เปิดมุมของชีวิตหญิงแกร่ง
“ธิดา ถาวรเศรษฐ” ที่อุทิศเพื่อส่วนรวม
(จากรายการ
Bright
Talk โดย Bright TV)
คุณคือใคร?
“ธิดา
ถาวรเศรษฐ” ค่ะ ถ้าเป็นคอการเมืองก็น่าจะจำได้ เป็นอดีตประธาน นปช.
ส่วนใหญ่ถ้าเป็นญาติพี่น้องก็เรียก “พี่ดา” ไม่มีชื่อเล่น อาจารย์มีน้องอีก 5 คน
อาจารย์เป็นพี่คนโต มีน้องชายคนหนึ่งเขาออกราชการนี่เป็นพลเอกนะ
รุ่นก่อนพล.อ.ประยุทธ์ด้วย สมัยก่อนเวลาอาจารย์ขับรถไปรับส่งเขาที่รร.เตรียมทหาร
(แถวสวนลุม) หรือ รร.จปร. (ราชดำเนิน) ก็จะเข้าใจชีวิตของพวกนักเรียนนายร้อย
นักเรียนเตรียมทหาร นอกนั้นน้องคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่เรียนวิศวะ ส่วนน้องสาวอีกสองคนเรียนเหมือนกันหมด
โดยเฉพาะน้องคนเล็กก็เรียนปริญญาตรี-โทแบบเดียวกัน แล้วไปต่อเอกที่ญี่ปุ่น ทางด้าน
Microbiology
เหมือนกัน แต่น้องสาวคนที่สองของอาจารย์เขาได้ใช้วิชาชีพมาก
เขาก็จะเป็นคนที่คิดสูตรกระทิงแดง คาราบาวแดงนี่แหละในการผลิต
นั่นเป็นน้องสาวถัดไปของอาจารย์
ครอบครัวอาจารย์มีเชื้อสายจีนด้วยไหม?
อันนั้นเข้าใจว่าคุณคงไปอ่านใน
“วิกิพีเดีย” กับใน Google
ตรงที่ถามนี้ดี เพราะมันจะแสดงให้เห็นว่า “วิกิพีเดีย” กับ Google
นั้น มันจะกลายเป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีคนความคิดตรงข้ามเข้าไปลง
คุณจะเห็นเลยว่าเป็นพวกนักข่าว Manager หมดเลยที่เขียน
เพิ่งจะมาตอนหลังมีข่าว “ประชาชาติ” หรืออย่างอื่น
ทีนี้เนื่องจากเราไม่ได้มีเวลามาสนใจ
คือในช่วงที่พันธมิตรกำลังเติบโตอยู่แถวภาคใต้ มีญาติพี่น้องบางคนซึ่งเป็นพันธมิตรฯ
จ๋าเลย แล้วอาจารย์ก็ไม่เข้าใจว่าเขาจะมีวิธีคิดที่มันสมบูรณ์หรือเปล่านะ
เพราะว่าบางทีมนุษย์เราแต่ละคนมันก็เหมือนกัน มันจะมีความปกติ ไม่ปกติ
อยู่ติดต่อกัน ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มนั้นหลายคนก็มีปัญหาทาง...พูดกันตรง ๆ นะ
มีปัญหาทางโรคจิตด้วย
แล้วคุณลองคิดดูว่าถ้าคนที่มีปัญหาอยู่บ้างระดับหนึ่งแล้วเกิดคลั่งไคล้ในเรื่องการบ้านการเมืองมันก็จะออกแนวที่เราจะเห็นสังคมไทยที่มันเว่อร์
ๆ เพราะสังคมไทยมันจะเป็นอย่างนี้ คือมนุษย์เรามันไม่มีใครสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็น
บางคนก็มีกึ่งปัญหาโรคจิตอยู่ 10% 20% 30%
ถามว่าทำไมอาจารย์พูดอย่างนี้
เพราะว่าบางเรื่องมันเป็นเรื่องไม่จริง!
