ศาลฎีกาฯ
มีมติเอกฉันท์พิพากษายกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" พร้อมพวกรวม 6 คน
คดีจัดอีเวนต์โรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย งบ 240 ล้านบาท
พร้อมสั่งเพิกถอนหมายจับ
วันนี้
(4 มีนาคม 2567) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 พิพากษายกฟ้องคดีที่ ป.ป.ช.
เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน ประกอบไปด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์
เวชชาชีวะ, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ นายระวิ โหลทอง จำเลย
ความผิดเกี่ยวกับการเสนอโครงการโรดโชว์ที่ไม่ใช่กรณีเร่ง
ด่วนขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจบิดผัน
สั่งอนุมัติงบกลางมีเจตนาร่วมกันในการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
และยังมีการร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไข
เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนเงิน 239,700,000 บาท
โดยศาลชี้ว่าจำเลยที่
1-3 ไม่มีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157
และไม่มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2561
มาตรา 192 และมาตรา 123 /1 รวมถึงไม่มีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ
ปี 2542 มาตรา 12 และ 13 และชี้ว่าจำเลยที่4 -6 ไม่มีความผิดตามคำฟ้องเช่นกัน
โดยยังไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
จากการไต่สวนพยานและหลักฐานศาลชี้ว่า
การที่จำเลย 1-3
ดำเนินการนำงบกลางจำนวน 40 ล้านบาท
มาจัดดำเนินโครงการโรดโชว์ เป็นการดำเนินนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา
ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยถึงการใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐและตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง
ๆ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
และไม่ได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อเป็นเหตุอ้างในการใช้งบกลาง
ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า
สมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้
จึงเป็นดุลยพินิจที่กระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นอีกทั้งการจัดโครงการโรดโชว์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด
และยังกล่าวถึงพฤติการณ์ของนายนิวัฒน์ธำรง
บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ว่าไม่ปรากฏว่า
มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบ ในกระบวนการเสนออนุมัติงงบกลาง
ในการดำเนินการและไม่ปรากฏพฤติการณ์ในการร่วมกันแทรกแซงหรือมีคำสั่งให้
เลือกบริษัทมติชนและบริษัทสยามสปอร์ตเป็นผู้รับจ้างโครงการไว้ล่วงหน้าก่อนเริ่มการจัดจ้าง
หรือไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะอย่างใด
เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์หรือเลือกเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น
ขณะเดียวกัน
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เห็นว่านายสุรนันทน์ไม่ได้กระทำการ
ในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ
และไม่ได้มีบุคคลใดสั่งให้เลือกบริษัทเอกชนทั้งสองเป็นผู้รับจ้าง
ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เป็นไปภายใต้เงื่อนไขการดำเนินโครงการที่กระชั้นชิด
ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ตามระเบียบกฎหมาย จึงไม่ได้ใช้วิธีการประกวดราคา
ตามข้อกล่าวหาจึงขาดเรื่องเจตนาพิเศษ
ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดโครงการ
เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โดยประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหารเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว
ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าโครงการโรดโชว์ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า
ด้วยการพัสดุจึงอนุมัติเบิกจ่าย สอดคล้องกับการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพบว่า
ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานรัฐ
ดังนั้นจึงฟังได้ว่านายสุรนันทน์ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติ
สำหรับโครงการอีก
10 จังหวัด ในวงเงิน 200 ล้านบาท
เป็นการดำเนินการที่กระชั้นชิดไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคา
และเข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุเช่นเดียวกัน
ส่วนจำเลย
4-6 จากข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งกรณีการแบ่งจังหวัดของบริษัท
มติชน และบริษัท สยามสปอร์ต
นั้นเป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเพื่อจัดทำงานนำเสนอจึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันฮั้วประมูลจึงไม่ผิดตามคำฟ้อง