วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

คณาจารย์จากคนส. ทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อ่านจดหมายถึงลูกศิษย์ที่ถูกจำขังระหว่างพิจารณาคดี ให้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว ชวนจับตาพรุ่งนี้ถอนประกัน “รุ้ง ปนัสยา”

 


คณาจารย์จากคนส. ทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อ่านจดหมายถึงลูกศิษย์ที่ถูกจำขังระหว่างพิจารณาคดี ให้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว ชวนจับตาพรุ่งนี้ถอนประกัน “รุ้ง ปนัสยา”

 

วันนี้ (2 พ.ย. 64) เวลา 10.00 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ คณาจารย์จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.ยุกติ มุกดาสนิท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์ของ ไผ่ ดาวดิน)

 

ได้เดินทางมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อทำกิจกรรม “จดหมายถึงนักโทษทางความคิด เขียนเพื่อความยุติธรรม” โดยไปร่วมอ่านและส่งจดหมายถึงนักโทษทางความคิด ผ่านทางทนายความเพื่อส่งไปถึงเยาวชนและประชาชนที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทางการเมืองและไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัวอยู่ขณะนี้

 

โดย อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่คนส.ได้เดินจากธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาเพื่อร่วมยืนหยุดขังเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองหรือผู้ต้องหาทางความคิด วันนี้เราได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องก็คือเราได้รณรงค์ขอให้พี่น้องประชาชน อาจารย์และเพื่อนนักศึกษา เขียนจดหมายถึงเยาวชน-ประชาชนที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกคุมขังและควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ในขณะนี้ โดยมีประชาชน นักศึกษาและอาจารย์ส่งจดหมายมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการนำร่อง หลังจากนี้เราอยากจะเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจสามารถส่งจดหมายมาได้เรื่อย ๆ และจะมีการรวบรวมนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังทุกคนในเรือนจำ ที่สำคัญคือเป็นกำลังใจอย่างยิ่งสำหรับพวกเขา

 

วันนี้ที่เรามาวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อย้ำเตือนให้สังคมอย่าลืมว่าตอนนี้ยังมีนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด ที่ถูกจองจำอยู่ในคุกจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม, ความถดถอยของประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย และจะขออนุญาตเลือกอ่านจดหมายจำนวนหนึ่งทั้งของคณาจารย์ กวีและของนักศึกษา ซึ่งคงไม่สามารถอ่านทั้งหมดได้ อ.ประจักษ์ กล่าว

 

จดหมายจาก ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านโดย อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

“ถึงผู้ต้องขังภายใต้ความอยุติธรรมทุกท่าน

 

กระบวนการยุติธรรมที่เหลือแต่รูปแบบ อาญาสิทธิ์ที่เหลือแต่รูปแบบ ความเคารพสักการะที่เหลือที่รูปแบบ ความเท่าเทียมในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เหลือแต่รูปแบบ อุดมคติทางสังคมที่เหลือแต่รูปแบบ ระบบที่ขาดเนื้อหาอันเป็นที่ยอมรับเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไรยากจะทำนาย แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือระบบเช่นนี้ต้องจบลงในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

 

ท่านทุกคนเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญเสียด้วยในการทำให้ความกลวงของระบบเป็นที่ประจักษ์ชัดจนเกิดอาการตาสว่างอย่างกว้างขวางในสังคม ดังที่ท่านทราบอยู่แล้วว่าพวกเราที่อยู่ข้างนอกพยายามเคลื่อนไหวเท่าที่จะทำได้ในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความกลวงของระบบให้ผู้คนตื่นตัวอย่างทั่วถึง อันจะเป็นผลให้ระบบยุบแฟบลงด้วยความกลวงของตัวมันเอง

 

ขอเคารพและขอบคุณอย่างยิ่งในความกล้าหาญและเสียสละของทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ แล้วเราจะได้พบกันข้างนอกในเวลาอีกไม่นาน”

 

จดหมายจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“จดหมายถึงเพนกวินและมิตรสหายที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อนิติธรรม และเพื่อนิติรัฐ

 

ผมเขียนจดหมายนี้มาด้วยความรู้สึกระคนกัน ด้านหนึ่งก็ด้วยความภาคภูมิใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ด้วยความเศร้าใจและความละอายแก่ใจ

