วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : สิ่งที่ต้องห้าม ต้องระวังในการขับเคลื่อน สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง? : จากคลับเฮ้าส์ เมื่อ 28 ต.ค. 64

 



ถอดการตอบคำถามของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน clubhouse ของกลุ่ม Social Recap เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ถาม อาจารย์ธิดาตอบ ทุกเรื่องราวที่เด็ก ๆ อยากรู้"

 

คำถาม : สิ่งที่ต้องห้าม ต้องระวังในการขับเคลื่อน สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง?

 

อันแรกเลยก็คือ “ชุดความคิด” นี่แหละ ที่บอกว่าต้องระวังชุดความคิดนั้น ชุดความคิดมันอาจจะสุ่มเสี่ยง อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก เช่น คุณไม่เข้าใจภววิสัยดีพอแล้วสร้างชุดความคิดขึ้นมาเป็นธงนำ เป็นเป้าหมาย มันก็อาจจะทำให้มีปัญหาและไม่สามารถได้รับผลสัมฤทธิ์ได้ ก็คืออาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากคนหรือจากการถูกปฏิเสธก็ได้ เพราะฉะนั้นชุดความคิดจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงพอดี ซึ่งมันไม่ง่ายนะ และนำเสนอในสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้ และต้องเป็นขั้นตอน และต้องรู้ว่าจังหวะก้าวที่จะก้าวไปมันจะก้าวยังไง? ไม่ใช่ว่าคุณกระโดดไปเลย ไม่ได้ เขาไม่มีพลังที่ก้าวหน้าเพียงพอ นอกจากนั้นต้องดูว่าถ้าเป็นการปฏิวัติที่ต้องอาศัยประชาชาติ หมายความว่าไล่ผู้ล่าอาณานิคมออกไป อย่างนี้คุณก็จะได้ความสามัคคีของคนทั้งประเทศเลย เพราะเขาไม่ชอบเจ้าอาณานิคม นี่ยกตัวอย่างนะ  อันนี้ก็เป็นปัจจัยความสำเร็จคือต้องวิเคราะห์ปัญหาได้ถูกและได้รับความร่วมมือ

 

เพราะฉะนั้น ถ้าชุดความคิดมันซ้ายไปไม่สอดคล้องความเป็นจริง หรือมันขวา คือคิดว่าเดินทางก้าวหน้าแต่ว่าเอียงขวา คือไปเข้าทางจารีตนิยมไปเลย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตอน 14ตุลา การขับเคลื่อนของประชาชน แน่นอนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ว่าไป ๆ มา ๆ ก็ถูกครอบงำโดยความคิดแบบขวา เขาก็ช่วงชิงชัยชนะไปได้ แล้วก็ในที่สุดมาปราบเอาตอน 6ตุลา อันนี้เรื่องชุดความคิดนะ

 

แล้วก็ต่อมา “ชุดการนำ” ที่เมื่อกี้ที่อาจารย์พูด ก็คือหลีกเลี่ยงที่ว่าเป็นการนำโดยเอกชนคือเด่นอยู่บางคน แล้วก็เลยคล้าย ๆ กับว่าต้องฉันเท่านั้น แล้วถ้าฉันผิดแล้วยังไง เป็นลัทธิวีรชนเอกชน หรือฉันถูกจับ ก็แย่ และในการนำอาจารย์อยากจะฝากไว้ว่าควรจะให้กลุ่มต่อสู้แยกจากกลุ่มพรรคการเมือง เพราะว่าพรรคการเมืองก็ประกอบด้วยคนจำนวนมากที่ไม่สามารถควบคุมได้ แล้วองค์กรกลุ่มการต่อสู้มันก็มาก ยิ่งใหญ่มันก็ยิ่งยากลำบากอยู่แล้ว เอาความยากสองยากมาผสมกันยิ่งไปกันใหญ่เลย เพราะบางส่วนเข้าสู่การเมืองด้วยเรื่องผลประโยชน์ อยากเป็นส.ส. อยากได้รับเลือกตั้ง อยากเป็นส.ข. ส.ก อะไรต่าง ๆ อันนี้ก็หนึ่ง อยากมีตำแหน่งในพรรคการเมือง ในรัฐบาล แล้วก็มาอาศัยเส้นทางการต่อสู้ของประชาชน แล้วไป ๆ มา ๆ ก็ทำให้การต่อสู้ของประชาชนมันลำบาก คือมันกลายเป็นว่ามีคนมาหาประโยชน์ แล้วเอาการต่อสู้ของประชาชนไปขึ้นกับผลประโยชน์พรรคการเมือง

