6
ตุลา 19 กับ 6 ตุลา 63 ต่างกันโดยสิ้นเชิง เทคโนโลยีก็เป็นของคนรุ่นใหม่ อายุวัย
ความรู้ มวลชน คำขวัญที่บอก “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ยังไงมันก็ต้องจบแน่ในรุ่นนี้
ยูดีดีนิวส์
: เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ได้สนทนาผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจโดยการทำเฟสบุ๊คไลฟ์ พร้อมทั้งเผยแพร่ทาง Youtube
Live ทางช่อง UDD news Thailand ซึ่งประเด็นที่นำมาสนทนาในวันดังกล่าวคือ
“ความเหมือน / ต่าง ระหว่าง 6 ต.ค. 19 และ 6 ต.ค. 63”
อ.ธิดา
เริ่มสนทนาถึง ความเหมือน โดยกล่าวว่า มี “การนำ” ของกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักเรียน
นิสิต นักศึกษา ที่ต่อต้านการกลับมาของที่เรียกกันว่าทรราชก็คือ จอมพล ถนอม
กิตติขจร นี่เป็นความเหมือนในด้านของ “การนำ”
ความเหมือนอีกอย่างในด้านของฝั่งจารีตนิยม
ก็คือ “ความมุ่งมั่น” ที่จะจัดการกับเยาวชน นิสิต นักศึกษา
และผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร
แต่สิ่งที่ต่างกันนั้นมีมากมาย
ซึ่งดิฉันคิดว่าสิ่งที่ต่างกันนี้เป็นแง่คิด
ด้านหนึ่งคือเตือนสติฝั่งที่ต้องการกำจัดเยาวชน ประชาชน
ที่ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ ที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแบบสากล
นี่เป็นการเตือนสติให้รู้ว่ามันไม่เหมือนกันนะ!
6
ตุลา 63 ไม่เหมือนกัน 6 ตุลา 19 ในหลายเรื่อง!
ความเหมือนที่เขาต้องการมาจัดการ
ดิฉันก็จะเพิ่มเติมอีกอย่างก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสิ่งที่เหมือนกันอันมาจาก
“ความมุ่งมั่น” ในการที่จะจัดการกับเยาวชน ดิฉันจะทวนเร็ว ๆ
ด้านหนึ่งดิฉันเคยเขียนเอกสารตอนที่ไปพูดที่ศาลายา พูดถึงปรากฏการณ์การคุกคามฝ่ายประชาธิปไตย
ซึ่งทำเหมือนกันมาโดยตลอด หลายยุค หลายสมัย ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา นั่นก็คือ
1) การสร้างและปล่อยข่าวเท็จ
ซึ่งอันนี้ก็ต้องใช้สื่อที่ตัวเองครอบงำได้ ก็คือสื่อฝ่ายจารีตนิยม อย่างในปี 19
ก็จะบอกว่า “พวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์” “เป็นญวน” “พูดภาษาไทยไม่ได้” “เป็นพวกล้มล้างสถาบัน”
ดังนั้นเราจะเป็นภาพที่ประชาชนยิ้มเมื่อมีการจัดการฆ่าหรือภาพที่เอาเก้าอี้หวดศพแล้วมีคนมุงดูแล้วยิ้ม
หรืออย่างในปี 53 ก็บอกว่าเป็นพวกที่มีอาวุธ มีชายชุดดำ เผาบ้านเผาเมือง
เป็นพวกล้มเจ้า
2) การสร้างกลุ่มมวลชนจารีตฝ่ายขวา ในปี 19
ก็จะมีกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง
ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ถูกสร้างโดยเครือข่ายของฝ่ายจารีตนิยมโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง
การสร้างมวลชนและพยายามจะย้อมหัวยังพยายามทำมาจนถึงทุกวันนี้
3) การใช้องค์กรรัฐฝ่ายต่าง ๆ คุกคาม ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน
สถานศึกษา ซึ่งถ้าดูข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้
แม้กระทั่งโรงเรียนที่ปักษ์ใต้ยังมีทหารไปอบรม
ดิฉันไม่เข้าใจว่าลำพังครูกับระบบการศึกษามันก็แย่อยู่แล้ว คุณยังเอาทหารไปอบรมอีก
หลักสูตรของคุณมันจึงทำให้เกิด “เยาวชนปลดแอก” เพราะมันเป็นหลักสูตรที่ไม่จริง
เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองที่เป็นเท็จ
เมื่อเยาวชนรู้ว่าไม่จริงก็เกิดปฏิกิริยาตีกลับ หรือการใช้องค์กรอิสระต่าง ๆ
หน่วยงานทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหน่วยงานความมั่นคง
องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรจารีต อย่าง สมช. ซึ่งตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
หรือว่า กอ.รมน.