อย่างเช่นที่เขาบอกทีแรกว่าเขาเป็นพี่ชาย
มันก็ไม่ใช่ อาจารย์เป็นลูกคนโต ที่เขาเขียนว่าเป็นพี่ชาย ตอนหลังผู้สื่อข่าว Manager ก็เห็นอาจารย์ตำหนิเลยไปถามอีกที
เขาก็เลยบอกว่าเป็นลูกพี่ลูกน้อง แล้วก็พยายามที่จะเขียนเรื่องอะไรต่าง ๆ ออกมา ยกตัวอย่างเช่นในนั้นเขาบอกว่า
“ไม่ควรจะมาใช้ตระกูลถาวรเศรษฐ” คุณพ่ออาจารย์เป็นคนตั้งนามสกุล “ถาวรเศรษฐ”
เขาเป็นญาติห่าง ๆ แล้วมาขอใช้
นี่ยกตัวอย่างนะ
หนึ่งว่าเขาเป็นพี่ชายอาจารย์ สองไม่น่าจะมาใช้นามสกุล “ถาวรเศรษฐ” อันนี้ผิดหมด
เป็นเรื่องเท็จโดยสิ้นเชิง แต่เอาไปลงอยู่ใน “วิกิพีเดีย” และ Google เพราะว่าอาจารย์ไม่ได้ใส่ใจ
ไม่ได้เข้าไปเขียน
ในขณะที่ถ้าเราดูความคิดสองขั้วนะ
นปช. ไม่มีใครเข้าไปเขียน แต่ชุดความคิดของพันธมิตรฯ เอาประหนึ่งงานวิจัยเอาไปใส่ไว้เต็มเลย
คือกลายเป็นว่าโอ้โห...สวยงามมาก ส่วน นปช. กับพวกแกนนำดูเลวมาก
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกิพีเดียด้วย
แล้วเราไม่ได้มีใครไปแก้เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกถ้าคนจะเชื่อ
แต่คุณเชื่อมั้ยว่ามีกรณีหนึ่งที่ศาลแพ่งตัดสินที่อัยการไปอุทธรณ์
ศาลอ้างวิกิพีเดียนะ เรางงมากเลยว่ามีความเข้าใจต่อวิกิพีเดียกับ Google
ยังไง อาจารย์คิดว่าท่านคงไม่เข้าใจว่าวิกิพีเดียใครแก้ก็ได้
ดังนั้นถ้าจะถามว่าชีวิตความเป็นมา
เอาตั้งแต่คุณพ่ออาจารย์ คุณพ่ออาจารย์เป็นลูกชาวนา อยู่ที่ไชยา
แล้วก็มาเรียนที่ตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็มาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ทางบัญชี
แล้วเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ (เรียนรุ่นประมาณคุณบุญชู) แต่ว่าเรียนไม่จบ
อยู่ปีสุดท้าย เพราะว่านาที่เป็นส่วนแบ่งที่ปู่ให้
พี่สาวที่เป็นญาติพี่น้องเขาบอกเอาไปขายหมดแล้ว หมดโควตาในการเรียนแล้ว ก็เลยต้องไปทำงาน
ดังนั้นคุณพ่ออาจารย์ก็เรียนธรรมศาสตร์
แล้วก็ไปทำงานกระทรวงศึกษาฯ อยุ่พักหนึ่ง จากนั้นก็มาอยู่บริษัท ลีเวอร์ บราเธอร์
จนเกษียณ นี่คือคุณพ่อ
คุณปู่เป็นลูกไทยที่มี
“เตี่ย” เป็นจีน (เป็นลูกครึ่งจีนที่เกิดเมืองไทย) ส่วนคุณย่าของอาจารย์เป็นไทยแท้
ถามว่ามีเชื้อสายจีนมั้ย อาจารย์ว่ามีเชื้อสายน้อยกว่ารัฐมนตรีปัจจุบันด้วย นี่คือสายคุณพ่ออาจารย์
