“ชัยธวัช” นำพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ม.152 ชี้ยื่นยุบ “ก้าวไกล” ไม่กระทบการทำงานฝ่ายค้าน - พร้อมสู้คดีเต็มที่
ห่วงการยุบพรรคด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองยิ่งเป็นการดึงสถาบันฯ มาใช้ทางการเมือง
ทำสังคมไทยถลำลึกสู่วงจรความขัดแย้ง ชี้ ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ เอง
วันที่
13 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ร่วมกับตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 5 พรรค ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ
ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ
โดยยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับแถลงข่าวถึงเนื้อหาสาระของญัตตินี้
ชัยธวัชระบุว่า
พรรคร่วมฝ่ายค้านหวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการตรวจการบ้านครั้งสำคัญ
หลังจากที่มีการจัดการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการรัฐประหารพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
ประชาชนต่างคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาฟื้นฟูประเทศในทุก ๆ ด้าน แต่ 6 เดือนที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง
จึงหวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญหลังจากนี้
เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาส
จากนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ผ่านจะส่งผลต่อการอภิปรายหรือไม่
ชัยธวัชระบุว่า แน่นอนว่าการใช้งบประมาณมีความสำคัญ
และก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่าจะยังไม่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา
151 เพื่อรอให้รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างเต็มที่เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลเศรษฐาก็ยังมีเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องอภิปรายแน่นอน
โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเรือธงต่าง ๆ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้าเป้า
ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) มีมติให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคก้าวไกล
จะส่งผลต่อการอภิปรายหรือไม่
ชัยธวัชระบุว่าเรื่องนี้เป็นกรณีของพรรคก้าวไกลพรรคเดียว ไม่เกี่ยวกับการอภิปราย
ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็ได้เตรียมการต่อสู้คดีทางกฎหมายไว้แล้ว
และจะทำงานทุกวันให้ดีที่สุด
แม้ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม
2567 อาจจะทำให้พรรคก้าวไกลต่อสู้ได้ยาก
แต่เราก็จะต่อสู้เต็มที่ว่ามันไม่มีเหตุผลเพียงพออย่างไรที่ถึงขั้นจะต้องยุบพรรคก้าวไกล
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่มีการเปิดไต่สวน
ซึ่งชัยธวัชระบุว่า โดยปกติศาลจะต้องมีการไต่สวนอยู่แล้ว
อย่างน้อยที่สุดศาลต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกลได้แก้ข้อกล่าวหา
เสนอทั้งข้อเท็จจริงและพยานผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
แต่คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ที่ดุลพินิจของศาล
เมื่อใดที่ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วก็อาจจะยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่จะต้องต่อสู้ให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงให้มากที่สุด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า
มีการพิจารณาทางเลือกให้กรรมการบริหารพรรคลาออกจากตำแหน่งก่อนหรือไม่
ตามที่เคยมีบทเรียนจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่
ชัยธวัชระบุว่าในพรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้
แต่ตนคิดว่าบทเรียนที่สำคัญน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยและผู้มีอำนาจมากกว่า
ว่าการยุบพรรคการเมืองไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด
ซ้ำร้ายอาจจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ซึ่งสวนทางกับความคาดหวังของประชาชนหลังจากที่มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารแล้ว
ซ้ำร้ายการยุบพรรคการเมืองด้วยการอ้างเหตุผลเรื่องการล้มล้างการปกครอง
การเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
ในด้านกลับอาจจะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สังคมไทยรักเสียเองก็ได้
เพราะยิ่งเป็นการดึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น
เรื่องนี้ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน
“ผมเป็นห่วงสังคมไทย ลองจินตนาการถึงสังคมไทยหลังจากนี้
เรากำลังเข้าสู่วังวนแบบเดิม ๆ ที่หาทางออกไม่เจอ และอาจจะยิ่งถลำลึกต่อไปมากขึ้น
การยุบพรรคการเมืองจากเหตุที่กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองและเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ประการใด” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชยังระบุว่า
สุดท้ายตนคิดว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของพรรคก้าวไกล
แต่เป็นปัญหาของวิธีการทางการเมืองแบบเดิมซึ่งควรจะหมดไปได้แล้ว
รวมถึงการคิดว่าจะเอาชนะคะคานกันทางการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมือง
ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนของสังคมไทยได้แล้วว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น
มีแต่จะแย่ลง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคร่วมฝายค้าน #ก้าวไกล #อภิปรายไม่ไว้วางใจ