 

อีกอันหนึ่งก็คือว่า “การไม่มีวินัย” คือตกลงกันแล้วว่าจะทำอย่างไรมันก็ต้องทำตามนั้น มันไม่ใช่เสรี เพราะว่าองค์กรของปัญญาชนต้องระวัง เพราะนี่คือจุดบอดเลย เพราะว่าปัญญาชนเยาวชนมักจะมีปัญหาตรงนี้

 

เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็อยากให้ระมัดระวังว่าชุดความคิดที่ถูกต้อง ชุดการนำบริหารก็ต้องให้ถูกต้อง การบริหารงาน โดยเฉพาะเรื่องการเงินอีกอย่างหนึ่ง การเงินอย่าให้มันมีปัญหา ต้องทำให้มันโปร่งใส สมัยนี้อาจารย์ว่าค่อนข้างดีนะ ก็คือมีการรับบริจาคมาแล้วมีการเปิดเผยได้ว่าได้รับบริจาคมาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการเงินต้องให้ ไม่อย่างนั้นก็แตกคอกันเพราะการเงินก็มี ยังไม่พูดถึงเรื่องสู้เลย เพราะว่าพอได้รับเงินมาไม่ทันไรก็แตกคอกันแล้ว


แล้วอาจารย์ก็อยากจะฝากอย่างหนึ่งก็คือ ไม่อยากให้ไปเหยียดหยามคนอื่น คือไปเที่ยวว่าคนโน้นคนนี้ว่าไม่ก้าวหน้า ถ้าเรามีแนวทางแล้ว และถ้าคนที่อยู่ในแนวทางเดียวกับเราอาจมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ก็คือสมมุติว่ามันมีเส้นทางมัน 100 บางคนมา 50 แล้วเราอาจจะไปได้จนถึง 70-80 แล้วจะไปดูถูกเหยียดหยามว่าคนที่เขาไปได้ 50 เป็นพวกไม่ก้าวหน้า อาจารย์ว่าเป็นท่วงทำนองที่ไม่ดีนะ

 


อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่างที่เมื่อกี้บอกว่าเราอย่าเอียงซ้ายไปเอง หรือกลายเป็นเอียงขวาเพราะปล่อยให้กลุ่มจารีตมามีอิทธิพลด้วยความหวาดกลัว เพราะฉะนั้นภาวะการนำรวมหมู่สำคัญมาก

 