เขาก็ยังอยากจะตั้งชื่อตามที่เขียนว่า นายเฮง ตันเฮง
สมัยนั้นผู้ชายเป็นใหญ่ก็ต้องเอาตามครอบครัว
แล้วคุณพ่ออาจารย์ก็เป็นคนเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ถาวรเศรษฐ”
ส่วนสายคุณแม่ก็คือ
“เตี่ย” ของคุณแม่มาจากเมืองจีน แต่คุณยายก็เป็นคนไทยอีกเหมือนกัน
สมัยนั้นคนจีนที่มาจากเมืองจีนนิยมแต่งงานกับคนไทย
เพราะฉะนั้นที่มีเชื้อสายจีนก็เป็นแบบนี้ ก็คือตามยุคที่ว่าผู้ชายที่มาจากเมืองจีนมักจะแต่งงานกับผู้หญิงไทยแล้วก็มีผลผลิตออกมาแบบนี้
ทีนี้นามสกุล
“ถาวรเศรษฐ” ก็เท่ากับคุณพ่ออาจารย์เป็นคนตั้ง แต่ก็มีญาติพี่น้องมาขอใช้
ก็เลยมีคนที่เอาไปแจ้งผู้สื่อข่าว Manager แบบต้องการเอาไปอวดอ้าง
หรือถ้าคุณไปอ่านที่เขาบอกว่า คนในสมัยโบราณเขาจะเรียกคนเป็นลูกหมาลูกแมวหรืออะไร
ของอาจารย์เขาก็เขียนเอาไปลง แต่ว่าญาติคนนี้เป็นญาติที่เรียกว่าในตระกูลเขามีปัญหาทางนี้หมด
(ชี้ที่ศีรษะ) บางครั้งก็อาจจะพูดถูกบ้าง ผิดบ้าง
และโดยทัศนะที่สมัยนั้นมันมีการเกลียดชังรุนแรงมากระหว่างกลุ่มของพันธมิตรกับทางนี้ก็มองว่าเป็นกลุ่มของคุณทักษิณ
ซึ่งอาจารย์อยากจะเน้นตรงนี้ว่า
นปช.และคนเสื้อแดง เขาไม่ใช่ต่อสู้เพื่อคุณทักษิณนะ เขาก้าวข้ามไปนานแล้ว
แต่สังคมพยายามจะด้อยค่า คือไม่ได้มองว่าเขาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย
ไม่อย่างนั้นเขาจะต่อสู้ได้ยังไงตั้งสิบกว่าปี คุณทักษิณไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนแล้ว
แล้วคุณทักษิณจะมาให้อะไรเขา แต่เขาพยายามจะด้อยค่าคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยว่าเป็นคนที่ทำเพื่อคุณทักษิณคนเดียว
บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกิพีเดียก็คือผลิตผลของความเกลียดชัง
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาไปเขียน แล้วอีกฝ่ายจะไปแก้หรือเปล่า กลุ่มนปช.ไม่มีใครเข้าไปดูเลยแม้กระทั่งอาจารย์ไม่ได้ไปดู
เรามาดูเอาตอนหลัง ๆ แล้ว มันอาจจะเป็นความไม่ถูกต้องของเราเองที่เราไม่ได้ไปใส่ใจและไม่ได้ให้ความสำคัญ
เราลืมนึกไปว่าพอไปนาน ๆ เข้าคนไม่รู้จะไปดูที่ไหน ก็ไปหาจากที่นั่น
จากเด็กใต้ สู่ นักเรียกร้องประชาธิปไตย?
