แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.75
ตอน : ต่างความคิด ต่างระบอบ
กับโทษทัณฑ์ที่เยาวชนได้รับ และนิทาน "พระราชากับฉลองพระองค์ชุดล่องหน" ของ ฮันส คริสเตียน แอนเดอร์เซน
วันนี้เราก็จำเป็นที่ต้องมาพูดในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เพราะดิฉันค่อนข้างไม่สบายใจอย่างยิ่ง ก็เหมือนกับผู้รักประชาธิปไตยคนอื่น ๆ
ที่ข่าวทั้งวันและทุกวันมีแต่ข่าวจับกุมไม่ให้ประกันตัวคนกลุ่มที่ 1, ที่ 2, ที่
3, ที่ 4, ที่ 5 มีรายชื่อเป็นแถว แล้วก็มีโทษคดีดังที่เราได้พูดถึงว่าบางคน 20
กว่าคดี บางคน 10 กว่าคดี แล้วโทษบางอันถ้าในทัศนะของคนมันไร้สาระเหลือเกิน
ฉะนั้นวันนี้ดิฉันจึงคิดว่าเราจะได้มาคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาจากรากเหง้าทางความคิด
มันมาจากปัญหาระบอบอย่างไร เราเลยให้ชื่อประเด็นว่า
“ต่างความคิด
ต่างระบอบ กับโทษทัณฑ์ที่เยาวชนได้รับ”
ต่างความคิด
ต่างระบอบ ความคิดมันเป็นความคิดที่มีทั้งราก มีทั้งลำต้น
ผลิดอกออกผลโดยที่ยังไม่ได้ลดราวาศอก ต่างความคิด ต่างระบอบ เราได้คุยมาแล้ว 2
รอบว่าในทัศนะของดิฉัน จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมา
ซึ่งดิฉันก็ต้องขอชมว่าท่านซื่อ ๆ ตรง ๆ นะ ท่านคิดยังไงท่านก็พูดออกมา
ร่ายมาตั้งแต่สุโขทัย จนสุดท้ายหลาย ๆ คนก็ร้อง อ๋อ...มิน่าล่ะ
ว่าเราอยู่ในระบอบอะไร
ซึ่งเมื่อเราทบทวนไปถึงในอดีต
พบว่าการทำรัฐประหารแต่ละครั้งมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
มีการเขียนกฎหมายใหม่ที่กลายเป็นล้าหลัง
ล้าหลังจนกระทั่งมันยิ่งกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่นกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น
มาตรา
112 นี้ การทำรัฐประหารเมื่อปี 2519 กลายเป็นว่าโทษขั้นต่ำ 3 ปี
แล้วเอาดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายมาผสมปนเปกันไปหมด และโทษขั้นสูง 15 ปี
ปัจจุบันนี้ที่เยาวชนถูกกรณีมาตรา 112 มากมาย ถ้าเราเอา 3 ปีหรือ 15 ปี คูณเขาไป แปลว่าเขาจะต้องถูกลงโทษต่อให้เขาได้รับการพิพากษาลงโทษเพียงครึ่งหนึ่งก็ตาม
เพราะฉะนั้น โทษทัณฑ์ที่เยาวชนได้รับและการจับกุมคุมขังมันหนักหนาสาหัส
ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจว่าการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง
ทั้งวิธีคิด ทั้งรากเหง้าความคิดและการแก้ไขกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย
มันเป็นคนละระบอบ
นี่คือเหตุผลที่ทำไมเยาวชนถึงได้ถูกเรียกว่ามีโทษทัณฑ์เรียกว่าหนักหน่วง
เพราะในทัศนะของดิฉันก็คือ
โทษทัณฑ์ที่เยาวชนได้รับขณะนี้มันไม่ใช่การลงโทษในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แต่มันเป็นโทษประหนึ่งอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็คือคุณเฉียดฉิว
คุณใส่เสื้อคร็อปท็อบ คุณใส่ชุดไทย
คุณมีความเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในระบอบประชาธิปไตยมันไม่ควรจะมีปัญหา แต่ถ้ามันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แน่นอน! นี่มันประหนึ่งเป็นโจรกบฏ ล้มล้าง เหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พูดเอาไว้
ก็คือมันเป็นเรื่องของการที่จะนำไปสู่การล้มล้าง
เขาไม่ได้มองว่าเป็นการทำให้ดีขึ้น