 

ที่ภาคภูมิใจก็คือผมไม่คิดว่าจะได้เห็นคนรุ่นใหม่ ๆ อย่างรุ่นของคุณจะกล้าหาญชาญชัยที่จะก้าวออกมาเรียกร้องและแสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในการที่จะดำรงไว้และการใช้กฎหมาย ม.112 อย่างชนิดที่ผิดหลักการของนิติธรรมและของนิติรัฐ ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นในช่วงระยะเวลาของชีวิตอันเหลืออยู่น้องลงทุกวัน แต่ก็ได้เห็นแล้วว่าคนรุ่นของคุณได้สืบทอดมรดกของความกล้าหาญและจิตใจอันแน่วแน่ที่จะเจริญรอยตามต่อจากบรรพชนทั้งรุ่นร.ศ.130 รุ่นพ.ศ. 2475 รุ่นตุลา2516 และ 2519 รุ่นพฤษภา2535 และพฤษภา2553

 

แต่ที่เศร้าใจและละอายใจก็คือการที่ทั้งตัวบุคคลและทั้งสถาบัน กับทั้งเครือข่ายของรัฐข้าราชการทหาร ตำรวจ ตุลาการ ที่คุมอำนาจรัฐไทยอยู่ในขณะนี้ กระทำการทั้งปราบปราม ทำร้ายและทำลายชีวิตพวกคุณอย่างไร้มนุษยธรรม มีทั้งจับกุมคุมขังพวกคุณ กระทำการดำเนินคดีความโดยไม่ยึดถือตามหลักการของนิติธรรมและนิติรัฐแต่อย่างใด ผมเศร้าใจและละอายใจที่บุคคลและหรือตัวแทนของสถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เรียนจบไปจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่เล่าเรียนกันของบรรดาพวกเรากันเอง ผมทั้งละอายใจและขายหน้าที่บุคคลที่ได้รับการศึกษาสูงเช่นนี้สามารถจะกระทำการที่ต่ำช้าและขัดต่อจิตวิญญาณประชาธิปไตย ขัดกับหลักการทางวิชาการนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ได้ถึงเพียงนี้”

 

จดหมายจาก ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านโดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“เยาวมิตรที่รัก

 

ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์ ผมต้องบอกแก่เยาวมิตรทุกท่านว่า ความกล้าหาญและเจตนาบริสุทธิ์ที่ปรารถนาเสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่สังคมไทย เป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ตลอดกาล การเสียสละและอุทิศตนเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความอยุติธรรมของโครงสร้างที่กดทับผู้คนมาเป็นเวลาช้านานคืออุดมคติที่สำคัญยิ่งของหมู่มวลมนุษยชาติ

 

แม้ในวันนี้ความมืดมนอนธการจะครอบคลุมไปทั่วทุกแห่งหน ความเจ็บปวดและความเคลือบแคลงสงสัยต่ออนาคตจะกัดเซาะทุกอณูในหัวใจของเหล่าผู้โหยหาเสรีภาพ แต่สิ่งที่เยาวมิตรได้อุทิศตนเองเพื่อสามัญชนทุกหมู่เหล่า จะทำให้ความสว่างไสวแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคจะปรากฎขึ้นในไม่นาน

 

ศรัทธาและเชื่อมั่น”

 

บทกวีจาก ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ซี่กรงแข็งแกร่งสุดผุหลุดร่วง

ความไม่รู้ทั้งปวงทะลวงฝ่า

ใจร้อนลวกแลเห็นสุดเย็นชา

ความคิดโลดทะลุฟ้าท้าอธรรม

 

เหลือแต่เพียงซี่กรงแห่งความกลัว

ขังได้ก็แต่ตัวคนต้อยต่ำ

สนิมเกรอะกร่อนเซาะเพราะบาปกรรม

มือขยำเขย่าแยกแหกลูกกรง”

 

จดหมายจาก อาจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านโดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาสนิท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ถึงเพื่อนทุกคน

 

แม้กระทั่งนาทีที่เขียนจดหมายฉบับนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงมากกว่าเดิม ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในโลกข้างนอกอาจจะชวนให้เห็นแต่ความหดหู่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่กระทำกันมาจะเป็นสิ่งที่ล้มเหลวหรือน่าผิดหวัง ตรงกันข้าม หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน คงมีน้อยคนที่จะเชื่อว่าเราจะได้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ การท้าทายต่ออำนาจอนุรักษ์นิยมและชนชั้นนำเกิดขึ้นอย่างเปิดเผยแผ่กว้าง และนับวันจะกระจายออกไปมากขึ้น

