วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีปราศรัยล้มล้างการปกครอง

 


ผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : คดีปราศรัยล้มล้างการปกครอง

 

ผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีปราศรัยล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่เฉพาะผลต่อผู้ถูกร้อง 3 คนเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาในเนื้อหาคำวินิจฉัยที่ผู้คนสงสัย และผลต่อสังคมและคดีความต่าง ๆ ที่จะตามมา ดังที่ผู้ร้องเองก็คาดหมายว่าจะดำเนินการต่อไปคือฟ้องร้องยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้คนที่สนับสนุนตลอดจนนักวิชาการ ประชาชน ที่ลงชื่อสนับสนุน

 

นี่จะเป็นเรื่องใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์คดีการเมืองไทย และจะถูกขยายนำไปสู่คดีมากมายต่อไป ปฏิกิริยาเฉพาะหน้าที่เห็นก็มีผู้เห็นต่างจากการวินิจฉัย โดยเฉพาะองค์กรขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน

 

ในส่วนของดิฉันเอง นอกจากมีความกังวลในอนาคตการเมืองไทยและขบวนการต่อสู้ของเยาวชน ของประชาชน ที่จะหักเห เห็นได้ว่ามี 2 ทาง คือทางหนึ่งสยบต่อคำวินิจฉัย อีกทางคือยิ่งเร่งปฏิกิริยาการต่อสู้ ส่วนฝ่ายจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม ก็สามัคคีกันทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล หน่วยงานความมั่นคง นักร้อง กระบวนการยุติธรรม จากตำรวจ อัยการ ไปจนถึงระบบตุลาการทั้งหลาย ก็จะเร่งเครื่องฟ้องร้อง จับกุม ไม่ให้กันประกันตัวมากขึ้น ๆ โดยได้อาศัยพื้นฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะยิ่งเท่ากับจุดระเบิดทั่วประเทศนั่นแหละ ชักธงรบจากฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม เต็มอัตราศึก

 

เราจะเห็นได้ประการแรก ไม่มีการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ามีข้อมูลเพียงพอ และได้ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง เช่น เลขาธิการสมช. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการ ตำรวจ ให้ความร่วมมือเต็มที่ โดยการขอจากรัฐบาล พูดง่าย ๆ คือศาลรัฐธรรมนูญรับฟังจากพยานรัฐบาล หน่วยงานจารีตนิยมอำนาจนิยมที่มีจุดยืนพิทักษ์ความมั่นคงในระบอบดั้งเดิม ไม่รับฟังทัศนะจากพยานฝ่ายผู้ถูกร้องแต่อย่างใด แม้จะเป็นคนอย่าง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นผู้นิยมเจ้าเต็มที่ก็ตาม

 

ประการที่สองข้อต่อมาคือ การขยายความผิดจากผู้ถูกฟ้อง 3 ท่าน ไปถึงขบวนการนักศึกษาประชาชนทั้งหมด ทั้งการกระทำในอดีตไปจนถึงในอนาคต ว่าเป็นขบวนการผู้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ อันนี้อันตรายมากที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดสงครามคดีความขนาดใหญ่ทั่วประเทศทุกส่วน ตั้งแต่พรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ประชาชน เยาวชน ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีนับพันคดี และคดี 112 กว่า 150 คดี

 

ประการที่สาม เนื้อหาคำวินิจฉัยระบุเรื่องคำหยาบคาย, ความเท็จ, การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์, การลบสีน้ำเงินจากธงไตรรงค์, การปลุกระดมใช้ข้อมูลเท็จ ต้องมีความชัดเจนว่าใครทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไร? และเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องอย่างไร? จริงหรือไม่? เพราะจากคำปราศรัยระบุได้ไหมว่ามีความเท็จหรือความจริง หยาบคายไหม ยุยงให้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือทำลายธงไตรรงค์หรือไม่? อย่างไร? การพูดถึงลอย ๆ ให้ผู้ถูกร้องมีความผิด ทำให้เกิดความกังขาต่อคำวินิจฉัย

 

ประการที่ 4 การอ้างถึงประวัติศาสตร์การมีสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับประเทศไทยต้องไม่ถูกโต้แย้งได้ เช่น คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีมาเมื่อไร? แต่ไม่ใช่จาก พ.ศ. 2475  รัฐธรรมนูญ 2475 ทั้งฉบับถาวรและฉบับชั่วคราวนั้น เป็นฉบับที่ตกลงกันระหว่าง ร.7 กับคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ตัวแทนคณะราษฎร ก็ไม่มีคำนี้ แต่ไม่สำคัญเท่ากับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญดังคำปรารภของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 บัญญัติว่า

 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้”

 

และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวสยาม ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป แต่พระองค์ทรงใช้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั่นเอง และทรงยอมรับคำขอร้องของคณะราษฎรให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และการอ้างถึงการใช้พระราชอำนาจนั้น ตามที่อ้างมาตรา 1 มาตรา 2 มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ขอให้สังเกตดู มาตรา 6 และมาตรา 7 ประกอบด้วย

 

*พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475*

 

มาตรา 6 กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องในคดีอาชญาในโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย

 

มาตรา 7 การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

 

ดังนั้น การทำรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญเดิมได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ล้าหลัง เป็นแนวทางของฝ่ายจารีตนิยมนับจากรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญล้าหลัง 2492 ก็เป็นต้นแบบรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังกว่าฉบับ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ ระบบตุลาการที่เป็นจารีตนิยมอำนาจนิยม จึงสามารถรับรองการทำรัฐประหารว่าถูกกฎหมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

สงครามความคิด, สงครามคดีความ (นิติสงคราม) จะนำพาไปสู่สงครามระหว่างประชาชนเสรีนิยม กับ อำนาจรัฐจารีตนิยม อำนาจนิยม ที่มีขนาดใหญ่โตหรือไม่ น่าเป็นห่วงอนาคตประเทศไทย!

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ

12 พ.ย. 64


ลิ้งค์ฉบับเต็ม พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF


#ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง #UDDnews #ยูดีดีนิวส์