หลายคนก็รู้สึกแปลกใจนะว่าพวกแกนนำนปช.เป็นคนภาคใต้เยอะ
มันเป็นเรื่องบังเอิญ อาจารย์เป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
แล้วก็เรียนที่นั่นจนถึงมัธยมต้น พอมาเรียนม.ปลายก็มาเรียนที่สาธิตประสานมิตร
ชีวิตที่อยู่ในต่างจังหวัดก็ไม่นานเท่าไหร่ก็มาอยู่กรุงเทพฯ
เดิมบ้านอยู่แถวสุขุมวิท
เรียนสาธิตประสานมิตรจนจบมัธยมปลาย
อาจารย์ก็มาเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์
แล้วเรียนต่อปริญญาโท จุลชีววิทยา หรือ Microbiology หลายคนก็แปลกใจว่าแทนที่อาจารย์จะเป็นคนที่เรียนรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์
หรือกระทั่งอักษรศาสตร์, ประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ อาจารย์เรียน Microbiology เป็นวิชา Pre-clinic จะมีลูกศิษย์ที่เป็นทั้งหมอ
เป็นทั้งเภสัช เป็นทั้งทันตแพทย์ พยาบาล บางทีเวลาไปเจอต่างจังหวัดเราจำไม่ได้
เพราะอาจารย์สอนตั้งแต่ที่เชียงใหม่ แล้วก็มาอยู่ที่มหิดล
ทีนี้ตอนช่วงที่กำลังจะต่อปริญญาเอกก็เป็นช่วงที่บ้านเมืองมันกำลังเปลี่ยนแปลงพอดี
14 ตุลา ตอนนั้นอาจารย์ก็เลยพลิกกลับชีวิต ก็เลยคิดเอาว่าถ้าเราไปเรียนต่อเราก็จบ
เราก็กลับมาเป็นอาจารย์สอนเหมือนคนอื่น ๆ
ชีวิตก็คือเป็นชีวิตที่ทำไปเพื่อส่วนตัวเหมือนกับคนอื่น ๆ ธรรมดา
จบปริญญาเอกมาก็มาเป็นอาจารย์ แล้วก็ต่อตำแหน่งไปเรื่อย ๆ
แต่ชีวิตทางการเมืองของประเทศชาติมันเปลี่ยน
ทำให้ชีวิตส่วนตัวของอาจารย์ที่เคยวางเป้าหมายก็เปลี่ยนไป
ก็คิดว่าในเมื่อคนอื่นเขาสละชีวิตได้เพื่อผลประโยชน์ของการเมืองของส่วนรวม
เราจะดูเป็นคนเห็นแก่ตัวเกินไปหรือเปล่าถ้าเราจะมุ่งคิดแต่เฉพาะความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง
อาจารย์ก็ชีวิตเปลี่ยนตั้งแต่ตอน
14 ตุลา แล้วพอมา 6 ตุลา ยิ่งเปลี่ยนหนักเข้าไปอีกเมื่อเจอความโหดเหี้ยมที่มีการปราบปรามประชาชน!
ชอบสีอะไร?
ถ้าถามแบบการเมืองต้องตอบว่าชอบสีแดง
แต่ถ้าธรรมชาติอาจารย์ไม่มีปัญหา ธรรมชาติมันสร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ลงตัว
เราไม่ควรจะตอบว่าเราชอบสีอะไร เพราะว่าธรรมชาติมันสร้างให้เราอยู่แล้ว
หน้าที่ของเราคือต้องอยู่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เราชอบสีเขียวเพราะว่าต้นไม้ทำให้เราสบาย
เราชอบสีฟ้าเพราะว่าท้องทะเลกับท้องฟ้าเป็นสีฟ้า หรือเราชอบดอกไม้เพราะว่ามันมีสี
ในทัศนะอาจารย์นะ เราไม่ควรจะตอบว่าชอบสีอะไร อันนั้นแปลว่าเราเป็นคนที่คิดเฉพาะเรื่องของเรา
(อัตวิสัย) อาจารย์ไม่ใช่คนแบบนั้น อาจารย์เป็นคนที่เขาเรียกว่า ภววิสัย ก็คือ
ทำและคิดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โลกเรามีสีหลายสี
ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องชอบสีเดียว นี่คือคำตอบ
เป็นคนใจบุญ?
