราษฎรทั้งหลาย ตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงเวลานี้ เป็นเวลา 92 ปีแล้ว ในขั้นต้น ราษฎรบางคนได้ฟังและคงหวังกันว่า ประเทศนี้คงจะเป็นประชาธิปไตย และอำนาจจะอยู่ในมือประชาชน แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คาดหวังกันไม่

 

ในทางเศษฐกิจ 92 ปีที่ผ่านมาก็มิอาจสร้างความเสมอภาค ราษฎรยังคงต้องเดือดร้อน ทำงานเหน็ดเหนื่อยในสภาวะเศรษฐกิจที่ถูกครอบนำโดยนายทุนผูกขาด และเป็นประเทศที่อัตราความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุดในโลก ในทางการเมือง มรดกของระบอบเก่ายังคงลอยนวลอยู่ และสร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

 

ราษฎรผ่านวิกฤติการรัฐประหารมาหลายครั้ง และแต่ละครั้งบั่นทอนประชาธิปไตย เรื่อยมา ครั้งล่าสุด เมื่อรัฐประประหาร ปี 2557 พวกเขาก็ยังเอาแต่พวกแต่พ้อง เข้ามาปกครองบ้านเมืองและริบเอาอำนาจของราษฎรไว้ในมือตนเองอีกครั้ง

 

หลายปัญหาที่คณะรัฐประหาร จะเข้ามาแก้ก็ยังคาราคาชัง ไม่ได้รับการแก้ไข บางปัญหาก็เพิ่มเติมเข้ามา จะจัดการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวเองดูชอบธรรมมากขึ้น แต่อำนาจก็ยังไม่กลับไปอยู่ในมือประชาชนเสียที เศรษฐกิจปากท้องที่ว่าเร่งด่วน แต่หลักฐานก็ฟ้องว่าพวกเราไม่ได้มีกินมากขึ้น โครงสร้างก็มิอาจทำหน้าที่ดูแลปากท้องของราษฎรอย่างเต็มที่ และอีกหลาย ๆ ปัญหารวมถึง รัฐธรรมนูญที่ว่าปราบโกง แต่ปัจจุบันกล้ารับรองอย่างเต็มอกหรือไม่ ว่าสามารถปราบได้จริง

 

การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะชนชั้นนำปกครองเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตกลงกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง มิใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะของราษฎรตามแบบประเทศประชาธิปไตยเขาทำกัน

 

บัดนี้ กาลได้ผ่านมา การเมืองไทยยังคงผิดปกติ แม้ว่าคณะรัฐประหารดูจะออกจากการบริหารประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง บรรดาชนชั้นนำยังปกครอง ปกครองบ้านเมืองอย่างไม่ชื่อตรงต่อราษฎร พวกเขาต่างยังปกครองเพื่อผลประโยชน์กันเอง พวกเขายังไม่เคารพเสียงของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง คณะบริหารประเทศก็ยังไม่ต่างจากเดิมมาก อีกทั้งว่าชีวิตของพวกเราไม่รู้สึกว่าดีขึ้นจากเดิมเลย

 

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของบรรดาชนชั้นนำ ประเทศนี้ ราษฎรต่างร่วมกันสร้างด้วยสมองและสองแขน ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม

 

ทนลมร้อนลมฝนเพื่อให้ได้ค่าแรงที่เป็นธรรม ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อสร้างรัฐสวัสติการ ปักหลักตากแดดตากลมเพื่อให้มีบ้านอยู่ โดนจับติดคุกเพราะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อทำให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ฝ่ากระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญของราษฎร

 

แม้จะผ่านมาแล้ว 92 ปี ราษฎรก็ยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น หาใช่การร้องขอจากชนชั้นนำอำมาตย์ไม่ แต่จักได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชน เช่นเดียวกับ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 หรือพฤษภา 53 ที่มีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแล้ว ขอราษฎรทั้งหลายร่วมกันอดทนต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ร่วมกันยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์และร่วมกันสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ราษฎรผู้ร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ #24มิถุนายน2475 #ปฏิวัติสยาม2475 #อภิวัฒน์สยาม

