ช่วงที่สอง อ.ธิดา สนทนากับมวลชนก่อนปิดงาน [งานทำบุญเมื่อ 23 ธ.ค. 64 ให้ผู้ประสานงาน/มวลชนที่เสียชีวิต ช่วง 2-3 ปีนี้]
เมื่อกี้เราได้คุยไปส่วนหนึ่งแล้ว
ก็คือวัตถุประสงค์ของการที่เราจัดงานวันนี้
อยากจะพูดต่อว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เสียชีวิตไป
เพื่อแสดงความรู้สึกห่วงหาอาทรต่อกันว่าพวกเราไม่ทิ้งกันแม้จะผ่านวาระสุดท้าย
แล้วเราทุกคนอาจจะไม่ได้เสียชีวิตในสนามการต่อสู้ในวันสำคัญ
แต่ว่าการเสียชีวิตโดยธรรมชาติของนักต่อสู้ เพียงคุณรักษาอุดมการณ์ของนักต่อสู้และยืนหยัดนั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องคารวะแล้ว
อาจารย์เพิ่งไปงานของ
“คุณฉลาด วรฉัตร” ที่เสียชีวิต แกเป็นส.ส. 2 สมัย
แต่ในวันเผาไม่มีพรรคการเมืองนั้นมาเลย ก็คงเข้าใจนะว่าอยู่พรรคไหน
แกเป็นส.ส.กรุงเทพฯ แล้วก็เป็น ส.ส.ตราด ไม่มีเลย แล้วฟากนักต่อสู้ตั้งแต่ปี 2535
เป็นต้นมา เราก็จะมีคนที่ออกมาร่วมต่อสู้จำนวนหนึ่ง
แต่ก็มีนักต่อสู้ในอดีตนั้นจริง ๆ มันก็เริ่มมีการแบ่งฝ่ายอยู่ระดับหนึ่ง
กลายเป็นว่านักต่อสู้เมื่อปี 2535 อันนี้เป็นความรู้ของเรา
ว่าพัฒนาการของการต่อสู้นั้นจากต่อสู้กับเผด็จการทหาร และเมื่อเวลาที่ผ่านไป
มันก็ไม่ใช่เผด็จการตัวเดียว มันมาเป็นระบอบ
เมื่อมาเป็นระบอบก็เริ่มมีการแยกตัวของนักต่อสู้ออกไป
ดังนั้นในวันนั้น
นักต่อสู้ปี 2535 ส่วนที่เป็น NGO ส่วนที่เป็นพรรคการเมือง
อีกฝั่งหนึ่งที่ช่วงหลังไปสนับสนุนรัฐประหาร ไม่มีใครมาเลย ในงานวันนั้นก็มีอาจารย์
คุณหมอเหวงนั้นไปตอนกลางคืน แล้วก็มีคุณหมอสันต์ หัตถีรัตน์ คุณครูประทีป
อึ้งทรงธรรม แล้วก็มีจตุพร พรหมพันธุ์ ไป แต่ว่าคนปี 2535
ซึกที่สนับสนุนรัฐประหารก็ไม่มา เราจะเห็นว่าในคำโบราณที่บอก “ผีไม่เผา
เงาไม่เหยียบ” มันก็จริง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพื่อนนักต่อสู้ด้วยกัน
ดังนั้น
อาจารย์จะฝากว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
จุดยืนที่ยืนอยู่กับประชาชนสำคัญที่สุด ถ้าคุณจุดยืนไม่ได้อยู่ที่ประชาชนจริง
จุดยืนมาอยู่ที่ผลประโยชน์ของคณะหรือของตัวเอง โอกาสที่คุณจะหลงทางมีมาก
แต่ถ้าเมื่อไหร่จุดยืนคุณอยู่ที่ประชาชนจริง คุณจะไม่หลงทาง
อาจจะเดินเก็บดอกไม้เพลินออกไปบ้าง แต่ประเดี๋ยวก็มาเข้าทาง
เพราะฉะนั้น
“จุดยืน” สำคัญที่สุด แต่ที่อาจารย์เคยบอกไว้ว่านักต่อสู้จะไม่ด้อยค่านักต่อสู้ด้วยกัน
อันนี้เป็นข้อสังเกตว่า พัฒนาการของการต่อสู้นั้นไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่
มันเคลื่อนมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่งได้เห็นว่ามีการแบ่งฝ่ายของการที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจริงกับฝั่งที่เคยออกมาต่อสู้แต่กลายเป็นหนุนรัฐประหาร เคยสู้ปี 2535 แต่พอมาบัดนี้ก็ไม่ได้มาร่วม
หมายถึงแม้กระทั่งงานของคุณฉลาด วรฉัตร อันนั้นเป็นแบบอย่าง
