วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ครย. โดย “ครูใหญ่ อรรถพล - สมยศ” ร้องอัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลรธน. เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือไม่?

 


ครย. โดย “ครูใหญ่ อรรถพล - สมยศ” ร้องอัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลรธน. เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือไม่?


วันนี้ (9 ธ.ค. 64) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.) นำโดย นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และคณะ เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือร้องขอให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49


ทั้งนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ออกมารับหนังสือดังกล่าว พร้อมกับกล่าวว่า “วันนี้ทางครูใหญ่กับคณะมายื่นหนังสือกับงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ทางงานโฆษกฯ นำหนังสือที่ผู้ร้องกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดในประเด็นการวินิจฉัยของศาลรธน. ว่าที่วินิจฉัยไปนั้นทางท่านอัยการสูงสุดจะมีความเห็นวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งงานโฆษกฯ จะได้นำเรียนให้กับทางผู้ร้องตลอดจนพี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบในโอกาสต่อไป หนังสือที่ได้รับวันนี้ก็คงจะนำกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดวันนี้ทันที”


ด้าน นายอรรถพล บัวพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ที่เรามายื่นไม่ใช่การยื่นในเรื่องเดิม เราไม่ได้ให้มีการวินิจฉัยใหม่ในเรื่องของคำปราศรัย แต่เราขอให้วินิจฉัยว่าผลจากคำวินิจฉัยของศาลรธน. ตัวผลนั้นเองเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่? เพราะว่าหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรธน.ออกมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือมีการนำคำวินิจฉัยนี้ไปขยายผลใช้อย่างกว้างขวาง เช่น การทำลายพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม การปิดกั้นสื่ออย่างที่กสทช.ได้หารือและขอความร่วมมือจากสื่อฯ ถึงแม้ว่าจะเป็นการหารือ แต่ก็เป็นการกดดันทางอ้อม หรือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงมากขึ้นในการสลายการชุมนุม หรือการกระทบกับสิทธิ์ของประชาชนในเรื่องของการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายซึ่งกฎหมายได้อนุญาตไว้ และไม่มีกฎหมายใดห้ามในการเข้าชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมาย 112


นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ถ้าเปรียบเทียบในปี 2555 มีความพยายามที่จะแก้ไขรธน. และได้เข้าสู่สภาไปจนถึงวาระ 2 แล้ว ศาลรธน.ในตอนนั้นได้วินิจฉัยว่าแม้ว่ามีการเข้าสู่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาไปจนวาระที่ 2 แล้ว ก็ยังไม่ได้เข้าข่ายของการล้มล้างการปกครอง ส่วนคำปราศรัยของ “อานนท์-ภาณุพงศ์-ปนัสยา” เป็นเพียงข้อเสนอ จึงไม่สามารถที่จะเข้าใกล้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้


ตนขอย้ำชัด ๆ ว่า เราไม่ได้มาร้องให้วินิจฉัยใหม่ แต่เรามาร้องว่าผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีผลทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง เพราะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย


สำหรับหนังสือที่นำมายื่นต่ออัยการเป็นคำแถลง 10 ข้อถึงเหตุผลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลเป็นการล้มล้างการปกครองอย่างไร


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญว่า เราได้ยกตัวอย่างว่ามีการล้มล้างการปกครองขึ้นคือการก่อการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามของคสช. อันนั้นคือการล้มล้างที่ชัดเจน แต่ว่าคนที่ชุมนุมปราศรัยโดยเฉพาะในม.ธรรมศาสตร์ ข้อเรียกร้องก็เป็นเพียงข้อเสนอให้มีการปฏิรูป และเนื่องจากว่าคสช.เป็นคนแต่งตั้งศาลรธน. ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผลผลิตมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคสช. ประเด็นนี้เราจึงเห็นว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่มาแล้วเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองเพราะว่ามีส่วนได้เสียกับคณะรัฐประหาร เพราะการล้มล้างแบบนั้นไม่มีการวินิจฉัยหรือสั่งให้เลิกกระทำ ทำให้คุณประยุทธ์มีอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ แต่พวกเราที่ใช้สิทธิเสรีภาพด้วยความปรารถนาดี วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจ หวังให้เกิดความก้าวหน้าเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กลับถูกวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างฯ


นายสมยศ กล่าวต่อว่า คำวินิจฉัยขององค์คณะศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร แล้วได้ออกคำวินิจฉัยที่เกิน เช่น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บอกว่าให้เลิกการกระทำดังกล่าว คำว่าดังกล่าวหมายถึงว่าเหตุการณ์ที่มันเกิดมาแล้ว นั่นก็หมายถึงว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 63 ให้เลิกกระทำ ซึ่งก็เลิกไปแล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยให้เครือข่ายฯ เลิกกระทำในอนาคตด้วย อันนี้ถือว่าเป็นการวินิจฉัยที่เกินไปกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลที่จะล้มล้างการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ล้มล้างเสรีภาพของประชาชนตามรากฐานประชาธิปไตย


นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือการล้มล้างการปกครองนั้นหมายถึงว่าจะต้องมีเจตนาที่จะทำให้รูปแบบของการปกครองเปลี่ยนแปลงไปหรือรูปแบบของรัฐเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทั้ง “อานนท์-ภาณุพงศ์-ปนัสยา” ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้รูปแบบของรัฐหรือรูปแบบการปกครองเปลี่ยนแปลงไป แต่โดยตัวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เองที่วินิจฉัยและเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งอย่างหนักแน่นว่าอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดซึ่งขัดกับรับธรรมนูญ แม้ในรัฐธรรมนูญจะเขียนว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นหมายความว่าต้องธำรงไว้ซึ่ง 2 อย่างคือ หนึ่งเป็นประชาธิปไตยนั่นหมายถึงอำนาจการปกครองสูงสุดเป็นของประชาชน และสองคือโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


เป้าประสงค์ในวันนี้ก็คือต้องการยื่นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อว่า ให้วินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง นายอรรถพล กล่าว


นอกจากนี้ นายสมยศ ยังกล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 ธ.ค.) เวลา 11.00 น. ครย. โดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จะไปที่ UN เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลประยุทธ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นการสลายการชุมนุมชาวจะนะ การปล่อยนักโทษการเมือง การดำเนินคดี ม.112 และการยกเลิกมาตรา 112 และวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 16.00 – 21.00 น. ที่สี่แยกราชประสงค์ ครย. จะจัดชุมนุมใหญ่ประเด็นมาตรา 112 และปล่อยนักโทษการเมือง ต่อไป


#ครย

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์