วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ครย.112 อ่านแถลงการณ์สองภาษา "ราษฎรพิพากษามาตรา 112" กลางราชประสงค์ จี้ยกเลิกม.112 ร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ลั่นปีหน้า (2565) เจอม็อบเบิ้ม ๆ ตั้งแต่กลางมกรา

 


ครย.112 อ่านแถลงการณ์สองภาษา "ราษฎรพิพากษามาตรา 112" กลางราชประสงค์ จี้ยกเลิกม.112 ร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ลั่นปีหน้า (2565) เจอม็อบเบิ้ม ๆ ตั้งแต่กลางมกรา


วันนี้ (12 ธ.ค. 64) ที่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน  แนวร่วมกลุ่มราษฎรในนาม "คณะราษฎรยกเลิก 112" หรือ ครย.112


นัดหมายจัดกิจกรรมชุมนุม "ราษฎรพิพากษามาตรา 112"  เพื่อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 กฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวชั่วคราวแก่นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำ จากการแสดงออกทางการเมือง


ทั้งนี้ม็อบ 12.12 ยกเลิก 112 เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของการรณรงค์ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ซึ่งเคยจัดครั้งแรกที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 31 ต.ค. 2564 และ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2


สำหรับกลุ่มที่ร่วมกิจกรรม อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มสลิ่มกลับใจ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ We Volunteer เป็นต้น โดย ilaw ได้มาตั้งบูธลงชื่อยกเลิกมาตรา112 ด้วย 


เวลา 16.00 น. เปิดเวทีด้วยการแสดงจากอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์และศิลปินเพลงเพื่อราษฎร นอกจากนี้ มีการพ่นสีแดงลงบนพื้นถนนราชดำริเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก 


จากนั้นเป็นการรัวกลองโดยกลุ่มราษดรัมส์ และร้องเพลงประกอบจังหวะโดยกลุ่มราษฎรเอ้ย มีเนื้อหาเสียดสีและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งขณะที่ราษดรัมรัวกลอง ตำรวจได้ขึ้นไปปลดป้ายผ้าข้อความระบุว่า "ราษฎรพิพากษามาตรา 112" ที่แขวนอยู่บนสกายวอล์ก ทำให้ผู้ชุมนุมตะโกน "หยุดคุกคามประชาชน" พร้อมโห่ไล่ตำรวจก่อนที่มวลชนจะนำป้ายดังกล่าวติดคืนที่เดิมสำเร็จ


ต่อมา 17.30 น. มีการเสวนาถึงประเด็นการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายมาตรา 112


นายอุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักนิติศาสตร์ได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และสะท้อนให้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งความกังขาที่เกิดขึ้นในใจของพี่น้องประชาชน 


อยากให้เราลองกลับไปอ่านใหม่ อ่านในฐานะที่เป็นการสะท้อนความเห็นของชนชั้นนำไม่เฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรที่ผ่านมาเท่านั้น ถ้าเราอ่านคำวินิจฉัยของศาลเราก็จะเห็นว่าโอกาสในการปฏิรูปมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนและชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้มีความพร้อมในการปรับตัวแค่ไหน ผมคิดว่าสำหรับคำวินิจฉัยตอนนี้ไม่ได้อ้างอิงอยู่บนหลักกฎหมาย ผมจึงคิดว่ามันมีฐานะแค่ความเห็นเท่านั้น นายอุเชนทร์กล่าว


ขณะที่ นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า อยากยืนยันว่ามาตรา 112 เป็นคดีความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ จึงไม่เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการแก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร


ด้านนายอนุลักษณ์ กุลสิงห์ หรือ ป๊อก แนวร่วม มมส. กล่าวว่าสำหรับมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของเรา เป็นมาตราหลักที่ใช้ปราบปรามผู้ออกมาเรียกร้อง ปราบปรามประชาชน เพื่อนของเราติดคุกด้วยมาตรานี้ ในช่วงก่อนที่จะประกาศใช้มาตรานี้ มีความพยายามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีอัตราโทษไม่สูงเท่า มาตรา 112 ถือเป็นกฎหมายที่สมควรยกเลิก ถ้าไม่ยกเลิกตอนนี้จะไปยกเลิกตอนไหน


จากนั้น 18.50 น. เป็นช่วงของการปราศรัย เริ่มต้นด้วย นางสาวธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขึ้นเวทีกล่าวว่า รัฐบาลที่มีส.ว. 250 คน ที่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชน ทุกวันนี้เราเห็นการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบอกได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะเลือกพรรคที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตย ใครเป็นเผด็จการไม่ต้องไปเลือก


"เดี๋ยวนี้พวกเราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้แล้ว ต้องยกเลิกมาตรา 112 ขืนดันทุรังก็ยิ่งเสียหายมากขึ้น นี่คือความปรารถนาดีที่พวกเราผู้ใช้แรงงาน แนะนำด้วยความหวังดี ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ให้เข้ามาเข้าชื่อยกเลิกมาตรา 112" นางสาวธนพรกล่าว