แต่ว่าแกอยู่กับพรรคการเมือง แกไม่ได้อยู่กับองค์กร.ประชาชน
ในวันนี้อาจารย์ก็จะมีของเล็ก
ๆ น้อย ๆ ส่วนหนึ่งก็มีหนังสือของคุณฉลาด ถ้าใครสนใจ ในนั้นมีเรื่องธรรมะ
เพราะคนที่มานี่มีสายธรรมะเยอะ เนื้อหาดีมาก แล้วเขาก็เอาที่อาจารย์เขียนถึง
คารวาลัย (คารวะ + อาลัย) ครอบครัวเขาก็ชอบมาก เขาก็เอาไปลง
เพราะอาจารย์เขียนรวดเดียว ไม่ได้อ่านทวนเลย ก็ส่งให้พิมพ์เลย คือเขียนจากความรู้สึกจริง
ๆ สำหรับนักต่อสู้ ซึ่งเรารู้ว่าในที่สุดทุกคนก็ต้องตายโดยธรรมชาติ
แต่ว่าการตายโดยธรรมชาติเหมือนอย่างพวกเราที่เสียชีวิตกัน ไม่ได้ตายในสนามรบ
แต่ชีวิตที่อยู่ในสนามรบก็ควรแก่การคารวะ นี่จึงเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้
ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และเป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนด้วย ว่านักต่อสู้นั้นไม่ทิ้งกัน
ถึงแม้เราจะแก่ เราอาจจะไม่ได้ไปอยู่แถวหน้า แต่เราเป็นแถวหลังที่ไว้ใจได้
เส้นทางที่เราเดินก็จะเป็นการปูทางถนนให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป
อะไรที่ไม่ดีเราก็จะบอกเขาว่ามันไม่ดี อะไรที่เป็นเรื่องที่ดีเขาก็จะดูศึกษา
แต่สิ่งหนึ่งที่เราขณะนี้ไม่มีอะไรเลยแต่ทำได้เป็นแบบอย่างเช่นวันนี้เป็นต้น ก็คือเราไม่ทิ้งกัน
ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร และนี่เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนด้วยว่าพวกเรานั้นจะไม่ทิ้ง
ไม่ว่าเราจะเสียชีวิตโดยธรรมชาติหรือเจ็บป่วย ให้เราสบายใจว่าเรายังมีคนที่ดูแล
เพราะฉะนั้น
อาจารย์อยากให้เอาสิ่งนี้ไปบอกพวกเราที่อยู่ว่า เราอาจจะไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลังที่ไว้ใจได้
แล้วโดยธรรมชาติการต่อสู้มันมีทั้งกองหน้ากับกองหลัง เราเคยเป็นกองหน้า
แต่ถึงเวลาเราก็ให้คนที่สดกว่า แข็งแรงกว่า ใหม่กว่าอยู่หน้าเราก็ได้
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าในปีหน้าถ้าทำได้ ขอให้มีสักวันที่เรามาทำบุญและรำลึกถึงเพื่อนเราที่จากไป
จริง ๆ มันไม่ใช่วันเดียวก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมี อย่างเช่นแบบวันนี้เป็นต้น
แล้วก็ถ้าจะมีภาพขึ้นหน้าจอ มีเรื่องราว มีสไลด์
ในครั้งต่อไปของเรื่องแต่ละคนก็สามารถทำมาได้ เพื่อที่จะให้หลาย ๆ คนรู้จัก
แน่นอนเรารู้ว่าคนที่เสียสละไปเสียชีวิตไปไม่ได้ต้องการว่าจะเป็นคนดัง
เพราะเขาไม่ได้หิวแสง เราเป็นพี่น้องที่ทำงานธรรมดา
แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องดี ๆ ที่ให้พวกเราหลาย ๆ คนและเด็กรุ่นหลังจะได้รู้
นี่คือตัวอย่างที่ดี ว่าแม้กระทั่งเราสูงอายุแล้วเราก็ไม่ทิ้งกัน
และนอกจากเราไม่ทิ้งกัน
เราก็ไม่ทิ้งเด็ก ไม่ทิ้งเยาวชน ไม่ทิ้งกองหน้าด้วย
นี่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะฝากกันเอาไว้ อาจารย์ก็เสียใจที่เด็กถูกกระทำมากมาย