ที่พยายามจะสร้างคนซึ่งเป็นมวลชนของตัวเองจากนับแสนจะให้เป็นนับล้าน
ดิฉันไม่เข้าใจว่าคุณคิดยังไง? อันนี้ยังเป็นสิ่งที่เหมือนกันอยู่
รวมทั้งการปราบปราม
เข่นฆ่า การฟ้องร้องคดีความ อันนี้เป็นสิ่งที่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น
กระบวนการและวิธีคิดยังเหมือนเดิม!
ถ้าจำได้
ในเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ มีพูดค่านิยม 12 ประการ
มันชี้ให้เห็นเลยว่านโยบายของหน่วยงานความมั่นคงนั้น “จารีตสุดขีด”
สำหรับสิ่งที่
“ต่างกัน” นั้น ดิฉันอยากจะบอกว่าที่ทำมานั้นจะไม่ได้ผลเลย ยกตัวอย่างเช่น การใช้สื่อ
สมัยก่อน
(6 ตุลา 19) ใช้ “สถานีวิทยุยานเกราะ” “สถานีวิทยุทหาร” ปลุกระดม
สื่อด้านหลักสมัยนั้นคือ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ถูกครอบงำ
แต่ปี
63 ไม่ใช่ค่ะ!
สื่อที่สำคัญคือสื่อออนไลน์ คุณไม่สามารถเอาทีวี วิทยุ
และสื่อหนังสือพิมพ์ มาทำลายฝ่ายที่เห็นต่างแบบที่เกิดขึ้นในปี 19 ได้อีกแล้ว
เทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่ข้างคนรุ่นใหม่ อยู่ข้างความคิดใหม่ อยู่กับสิ่งที่ก้าวหน้า
เทคโนโลยีก้าวหน้า
เป็นประโยชน์กับคนที่ก้าวหน้า
ไม่เป็นประโยชน์กับคนที่ล้าหลัง
นี่คือสิ่งที่ต่างและมีผลอย่างมาก
เพราะคุณควบคุมสื่อยุคใหม่ไม่ได้
แต่สมัยก่อนคุณควบคุมคนโดยการควบคุมสื่อ
ดังนั้นเวลามีการทำรัฐประหาร เขาต้องไปที่สถานีโทรทัศน์ ต้องไปกรมประชาสัมพันธ์
(ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาล) 14 ตุลา เมื่อประชาชนโกรธก็เลยไปเผากรมประชาสัมพันธ์ก่อนเลย
(แล้วแถมกองสลากไปด้วย)
สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็คือ
เทคโนโลยีการสื่อสาร คุณจะใช้สื่อมาครอบงำไม่ได้
อันที่สอง ก็คือ วัยและเวลา เป็นของคนรุ่นใหม่
อันนี้เป็นเรื่องของ Generation
นี่เป็นรุ่น 15, 16, 18 ไปจน 20 กว่า (Generation Y กับ Z) ถ้าพูดแบบบ้านเราก็คือเด็กวัยมัธยมไปจนถึงอยู่ในมหาวิทยาลัยและคนที่จบมาใหม่
ๆ จะเป็นกำลังหลัก
วัยและเทคโนโลยี
เป็นของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าที่สูงอายุใช้เทคโนโลยีไม่ได้
และนอกจากนั้นวันเวลาของตัวเองก็จะหมดไปทุกวัน
นี่คือสิ่งที่เสียเปรียบระหว่างพวกจารีตนิยมกับเยาวชนเสรีนิยม
อันที่สาม ก็คือส่วนของ การศึกษาและองค์ความรู้
เยาวชนคนรุ่นใหม่แม้อายุจะน้อย แต่ว่าพัฒนาการจากการใช้เทคโนโลยีทำให้เขาเข้าถึงองค์ความรู้ที่แตกต่างจากเดิม
ตรงนี้ถ้าเขาตื่นตัวด้วยความรู้ ตื่นตัวด้วยความจริงที่มันถูกซ่อนอยู่ในหลืบมานาน
เขาจะไม่มีวันถอยหลัง เพราะว่ามันเป็นความรู้เชิงประจักษ์ที่บางอย่างมันซ่อนมานาน
ซึ่งคนที่เป็นฝ่ายจารีตถ้ามาโต้กับเยาวชนในเรื่องพัฒนาการการเมือง ในเรื่องเหตุผลและประวัติศาสตร์จากปัจจุบันถึงอนาคต
สู้เด็กไม่ได้!