และข้อที่ควรระวังอย่างยิ่งคือปัญหาหนทางการต่อสู้ เราได้พูดมาบ้างแล้วก็คือ การต่อสู้ของเราในปัจจุบันแม้เส้นทางจะยาวนานและบางช่วงมีพรรคการเมืองที่การต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่นั่นมีกองกำลังและกองทัพ เป็นกองทัพเลย ขณะนี้ถ้าเยาวชนหรือแม้กระทั่งคนเสื้อแดง แต่คนเสื้อแดงก็ถือว่ากับเยาวชนก็คล้ายกันตรงที่ว่ามีการต่อสู้บนท้องถนนและต่อสู้ในเวทีรัฐสภา เพราะฉะนั้นการต่อสู้ด้วยอาวุธมันจะเป็นปัญหาต่อทั้งการชุมนุมหรือการต่อสู้บนท้องถนนและการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา พรรคการเมืองก็สนับสนุนไม่ได้ และการต่อสู้ด้วยอาวุธก็คือมันต้องประเมินความเป็นจริง อาจารย์ไม่รู้ 50 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่นพม่าเขาสู้มาตั้งแต่ปี 1988 เป็นเวลา 30 กว่าปี ตอนนั้นเยาวชนปัญญาชนของพม่าก็ออกมาแล้วนะ ไปอยู่กับกองกำลังกระเหรี่ยงต่าง ๆ หรือชนชาติส่วนน้อย เพราะว่าอยู่ไม่ได้ก็ออกมาจับอาวุธเหมือนกัน แล้วส่วนหนึ่งก็มาอยู่ในประเทศไทย แล้วก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นมัน 30 กว่าปี แต่เขาก็พยายามอดทนผ่านการเลือกตั้ง ได้รับชัยชนะ มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นขณะนี้ ครั้งที่แล้วก็มีคนที่พูดอยู่ว่าเขามีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งอาจารย์มองว่าจริงมันเป็นลักษณะจลาจลนะ หรือว่ารัฐบาลพลัดถิ่นเขามุ่งการโต้ตอบ แต่ว่าเขาไม่ได้มีกองทัพของประชาชนในการต่อสู้นะ เป็นแต่มีกองทัพของชนชาติซึ่งสู้ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วพวกเขาก็ไม่ชอบกัน ลึก ๆ แล้วคนพม่ากับชนชาติก็ไม่ชอบกัน แต่ว่าพัฒนาการต่อไปถ้าเขาสามารถสามัคคีกองกำลังอาวุธของชนชาติส่วนน้อยทั้งหมดได้ แล้วสามารถสร้างกองทัพขึ้นมาอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้มันเป็นลักษณะที่เรียกว่าก่อจลาจลมากกว่า มันก็มีความเสียหายทั้งสองข้าง แต่ว่ามันยังไม่ใช่การต่อสู้แบบมีกองทัพจริง ๆ

 

ถ้าหากว่าความสุดโต่งตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังว่า ขนาดคนเสื้อแดงไม่มีอาวุธนะ เขาก็ยังกล่าวหาว่าเรามีกองกำลังอาวุธ 500 คน มีชายชุดดำ เพื่อมาปราบและเพื่อมาเล่นงานตอนนั้นก็นปช. ความจริงแล้วเราต่อสู้ด้วยสันติจริง ๆ เลย เราเขียนนโยบายชัดเจน แล้วเราก็มีการตรวจอาวุธในที่ชุมนุม ไม่มีเลย แต่ว่าไอ้คนที่บางทีขึ้นเวทีแล้วก็พูดไปตามใจชอบ อย่างที่อาจารย์บอก ไม่มีวินัย พูดไปโดยไม่รู้ว่า ความจริงไม่มีอะไร ตัวเองก็ไม่มีอะไร อาจารย์ก็ต้องขออภัย อย่างแม้กระทั่งเสธ.แดง

 

เสธ.แดงก็ไม่คิดว่าตัวเองจะถูกยิงนะ เพราะเขายังรักกองทัพ ยังมีความรู้สึกว่าเขาเป็นนายทหารที่เต็มเปี่ยม แล้วลักษณะของเสธ.แดง ถ้าพูดจริง ๆ เขาเป็นกองทัพแบบเป็นนายทหารประจำการ สมมุติว่าประชาชนอยากจะทำกองทัพสู้ มันไม่ใช่แบบนี้นะ มันใช้แบบนี้ไม่ได้ มันคนละอย่างกันเลย เพราะว่าอันนี้เป็นกองทัพประจำการแบบใหญ่ มีกองทหาร มีอะไรต่าง ๆ ซึ่งมีอาวุธ มันคนละแบบกัน ฉะนั้นกองกำลังการต่อสู้ของประชาชนจริง ๆ เราไม่มี ขนาดเราไม่มี เขายังหาเรื่อง