แต่พวกเราก็ถูกกระทำมากมาย แกนนำนปช. อย่างคุณหมอเหวง ณัฐวุฒิ หรือจตุพร
หรือใครก็ตาม ยังมีคดีอีกหลายคดี แล้วติดคุกแล้วสำหรับคดีปี 2551 ปี 2552 มี 2 คดี
ปี 2553 อีก 1 คดี
คดีปี
2552 ก็คือที่พัทยามีคนมาร้องเรียนนะ เพราะว่าเขากลัวว่าจะติดคุกน้อยไป
ต้องให้เอาพวกส่วนกลางไปติดด้วย อ้างว่าณัฐวุฒิให้เงินอริสมันต์ไป 2 แสน
ดังนั้นก็เลยต้องลากพวกแกนนำส่วนหลางไปติดคุกพัทยาด้วย
และที่สะพานชมัยมรุเชฐก็มีอีกคดีหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เราเลิกไปธรรมดา
คดีปี 2553 เพิ่งศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง อย่าเพิ่งดีใจ ยังมีอุทธรณ์ ฎีกา แล้วก็มีคดีแพ่งอีก 2 คดี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก นี่คือสิ่งที่ชะตากรรมยังเผชิญอยู่ แล้วส่วนเยาวชนมันยิ่งน่ารันทดใจมากกว่าเพราะเขาเป็นเด็ก เขาเพิ่งย่างก้าวเข้ามา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทั้งเยาวชนและประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็จะต้องคิดอ่านทำงานต่อไป
สำหรับพวกเราทุกคนก็ดูแบบอย่างที่เมื่อกี้โก๊ะได้พูด
คนที่เสียชีวิตอายุ 110 แต่เขาสู้จนลมหายใจสุดท้าย
อาจารย์ก็เชื่อว่าพวกเราสู้จนลมหายใจสุดท้ายด้วย ถ้าถามอาจารย์
อาจารย์ก็เป็นเช่นนั้น เราสู้จนลมหายใจสุดท้าย
นี่ก็คือสิ่งที่เราสู้เท่าที่เราจะทำได้ให้ดีที่สุด
“ยูดีดีนิวส์”
ที่เราทำก็เป็นสื่อซึ่งเยาวชนและในการต่อสู้คนรุ่นใหม่ก็รู้จักพอสมควร ในที่นี้เรามีคำขวัญว่า
“ร่วมเสนอข่าวสาร ประสานการต่อสู้ของประชาชน”
อาจารย์ไม่คิดว่าสื่ออื่นเขาจะมีคำขวัญ คำขวัญคือเข็มมุ่ง เราต้องเสนอข่าวสาร
แต่ข่าวสารก็เป็นข่าวสารที่ประสานการต่อสู้ของประชาชน นี่คือหัวใจของเรา เราไม่จำเป็นต้องเสนอข่าวสารทั้งหมด
สามีตีภรรยา ก็ไม่จำเป็น เราเสนอเฉพาะประเด็นการต่อสู้ของประชาชน
พร้อมกันนั้นเป็นไปได้ที่ตัวอาจารย์เองถ้าพอจะมีบทเรียนอะไรที่ผ่านมาก็จะพยายามใช้บทเรียนอันนั้นให้เป็นประโยชน์ในการบอกเล่าให้กับเยาวชนโดยไม่ได้มีการครอบงำ
เราไม่ได้มีการชี้นำ แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และปัญหาที่เขาอาจจะอยากรู้
เพราะฉะนั้น
พวกเราทุกคนมีบทบาท เราอยู่ในพื้นที่ 1) เป็นผู้สื่อข่าวอาสาได้ มีกล้องเราก็ทำได้แล้ว
2)ถ้าเรามีเรื่องราวที่น่าสนใจ
เราก็สามารถที่จะเขียนหรือบอกทางสำนักข่าวยูดีดีนิวส์เพื่อที่จะทำเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
อย่างคุณลุงที่มีอายุร้อยกว่าปีก็ลองทำเป็นเรื่องมา
หรือในพื้นที่เรามีปัญหาอะไรมาก ถ้าเราคิดว่าเป็นประโยชน์ก็ช่วยกันทำ
นี่ก็คือร่วมการต่อสู้กับพี่น้องประชาชนตามที่เรามีความสันทัดและมีประสบการณ์
เพราะว่าการบอกเล่าประสบการณ์เป็นครูชั้นดี
ถึงแก่แล้วเราก็ยังเป็นนักเรียนน้อยอยู่ ก็คือเรายังต้องรับฟัง
เพราะว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน
ในเรื่องสุดท้ายที่อาจารย์อยากจะฝากเอาไว้ก็คิดว่ามันเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้ง
แน่นอนเรามีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น ถามว่าดีมั้ย?
ส่วนที่บอกว่าไม่ดีก็คือเสียงจะตัดกันเอง แต่ส่วนที่บอกว่าดีก็คือว่าจะทำให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องพยายามปรับปรุงตัวเองเพื่อที่จะแข่งขันในการเอาชนะใจประชาชน
ข้อดีข้อที่สองก็คือว่าจะรับฟังเสียงและเคารพการต่อสู้ของประชาชนมากขึ้น
ถ้ามีพรรคเดียว การฟังหรือการเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนในการต่อสู้อาจจะน้อยไป
เพราะอาจจะให้น้ำหนักกับการเมืองมากกว่าการต่อสู้ นี่ก็คือข้อดี
แต่ในบางประเด็นหลายคนก็กลัวว่าคะแนนเสียงจะตัดกันเอง
แต่อาจารย์ให้น้ำหนักกับการต่อสู้ อย่างอาจารย์ อาจารย์ไม่อยู่พรรคไหนนะ คุณต้องเข้าใจนะ ตอบแทนอาจารย์ด้วยว่าอาจารย์ไม่เคยอยู่พรรคไหน ถ้าพูดเล่น ๆ ก็เคยอยู่แต่พรรคคอมมิวนิสต์ แล้วมาอยู่พรรคอื่นไม่ไหว พรรคทุนทั้งหลายก็คงไม่ได้ ก็คืออาจารย์ให้น้ำหนักการต่อสู้ สำหรับอาจารย์พวกเราที่สนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอาจารย์ไม่มีปัญหาเลย อย่าไปอยู่พรรคของเผด็จการก็แล้วกัน หรืออย่าไปอยู่พรรคพวกอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม เท่านั้นแหละ
แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่พรรคไหนก็ตาม
ที่สำคัญที่สุดก็คือการต่อสู้ของประชาชน
คุณจะไปอยู่ตรงไหนคุณก็ช่วยบอกให้เขารู้ว่าถ้าตราบใดการต่อสู้ของประชาชนไม่ได้รับชัยชนะ
เพราะการเมือง ต่อให้คุณชนะการเลือกตั้ง คุณเป็นรัฐบาลคุณก็อยู่ไม่ได้ กี่ครั้งแล้วที่ชนะการเลือกตั้งแล้วก็อยู่ไม่ได้
เพราะฉะนั้นสู้เพียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง ไม่เท่ากับชนะเพื่อให้ได้อำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง
ตรงนี้! เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองทั้งหลายต้องช่วยกันตรงนี้
เมื่ออำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การแข่งขังระหว่างพรรคการเมืองก็จะเป็นเหมือนเล่นกีฬาหรือแข่งความสามารถ
แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน
ยิ่งคุณแข่งขันแบบมาราธอน ก็ยิ่งทำให้ทอนกำลังของการต่อสู้
ก็คือติ่งทั้งหลายบางทีทะเลาะกันจนมาก ๆ แต่อาจารย์ก็เข้าใจ
นั่นแปลว่าเขาให้น้ำหนักการเมืองทางรัฐสภามากกว่าการต่อสู้ของประชาชน
แต่บทเรียนของเราก็คือคุณชนะกี่ครั้งแล้ว...ก็ไม่ได้ สุดท้ายก็เกิดรัฐประหาร
อยากจะฝากว่า
สำหรับอาจารย์แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการต่อสู้ของประชาชน
ทำอย่างไรที่จะให้ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นจริงก็คืออำนาจเป็นของประชาชน
ถ้าตราบใดมีแต่การเลือกตั้ง มีแต่พรรคการเมือง....