ดิฉันมองว่าองค์ความรู้ที่คนรุ่นเก่ากลุ่มจารีตเกิดจากผลิตผลของฝ่ายจารีตนิยมที่ต้องการครอบงำสังคม
ในนั้นปิดบังและซ่อน “ความจริง” อยู่เป็นจำนวนมาก
อันที่สี่ ก็คือ คำขวัญ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
อันนี้เกิดมาตั้งแต่ยุค ร.6 แต่มันไม่มีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ยังดึงดันที่จะใช้คำขวัญ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แล้วเอาประเด็นความมั่นคงชูเป็นด้านหลัก
ไม่ได้พูดถึงความมั่นคงประชาชน พูดถึงความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ถามว่ามันจะไปรอดมั้ย? ถ้าหากว่ายุคสมัยที่ผ่านมามีความรู้ในทางสากล มีความรู้ที่สามารถเปรียบเทียบได้ว่า
สถาบันของประเทศอื่น ๆ กับไทยเหมือนและแตกต่างอย่างไร?
เพราะฉะนั้น
“สถาบัน” และ “คำขวัญ” ถูกท้าทายเพื่อต้องการ
1)
เอาความจริงออกมา
2)
จะต้องปรับ คำว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติประชาชนมากที่สุด
ไม่ใช่เกิดประโยชน์กับสิ่งที่เป็นสถาบันที่สมมุติขึ้นมา
อันที่ห้า ดิฉันเห็นว่า ปี 63 มี “มวลชน” มารองรับมากมาย
เป็นมวลชนที่มาจากผลิตผลของการต่อสู้รัฐประหารจากปี 49 มาเป็นลำดับจนบัดนี้
มวลชนเหล่านั้นยังอยู่ อาจจะมีบาดเจ็บ ล้มตายไปจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่นับสิบ
ๆ ล้าน เมื่อรู้แล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลง (คนที่ก้าวหน้าแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง)
อาจจะเถียงว่า
“แล้วพวก 14 ตุลา ดูเหมือนจะก้าวหน้า” เขาก้าวไม่จริง เพราะเขาทำไปตามพล็อต
แล้วเขาก็เป็นอนุรักษ์นิยมที่สวมเสื้อแบบเสรีนิยม แต่เขาไม่ใช่เสรีนิยมจริง
(ตัวตนเป็นอนุรักษ์นิยม) ดังนั้น นี่คือข้อได้เปรียบ ข้อแตกต่าง
มวลชนในปี
19 การนำของนักศึกษาที่เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เราจะพบเลยว่าตรงนั้นมีแต่นิสิต นักศึกษา แทบไม่มีประชาชนอื่นเลย จากที่เราเห็นภาพ
แม้กระทั่งโดนจับมีแต่เยาวชน นิสิต นักศึกษา เพราะว่าฝ่ายความมั่นคงครอบครองสื่อ
ใส่ความ ให้ร้าย ว่า
พวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์
ต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม
เป็นพวกญวน
/ ในอุโมงค์ธรรมศาสตร์มีอาวุธเต็มไปหมด / เอาหมามากิน
นี่คือสิ่งที่พูดกันอยู่ตลอดเวลา!
