วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ม็อบ #ส้นสูงส่งเสียง บุกทำเนียบ ชี้! งานบริการก็คืองาน เรียกร้องรัฐเยียวยาผลกระทบโควิด นำพัสดุบรรจุส้นสูงที่ถูกรัฐบาลตีกลับมาเปิดอ่าน

 


ม็อบ #ส้นสูงส่งเสียง บุกทำเนียบ ชี้! งานบริการก็คืองาน เรียกร้องรัฐเยียวยาผลกระทบโควิด  นำพัสดุบรรจุส้นสูงที่ถูกรัฐบาลตีกลับมาเปิดอ่าน

 

วันนี้  (22/12/64 ) เวลา 10.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพนักงานบริการจากหลากหลายจังหวัดอาทิ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, อุดรธานี, มุกดาหาร, ขลบุรี, ภูเก็ต, กระบี่, ประจวบคีรีขันธ์ เดินทางนำกล่องพัสดุที่บรรจุส้นสูงของตัวแทนพนักงานบริการหลากหลายจังหวัดที่ได้จัดส่งไปให้รัฐบาลพร้อมข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาพนักงานบริการ เนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการในสถานการณ์โควิด แต่กลับถูกรัฐบาลตีกลับทุกคู่ มาเปิดอ่านที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล  มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะตัวแทนพนักงานบริการอาบอบนวด กล่าวถึงที่มาที่ไปในในการจัดงานครั้งนี้ผ่านจดหมายเปิดผนึกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 426 วัน ที่รัฐบาลสั่งปิดสถานบริการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พนักงานบริการได้เรียกร้องกับรัฐบาลมาโดยตลอด ครั้งแรกเราส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลในวันที่ 20 เมษายน 2564 และยื่นหนังสือสอบถามอีกครั้งในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดย เรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการและคนทำงานในสถานบริการทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือรายครั้ง คนทำงานอิสระและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ 

 

แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยไม่มีการเยียวยาใด ๆ พนักงานบริการได้รับการเยียวยาอยู่เพียง 90 วันในโควิดระลอกแรกจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท เห็นชัดว่าว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ ทิ้งกลุ่มคนทำงานบริการภาคกลางคืนไว้ข้างหลัง ตั้งแต่ระลอกที่ 2-3 รัฐบาลยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน มีเพียงเงื่อนไขเลื่อนลอย ต้องมีประกันสังคม ต้องได้รับการรับรองจากสมาคมฯ ยิ่งสร้างกำแพงการเข้าถึงการเยียวยา

 

โควิดส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้สถานบริการขนาดกลางและขนาดเล็กต้องปิดตัวลง พนักงานถูกให้ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง บางมาตรการก็เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะพนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคมมีถึง 90% และพนักงานบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือชาติพันธุ์

 

ในการแพร่ระบาดโควิด19 ปัจจุบัน รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการต่อเนื่องออกไปอีกจนถึง 16 มกราคม 2565 พนักงานบริการที่มีความหวังว่าจะได้กลับมาทำงาน ต้องประสบปัญหาเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่กำลังเตรียมตัวกลับมาทำงาน เงินเก็บได้หมดไปนานแล้ว หนี้สินเพิ่มขึ้น ทางออกไม่มี ไม่ได้รับการเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อพนักงานบริการ การหางานใหม่เป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่พนักงานบริการต้องออกมาเรียกร้องด้วยตนเอง เนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธไม่รับพัสดุส้นสูงที่มีข้อเรียกร้องของพวกเรา ดังนั้นเราจึงต้องมาพูดความลำบากด้วยเสียงของตนเอง กิจกรรมอ่านข้อความบนส้นสูงส่งเสียง ของพนักงานบริการให้รัฐบาลฟังจนกว่ารัฐบาลจะได้ยิน รับรู้ และเร่งการเยียวยาให้กับพนักงานบริการ หนังสือฉบับนี้ยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิมให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเยียวยาให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วนและมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ มีตัวแทนจากรัฐบาลออกมารับหนังสือข้อเรียกร้อง พร้อมย้ำว่านายกฯ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคนทุกสาขาอาชีพ และจะนำหนังสือข้อเรียกร้องของพี่น้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป

 

ด้านอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าส่วนตัวรู้สึกชื่นชม Empower ในความพยายามปกป้องสิทธิของพนักงานบริการ เพราะที่ผ่านมาพนักงานบริการถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี อีกทั้งยังได้รับการดูถูกจากสังคม เหมือนเป็นงานชั้นต่ำ และไม่มีที่ยืนในสังคมเช่นเดียวกับคนทำงานในอาชีพอื่น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ Empower ท้อถอย ในทางกลับกัน Empower ได้พัฒนาตนเองทั้งความรู้และการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อให้คนในสังคมตระหนักและยอมรับว่า "งานบริการคืองาน" ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับงานประเภทอื่น เพราะเป็นงานที่สร้างรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว รวมถึงเป็นการนำรายได้มาสู่รัฐผ่านระบบภาษีเช่นเดียวกับงานทั่วไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

สำหรับการเยียวยาของรัฐที่ยังเป็นปัญหากับพนักงานบริการนั้น อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า รัฐไม่ได้มองว่า "งานบริการคืองาน" เช่นเดียวกับงานอื่น ๆ ในทางกลับกันรัฐยังมองว่างานบริการเป็นความผิดตามกฎหมาย เป็นเรื่องน่าละอาย และมองว่างานบริการเป็นงานที่เสื่อมเสียเกียรติ หรือขัดต่อศีลธรรม ทำให้พนักงานบริการถูกกีดกันออกจากระบบหลักประกันการทำงานต่าง ๆ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ เช่น สิทธิในหลักประกันสังคม ในกรณีต้องตกงาน หรือขาดรายได้ หรือเจ็บป่วย หรืออยู่ในภาวะไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ที่เห็นได้ชัดเจน เช่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ COVID 19 เมื่อสถานบริการถูกปิด ทำให้พนักงานบริการไม่มีรายได้ และไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการขาดรายได้เช่นเดียวกับคนทำงานทั่วไป แม้จะมีการเรียกร้องต่อรัฐ แต่รัฐบาลไม่เคยมีท่าทีตอบรับ หรือให้หลักประกันเพื่อให้พนักงานบริการได้รับการเยียวยาที่เท่าเทียมกับผู้ทำงานด้านอื่น ที่ผ่านมาพนักงานบริการจึงเป็นกลุ่มคนทำงานที่ถูกทอดทิ้งให้เผชิญความยากลำบากแต่เพียงลำพัง

 

"รัฐบาลควรปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาและสวัสดิการจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้รัฐบาลควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาชาติ (CEDAW) และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในการทำงานและป้องกันการแสวงประโยชน์จากพนักงานบริการในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งเพื่อให้พนักงานบริการผู้ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความเปราะบางสามารถมีชีวิตในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง" นางอังคณาระบุ

 

#ส้นสูงส่งเสียง #ม็อบ22ธันวา64

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์