วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“รุ้ง ปนัสยา” อ่านคำแถลงปิดคดี ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดี

 


“รุ้ง ปนัสยา” อ่านคำแถลงปิดคดี ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดี


ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่าคำปราศรัยของ “รุ้ง-ไมค์-อานนท์” ในวันที่ 10 ส.ค. 63 จะเข้าข่ายการใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่? ซึ่งก่อนหน้านี้ทางทนายของพวกเราได้ขอศาลให้มีการไต่สวนผู้ที่เชี่ยวชาญ แต่ศาลก็ไม่ได้อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเอกสารที่ทางรัฐให้มาเพียงพอแล้วต่อการที่จะวินิจฉัย ซึ่งทางเราเองเราก็เลยต้องมาอยู่ตรงนี้ ณ วันนี้ ที่จะฟังคำวินิจฉัยโดยที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน ซึ่งพอเป็นเช่นนี้แล้ว หนูก็จะขออ่านแถลงปิดคดี ณ ที่ตรงนี้เลยนะคะ แล้วหลังจากนี้หนูก็จะเข้าไปในศาลเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัย

 

คำแถลงปิดคดีโดย รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

 

ข้อ 1 คดีนี้ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้ แต่เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ดำเนินการไต่สวน ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กระทบต่อสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้องขอยื่นคำแถลงปิดคดีประกอบในวันนัดฟังคำวินิจฉัย เพื่อสรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังต่อไปนี้

 

ผู้ถูกร้องขอเรียนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 โดยเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้มีขึ้นเพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ไม่ให้ได้รับอันตรายจากบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบดังกล่าว

 

โดยสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฏตัวในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ประการ

 

ประการแรก เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนแต่เพียงองค์กรเดียว โดยในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ การใช้อำนาจรัฐต่าง ๆ ต้องมีการเชื่อมโยงกับประชาชนตั้งแต่ในระดับรัฐธรรมนูญ ประมุขของรัฐ องค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ล้วนแล้วแต่เมื่อสืบย้อนไปเกี่ยวกับที่มาและแหล่งของอำนาจจะต้องเกาะเกี่ยวกับการให้ความยินยอมของประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ การเลือกตั้ง การแต่งตั้งโดยผู้แทนประชาชน หรือใช้อำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยตัวแทนของประชาชน

 

ทั้งนี้ ถ้าให้การใช้อำนาจในระบอบดังกล่าวเป็นไปโดยชอบธรรม และมีรากฐานมาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งหลักการเหล่านี้ปรากฏในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ

 

ประการที่สอง เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักร กล่าวคือมีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งโดยรับสืบทอดทางสายโลหิต โดยสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน มีความแตกต่างจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการปกครองในระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะและเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศ ใช้พระราชอำนาจที่เกี่ยวกับภารกิจต่าง ๆ ของรัฐได้โดยพระองค์เอง และมีอำนาจเหนือกว่าองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องตั้งอยู่บนหลักการ พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ The King can do no wrong ที่ให้พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐแต่ไม่ใช่เจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ โดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีในทางนิติการเท่านั้น เนื่องจากการใช้พระราชอำนาจใด ๆ ของพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้การแนะนำและยินยอมของสถาบันการเมืองที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ซึ่งจะมีความรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ต่อไป ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ จึงทำให้พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติและเป็นกลางทางการเมือง

 

โดยหลักการเช่นนี้ ได้ปรากฏบนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 โดยรูปแบบและการกระทำที่จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ตัวอย่างเช่น การใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศจากประชาชนไปเป็นขององค์กรอื่น การใช้สิทธิเสรีภาพรณรงค์ให้เปลี่ยนระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขแบบอื่น หรือการใช้สิทธิเสรีภาพโดยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น

 