แต่ว่าถ้าเป็นมุมมองของคนในระบอบประชาธิปไตยก็จะบอกว่าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ในปริมณฑลที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แล้วก็ตกลงกันไว้เป็นฉันทามติตามรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับชั่วคราวและฉบับจริงตามนั้น
ยังไม่ได้เกินเลยกว่านั้น
แต่ว่าเมื่อมีการทำรัฐประหารและมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่าง
ๆ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งกลายเป็นว่าสังคมไทยกลายเป็นประชาธิปไตยจำแลงแล้ว
คือเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่จริง ดังนั้น โทษทัณฑ์ต่าง ๆ
มันจึงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 112 ดังที่ดิฉันได้พูดไปว่า ในสมัย ร.5
โทษขั้นต่ำไม่มี โทษขั้นสูง 7 ปี หมายความว่าคุณอาจจะไม่ถูกลงโทษก็ได้
โทษขั้นสูงก็ไม่เกิน 7 ปี เพราะนี่ไม่ใช่กฎหมายตราสามดวง นี่เป็นยุคสมัย ร.5
มีการปฏิรูปกฎหมายแล้ว และได้ทำมาเป็นลำดับดังที่ดิฉันได้กล่าว มาจนกระทั่งถึงยุค
2475 จนกระทั่งถึง 2482 กว่าเราจะปลดความเป็นเอกราชทางศาลได้หมดไป
ปรากฏว่ามันใช้เวลานานมาก
แต่ว่าการทำรัฐประหารปี
2490, 2492, 2500, 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2 ครั้งหลัง) มันได้เปลี่ยนแปลง
จะไม่เรียกว่าถอยหลังเข้าคลอง คือหมุนทวนกงล้อประวัติศาสตร์ ต้องกล่าวเช่นนั้น
ดังนั้น สาระความเป็นจริงเนื้อแท้ของมัน มันจึงไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
แต่ว่าฝั่งจารีตนิยมอนุรักษ์นิยมเรียกมันว่าประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
แต่ว่าเนื้อแท้ของมันจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
น่าจะเป็นราชาธิปไตยแบบไทย ๆ มากกว่า คือมีสภาผู้แทนราษฎรด้วย
แต่ยังเป็นราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง แต่ว่ามีรัฐธรรมนูญ
มีสภาผู้แทนราษฎร
อันนี้น่าจะเป็นข้อสรุปมองมาว่า
ความผิดที่กลุ่มเยาวชนทั้งหลายถูกจับกุมคุมขัง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาดสีเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ
นำไปสู่วิธีคิดที่ว่าต่างความคิดก็คือ ความคิดนี่คือเป็นกบฏ ล้มล้าง
แต่ในส่วนของเยาวชน นี่คือการปฏิรูป ปฏิรูปทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์
ปฏิรูปทั้งระบอบการเมืองการปกครอง ก็พวกคุณชอบปฏิรูปไม่ใช่หรือ? ครั้งที่แล้วตอนปี
2557 ไม่ว่าจะเป็นม็อบกปปส. ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหาร ก็บอกว่าจะปฏิรูป
ปฏิรูปอะไร? รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังที่สุด
ล้าหลังกว่ายุคหลายสิบปีที่แล้วมา
แล้วมันน่าจะชัดเจนว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนจริง
ถ้าอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนจริงก็แปลว่ามันไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
ในทัศนะของกระบวนการยุติธรรม
สิ่งที่เยาวชนทำนี่คือการนำไปสู่การล้มล้าง
แต่ในทัศนะของเยาวชนและผู้รักประชาธิปไตย นี่คือความหวังดี
ต้องการจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยั่งยืนอยู่ได้มั่นคงในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ไม่ใช่การล้มล้าง มันคิดต่างกัน เพราะมันต่างระบอบ
ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งยึดมั่นในระบอบ
ดิฉันอยากจะใช้คำว่า ราชาธิปไตยหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้
ยึดมั่นต่างระบอบ
ต่างความคิด โทษทัณฑ์มันจึงต่างกัน!