ดังนั้นอาจารย์ก็อยากจะฝากไว้ว่า ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังเพื่อที่จะไม่ให้เสียหาย แล้วก็เอาทหารมาปราบแบบคนเสื้อแดง แต่ถามว่าพัฒนาการการต่อสู้ใน 40-50 ปีข้างหน้า สมมุติว่ามันเกิดเป็นแบบพม่านะ มันทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก และมันปราบประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็เป็นไปได้ แต่ถึงตอนนั้นอาจารย์ว่าประเทศแหลกสลายแล้ว ไม่มีเหลือแล้ว แล้วถ้าคนเสื้อแดงตั้งแต่ตอนนั้นคิดจะต่อสู้ด้วยอาวุธมันก็ยุ่ง ไม่มีเหลือแล้วเหมือนกัน เพราะคนมันเยอะนะ แล้วมีทูต ทูตก็มาคอยถามอาจารย์ อาจารย์บอกเราก็ไม่คิดหรอก เราไม่อยากทำลายประเทศนี้ เขาบอกคุณรักประเทศมากถึงขนาดนั้นเลยเหรอ นี่ทูตดัง ๆ เลยนะ ประเทศใหญ่เลย เขาพูดกับอาจารย์อย่างนั้น เพราะอาจารย์มองแล้วว่าทำไม่ได้ เรายังสู้ในวิถีทางรัฐสภาก็ยังสู้ได้ ถ้าจะถามว่าการต่อสู้บนท้องถนนอาจจะถูกปราบ แต่ที่ผ่านมาในเวทีรัฐสภาฝ่ายประชาธิปไตยชนะตลอดมา เพราะฉะนั้นเราแพ้ในสนามของการทหาร แต่เราสามารถนำชัยชนะได้ในสนามการเมืองในเวทีรัฐสภา สู้บนท้องถนนก็สู้ต่อไป

 

ดังนั้นก็ให้เข้าใจว่าความพ่ายแพ้ที่ว่า เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในสนาม เราไม่ได้สู้ด้วยอาวุธ เราไม่ได้สู้การทหาร เราสู้การเมือง แต่การเมืองนั้นถ้าฝั่งเผด็จการทหารหรือฝั่งจารีต ฆ่าประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบพม่า อาจารย์ไม่รู้นะ อนาคต คนมันอาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ว่าตราบใดที่ทางการเมืองเรายังสามารถได้รับชัยชนะได้ ประชาชนก็ยังมีความหวังว่ามีเลือกตั้ง ขี้หมูขี้หมายังไงฝ่ายประชาธิปไตยก็ชนะ

 

เพราะฉะนั้นระวังที่หนัก ๆ ก็คือระวังเรื่องว่าการพูดหรือการทำแบบไม่มีวินัย ไม่สนใจว่าประชาชนต่อสู้สันติวิธี แต่ว่าคุยโตโอ้อวดหรือว่าทำเอาเองอย่างไร้วินัยก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแลกัน อย่าให้มีความเกรงใจแกนนำบางคนก็พูดแบบไม่ติดเบรก อาจารย์หมายถึงในอดีตนะ อาจารย์ไม่ได้พูดถึงเยาวชนในปัจจุบัน ของเยาวชนนี่อาจารย์ว่าเขาก็ดูแลดี แต่ว่าทุกอย่างมันไม่มีอะไรหยุดนิ่งอยู่กับที่นะ มันมีการเปลี่ยนแปลงไป อาจารย์ก็เตือนเอาไว้เพื่อไม่ให้มันมีความเสียหายในหมู่ประชาชนมากจนกระทั่งทำให้เราต้องมานั่งจัดงานรำลึกและมันก็ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร ฉะนั้นสู้แบบที่ว่าคืบไปข้างหน้า รักษากำลัง แล้วก็รักษาเป้าหมาย และก็ไม่หยุด อาจารย์คิดว่ามันจะมีพลังมากกว่าค่ะ


#ธิดาถาวรเศรษฐ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์