ยกฟ้อง “เบนจา-พิมชนก” คดี #ม118 #พรบธง แต่ลงโทษปรับ 400 บาท ข้อหาชักธงชาติลงก่อนเวลา


ยกฟ้อง “เบนจา-พิมชนก” คดี #118 #พรบธง แต่ลงโทษปรับ 400 บาท ข้อหาชักธงชาติลงก่อนเวลา


วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานผ่านโซเชียล X ความว่า ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษายกฟ้องข้อหา #ม118 และ #พรบธง ม.54 คดีของ "เบนจา-พิมชนก" กรณีถูกกล่าวหานำผ้าสีแดงมีตัวเลข “112” ขึ้นไปบนยอดเสาแทนธงชาติ ที่หน้าสภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64


ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลเห็นว่าไม่มีพยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยกระทำการต่อธงชาติด้วยความไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทำให้เกียรติภูมิประเทศเสื่อมเสียอย่างไร และไม่พบว่ามีการทิ้งหรือทำลายธงชาติ ทั้งผ้าสีแดงดังกล่าวก็ไม่ใช่ธงที่มีความหมายถึงประเทศอื่น จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำการเหยียดหยามประเทศชาติ


แต่ศาลเห็นว่าทั้งสองมีความผิดเฉพาะในข้อหาชักธงชาติลงก่อนเวลา 18.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร ลงโทษปรับคนละ 600 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือปรับ 400 บาท


คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ตำรวจจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามหมายจับในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีข้อความ “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์


ต่อมาในวันที่ 15 ม.ค. 2564 มีนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางติดตามไปให้กำลังใจ และได้มีการปราศรัยและแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ


ทั้งนี้ บันทึกการสืบพยานโจทก์ ระบุว่า พิมชนกและเบนจา เดินไปที่เสาธงและนำธงชาติลงจากยอดเสา จากนั้นก็นำผ้าสีแดงมีข้อความ 112 ผูกกับเชือกและชักขึ้นยอดเสา ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติไทยระหว่างชักธงดังกล่าว และมีกลุ่มการ์ด We Volunteer ล้อมป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไประงับเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ตามเอกสารในคดีนี้ ทั้งบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพจำเลยทั้งสองคนอยู่ด้วย


ข้อมูลจาก : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #TLHR #มาตรา118 #พรบธง

"ภูมิธรรม" ซัด “ก้าวไกล” อย่าทำตัวเองให้ดูดีรัฐบาลดูแย่ แต่ไม่ทำหน้าที่หลังไม่รับตำแหน่งใน กมธ.งบปี 68 ถามเอาข้อกฎหมายใดยื่นศาลปกครอง มองไม่เข้าเงื่อนไข ชี้ ถึงไม่อยู่เขาก็ตรวจสอบได้ แนะ “ก้าวไกล” เปิดใจรับฟัง

 


"ภูมิธรรม" ซัด “ก้าวไกล” อย่าทำตัวเองให้ดูดี รัฐบาลดูแย่ แต่ไม่ทำหน้าที่หลังไม่รับตำแหน่งใน กมธ.งบปี 68 ถามเอาข้อกฎหมายใดยื่นศาลปกครอง มองไม่เข้าเงื่อนไข ชี้ ถึงไม่อยู่เขาก็ตรวจสอบได้ แนะ “ก้าวไกล” เปิดใจรับฟัง


วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เมื่อเวลา 07.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชชัยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคก้าวไกล ไม่รับตำแหน่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า ไม่เป็นไร มีการตรวจสอบข้างนอกอยู่แล้ว  ตนไม่เห็นมีอะไรเลย อย่าทำให้ดูดี จนกระทั่งไม่ทำหน้าที่ก็แล้วกัน ซึ่งตั้งแต่ที่พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ลงมติรับร่างงบ ปี 2568 และจะไปยื่นฟ้องศาลปกครอง มันไม่ใช่กระบวนการที่ควรจะทำ ในขณะที่ประเทศต้องการเงินงบประมาณเพื่อมาทำงาน การไปยื่นศาลปกครองก็ไม่รู้ว่าเอากฎหมายข้อไหนไปยื่น หรือว่าพูดให้รู้ว่าตัวเองตั้งใจจะตรวจสอบที่รัฐบาลแย่มาก แต่ศาลปกครองก็ไม่มีอำนาจที่จะรับ


จริง ๆ เรื่องนี้ ก็ควรจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย แต่การจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็มี 2 ข้อคือ  1. เนื้อหาข้อกฎหมายใดข้อกฎหมายหนึ่งในนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงจะไปยื่นได้ 2. หากจะไปยื่นก็ควรจะยื่นหลังจากที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว และต้องให้ สว. พิจารณาอีก หากผ่านไปแล้วเมื่อถึงขั้นตอนจะนำขึ้นโปรดเกล้าฯ ถึงมีสิทธิ์ที่จะไปยื่นได้ ต้องอยู่ใน 2 เงื่อนไขนี้ ซึ่งตนดูทั้งหมดแล้วไม่มีอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลพยายามดูอยู่ทำตามกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ทราบว่านี่เป็นการสร้างเงื่อนไข ให้รู้สึกว่ารัฐบาลแย่ แล้วทำให้ตัวเองดูดีหรือเปล่า แต่หากมีข้อกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจนก็ว่ามา แต่ถึงอยู่หรือไม่อยู่เขาก็ตรวจสอบได้อยู่แล้ว


เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลตั้งธงเนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท  นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยิ่งห่วงก็ยิ่งต้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เชิญเข้ามาร่วมก็ไม่เอา แต่ไปอยู่ข้างนอก ก็วิจารณ์แล้วก็บอกว่าห่วง ซึ่งหากห่วงก็ขอให้เข้ามา จะได้เห็นและตรวจสอบให้ชัดเจน อันนี้เป็นตรรกะง่าย ๆ ตนไม่อยากให้พรรคก้าวไกลที่ทำงานเรื่องการสร้างประชาธิปไตย มองแต่ความต้องการของตนเองเพียงด้านเดียว ควรมองให้กว้าง ไม่ใช่ตั้งใจแต่ว่าตนเองต้องการอะไรเป็นหลัก โดยไม่สนใจอะไรเลย หากทำแบบพรรคก้าวไกล ก็ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2562 แบบเดิม หากหวังดีกับประชาธิปไตยและต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เกิดเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ หากยังดื้อดึงเอาแบบตนเอง สว. ก็ไม่ผ่าน ถ้าผ่าน สว. เสียงของตนเอง 20% ก็ไม่ผ่าน เขามีอำนาจ 20% ในสภาอยู่แล้ว ของฝ่ายค้านล้มได้อยู่แล้ว ถ้าเขาล้มสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับใคร ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิมแบบ 10 ปีที่ผ่านมา


“อยากให้คิดอะไรให้กว้าง ไม่อยากให้ใช้อารมณ์ หรือความต้องการของตนเองเป็นหลัก หากช่วยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บรรยากาศในประเทศจะดีขึ้น กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียวต้องใช้เวลา อยากให้ก้าวไกลเข้าใจปรัชญาในประเด็นนี้ด้วย” นายภูมิธรรม กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ก้าวไกล #กรรมาธิการ #งบปี68

การแสดง "งิ้วล้อการเมือง" ในงาน #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว)

 


การแสดง "งิ้วล้อการเมือง" ในงาน #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว)

 

ภาพบรรยากาศ งิ้วล้อการเมือง แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในวาระ 92 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

มีเนื้อหาบางตอนที่กล่าวถึง #กฎหมายสมรสเท่าเทียม ระบุว่า “ดีใจที่อย่างน้อย ไทยก็มีเรื่องดีๆ บ้าง มีสมรสเท่าเทียม”

 

อีกทั้งยังมีบทสนทนาที่เรียกร้องการ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึง ‘องค์กรอิสระหมดไป ไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่าง’ รวมถึงบทที่ตั้งคำถามว่า ‘ไหนว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง?’