มันเป็นไปได้อย่างไรที่คุณใส่เสื้อครอปท็อปแล้วคุณโดนมาตรา
112 มันเป็นไปได้อย่างไร
อย่างแย่ที่สุดก็คือมองเป็นเรื่องขบขันว่าเป็นการล้อเลียนสังคม
แต่ว่านี่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะถึงขนาดว่านี่เป็นการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
มันเป็นไปได้อย่างไร? นี่ยกตัวอย่าง
เพราะฉะนั้น
แทนที่จะมองว่าเยาวชนและผู้รักประชาธิปไตยหวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
หวังจะให้พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขอยู่คู่กับสังคมไทยไม่ว่าพัฒนาการสังคมจะทันสมัยและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
สถาบันต่าง ๆ มันต้องปรับตัว เหมือนดังที่ประเทศต่าง ๆ ในอารยประเทศคือ
สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องไม่ขัดแย้งกับประชาชน
สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องอยู่เหนือการเมือง เหมือนดังที่ดิฉันได้กล่าวแล้วว่า
ร.7 ท่านได้ตรัสเอาไว้เลยว่า “เจ้านาย” ต้องอยู่เหนือการเมือง
มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นอยู่ฝักฝ่ายข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้
เพราะถ้าอยู่ฝักฝ่ายมันต้องมีคนชอบและไม่ชอบ
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า
นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์และเจ้านายอยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้อง
เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องราวเกิดครหานินทาและมีทั้งคนรักคนชอบการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น
การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมันจึงเป็นความชอบธรรมที่เยาวชนนำเสนอในทัศนะของดิฉัน
คือมองเป็นความหวังดีว่าทำอย่างไรให้สถาบันกษัตริย์ยืนยง
ในขณะที่ฝ่ายจารีต
ไม่ใช่ฝ่ายจารีตในระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำนะ เป็นฝ่ายจารีตในระบอบเก่า
คือแม้กระทั่งในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกนี้ก็จะเป็นจารีตสุดโต่ง เป็นพวกสุดโต่งเลย
อะไรก็ไม่ได้ ตีความเป็นการดูหมิ่น การพูดความจริง การพูดตามรัฐธรรมนูญ
ได้รับการยกเว้นในยุคพ.ศ. 2475 ว่าถ้าคุณพูดความจริง พูดตามรัฐธรรมนูญ
พูดแล้วเกิดประโยชน์ ไม่มีความผิด
ในทัศนะดิฉัน
ถ้าเยาวชนเหล่านี้ไม่พูดความจริง พูดใส่ร้ายป้ายสี และเป็นการพูดที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและไม่เกิดประโยชน์
นั่นแหละมีโทษ ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเขาพูดความจริง พูดแล้วเป็นประโยชน์
และพูดไปตามรัฐธรรมนูญ นี่คือการพูดในระบอบประชาธิปไตย เอาผิดไม่ได้ คดีทั้งหมดที่ขณะนี้ที่กำลังทำอยู่ ดิฉันถามว่าเป็นไปตามสามข้อนี้มั้ย
ถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามสามข้อ โอเค มีโทษทัณฑ์ แต่ดิฉันไม่คิดแบบนั้น
แล้วถามว่าสุดท้ายใครเสื่อม?
คือผู้กระทำการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล
กระทำการเพราะอาจจะคิดว่านี่คือผู้จงรักภักดี แต่ดิฉันว่าไม่ใช่นะ ตรงข้าม
คำถามว่าความจริงกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ทั้งสถาบัน
เป็นประโยชน์ทั้งประเทศชาติ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สมควรจะมีความผิดมั้ย?
