วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566

ทนายเผย 9 มี.ค. 66 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่ง กรณีจำเลย ม.112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นคำร้องขอให้อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี "มายด์" ชวนสังคมจับตา ภายหลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานให้

 


ทนายเผย 9 มี.ค. 66 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่ง กรณีจำเลย ม.112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นคำร้องขอให้อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี "มายด์" ชวนสังคมจับตา ภายหลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานให้ 


วันนี้ (8 มี.ค. 66) ตามที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสืบพยานในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีให้ตรวจสอบเรื่องการใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรที่เยอรมัน หรือ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยในคดีนี้จำเลย 13 ราย ถูกฟ้องในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ร่วมกันยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ นั้น


เวลาประมาณ 17.00 น. นายกิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า 


13 จำเลยคดีนี้ถูกกล่าวหา ตามความผิดมาตรา 112 และ 116 ซึ่งวันนี้ทางจำเลย แถลงยืนยันร่วมกับทนายความ ว่ามีความจำเป็นต้องขอให้ศาลรับบัญชีพยานจำเลย ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางของพระมหากษัตริย์ จำนวน 3 รายการ และเอกสารเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณของพระมหากษัตริย์อีก 1 รายการ รวมถึงหมายเรียกไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ นายกรัฐมนตรี ให้มาเป็นพยานในคดีนี้ แต่ศาลก็ยังมีคำสั่งเช่นเดิมก็คือยกคำร้อง 


โดยศาลเห็นว่าประเด็นที่ขอมาไม่เกี่ยวกับคดี ซึ่งทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้ว คดีนี้ถูกกล่าวหาจากการที่จำเลยไปเรียกร้องให้มีการตรวจสอบว่ามีการใช้อำนาจนอกเหนือราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณเป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่จะมาพิสูจน์ความผิดหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ของจำเลยได้ ทนายกิตติศักดิ์ กล่าว


โดยในวันนี้ได้มีการสืบพยานไป 1 ปาก ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ ที่เราขอออกหมายเรียกพยานไป


ทนายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งทางจำเลยเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงด้วย ทางจำเลยและทนายก็เลยมีการยื่นคำร้องขอให้อธิบดีศาลอาญากรุงเทพฯใต้ เข้ามาร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ด้วย


โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าอธิบดีศาลท่านจะลงมาเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่ในวันพรุ่งนี้(9 มี.ค.) ซึ่งทางทนายก็ไม่สามารถประเมินได้เหมือนกันว่า ศาลจะให้ตามคำขอหรือไม่ โดยพรุ่งนี้ 13 จำเลยและทนายก็ต้องมาศาลด้วย ทนายกิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


ด้านภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 กล่าวว่า วันนี้มาตามนัดสืบพยานคดีหน้าสถานทูตเยอรมัน ตามข้อกล่าวหามาตรา 112 ซึ่งทั้ง 13 คนโดนข้อหาเดียวกันหมด เป็นการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายผ่านแถลงการณ์และคำปราศรัย ปัญหาก็คือว่าทางศาลไม่ยอมรับบัญชีพยานหลักฐานที่เรายื่นเข้าไปรวมถึงพยานบุคคลด้วย ซึ่งเป็นเอกสารจำเป็นสำหรับการนำมาสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความจริงว่าเราไม่ได้ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย แต่เป็นการถามบนฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง เราไม่ได้เป็นการกล่าวหาลอย ๆ เราไม่ได้เป็นการที่จะใส่ร้าย เราต้องการที่จะตั้งคำถามเฉย ๆ เพราะข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกปรากฏอยู่ด้วย เช่นเอกสารเกี่ยวกับการเข้าออกของพระมหากษัตริย์ รวมถึงตัวพยานบุคคลอย่างเช่นประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งมีหน้าที่นำพ.ร.บ.ที่ออก ให้พระมหากษัตริย์เซ็นต์ เพื่อที่จะออกมาเป็นกฎหมาย


ซึ่งปรากฏว่ามีเอกสารกฎหมายบางตัว ถูกออกเป็นกฎหมายในขณะที่มีข่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ของเราอยู่ประเทศเยอรมนี เราจึงมีความจำเป็นต้องเรียกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นหนึ่งในพยาน เพื่อซักถามข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ว่ามีการนำไปยื่นให้เซ็นต์หรือไม่ในขณะนั้น