ต่อมา นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า ปราศรัยว่า ตนมาที่นี่เพื่อยืนยันว่าการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง การบอกว่าการยึดถือประเพณีดีงามคือสิ่งที่ปฏิบัติมาโดยตลอด นั้น ตนมองว่าประเพณีอันดีงามคือการเคารพในประชาธิปไตย ประเพณีอันดีงามของเราคือการที่คนเคารพคนเท่ากับคน


การจะยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เป็นฉันทามติของประชาชน ในอดีตมาตรา 112 มีการปรับอัตราโทษให้สูงขึ้น นั่นเป็นฉันทามติของชนชั้นนำ แต่ปัจจุบันประชาชนลงฉันทามติแล้วว่าไม่เอามาตรา 112 เราไม่เอาการแก้ไข เราจะเอาการยกเลิก ปูน ทะลุฟ้า กล่าว


จากนั้นนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่' ปราศรัย ถึงโครงการจำนำข้าว ในรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนรัฐประหาร 2557 ว่า "ที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการรัฐประหาร โจมตีนโยบายจำนำข้าว แต่วันนี้ราคาข้าวเปลือกไม่ 6 บาทต่อกิโลกรัม ผู้สนับสนุนเหตุการณ์รัฐประหาร จะว่าอย่างไร เป็นคำถามที่ประชาชนจะได้สอนเกี่ยวกับการสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนแตกต่างกัน"


นายอรรถพล ยังได้กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการตีความการล้มล้างการปกครอง โดยยืนยันว่าการการออกมาเรียกร้องไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง และเรียกร้องพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำเพื่อประชาชน หากพรรคไหนไม่ทำ ขอร้องมวลชนอย่าเลือกเข้ามาทำหน้าที่ พร้อมทิ้งท้ายว่า "ยกเลิก 112" 


และบอกมวลชนว่าปีหน้าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎร  เพราะการชุมนุมครั้งแรกของปีหน้าจะเกิดขึ้นกลางเดือนมกราคม เริ่มจากที่ราบสูง เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ ถ.มิตรภาพ เข้าสู่ ถ.พหลโยธิน จึงขอให้มวลชนเตรียมตัวให้ดี


ทั้งนี้เพื่อผลักดันการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรียกร้องสิทธิการประกันตัวหรือปล่อยนักโทษการเมืองควบคู่กันไปด้วย 


หลังจากนั้น 20.00 น.  นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ได้นำครย.112 ขึ้นอ่านแถลงการณ์ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


โดยมีเนื้อหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ล้มเหลวต่อการบริหารสถานการณ์โควิด และใช้กำลังปราบปรามประชาชน เศรษฐกิจพังทลาย เกิดการว่างงาน ใช้จ่ายงบประมาณสิ้นเปลือง เช่น จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ บริหารราชการซ้ำซ้อน มีการทุจริตทุกระดับชั้น


ดังนั้น ทางกลุ่มจึงเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ


1. พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ ต้องออกไป

2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นของประชาชน

3. ปฏิรูปสถาบัน


เพื่อนำไปสู่หลักการให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร เนื่องจากมีผู้ถูกดำเนินคดีจาก ม.112 ถึง 162 คนพร้อมขอให้มวลชนโห่ร้องดัง ๆ ไปให้ถึงทำเนียบรัฐบาล และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ


ทางกลุ่มจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน และยกเลิกมาตรา 112 เรียกร้องทุกพรรคทำนโยบายส่งเสริมสิทธิเสริภาพ - ประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมเป็นวาระแห่งชาติ และต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


จากนั้นทั้งหมดได้ยกมือชู 3 นิ้ว ยืนยันข้อเรียกร้องดังกล่าว และประกาศว่าปัจจุบัน มีผู้เข้าชื่อขอยกเลิก ม.112 แล้ว จำนวนกว่า 2.3 แสนคน และขอเชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อให้ถึง 1 ล้านคน 


จากนั้น เป็นการแสดงดนตรีจากวงสามัญชน โดยพ่อของไผ่ ดาวดิน ร่วมร้องเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อด้วย จากนั้น 20.57 น. บอย ธัชพงศ์ กล่าวรายชื่อเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้พร้อมประกาศ ปีหน้า มกราเจอกันม็อบเบิ้ม ๆ ยืนยันในการต่อสู้ของพวกเราว่าถูกต้องแล้ว และประกาศยุติกิจกรรมคืนนี้ พร้อมเชิญชวนทุกคนไปร่วมกับพี่น้องชาวจะนะที่จะเคลื่อนจากUN ไปทำเนียบในวันพรุ่งนี้


#ม็อบ12ธันวา64

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์