ด้วยข้อกฎหมายเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์กับการกระทำของผู้ถูกร้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็ไม่ปรากฎว่าผู้ถูกร้องได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 คุ้มครองไว้ ไม่ได้เผยแพร่ถ้อยคำปราศรัยหรือข้อความคิดใดต่อสาธารณะในลักษณะที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศจากประชาชนไปเป็นบุคคลอื่น หรือเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐ จากพระมหากษัตริย์ไปเป็นอย่างอื่นอย่างใด

 

นอกจากนี้ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ประการ ผู้ถูกร้องได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายให้ธำรงไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ และรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ให้เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชอำนาจให้สอดคล้องกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

ข้อเสนอข้อที่ 1 การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ เนื่องจากการกระทำของพระมหากษัตริย์ หากกระทำไปภายใต้คำแนะนำและยินยอมของผู้รับสนองพระราชโองการ ในทางรัฐธรรมนูญก็ไม่มีบุคคลใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ แต่หากพระมหากษัตริย์กระทำผิดในทางส่วนตัว ก็ให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนพิจารณาจัดการตามรัฐธรรมนูญต่อไปได้ ซึ่งหลักการเช่นนี้ได้ปรากฎมาแล้วในปฐมรัฐธรรมนูญของประเทศไทย อย่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2475 และสภาผู้แทนราษฎรก็เคยวินิจฉัยความหมายของสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไปในทำนองด้วยกันนี้ด้วย ปรากฏตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 สมัยสามัญ สมัยที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2476

 

ข้อเสนอข้อที่ 2 การเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เสรีภาพในการแสดงความคิดและการแสดงออก ซึ่งเป็นเสรีภาพที่จำเป็นที่สุดในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยขยายวงกว้างออกไป เพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศสามารถวิพากษ์วิจารณ์องค์กรรัฐทุกองค์กรที่ใช้อำนาจของประชาชนได้

 

ข้อเสนอข้อที่ 3 การเสนอให้ยกเลิกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้มีการแบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์ส่วนพระองค์ที่เป็นส่วนตัวของพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรรัฐที่มีความเชื่อมกับประชาชนและรับผิดชอบทางการเมือง รวมถึงการถูกฟ้องคดีตามกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ตามหลักการบริหารทรัพย์สินของรัฐสมัยใหม่

 

ข้อเสนอข้อที่ 4 การเสนอให้ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อให้ต้องการให้พระมหากษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนในทุกสถานการณ์ อันจะเป็นการเชิดชูสถานะการเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่นยิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอข้อที่ 5 การเสนอยกเลิกส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น เช่น องคมนตรี ก็เป็นเพียงข้อเสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนการจัดระเบียบหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

 

ข้อเสนอข้อที่ 6 การเสนอให้ยกเลิกการบริจาคและการรับบริจาคโดยพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อความปรารถนาดีต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดแอบอ้างหาผลประโยชน์ในการรับบริจาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเป็นการป้องกันการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์มิชอบ

 

ข้อเสนอข้อที่ 7 การเสนอยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นข้อเสนอที่ต้องการส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะเป็นศูนย์รวมของคนในชาติ และเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในทางสาธารณะได้

 

ข้อเสนอข้อที่ 8 เรื่องการยกเลิกประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันแต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม ก็มิใช่ข้อเสนอที่มุ่งหมายที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์เป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด โดยข้อเสนอดังกล่าวมุ่งความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการให้บุคคลใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป

 

ข้อเสนอข้อที่ 9 การเสนอให้สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ก็เป็นไปด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้สังคมไทย และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากมลทินมัวหมองต่าง ๆ

 

ข้อเสนอข้อที่ 10 การเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงไม่ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร ก็เป็นข้อเสนอที่มีความมุ่งหมายในการธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและรักษาสถานะที่เป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์

 

ด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมายข้างต้น ผู้ถูกร้องจึงขอเรียนว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ประการ มิได้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด แต่กลับกัน การกระทำของผู้ถูกร้องและข้อเสนอทั้งหมดต่างจะช่วงส่งเสริมให้สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วย ผู้ถูกร้องจึงของให้ศาลวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้อง


#ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง #ม็อบ10พฤศจิกา64

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์