เราก็จะเต้นไปเต้นมาอยู่อย่างนี้ แล้วลงท้ายเราก็บาดเจ็บล้มตายเปล่า แต่ว่ามาถึงขั้นนี้เราก็คิดไปข้างหน้าแล้วกัน
มองไปข้างหน้า แล้วก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าบั่นทอนกำลังใจในการสู้รบ
อาจารย์ฝากตรงนี้ เพราะว่าสนามการเมืองพรรคการเมืองมันกำลังระงมไปหมด ก็
“แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” อาจจะอยู่ต่างพรรคแต่ร่วมอุดมการณ์ใช้ได้
แต่ว่าต่างพรรค ถ้าต่างอุดมการณ์ไม่เอา อาจารย์ก็ฝากไว้ตรงนี้นะ
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
และทำให้การต่อสู้ของประชาชนแข็งแรงเท่าที่เราจะทำได้ และเราจะสู้จนลมหายใจสุดท้าย
และแม้กระทั่งเราเสียชีวิตไป
คุณดู “จิตร ภูมิศักดิ์” เสียชีวิตไป แต่เขาไม่ได้หมดค่า เพราะผลงานของเขา
เพลงของเขา คำประพันธ์ของเขา งานเขียนของเขา บทกวีของเขายังอยู่ อันนี้เขาเป็นปัญญาชนที่เป็นแบบอย่าง
ก็ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ดังนั้นอาจารย์ก็คิดว่าพวกเราไม่ต้องด้อยค่าตัวเอง
เรามีเรื่องราวที่สามารถมาบอกเล่าใน “ยูดีดีนิวส์” ได้ เราสู้จนลมหายใจสุดท้าย
และก่อนจะถึงลมหายใจสุดท้ายเราก็ควรจะทำงานที่คิดว่าได้ประโยชน์มากที่สุด
ฝากไว้สำหรับปีนี้ ปีที่แล้วเป็นการต่อสู้ที่เฟื่องฟู
ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากเพราะโควิด ปีหน้า 50/50 ก็คือถ้าโควิดมันแรงมาก
การต่อสู้ก็อาจจะไม่ได้เต็มที่ แต่ถ้าโควิดไม่แรงมาก
อาจารย์คิดว่าการต่อสู้ประชาชนมันจะขึ้นสูงแม้เด็ก
ๆ จะถูกจับไปจำนวนมากก็ตาม ถึงแม้เราจะสูงอายุแล้ว ขอให้อายุมันเป็นแค่ตัวเลข
อย่าไปจำมัน ให้รักษาสุขภาพให้ดี ใครไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ไปฉีดเสีย ดูแลสุขภาพให้ดี
เราต้องมีพลานามัยที่ดี สมองที่แจ่มใส มีจุดยืนที่ถูกต้อง
ไม่เสียชาติเกิดที่เกิดมา อาจารย์เชื่อพวกเราทุกคนค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์