ภัสราวลี กล่าวต่อไปว่า แต่ว่าเรายื่นไป 2 ครั้งแล้ว ทางศาลเองก็ไม่ยอมรับบัญชีพยานตัวนี้และไม่ยอมออกหมายเรียกให้กับเรา โดยอ้างเหตุผลเดิมนั่นก็คือ มองแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกัน


"ขอพูดตรง ๆ เลยนะแม้กระทั่งคนที่ไม่รู้กฎหมาย ยังรู้เลยว่าเอกสารเหล่านั้น เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาอย่างไร" ภัสราวลี กล่าว


การที่เราไม่มีเอกสารตัวนี้ มาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบพยาน ไขความบริสุทธิ์ในการพิจารณาในคดีนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นอย่างมาก เรารู้สึกถูกปิดโอกาสในการพิสูจน์ ในการแสดงความบริสุทธิ์ เรารู้สึกถูกปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่เราได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ


ภัสราวลี ยังได้กล่าวต่อไปว่า จำเลยทั้ง 13 คนยืนยันว่าจะต้องให้ศาลนำพยานตรงนี้มาสืบให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ เหตุผลเหมือนเดิม คือไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันศาลมีคำสั่งไปแล้ว แต่ถ้าหากจะโต้แย้งหรือว่าทางจำเลยเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมในคดีนี้ ก็ให้ไปยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ในชั้นอุทธรณ์


ส่วนตัวรู้สึกว่าเราไม่ควรจะปล่อยให้ศาลชั้นไหนเลยก็ตามพิจารณาคดี โดยที่ไม่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งกระบวนการในชั้นต้นนี้มีความสำคัญอย่างมาก ในการพิสูจน์ทราบ กลับกลายเป็นว่าในชั้นนี้เราถูกปิดโอกาส ไม่ให้สืบทราบอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม


เราก็ยืนยันต่อศาลว่า ไม่ใช่เรื่องของการที่เราจะไปยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือรอจนถึงชั้นอุทธรณ์ เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกไม่สะดวกใจ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยในการพิจารณาศาลชั้นต้น ถ้าหากว่าการพิจารณาถูกดำเนินไปโดยการที่เราไม่มีเอกสารชิ้นนั้นมาร่วมพิจารณาด้วย


ภัสราวลี เผยว่าวันนี้ได้มีการสืบพยานไป 1 ปาก เป็นพยานโจทก์ในประเด็นของการใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ทุ่งมหาเมฆ


ตนมองว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องของแค่พ.ร.บ.เครื่องเสียง แต่จำเลยทั้ง 13 คน ไม่มีความสะดวกใจเลย ในการเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาในครั้งนี้ ทุกคนแสดงสีหน้ากังวลตั้งแต่เริ่มที่ศาลให้พยานสาบานตน เพราะเรากลัวว่าจะปล่อยไหลไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงกรณีการซักถามมาตรา 112 ที่เราไม่ได้รับโอกาสในการพิสูจน์ความจริง ว่าสิ่งที่เราพูดไม่ใช่การกล่าวหา


ตนจึงรู้สึกผิดหวังมาก ๆ ในการที่อย่างไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ยอมให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องชัดเจนมาเข้าสืบ โดยให้เหตุผลว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งมองว่าสังคมเราต่างก็มีข้อครหาในความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมกันอยู่แล้ว ยิ่งออกมาในรูปแบบนี้ เหตุผลเพียงเท่านี้ ยิ่งถูกตั้งคำถาม


ทั้งนี้ต่างชาติก็มีการตั้งคำถาม เยอรมนีเองก็มีการตั้งกระทู้ถามไปในสภาฯด้วยซ้ำ ซึ่งทำไมประชาชนที่อยู่ในประเทศถึงตั้งคำถามบ้างไม่ได้ ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ถ้าใครพูดถึงนั้น จะถูกปิดโอกาสในการพิสูจน์ความจริง และถูกตีตราไว้แล้วว่าเป็นการกระทำผิด เรื่องนี้ตนมองว่าน่าเป็นห่วงมาก ๆ กับสังคมนี้ ภัสราวลี กล่าว  


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112