 

ผมยังคงเชื่อว่าอีกไม่นานในวันหนึ่งข้างหน้า เราทุกคนจะได้มีโอกาสมองย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน พร้อมกับความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกสังคมไทยให้เปลี่ยนไปอย่างไพศาล ในแบบที่จะไม่หวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก

 

ขอแสดงความนับถือที่เป็นการนับถือจริง ๆ”

 

จดหมายจากอาจารย์เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ่านโดย อาจารย์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“สวัสดีค่ะทุกคน

 

ไม่รู้จะพูดอะไร จะบอกอะไร จะให้กำลังใจก็คงได้ยินจนเบื่อ จนมันไม่มีความหมายอะไรแล้ว แค่อยากบอกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ เรายังมีลมหายใจ ยังไม่สิ้นหวัง ให้ทุกคนรู้ว่าไม่ได้สู้ตามลำพัง ทั้งคนข้างในและข้างนอก Dream on

 

จดหมายจาก ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์ของ ไผ่ ดาวดิน) เขียนถึงไผ่ ดาวดิน

 

“หากมีใครสักคนที่รักแผ่นดินถิ่นอีสานอย่างสุดหัวใจ “ไผ่” เป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน ไผ่ ดาวดิน ชื่อที่เราได้ยินมานานก่อนจะได้เจอกันในห้องเรียนที่มหิดล ศาลายา เมื่อแรกพบเราไม่สงสัยเลย ทำไมคุณถึงเป็นขวัญใจชาวบ้าน เพราะจิตวิญญาณที่ชัดเจนเรื่องความเป็นธรรม และการเห็นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนเสมอกันนั่นเอง คุณต่างหากที่เป็นครูสอนเรา ไผ่ คุณต่างหากที่เป็นครูสอนเรา ขอให้เราได้พบกันในเร็ววันที่ห้องเรียนนะไผ่”

 

จดหมายจาก ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์ของ ไผ่ ดาวดิน) เขียนถึง เบนจา อะปัญ

 

“คุณเบนจา อะปัญ เราอาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ความเป็นธรรมที่เราต่างถวิลหาชักนำให้เรารู้จักคุณ และประทับใจในความฉลาดเฉลียวมุ่งมั่นกล้าหาญและช่างมีคุณธรรมสูงส่ง ขอให้คุณรักษาความมุ่งมั่นตั้งใจดีไว้ รักษาความฝันไว้ วันหนึ่งจะเป็นของคุณอย่างเต็มภาคภูมิ”

 

จดหมายจาก รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อ่านโดย ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

 

“ถึงนักต่อสู้ที่เคารพทุกท่าน

 

“เพนกวิน-เบนจา-ไผ่-อานนท์-ทวี-ไมค์-ชิติพัทธ์-จักรี-นวพล- นางฮวด (นามสมมุติ)-วชิรวิชญ์-ปวริศ-ไพฑูรย์-สุขสันต์-นฤเบศร์-พิชัย-จิตรกร-คเชนทร์-ขจรศักดิ์-ทรงพล-พรพจน์-ป๋าเจมส์-พิพัฒน์-อนันต์-ณรงศักดิ์-ยุรนันท์และแซม สาแมท”

 

อ่านรายชื่อทุกคนเพื่อให้ทุกคนจำไว้ว่าเยาวชนเหล่านี้เขายังมีชีวิตอยู่ และเขากำลังถูกคุมขังด้วยความอยุติธรรม

 

ณ วันนี้น้อง ๆ คงได้เห็นแล้วว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศนี้ไม่เคยเห็นหัวประชาชน แม้ว่าประเทศไทยจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินไปสู่ระบอบรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 แต่พวกเขาก็ยังไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจการปกครองให้กับประชาชน สิทธิและเสรีภาพมีไว้ให้กับคนที่ยินยอมสวามิภักดิ์ให้กับอุดมการณ์ของพวกเขาเท่านั้น แต่สำหรับคนคิดต่าง คนที่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเช่นพวกคุณ ก็ต้องเผชิญชะตากรรมแบบที่พวกคุณได้รับในขณะนี้