คนอื่นจะพูดอย่างนั้นก็ได้
แต่ว่าอาจารย์ว่ามันก็ไม่เชิงนะ เพราะเมื่อเราคิดว่าชีวิตเราเพื่อส่วนรวม
มันก็คือบุญละ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มีลูก อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์
แกจะตั้งชื่ออีกชื่อหนึ่ง ชื่อปรีดีนิวัติ
อาจารย์บอกว่าไม่รู้ว่าลูกชายเขาจะชอบอาจารย์ปรีดีหรือเปล่า มันจะเป็นการไปครอบเขา
อาจารย์ก็เลยบอกว่าอาจารย์ตั้งชื่อลูกชายเอง “สลักธรรม” ลูกสาวอาจารย์ก็ตั้งชื่อ “มัชฌิมา”
ที่แปลว่าทางสายกลาง ทั้งสองชื่อนี้ก็เกี่ยวกับธรรมะทั้งคู่
ถ้าการทำบุญหมายถึงว่าต้องไปวัดเป็นประจำ
อาจารย์อาจจะไม่ใช่ แต่ว่าถ้ามีงานบุญที่เราจะได้ทำกันมาก ๆ อาจารย์จะไป
นี่ก็เพิ่งไปตักบาตรเทโวกับญาติมา หรือบางครั้งก็ไปทอดกฐินกับคนเยอะ ๆ
อาจารย์ก็เป็นเจ้าภาพ
แต่ว่า
“บุญ” ของอาจารย์ อาจารย์คิดว่า “บุญ” ที่สำคัญมากก็คือการให้ความรู้ การ “ให้ทาน”
ด้วยวัตถุก็เป็นเรื่องทั่วไป
แต่ว่าการให้ความรู้และการชักนำให้ทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับสังคม
ในความคิดอาจารย์อันนี้เป็นบุญมากกว่า
เวลาทำอะไรก็อย่างที่บอก
อาจารย์ก็จะคิดถึงคนอื่นมากกว่า มันก็กลายเป็นเรื่องสนุกด้วย มันก็เป็นความสุขในฐานะ
“ผู้ให้” อย่างนี้จะเรียนว่า “บุญ” ก็ไม่เชิง ไม่ว่าจะเป็นการให้วัตถุสิ่งของ
ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ซึ่งอาจารย์เน้นตรงนี้มากที่สุด
เพราะฉะนั้น
“ลูกชาย” อาจารย์บอกว่าเราไม่รู้ว่าชีวิตเขาจะเป็นยังไง
แต่เนื่องจากเขาเป็นคนมีเมตตา เขาจะได้บุญเยอะ ถ้าเขาชอบจะเรียนหมอได้
เขาก็จะได้ทำบุญ อันนี้ถ้าคำถามเรื่อง “บุญ” อาจารย์ก็จะมีอยู่ในปริมณฑลนี้
ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์จะหิ้วตะกร้าไปวัดทุกวันคงไม่ใช่
ชอบทำอาหาร?
ใช่!
แต่ว่าส่วนใหญ่ทำก็ต่อเมื่อทำให้คนอื่นทาน ก็จะเป็นอาหารภาคใต้ พวกแกงเหลือง
น้ำพริกปลาทู อาจารย์ทำทุกอย่างแหละ เหมือนโดยทั่วไป
แต่ว่าอาหารที่เขาหาทานยากหน่อย เราก็ทำเอง
ให้นิยามผู้หญิงที่ชื่อ “ธิดา ถาวรเศรษฐ”
ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนเด่น
ดัง แต่ถ้าเอาความมุ่งมั่นของตัวเองก็คือ เราเกิดมาจนกว่าชีวิตจะหาไม่
เราได้พบสิ่งที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ก็คือเราต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์กับมนุษยโลก
กับสังคมที่ข้างมากที่สุด เห็นแก่ตัวให้น้อยที่สุด นี่เป็นความมุ่งมั่น
แต่เราจะทำได้แค่ไหนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเป็นคนที่มีความพยายามที่จะให้ชีวิตนี้เป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
ชื่อ
“ธิดา ถาวรเศรษฐ” ก็คือ
เป็นชีวิตที่ตั้งใจจะให้เป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากที่สุดจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ดังนั้นถ้าจะให้เป็นประโยชน์ก็ต้องพยายามสร้างองค์ความรู้หรือแม้กระทั่งสร้างความสมบูรณ์ทางวัตถุประมาณหนึ่งเท่าที่จะทำได้
เพื่อที่ชีวิตนี้จะได้ให้กับสังคมและส่วนรวม ไม่ได้เกิดมาเพื่อตัวเอง
ต้องการจะให้เกิดมาและเป็นผลต่อส่วนรวม และต้องการที่จะให้คนที่ใกล้ชิดเราได้มีแนวคิดแบบนี้