ถ้าจะว่าไป ดิฉันอยากจะเล่านิทานเรื่อง "พระราชากับฉลองพระองค์ชุดล่องหน" ของ อันส คริสเตียน แอนเดอร์เซน พระราชาที่ประหนึ่งเป็นเรื่องนิทาน เขาใช้คำว่า “แก้ผ้า” ได้ยินเรื่องนี้หรือเปล่า? ก็คือ เป็นเรื่องเล่าเพื่อเป็นการสอนคนในยุคโบราณนั่นแหละว่าขุนนางหรือคนที่ไม่กล้าพูดความจริงกับพระราชา ไม่ได้หวังดีกับสถาบันจริง นั่นก็คือการที่พระราชาพยายามจะหาช่างตัดเสื้อที่ทอผ้าและตัดได้สวยที่สุดในโลก ก็หา ๆ ๆ ก็ยังไม่พึงพอใจ จนในที่สุดก็มีช่างตัดเสื้อคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นช่างตัดเสื้อมือเอก แต่ว่าช่างตัดเสื้อมือเอกคนนี้ไม่สามารถทำได้ตามที่พระราชาต้องการเพราะรู้ว่าตัวเองอาจจะต้องหัวขาด คือทำยังไงจะให้มันสวยที่สุด งามที่สุด ล้ำเลิศในปฐพีไม่มีใครเทียม
ในที่สุดเขาก็คิดขึ้นมาได้
เขาก็บอกว่าเขาได้ตัดเสื้อผ้าและทอผ้าแพรพรรณซึ่งคนที่มีคุณความดี
มีบุญญาธิการเท่านั้นที่จะมองเห็นความวิจิตรพิสดารของเสื้อผ้าที่เขาทำ
ถ้าคนที่ไม่มีบุญญาธิการ ไม่มีคุณความดีจะมองไม่เห็น
ดังนั้นเขาก็นัดวันที่พระราชาเพื่อมาลองชุด ข่าวนี้ก็แพร่ไปหมด
เมื่อพระราชาให้ขุนนางมาดูว่างามจริงมั้ย ขุนนางก็กลับไปทูลว่างามสุดจะบรรยาย
เพราะทุกคนคิดว่าถ้าบอกว่าไม่เห็นอะไรก็คือไม่มีบุญญาธิการ
ในที่สุดพระราชาก็ไปลองชุดนั้น
เมื่อช่างตัดเสื้อถามว่าพระองค์เห็นความวิจิตรพิสดารของผ้าและเสื้อตัวนี้มั้ย?
พระองค์ก็บอกว่ามองเห็น เพราะใคร ๆ เขาก็บอกมองเห็น มันงามมาก ทุกคนสรรเสริญเยินยอ
พระองค์ก็คงจะถอดเพราะสมัยโบราณคงไม่มีเสื้อชั้นในอะไรมากมายสนับเพลาก็ถอดหมดแล้วก็ใส่เสื้อ
แล้วก็เดินออกมา ขุนนางทั้งหลายก็ปรบมือแซ่ซ้องว่างามเหลือเกินพระเจ้าข้า เมื่อพระราชาเดินไปตามถนน
ก็มีเด็กวิ่งออกมาตะโกนบอกว่าพระราชาแก้ผ้า ก็เป็นเรื่องกระเจิง หมายความว่าขบวนการอะไรต่าง
ๆ ก็กระเจิง ก็เรียกว่าต่างคนต่างหนี
นี่เป็นนิทานนะคะ
แต่มันเป็นความเปรียบให้เห็นว่าขุนนางทั้งหลายที่พากันเพ็ดทูล ไม่พูดเรื่องจริง
รังแต่จะทำให้เสื่อมเสีย เพราะว่ากลัว กลัวความผิด ดังนั้น
ความจริงกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และต่อสถาบันเอง
เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระบอบไหน?
คุณยังมีความเชื่อมั่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกนะ
แต่ความจริงคืออะไร? และสิ่งที่เป็นประโยชน์และที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ในเมื่อเราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดิฉันยังคิดว่า 3 ข้อนี้ที่ในสมัยปี
2475 ตราเอาไว้ ขนาดนานแล้วนะมันยังใช้ได้ และถ้าเป็นอย่างนั้น
เด็กเหล่านี้สมควรหรือไม่ที่จะต้องถูกลงโทษทัณฑ์ขนาดนี้ พวกคุณเป็นขุนนางแบบไหน?
แบบเรื่องพระราชาแก้ผ้านี่หรือเปล่า? ที่ปล่อยให้เรื่องราวต่าง ๆ มันไม่ใช่สิ่งที่ดีกับประเทศชาติเลย
ไม่ใช่สิ่งที่ดีกับทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม
อัยการ ตำรวจ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์
และที่สำคัญที่สุดคือการสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันหลัก
ๆ ซึ่งดิฉันถือว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จำเป็นต้องตระหนัก
คุณจะเป็นขุนนางหรือว่าเป็นข้าราชการที่ยืนยันความเท็จ หรือว่าไม่ยอมรับความจริง
แล้วก็ทำสิ่งที่เป็นปัญหากับประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชนในยุคหลัง
ด้วยทัศนะที่ล้าหลัง ด้วยคิดว่านี่คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่อย่างน้อยที่สุด
3 ข้อที่คณะราษฎร 2475
ได้ตราเอาไว้มันก็ควรจะได้ถูกหยิบยกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทยต่อกรณีไม่ว่าจะเป็นมาตรา
112 มาตรา 116 อะไรก็ตาม
คำถามที่ดิฉันอยากจะถามเจ้าหน้าที่เหล่านี้ว่า
พวกคุณคิดว่าประเทศไทยตอนนี้เป็นระบอบอะไร?