 

วันนี้ (31 ต.ค. 64) ที่แยกราชประสงค์ เยาวชนหลายกลุ่มร่วมกันจัดการรณรงค์ราษฎรประสงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 แม้ว่าประชาชนจะรู้อยู่เต็มอกว่าพวกเขาก็คงไม่ฟังอีกเช่นเคย แต่ประชาชนก็จะไม่หยุดแสดงออกซึ่งสิทธิและศักดิ์ของความเป็นประชาชนในประเทศนี้

 

เราหวังว่าเสียงที่ดังมากขึ้น ๆ ทุกวันนี้จะทำให้พวกเขาสั่นสะเทือนจนไม่อาจดื้อด้านนิ่งดูดายได้อีกต่อไป เรารู้ว่าพวกคุณอยากออกมาร่วมรณรงค์ราษฎรประสงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 กับเพื่อน ๆ พวกเราก็อยากให้พวกคุณออกมาร่วมงานเหลือเกิน แต่ไม่เป็นไรนะ เพื่อน ๆ ข้างนอกจะทำไปก่อน เราจะช่วยกันผลักดันให้สังคมไทยหลุดพ้นจากกรงขังมาตรา 112 พร้อม ๆ ไปกับเสียงเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเราจากคุกอันโสมมของพวกขุนศึกศักดินา

 

คนข้างนอกเป็นห่วงและคิดคำนึงถึงพวกคุณเสมอ เรารู้ว่ามันยากมาก ๆ แต่ก็หวังว่าพวกคุณจะดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้เข้มแข็งให้มากที่สุด ถนนสายปรารถนานี้ยังอีกยาวไกลและยากเหลือเกิน

 

ด้วยรักและศรัทธา”

 

บทกวีของคุณศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นกวีนักเขียนรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปี 2550 อ่านโดย อาจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ชื่อบทกวี “พวกเขากล้าหาญที่จะถูกจองจำ เพื่อให้ข้อเท้าเราเริงรำโดยอิสระ”

 

“พวกเขากล้าหาญที่จะถูกจองจำ เพื่อให้ข้อเท้าเราเริงรำโดยอิสระ

จึงนอกทัณฑสถานคือพันธะ คือภาระของพวกเรา

จงมารวมร่วมกันส่งเสียง มิใช่เพียงโถมถามความโง่เขลา

ออกมาจากความมอดไหม้ขับไล่เงา ทั้งเติบใหญ่ทั้งวัยเยาว์ร่วมเคล้าคละ

 

พวกเขากล้าหาญที่จะถูกจองจำ เพื่อให้ข้อเท้าอื่นเริงรำโดยอิสระ

จึงนอกทัณฑสถานคือพันธะ คือภาระของพวกเรา

จงมารวมร่วมกันส่งเสียง มิใช่เพียงปลดโซ่ตรวนให้พวกเขา

ดูซิ ตัวล่องหนบนข้อเท้าเรา จงเขย่าทายท้าอนารย

ดูซิ ตัวล่องหนบนข้อเท้าเรา จงเขย่าเปิดขอบฟ้าอนาคต

ดูซิ โซ่ตรวนล่องหนบนข้อเท้าเรา จงเขย่าเปิดฟ้าอารย”

 

นอกจากนี้ยังมีการอ่านจดหมายจากเพื่อน ๆ อีกหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเพื่อนนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มป๋วยก้าวหน้า กลุ่มแสงโดม เป็นต้น

 

อาจารย์บุญเลิศ กล่าวเสริมว่า วันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) ที่ศาลอาญา รัชดา จะมีการไต่สวนคำร้องขอถอดประกัน หนึ่งในนั้นจะมี รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นคดีการชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. 63 ซึ่งในคดีเดียวกันนี้ “อานนท์-เพนกวิน” ได้ถูกถอนประกัน ขอให้ช่วยกันจับตาดูวันพรุ่งนี้ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะถอดประกันรุ้ง และพรุ่งนี้ก็จะมีนักศึกษาไปทำกิจกรรมให้กำลังใจรุ้งในตอนเช้าด้วย

 