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเวลาย้ายจากสนามหลวงเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยจึงค่อนข้าง
“โดดเดี่ยว” คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมทำสำเร็จที่แยกประชาชนออกไป
ไม่แต่เพียงเขาจะสร้าง “ลูกเสือชาวบ้าน” ไม่แต่เพียงเขาจะสร้าง “กระทิงแดง” ยังแยก
“อาชีวะ” ไปจากนักศึกษา
แต่ปี
63 ไม่ใช่!!!
เพราะปี 63 มีมวลชนอยู่เป็นจำนวนมาก ก็คือ “คนเสื้อแดง” ไงคะ
(ไม่ใช่พูดลำเอียง) เอาง่าย ๆ คนที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 อย่างต่ำ 10
ล้านคน มวลชนที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย (ในทัศนะอาจารย์นะ) 10
ล้านนี่เป็นคนรุ่นเก่า (ยังไม่นับคนที่อยากสู้แต่อยากเลือกตั้งด้วยโดยการผ่านประชามติ)
ซึ่งในความเป็นจริงเกิน 10
ล้านอยู่แล้วถ้าเราดูประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันทั้งหมด
ยังไงก็มากกว่าอยู่แล้ว!
นี่คือความแตกต่างระหว่างปี
63 กับ 19 อย่างชัดเจน
เพราะคนเหล่านี้เขาสู้มาก่อน
แล้วบอกกันตรง ๆ ว่า “ยังไม่ชนะ” เมื่อมีกองทัพเยาวชนเข้ามา
กองทัพประชาชนจึงพร้อมจะร่วมสู้ด้วยแน่นอนอยู่แล้ว
ไม่ต้องมีหน้าตาแกนนำรุ่นเก่าออกไป เพราะหัวใจและสมองของเขามั่นคงในจุดยืนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็น
“ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง” นี่คือนโยบายข้อ 1
ของ นปช.
นี่คือความแตกต่างที่สำคัญที่เยาวชนและประชาชนใน
พ.ศ. นี้ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่นำ ควรจะรู้เลยว่านี่คือความแตกต่างจากเดิม
สุดท้ายที่สำคัญมากที่สุดก็คือ
เมื่อปี 19 คุณหาว่าเยาวชนพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นยังมี พคท.
(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)
แล้วมีกระแสลมของสังคมนิยมที่สะบัดเสียจนคุณกลัวมาก
ไม่ว่าจะเป็นจารีตนิยมระดับไหนก็เอาทรัพย์สินไปอยู่ต่างประเทศหมด
เป็นความหวาดกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนระบอบ
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนระบอบ!
ไม่มีใครพูดว่าจะเป็น
“สาธารณรัฐ”
ไม่มีใครพูดว่าจะเป็น
“สังคมนิยม”
ไม่มีใครพูดถึง
“คอมมิวนิสต์”
และเดี๋ยวนี้เราไม่มี
พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ แล้วนะ มันจะกลายเป็นเรื่องเชย เพราะว่าเรามีเพื่อนมิตรที่ดีขนาดต้องซื้อเรือดำน้ำตลอด
ไม่จ่ายตังค์ก็ยังต้องซื้อ ก็คือ “ประเทศจีน” ซึ่งเป็นสังคมนิยมที่เป็นลูกพี่ใหญ่
ตลกที่ฝ่ายความมั่นคงและทหารไทยก็ OK ยังไงก็ตาม อดีต ผบ.ทบ.
ก็ยังพูดถึง “ซ้ายดัดจริต” ยังพูดถึงคนที่เป็น “คอมมิวนิสต์” อันนี้ก็เป็นความขัดแย้ง
ในฐานะประเทศคุณ OK เป็นลูกพี่!
