วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทนายด่าง"เปิดใจ ผิดหวังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หลังชี้ขาด 3 แกนนำ ล้มล้างการปกครอง โดยไม่มีการไต่สวน พร้อมเรียกร้องนักกฎหมาย นักวิชาการรวมทั้งสังคมร่วมกันตรวจสอบคำวินิจฉัยนี้เกินอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

 


"ทนายด่าง"เปิดใจ ผิดหวังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หลังชี้ขาด 3 แกนนำ ล้มล้างการปกครอง โดยไม่มีการไต่สวน พร้อมเรียกร้องนักกฎหมาย นักวิชาการรวมทั้งสังคมร่วมกันตรวจสอบคำวินิจฉัยนี้เกินอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่


วันนี้(10 พ.ย.64) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ว่าหลังจากนี้จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง ว่ามีส่วนใดที่คำวินิจฉัยเกินอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงไปกระทบต่อสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตามมาตรา 49 วรรค 2 หรือไม่


เนื่องจากมีคำสั่งห้ามบุคคลอื่นหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการในลักษณะนี้อีกในอนาคต ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการวินิจฉัยเกินอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ


เมื่อช่วงก่อนหน้าของวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าข้อเสนอ 10 ข้อของแกนนำผู้ชุมนุมราษฎร ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีเนื้อหาว่าบุคคลจะใช้เสรีภาพเพื่อละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้


นายกฤษฎางค์ยังตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานของฝั่งผู้ร้องครบถ้วนตามกระบวนการหรือไม่ เพราะแม้แต่การขอไต่สวนพยานทั้ง 8 ปากของฝั่งผู้ถูกร้องก็ถูกคัดค้านจากศาลรัฐธรรมนูญ อ้างไต่สวนหลักฐานจากการถอดเทปคำปราศรัยและกระดาษ​ไม่กี่แผ่น ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีน้ำหนักเพียงพอต่อการชี้ขาดวันนี้หรือไม่


ทั้งนี้เมื่อสื่อมวลชน​ถามว่า คำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญที่ออกมาในลักษณะนี้ อาจเป็นแนวทางเพิ่มน้ำหนักให้กับคดีอาญาของกลุ่มแกนนำที่เคลื่อนไหวในลักษณะนี้หรือไม่


นายกฤษฎางค์ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลจะถูกนำมาเป็น บรรทัดฐานอ้างอิงในคดีอาญาอื่นๆเช่นคดีของนายอานนท์นำภา ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักให้ทีมทนายความมากขึ้นขึ้น เพราะคำวินิจฉัยนี้จะผูกพันไปทุกองค์


"ขอส่งสัญญาณให้นักกฎหมายระดับชาติ ให้ตุลาการ สังคมควรจะตรวจสอบ นานาชาติควรจะตรวจสอบ และต้องมีคำตัดสินจากศาลใดศาลหนึ่งว่ามันใช้ไม่ได้ จริงอยู่คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร อัยการ ศาล ตำรวจ คณะรัฐมนตรี แต่ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกกฎหมาย"


นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า คำวินิจฉัยนี้จะเชื่อมโยงไปสู่ข้อเสนอเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ ส่วนแกนนำจะเคลื่อนไหวต่ออีกหรือไม่หลังจากนี้ถือเป็นสิทธิ ของพวกเขาที่จะกระทำได้


นายกฤษฎางค์ยังระบุอีกว่า รู้สึกผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้แปลว่าฝั่งผู้ถูกร้องแพ้แต่อย่างใด


#ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง #ม็อบ10พฤศจิกา64 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์