คุณคิดว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ? อะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องเรียกว่าฟ้องมาตรา
112 มันไม่ใช่เรื่อง เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็ทำให้มันเป็นเรื่อง
เพราะคุณกลัวจะมีเรื่องเหรอ? แต่คุณกลัวจะมีเรื่อง
นั่นแหละมันจะทำให้เกิดเรื่องจริง นั่นก็คือ ความมอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า
ดิฉันเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ต้องการระบอบประชาธิปไตย
ดิฉันไม่เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ต้องการระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่มีชนชั้นนำผู้ที่ได้ประโยชน์ในฐานะเครือข่ายของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
จารีตนิยม อำนาจนิยม ใช้คำนี้ ฟังให้มันยาก แต่จริง ๆ
เข้าใจตรงกันว่าคนที่มีอำนาจแล้วก็ได้ประโยชน์จากระบอบอำนาจนิยมจารีตนิยมแบบที่เป็นอยู่นี้
ก็จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ ไม่ได้สนใจเลยว่าประเทศจะมีอะไรเกิดขึ้น
คุณทำกับเด็กแบบนี้ได้ยังไง กับเยาวชนเหล่านี้ได้อย่างไร เขาเป็นอนาคต คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยต้องการระบอบประชาธิปไตย
ไม่ได้ต้องการระบอบประชาธิปไตยจำแลง
เขาต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ชื่นชมได้
ที่อยู่ได้ยืนยง
เพราะฉะนั้น ปัญหาการปฏิรูปสถาบันฯ ต้องมองในแง่ดี ไม่ใช่มองในแง่ว่าเขาเป็นกบฏล้มล้าง อะไร ๆ ก็ต้องการปฏิรูปทั้งนั้นแหละ ศาลก็ต้องการการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมก็ต้องการปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิรูปตำรวจอย่างเดียว กองทัพก็ต้องการการปฏิรูป เพราะฉะนั้นในทุกฝ่ายต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าคุณปฏิรูปไม่ได้ มันก็คือการปฏิวัติ ดังที่บอกแล้วว่าก่อนหน้านี้เป็นระบอบประชาธิปไตยกระพร่องกระแพร่ง จอมพลสฤษดิ์บอกว่าปฏิวัติ ก็กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เฉยเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายอะไรต่าง ๆ ขนบธรรมเนียมอะไรต่าง ๆ ย้อนถอยหลังหมด ยิ่งกว่าสมัย ร.5 มาปี 2519 ก็เช่นกัน
ในปัจจุบันนี้
คำถามว่าถ้าปัจจุบันมันเป็นระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยจริงแบบที่เราตั้งสมมุติฐานจากคำสารภาพจากศาลรัฐธรรมนูญเอง
แล้วก็จากหลักฐานที่มาเป็นลำดับไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมาย การเขียนรัฐธรรมนูญ ต่าง
ๆ เหล่านี้ เป็นการบั่นทอนอำนาจประชาชนทั้งสิ้น ลดอำนาจประชาชน แต่ว่าทำให้อำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการทวนกงล้อประวัติศาสตร์หรือไม่?
ถ้าเช่นนั้น
ถ้ามันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การเปลี่ยนแปลงมันจะไม่ใช่การปฏิรูปนะคะ ดิฉันยืนยันตามหลักการเลยว่า
มันจะไม่ใช่การปฏิรูป แต่ถ้าคุณยินดีให้มีการปฏิรูป มันก็เกิดการปฏิรูปได้
แต่ถ้าคุณไม่ยินดีให้มีการปฏิรูป สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็ต้องปฏิวัติเปลี่ยนระบอบ
แล้วคำถามว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นเช่นไร?
เรื่องรายการของเราคือ
“แลไปข้างหน้า” เหลียวหลังด้วย แลไปข้างหน้าด้วย ดิฉันบอกได้เลยว่าแลไปข้างหน้าแล้วนี่ไม่ใช่การปฏิรูป
แต่นี่จะเป็นการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยค่ะ