แต่ในประเทศคุณไม่ OK กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ
เพราะฉะนั้น
ข้อต่างสุดท้ายที่สำคัญคือ เอาปัญหาว่าเปลี่ยนระบอบเป็นสาธารณรัฐ
อยากได้ประธานาธิบดี ถ้าพูดถึงปี 19 ก็บอกว่าพวกนี้ต้องการเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์
หรือยุคเสื้อแดง (ปี 53) ก็มีการพูดว่าเอา คุณทักษิณ ชินวัตร
มาจะให้กลายเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็น “ความเท็จ” โดยสิ้นเชิง
ขณะนี้จะใส่ความว่าเป็น
“คอมมิวนิสต์” ก็ไม่ได้
ใส่ความว่า
“ทุนสามานย์” ก็ไม่ได้
แต่ยังพยายามพูดว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง
ซึ่งไป ๆ มา ๆ คุณก็ต้องมารบกับดาราบางคนว่าเป็น “แม่ยกแห่งชาติ” เพราะว่าไม่รู้จะไปใส่ความว่าใครอยู่เบื้องหลัง
เรื่องนี้ดิฉันถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบที่
6 ตุลา 63 ไม่เหมือนกับ 6 ตุลา 19
มันดูเป็นความชอบธรรม
แต่แน่นอน! บางคนอาจจะยึดคำขวัญ
“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แบบเก่า หมายความว่าแตะไม่ได้
ศาสนาก็แตะไม่ได้ เรื่อง ชาติ นี่ไม่รู้แปลว่าอะไร แปลตามตัวเองก็คือเป็นความมั่นคงของผู้ปกครอง
ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน (ในประเด็นความมั่นคง)
แล้วยังไม่เข้าใจว่าความมั่นคงของศาสนา ความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ เป็นอย่างไร?
ดิฉันยังมองว่าข้อเรียกร้องของเยาวชนเหล่านี้ยังอยู่ในปริมณฑลที่ทำให้เกิดความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของพระมหากษัตริย์
ศาสนาอาจจะไม่ค่อยมีการพูดถึงก็ได้ แต่มันเป็นความมั่นคงแบบคนสมัยใหม่ (คน Generation Y, Z) เป็นความมั่นคงของคนก้าวหน้ายุคใหม่ ไม่ใช่พวกคร่ำครึโบราณ ไม่ฟังเสียง
เอาแต่ก่นโจมตีด่าว่า มันคนละยุคกันแล้ว
ดิฉันก็คิดว่า
อยากให้กำลังใจว่า 6 ตุลา 19 กับ 6 ตุลา 63 ต่างกันโดยสิ้นเชิง
เทคโนโลยีก็เป็นของคนรุ่นใหม่ อายุวัย ความรู้ มวลชน
จะมาหาว่าใครอยู่เบื้องหลังเขาไม่ได้ ดิฉันก็คิดว่าคำขวัญที่บอก “ให้มันจบที่รุ่นเรา”
ยังไงมันก็ต้องจบแน่อยู่ในรุ่นนี้ และมันไม่ได้มีปัญหาอะไร มันยังเป็นความมั่นคง
แต่เป็นความมั่นคงตามแบบฉบับใหม่
ขอให้ประชาชนและเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมีกำลังใจว่า เวลา-เทคโนโลยี-มวลชน อยู่กับคุณ และที่สำคัญมีนักวิชาการ ปัญญาชน จำนวนมากที่ผลิตองค์ความรู้ แต่ถ้าจะให้ดีดิฉันอยากจะฝากหน่อยว่า อย่าจบเพียงแค่ 6 ตุลา ซิคะ คุณเลยต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการสูญเสียของประชาชนในปี 50-51-52-53 ชะตากรรมของประชาชนหลัง 6 ตุลา ก็ขอให้ปัญญาชน นักวิชาการ และประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นด้วยว่า นี่เป็นปรากฏการณ์แบบเดียวกันที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลา เพียงแต่ว่ามันไม่ได้นำโดยเยาวชนเท่านั้นเอง ก็ฝากให้ยังจะต้องช่วยกันสร้างผลงานแบบที่ทำกับ 6 ตุลา ก็คือให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ของคนในสังคมไทยและสังคมโลกค่ะ อ.ธิดา กล่าวในที่สุด.