วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : มิตรของศัตรูคือศัตรู ศัตรูของศัตรูคือมหามิตร ใช้ได้จริงในทางการเมืองหรือไม่? : จากคลับเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564


ถอดการตอบคำถามของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน clubhouse ของกลุ่ม Social Recap เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ถาม อาจารย์ธิดาตอบ ทุกเรื่องราวที่เด็ก ๆ อยากรู้"

 

คำถาม : มิตรของศัตรูคือศัตรู ศัตรูของศัตรูคือมหามิตร ใช้ได้จริงในทางการเมืองหรือไม่?

 

อาจารย์ว่าถ้าเราพูดข้อนี้นะ สิ่งสำคัญที่สุดของนักต่อสู้ก็คือต้องรู้ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู ยังไม่ต้องไปเอามิตรของศัตรูก่อน หรือศัตรูของศัตรู เริ่มต้นถ้าคุณรู้ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของนักต่อสู้เลย แล้วทำให้ไม่ถลำไปในเส้นทางที่ผิดพลาด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปหาว่ามิตรของศัตรู หรือศัตรูของศัตรู เราเริ่มต้นด้วยว่านักต่อสู้ต้องรู้ว่า ใครคือมิตร ใครคือศัตรู

 

แล้วเราเอามาตรการอะไรที่ไปใช้ว่าคนนี้คือมิตร เอามาตรการอะไรที่ไปใช้ว่าคนนี้เป็นศัตรู อันนั้นแหละเป็นตัวประเมินทุกคนเลย ไม่ต้องไปเอาคนอื่นที่เป็นทั้งมิตรทั้งศัตรูมาเป็นหลัก เอาหลักก็คือว่าเส้นแบ่งระหว่างมิตรกับศัตรู ทีนี้อาจารย์คิดว่าจุดนี้สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเกิดเราไปเข้าใจว่าคนบางส่วนเป็นมิตร ทั้งที่จริงเขาเป็นศัตรู นี่แหละยุ่ง! หรือว่าเอาศัตรูเป็นมิตร แล้วก็ไปทะเลาะกับมิตร อย่างที่เมื่อกี้เราพูดไง เขาทำได้ 50 เราอยากจะได้เป็น 100 แล้วเราไปดูถูกดูหมิ่นเขา ไปจับจุดต่าง แล้วสงวนจุดร่วม อันนี้กลับกันนะ อย่างนี้ก็คือมองมิตรเป็นศัตรูแล้วทำผิด แล้วมองศัตรูเป็นมิตร แล้วก็ไปเข้าทางเขา ก็คือกลายเป็นว่าเราปฏิบัติตามเข้าทางของฝั่งศัตรู

 

เพราะฉะนั้น พื้นฐานที่สุดเราต้องแยกมิตรได้ แยกศัตรูได้ เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนของปัญญาชนและชนชั้นกลางด้วยเหมือนกันนะ เพราะว่าเราโดยทั่วไปเมื่อกี้อย่างที่บอกก็คือปัญญาชนชนชั้นกลางมันจะอยู่ระหว่างผลประโยชน์ของตัวเองกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และมวลชน บางครั้งจุดยืนยังอยู่ที่ผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วยังมีอีก ความคุ้นเคย ความสนิทสนม มันทำให้ปัญญาชนส่วนหนึ่งในอดีตตั้งแต่ 14ตุลา16 ก็คือจุดยืนกลับเอาฝั่งประชาชนเป็นศัตรู แล้วก็ไปเอาทหารที่ทำรัฐประหารเป็นมิตร ไปเอากลุ่มพันธมิตรเป็นมิตร แล้วคนบางคนเคยอยู่ตั้งแต่ 14ตุลา16 ก้าวหน้า แต่แยกมิตรแยกศัตรูไม่ออก

 

สำหรับนักต่อสู้ มิตร ต้องอยู่บนจุดยืนของผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงการเมืองการปกครองก็คือคุณต้องยืนอยู่ปีกของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจเป็นของชนชั้นนำ ตรงนี้ก็คือมันต้องมีเส้นแบ่งชัด แล้วที่แล้วมาปัญญาชนแยกมิตรแยกศัตรูไม่ได้ มันก็เลยทำให้การต่อสู้ของเรายากลำบาก เมื่อตอนปี 49 แทนที่เราจะได้ปัญญาชนมาเป็นแนวร่วมต่อต้านรัฐประหาร โน่น ไปอยู่กับพันธมิตรฯ เกือบหมดเลย อาจารย์ไม่อยากจะพูด คนจำนวนมากเลยที่ไปอยู่กับพันธมิตรฯ เหลือปัญญาชนที่ยืนอยู่ รู้ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู มันเหลือน้อย ตั้งแต่คนรุ่น 14ตุลา มาก็น้อยมาก คนรุ่น 6ตุลา นี่ยังเข้ามาส่วนหนึ่งเพราะถูกกระทำ พฤษภา35 ก็มีน้อย แทบไม่มี นี่ยกตัวอย่างเป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น พื้นฐานถ้าไปเอามิตรของศัตรู แล้วก็ศัตรูของศัตรู อาจารย์ยังว่าก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู แล้วถ้าพูดแบบเมื่อกี้ ถ้าพูดไม่ใช่ลักษณะนักต่อสู้นะ พูดแบบนักการเมือง/พรรคการเมืองในเวทีรัฐสภาใช้ได้นะ ก็คือ เพื่อนคนที่ไปใกล้ชิดกับศัตรูของเราก็มองเป็นศัตรูหรืออะไรทำนองนั้น หรือว่าคนที่เป็นปฏิปักษ์กับศัตรูของเรา เราถือว่าเป็นเพื่อน อันนี้มันพูดแบบไม่มีหลักการ คือเพียงแต่เป็นมิตรกันหรือเป็นศัตรู ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ ไม่ใช่หลักการของนักต่อสู้

