วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : มวลชนและแนวร่วมสำคัญเสมอ จริงหรือไม่? : จากคลับเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564

 


ถอดการตอบคำถามของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ใน clubhouse ของกลุ่ม Social Recap เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ถาม อาจารย์ธิดาตอบ ทุกเรื่องราวที่เด็ก ๆ อยากรู้"

 

คำถาม : มวลชนและแนวร่วมสำคัญเสมอ จริงหรือไม่?

 

สำคัญที่สุด ก็คืออย่างที่บอก คุณมีแต่แกนนำแต่คุณไม่มีมวลชน แล้วมันจะไปรอดได้ไง มวลชนและแนวร่วมสำคัญที่สุดเลย เพราะว่าถ้าคุณมีแต่แกนนำ กระทั่งมีผู้ปฏิบัติงาน เวลาคุณไปชุมนุมทีหนึ่งก็มีอยู่ 10 กว่าคน 20 กว่าคนนั่นแหละ อันนั้นเราจะเห็นในพวกกลุ่มย่อยซึ่งบางครั้งก็แตกมาจากกลุ่มใหญ่ อย่างสมัยหลัง 14ตุลา เราจะเห็นเยอะเลย ก็คือมีแต่แกนนำ เวลาไปเซ็นชื่อนี่เข้าแถวเลย องค์กรประชาธิปไตย 50 องค์กร 60 องค์กร แต่ไม่มีมวลชน ขับเคลื่อนไม่ได้ และเมื่อตอน 14ตุลา ตอนแรกมันเป็นองค์กรที่มีเอกภาพคือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่ว่าชุดความคิดและชุดการนำมีปัญหา แต่ว่ามันมีมวลชนไง แล้วก็มีแนวร่วมมาก มันจึงสามารถเป็นขบวนใหญ่ได้ ถ้าไม่มีนะ คุณก็จะเห็นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ แล้วก็ขาดพลัง

 

เพราะฉะนั้นถ้าจะมีมวลชนและแนวร่วม ถ้ามีมวลชนคุณต้องมีทัศนะมวลชน ทัศนะมวลชนเป็นศัพท์ทางทฤษฎี ความหมายก็คือ คุณต้องเข้าใจและมองเห็นศักยภาพของมวลชน ไม่ใช่คุณเอาแต่ความคิดของตัวเอง ดูถูกดูหมิ่น แล้วก็ทำตัวเป็นเหมือนกับอีกชนชั้นหนึ่ง เป็นชนชั้นนำ มวลชนก็ไม่สนใจ คือไม่มีทัศนะมวลชน มวลชนมันจะมีได้มากนอกจากการขึ้นเวทีปราศรัยแล้ว มันก็ต้องมีการจัดตั้งด้วย เพราะฉะนั้นทัศนะมวลชนจะต้องเป็นคนที่ถ่อมตัว ไม่ดูถูก ไม่เหยียดหยามว่าอันนี้ไม่ก้าวหน้า อะไรอย่างนี้ แล้วก็ต้องหมั่นที่จะรับฟังความคิดเห็นจากมวลชน คือต้องเข้าไปอยู่ร่วมด้วยกันและต้องคุยด้วยกัน ไม่ใช่ทำตัวเป็นชนชั้นผู้ปราศรัย หรือชนชั้นแกนนำในความคิดของอาจารย์นะ ไม่งั้นคุณขยายไม่ได้

 

แนวร่วมก็เหมือนกัน คุณก็ต้องเข้าใจว่า เหมือนเราจะไป 100 เขามาได้ 50 แต่ว่าอยู่ในทางเดียวกันนะ เราก็โอเคไง แต่สมมุติว่าเขามาทางเรา 30 แล้วไปทางอื่น 70 เออ! อันนี้มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าความคิดเขาคือเขามาทางเราหมดนี่แหละ แต่เขามีศักยภาพมาได้แค่นี้ ก็คือมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง เราก็ต้องทำงานทางความคิด หมายความว่าทางความคิดทางสังคมนะ ไม่ใช่ความคิดบุคคล ต้องทำงานทางความคิดอะไรต่าง ๆ แล้วก็แลกเปลี่ยน อันนี้แหละ เพราะฉะนั้นสำคัญมาก ไม่งั้นก็มีแต่แกนนำ ไม่งั้นก็มีแต่กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย และนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ตอน 14ตุลา มันกลายมาเป็นโศกนาฏกรรม 6ตุลา ในทัศนะอาจารย์นะ อาจารย์อยู่ในยุคนั้นพอดี ก็คือต่างคนต่างแยกกันไปทำ แล้วก็อยากจะทำงานมวลชนนะตอนนั้น ความคิดซ้ายน่ะมี ลงไปอยู่ในโรงงาน ไปอยู่ในชาวนาชาวไร่ แต่ว่าจริง ๆ ก็คือยังไม่มีทัศนะมวลชนที่ถูกต้อง พูดง่าย ๆ ว่าต้องไม่ดูถูกเหยียดหยาม แล้วต้องเห็นคุณค่าเขา คุณต้องให้เกียรติประชาชน แต่จริง ๆ ถ้างานอย่างนี้พวกส.ส.เขาจะเก่งนะ เขาต้องมีทัศนะมวลชน ไม่อย่างนั้นเขาก็หาเสียงไม่ได้ แต่ในการต่อสู้ก็ต้องเป็นแบบนั้นด้วย แล้วก็อย่างแนวร่วมก็อย่างที่บอก “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” นั่นแหละ ก็คือเข้าร่วมได้แค่ไหนก็เป็นได้แค่นั้น

 

สมมุติอาจารย์อยากทำการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ประเทศก้าวหน้า พรรคการเมือง หรือนักการเมือง หรือกลุ่มบางกลุ่ม เขาร่วมกับเราได้แค่ไหน เราก็ไม่ควรต้องไปว่าเขา ก็คือไม่ไปว่าเขาว่าไม่ก้าวหน้าหรืออะไร เราต้องยอมรับความจริงว่ามีขีดจำกัดของแต่ละคน จะให้เขามาทำหรือคิดเต็มที่แบบเรามันไม่ได้ อันนี้คือเรื่องมวลชนกับแนวร่วมนะ ก็คือถ่อมตัว อดทน มีทัศนะมวลชน ให้เกียรติมวลชน

 

#ธิดาถาวรเศรษฐ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์