วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : : สิ่งที่อาจารย์ธิดาอยากฝากต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนต่อสู้เพื่ออนาคต เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคนไทยทุกคนมีอะไรบ้าง? : จากคลับเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564

 


ถอดการตอบคำถามของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน clubhouse ของกลุ่ม Social Recap เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ถาม อาจารย์ธิดาตอบ ทุกเรื่องราวที่เด็ก ๆ อยากรู้"

 

คำถาม : สิ่งที่อาจารย์ธิดาอยากฝากต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนต่อสู้เพื่ออนาคต เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคนไทยทุกคนมีอะไรบ้าง?

 

อาจารย์ก็จะมองว่าเอาหลักที่เป็นจุดอ่อนของปัญญาชนในอดีตมาให้เขาได้มีโอกาสปรับตัว คือการต่อสู้ทางการเมืองการปกครองมันจะมีลักษณะยืดเยื้อ มันไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเรื่องย่อยที่มันจะประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน สมมุติว่ามีข้อเรียกร้องประยุทธ์ออกไป แล้วประยุทธ์ออกไป ถามว่าชนะจริงมั้ย ไม่ชนะจริงหรอก เพราะฉะนั้นการต่อสู้ทางการเมืองมันยืดเยื้อคือว่าทำอย่างไรเราจะให้ประชาชนได้มีอำนาจและก็ได้ชื่อว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยจริง ก็คืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริง อันนี้มันยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใครเราพบว่ามันกินเวลายาวนานมาก เพราะว่าอำนาจของพวกจารีตนิยมมันฝังอยู่มาเป็นพัน ๆ ปี แล้วก็สร้างเครือข่ายเอาไว้ สร้างวัฒนธรรม จนกระทั่งประชาชนคนรุ่นก่อนก็ยังเชื่อแบบนั้น

 

ก็คือทางความคิดมันยังถูกสิ่งที่มาเป็นพัน ๆ ปีครอบอยู่ เพราะฉะนั้นการต่อสู้มันไม่สำเร็จข้ามคืน จึงฝากว่าต้องอดทนนะ และต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างที่อาจารย์บอกว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ก็คือต้องคิดอย่างมีภววิสัย แล้วก็ต้องมียุทธศาสตร์ถูกต้อง

 

อีกอันหนึ่งก็คืออยากฝากอันที่สองก็คือตรงข้ออ่อนของ โดยทางทฤษฎีนะ ก็คืออยากให้กลุ่มแกนนำและปัญญาชนทั้งหลายคือไม่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ไม่ดูถูกเหยียดหยามมวลชน แนวร่วม คือต้องถ่อมตัวเอง ไม่ต้องคิดว่าแม้กระทั่งเรารู้ว่าเราคิดถึงแล้วเขาคิดไม่ถูก แต่เราก็ต้องถ่อมตัวแล้วก็แสวงจุดร่วม ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ เขาเข้าใจได้แค่ไหน แล้วก็ไม่โดดเดี่ยวตัวเอง เป็นผู้ถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมด เพราะว่าอันนี้ก็จะเป็นข้ออ่อนทางหลักการ ซึ่งมักจะเป็น คืออยากเรียกร้องให้เราเป็นเหมือนเม็ดทราย มีทัศนะและยกย่องมวลชน และแนวร่วมต่าง ๆ นี่ต้องขอบคุณเขา ไม่ใช่ว่าพรรคโน้น พรรคนี้ทำได้แค่นี้ หรืออะไรอย่างนี้

 

นี่อาจารย์ไม่ได้มาพูดเพราะว่าเป็นช่องนี้นะ อาจารย์ก็คิดอย่างนี้ อาจารย์เคยบอกว่าติ่งทั้งหลายไม่คิดกันเหรอว่าพอเอาเข้าจริง ๆ มันต้องร่วมกันอยู่เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านนั่นแหละ คุณจะเอาประชาธิปัตย์มาร่วมด้วยหรือ? มันเป็นไปไม่ได้ นี่ยกตัวอย่าง ภูมิใจไทยก็ยังไม่รู้เลย เพราะฝั่งที่อยู่ปีกรัฐบาลเขาก็ต้องร่วมกัน นี่พูดในส่วนพรรคการเมืองนะ แต่ในส่วนของนักต่อสู้ก็เหมือนกัน เพราะว่ากองเชียร์และมวลชนก็คือถ้าไปดูถูกเหยียดหยามว่าไม่ก้าวหน้าจริง อาจารย์ว่ามันทำให้การต่อสู้และพลกำลังในการต่อสู้มันอ่อน คือไม่ทันไรก็ดูถูกเหยียดหยามแล้วก็ต่อว่ากัน อันนั้นในส่วนที่เรียกว่าคือปฏิบัติต่อมิตรกับปฏิบัติต่อศัตรูต้องแตกต่างกัน มันต้องจำแนกมิตร จำแนกศัตรูอย่างที่อาจารย์พูดมาแล้ว ต่อศัตรูเราต้องกล้าเผชิญและสู้อย่างองอาจกล้าหาญ แต่กับมิตรไม่ใช่เอาวิธีการเดียวที่ใช้กับศัตรูมาใช้กับมิตร อันนี้อยากฝากเอาไว้นะ

 

อีกอันหนึ่งก็คือ การมีปัญหาในความสำเร็จ ยินดีในความสำเร็จและปัญหาช่วงชิงการนำแล้วก็วีรชนเอกชน อันนี้อาจารย์ว่าให้ระมัดระวังด้วย ก็คือให้มีหลักการร่วม กัน แยกกันทำงานได้ไม่เป็นไร แต่ว่าไม่จำเป็นต้องถึงขนาดช่วงชิงการนำ เพราะว่าเราอยู่ในสภาพที่ถูกกระทำมากกว่า ต้องคิดว่ามันก็ดีที่มีคนหลายส่วนมาช่วยกันทำ เพราะว่ายากลำบากกันทั้งหมด อาจารย์ก็จะฝากไว้ประมาณนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่เขาก็ทำได้ดีแล้ว เรามองว่าการต่อสู้ยืดเยื้อยาวไกล เราต้องอาศัยมวลชน อาศัยแนวร่วมมาก ถ้าหากว่าปฏิบัติแยกมิตร แยกศัตรูไม่ถูก ปฏิบัติต่อมิตรแบบศัตรู และปฏิบัติต่อศัตรูแบบมิตร มันก็จะเสีย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องช่วงชิงการนำ เพราะว่าเรากำลังถูกพวกเขาคือเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ มันช่วงชิงให้พวกเราเป็นฝ่ายถูกกระทำหนักหน่วงมากกว่า เพราะฉะนั้นปัญหานี้ก็คงน่าจะลดน้อยลง

 

แต่ก็ขอชมว่าส่วนใหญ่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ว่าที่อาจารย์พูดก็เป็นแต่เพียงเอาประสบการณ์ที่ผ่านการต่อสู้ทุกรูปแบบมาสำหรับอาจารย์ก็มาพูดเพิ่มเติมก็แค่นั้นเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์จะพูดได้ครบถ้วนดีทั้งหมดหรือว่าถูกทั้งหมด แต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างถ้าหากว่านำเอาไปใช้ค่ะ

 

#ธิดาถาวรเศรษฐ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์