 

หลักการของนักต่อสู้ก็คือคุณต้องแยกให้ชัดว่าใครคือมิตรของการต่อสู้ของประชาชน ใครคือศัตรูของการต่อสู้ของประชาชน ตรงนั้นไม่ต้องไปอ่านว่าเป็นเพื่อนกับใครเป็นอะไรกับใคร ไม่ต้อง วัดเป็นจุดยืนและเป็นปฏิบัติการการกระทำเลย หรือถ้าเป็นพรรคการเมือง เราก็ประเมินเลยว่าพรรคการเมืองนี้ยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ประชาชนคนส่วนใหญ่ ยืนอยู่ข้างระบอบการเมืองที่ถูกต้องหรือฝักใฝ่รัฐประหาร หรือไปอาศัยอิงอำนาจเผด็จการ นี่ยกตัวอย่างชัด ๆ เลย ถ้าสำหรับนักต่อสู้ แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองหรือเป็นเวทีของนายทุนเรื่องของผลประโยชน์ก็อาจจะใช้กติกาข้อนี้ได้ค่ะ เพราะไม่ได้ใช้หลักการของนักต่อสู้ฝ่ายประชาชน

 

อันนี้อาจารย์พูดเพื่อให้ไปเร็วนะ ว่าในทัศนะของอาจารย์ไม่ต้องใช้ตัวนี้ ให้มีเส้นแบ่งว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรูก็พอ เพราะว่าถ้าไปผ่านคนอื่นซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวมันก็ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้แล้ว มันไม่ใช่ว่าใครเดินกับใคร แล้วถ้าใครเดินกับคนที่เป็นศัตรูแล้วเราจะบอกว่าเขาเป็นศัตรู เราต้องดูการกระทำของเขาด้วย บางคนอยู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นพี่น้องกัน แต่ว่าคิดก็ไม่เหมือนกัน ทำก็ไม่เหมือนกัน สมมุติว่าญาติอาจารย์บางคนก็อยู่กับกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าจะใช้ว่ายังคบหากันอยู่แล้วบอกว่าเราเป็นพันธมิตรฯ ด้วย ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องมีเส้นแบ่งตรงจุดยืนทางความคิดและการกระทำ การปฏิบัติเป็นอย่างไร ว่าเป็นมิตร เป็นศัตรู จะไปเอาว่าเป็นเพื่อนกัน ไปคุย ไปกินข้าวกัน อันนี้ไม่ใช่ เพราะว่ามันมีเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมอยู่ ส่วนตัวอย่าง สมมุติเมื่อกี้ที่บอกคุณแม่เป็นกปปส.หรือเป็นสลิ่มแล้วจะบอกว่าลูกเป็นด้วยเพราะเป็นลูกกัน ก็ไม่ได้ อะไรอย่างนี้

 

เพราะฉะนั้น อาจารย์ที่บอกว่าถ้านักต่อสู้ เราต้องดู แยกมิตร แยกศัตรูให้ออก และนี่เป็นจดสำคัญที่สุดให้คนหลงทางหรือไม่หลงทาง ก็คือถ้าไปเอาศัตรู เห็นเขาพูดจาดีกับเรา ก็คิดว่าเขาอาจจะมาร่วมกับเรานะ พูดหวานกับเรา อย่างนี้นี่ยกตัวอย่าง แล้วเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ใช่มิตร เราก็หลงทางได้ หรือหลายคนควรจะก้าวหน้า แต่ไปหลงเชื่อพันธมิตรฯ หลงเชื่อสนธิลิ้มเป็นตับเลยปัญญาชน ก็ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วสนธิลิ้มจะพาไปอยู่ทางไหน ต้องหลงทางเสียตั้งหลายปี บางคนเพิ่งกลับมา ก็คือหลังปี 57 ถึงจะค่อยกลับมาก็มี


#ธิดาถาวรเศรษฐ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์