 

24 มิถุนายน 2567 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

#24มิถุนายน2475 #อภิวัฒน์สยาม #งิ้วล้อการเมือง
















24 มิถุนา #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนการเมือง อดีต - ปัจจุบัน ชมการแสดงงิ้วล้อการเมือง "ไหวว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง?"

 


24 มิถุนา #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนการเมือง อดีต - ปัจจุบัน ชมการแสดงงิ้วล้อการเมือง "ไหวว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง?"

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), กลุ่ม ThumbRights, เเนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และทะลุฟ้า ร่วมจัดกิจกรรม “92 ปี ประชาธิปไตย (?) ประเทศไทยเอาไงต่อ” เนื่องในวัน 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือ วันอภิวัฒน์สยาม

 

เวลา 17.00 น. ประชาชนหลากหลายรุ่นวัยทยอยเข้าบริเวณงาน ภายในงานมีกิจกรรมเขียนข้อความบนป้ายผ้าด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ระบุว่า ‘หลัก 6 ประการโดยประชาชน’ ซึ่งแบ่งเป็นช่องตามหลัก 6 ประการ อาทิ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ โดยให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความ อีกทั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ตั้งบูธ โดยมีการขึงป้ายผ้าที่วาดรูปหมุดคณะราษฎร ให้ประชาชนช่วยระบายสี ตลอดจนขึงป้ายข้อความ “กูเป็นปีศาจที่กาลเวลาสร้างขึ้นมาหลอกหลอน คนที่อยู่ในโลกเก่า”

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธกิจกรรมต่าง ๆ และซุ้มอาหาร โดยนักกิจกรรม และผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 ร่วมออกบูธหน่ายหนังสือการขับเคลื่อนทวงความยุติธรรม 2553 - 2566 จาก นปช. ถึง คปช. พร้อมนำผัดไทยวันชาติ มาแจกพี่น้องประชาชนที่มาร่วมงาน ด้านนิว จตุพร (ผู้ที่ใส่ชุดไทยแล้วถูกดำเนินคดี 112 ) นำลาบหมู และแซนวิช มาจำหน่าย ขณะที่ทะลุฟ้าออกร้านจำหน่ายข้าวไข่เจียว และชา กาแฟ เป็นต้น

 

เวลา 18.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ในหัวข้อ “จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎรสู่การต่อสู้ในปัจจุบัน”

 

จากนั้นเป็นวงเสวนา โค้งสุดท้ายก่อนได้ สว : สนามรบสำคัญเพื่อผลักดันสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw นนทวัฒน์ เหลาผา We Watch และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล CALL

 

ต่อด้วย การแสดงงิ้วล้อการเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนที่จะเป็นวงเสวนา เขาไม่ให้เเก้หมวด 1 หมวด 2 เราว่าไง? วงเสวนา "เขาไม่ให้เเก้หมวด 1 หมวด 2 เราว่าไง?" โดยนันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ณัฐชนน ไพโรจน์ ThumbRights

 

จากนั้นตัวแทนกลุ่มผู้จัดงานและประชาชนร่วมอ่านแถลงการณ์ร่วม เนื่องในวาระ 92 ปีการเปลี่ยนเเปลงการปกครอง ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย ดนตรีโดยวงสามัญชน และยุติกิจกรรมในเวลา 21.10 น.

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #92ปีประชาธิปไตยประเทศไทยเอาไงต่อ

#24มิถุนายน2475 #อภิวัฒน์สยาม