ต่อมา อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า จากกระแสสังคมตอนนี้สะท้อนว่าสังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะไม่พูดถึงกฎหมายมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะว่าการใช้กฎหมาย 112 ในยุคปัจจุบันชี้ให้เห็นช่องโหว่ของกฎหมายอย่างมากมาย จริง ๆ แล้วในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ประชาชนโดยดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ไม่มียุคไหนที่ใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อขนาดนี้ ใช้อย่างเหวี่ยงแหโดยไม่ได้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย

 

ถ้าเปรียบกับต่างประเทศกฎหมายมาตรา 112 คือกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐ ในโลกส่วนใหญ่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างในยุโรป อังกฤษ หรือญี่ปุ่น กฎหมายนี้แม้จะมีอยู่ แต่โทษเบามาก และในการใช้จริงแทบไม่มีการนำมาใช้อีกแล้ว ไม่มีการจับกุมคุมขังเอาคนไปติดคุกเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

 

ผมคิดว่ามาตรา 112 ซึ่งจริง ๆ แล้วโทษที่หนักขนาดนี้เป็นผลพวงจากยุคสมัยเผด็จการหลัง 6ตุลา2519 ที่มีการสังหารหมู่ประชาชน แล้วก็มาเพิ่มโทษความผิดให้จำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ฉะนั้นกฎหมายที่เป็นผลพวงจากระบอบเผด็จการในอดีตก็ถึงเวลาที่จะถูกทบทวนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเราเห็นว่าลักษณะการใช้กฎหมายนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องประมุขของรัฐเท่ากับการปกป้องรัฐบาลและผู้มีอำนาจจากการถูกตรวจสอบ

 

สังคมไทยที่ไม่สงบมาตลอด 2 ทศวรรษก็คือปัญหาเรื่อง 2 มาตรฐานที่ประชาชนรู้สึกว่ากฎหมายถูกใช้อย่างไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม ไม่มีสังคมไหนสามารถออกจากความขัดแย้งได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนทุกฝ่าย ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่นักศึกษาประชาชนที่ออกมาต่อสู้ถูกทำลายสิทธิเสรีภาพเท่านั้น กระบวนการยุติธรรมกำลังถูกทำลายลงไปทุกวันจากการใช้กฎหมายที่เต็มไปด้วยข้อกังขา

 

เราเชื่อว่ามีตุลาการมีผู้พิพากษาที่มีใจเป็นธรรมเที่ยงตรงต่อหลักวิชาอีกมากมาย อยากเรียกร้องให้ออกมาพิทักษ์ความยุติธรรมและฟื้นฟูเกียรติของสถาบันของตนเอง กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

 

ประเด็นเยาวชนเรียกร้องให้ยกเลิก 112 นั้น สำหรับ คนส. คิดว่าอย่างน้อยกฎหมายนี้ควรได้รับการแก้ไข อยากให้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการถกเถียงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือสื่อมวลชน หรือในสภาดังที่พรรคการเมืองบางพรรคได้เสนอแล้ว เป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่เวทีรัฐสภาจะมีการถกเถียงและทบทวนลักษณะการใช้และปัญหาช่องโหว่ต่าง ๆ ซึ่งก็มีอยู่มากมายจริง ๆ เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้เพื่อที่เราจะได้มีภาพลักษณ์ที่สง่างามในเวทีโลก การมีนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดจำนวนมาก สะท้อนความล้าหลังของสังคม การกักขังเยาวชนเพียงเพราะเขาออกมาแสดงความคิดเห็นและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยิ่งสะท้อนความล้าหลังของสังคมนั้น

 

อ.ยุกติ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนในเรื่องการยกเลิกหรือการแก้ไข 112 นั้น ควรจะดำเนินไปได้ แต่จุดยืนของคนส.คือเราอยากให้เปิดพื้นที่ในการที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ไม่ว่าจะในที่สาธารณะหรือในรัฐสภา หรือแม้แต่ในห้องเรียน เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นเรื่องที่พูดถึงได้ ปัญหาตอนนี้คือใครพูดถึงสถาบันกษัตริย์หรือพูดถึงเรื่องมาตรา 112 ก็จะถูกจับจ้อง ถูกดำเนินคดี บางทีก็ถูกเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่ หรือกลั่นแกล้งไปฟ้องร้องในที่ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของทั้งตัวกฎหมายเอง ทั้งตัวกระบวนการยุติธรรม

 

#ยกเลิก112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์