วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“ลูกเกด ชลธิชา” ยื่นหนังสือร้อง ก.ต. สอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีเร่งรัดคดี ม.112 เลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้นโดยไม่มีทนายจำเลยร่วมด้วย

 


“ลูกเกด ชลธิชา” ยื่นหนังสือร้อง ก.ต. สอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีเร่งรัดคดี ม.112 เลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้นโดยไม่มีทนายจำเลยร่วมด้วย


วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. เพื่อให้ตรวจสอบทางวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีเร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ “ลูกเกด ชลธิกา” เป็นจำเลย และมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น โดยที่ไม่มีทนายความจำเลยร่วมว่าความอยู่ในการพิจารณาคดีด้วย


“ลูกเกด ชลธิชา” กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อ 8 พ.ย. 63 เธอได้ร่วมกิจกรรม #ราษฎรสาส์น ซึ่งเธอได้เขียนจดหมายถึงสถาบันฯ และต่อมาถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ทั้งนี้มีการนัดพร้อมคดีความครั้งแรกเมื่อ 27 มิ.ย. 65 ซึ่งได้มีการตกลงกับทางอัยการและผู้พิพากษาว่าให้มีการนัดสืบพยานเดือนมีนาคม 2567 โดยมีเหตุผลว่าทนายความมีภารกิจต้องว่าความหลายคดี


ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 65 เจ้าหน้าที่ศาลได้โทรศัพท์สอบถามมายังทนายความของเธอว่าในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 66 มีวันว่างหรือไม่ ศาลต้องการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น ซึ่งทนายความได้แจ้งว่าไม่ว่าง เนื่องจากติดภารกิจของการสืบพยานที่ศาลอื่น


ชลธิชา กล่าวว่า เมื่อวานนี้เธอเดินทางมาที่ศาลเพื่อขอยื่นการเลื่อนนัด แต่นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาในคดี ไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยาน และมีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ทันที โดยที่เธอไม่มีทนายความฝ่ายจำเลยร่วมอยู่ในการพิจารณาคดีด้วย ซึ่งตามปกติคดีอาญาที่มีโทษสูงอย่าง มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3 – 15 ปี การสืบพยานจำเป็นที่จะต้องมีผู้มีความรู้ทางกฎหมายร่วมอยู่ด้วย ซึ่งศาลให้เหตุผลที่เลื่อนนัดสืบพยานเร็วขึ้นว่าเป็นดุลยพินิจของศาล หากไม่พอใจให้จำเลยดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งเป็นที่มาในวันนี้ที่เธอมายื่นหนังสือถึง ก.ต.


ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลื่อนนัดสืบพยานทำคดีให้เร็วขึ้นจะเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ส.ส.หรือไม่ “ลูกเกด ชลธิชา” กล่าวว่า มีหลายคนที่แสดงความกังวลว่าเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร


ด้าน รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า นายอรรถการ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถอนหมายจับกรณีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง (ส.ว.ทรงเอ) สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร? มีความเป็นธรรมเสมอภาคเท่าเทียมกับทุกคนหรือไม่? ตนเคยยื่น ก.ต. ให้พิจารณาการทำหน้าที่ว่านายอรรถการและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112