#saveนาบอน กลับบ้าน หลังพอใจนายกฯ ลงนามตั้งกรรมการกลางทำ SEA ลั่นหากรัฐบิดพลิ้วไม่ทำตามสัญญา "saveนาบอน" ก็จะกลับมาอีกครั้ง
วันนี้ (24 ธ.ค. 64) กลุ่ม#saveนาบอน ซึ่งปักหลักอยู่ด้านหน้ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามหนังสือข้อตกลงที่เกิดขึ้นในเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำรายงานศึกษาผลกระเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่งเป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการและข้าราชการร่วมเป็นกรรมการ โดยมีชาวบ้านนาบอนและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ
ชาว#saveนาบอน ได้รอหนังสืออย่างเป็นทางการจากสำนักนายกฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า จนบ่ายก็ยังไม่ได้ จึงประกาศขีดเส้นตาย 17.00 น. ถ้ายังไม่ได้จะยกระดับต่อไป
ขณะที่บริเวณกลางชะพานชมัยมรุเชฐมีการตั้งแผงเหล็กที่ติดด้วยโซ่คล้องแน่นหนา พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังประกบ
17.20 น. นายเรียง ศรีแก้ว ตัวแทนกลุ่ม#saveนาบอน กล่าวว่าการมาของพี่น้องวันนี้มีเพียงสองทาง ถ้าพอใจในข้อเสนอก็จะยุติการชุมนุม แต่หากไม่พอใจหรือไม่เหมือนกับที่ตกลงกันไว้ คืนนี้ก็จะนอนกันต่อไปที่นี่ ตอนนี้เพียงรอตัวแทนของรัฐบาลซึ่งเป็นใครก็ได้จะมาเจรจา
กระทั่ง 17.30 น. หน้าทำเนียบรัฐบาลประตู 1 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาล นำหนังสือลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายนาบอน เรื่องการตั้งคณะกรรมกลาง มายื่นต่อตัวแทนกลุ่มเครือข่าย SAVE นาบอน ที่ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และ 2 อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
โดยเจ้าหน้าที่ให้เฉพาะกลุ่ม#saveนาบอนเท่านั้น เข้าไปหลังรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเป็นแนวกั้น โดยไม่ให้มวลชนที่มาให้กำลังใจเข้าไป และประกาศให้สื่อมวลชนที่จะติดตามไปทำข่าว ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบก่อนโดยจะอนุญาตให้เฉพาะสื่อหลักที่มีบัตรกรมประชาสัมพันธ์เดินเข้าไปหลังรั้วเหล็กเท่านั้น ซึ่งทำให้หวิดชุลมุน เพราะมวลชนต้องการให้สื่อออนไลน์เข้าไปติดตามทำข่าวด้วย
นายเสกสกล เผยว่านายกรัฐมนตรีได้ลงนามเพิ่มเติมตามที่พูดคุยกับแกนนำแล้วในช่วงบ่าย โดยผลออกมาเป็นที่น่าพอใจและกลุ่มนาบอนจะเดินทางกลับ ลำดับต่อไปจะให้เขียนโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกับพี่น้องประชาชนโดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงพลังงาน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และมีสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ ตามข้อเสนอของชาวนาบอน
ส่วนในพื้นที่ที่มีการถมดินไปแล้ว ต้องตรวจสอบว่า พัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของโรงไฟฟ้าหรือไม่ หากชาวบ้านได้รับผลกระทบต้องรักษาสิทธิ แจ้งศูนย์ดำรงธรรม หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ขอย้ำว่า การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องรอให้ผลการศึกษา SEA แล้วเสร็จ และต้องรอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ด้านนายเอิบ สารานิตย์ ประธานสถาองค์กรชชุมชน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนกลุ่ม SAVEนาบอน แต่ผู้ชุมนุมนาบอนมีข้อเสนอหนึ่งข้อคือสิ่งที่หน่วยงานราชการรับไปแล้วเป็นนโยบายต้องปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม มิเช่นนั้นชาวบ้านนาบอนก็จะกลับมาทวงสัญญาอีก
นายเอิบได้ทิ้งท้ายว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าน้ำหรือดิน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต แต่โรงไฟฟ้าเป็นกลุ่มทุนศักดินาที่ต้องต่อสู้
ขณะที่นายเรียง สีแก้ว ที่ปรึกษากลุ่ม SAVEนาบอน กล่าวว่า ข้อเสนอของชาวบ้านได้รับการตอบสนอง เช่น การตั้งคณะกรรมการศึกษา SEA ให้ยุติการออกใบอนุญาตจาก (กกพ.) จนกว่าผลการศึกษา SEA จะสิ้นสุด และให้ กกพ.และจังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาผลกระทบของชาวบ้าน 13 ครัวเรือนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ได้ประเมินว่า กระบวนการจัดทำ SEA จะเริ่มตั้งแต่ ก.พ.นี้เป็นต้นไป และใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
จากนั้นชาวบ้านนาบอน ได้ขึ้นป้ายผ้าข้อความระบุว่า "ขอบคุณที่ช่วยเหลือ" และกล่าวขอบคุณทุกกลุ่มทุกเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนร่วมถึงสื่อที่นำเสนอข่าว ก่อนประกาศยุติการปักหลักเตรียมเก็บของกลับบ้าน โดยได้ไปถ่ายรูปร่วมกันหน้ากรมหลวงชุมพรฯ ที่ใช้เป็นที่พักปักหลักรอ
โดยในเวลา 18.30 น. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดหารถบัสมารับเพื่อส่งถึงภูมิลำเนา
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์