“อ.ธิดา”
นำ คปช.53 บุกสภา เรียกร้องพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
ทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดงและปชช.ที่ถูกกระทำจากการเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง
พร้อมข้อเสนอนโยบายทางการเมืองและการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ
วันที่
23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ อาคารรัฐสภา เกียกกาย คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553
(คปช.53) นำโดย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เลขาธิการกรรมการ คปช.53 พร้อมด้วย นพ.เหวง
โตจิราการ, ตัวแทนญาติวีรชนเมษา-พฤษภา’53, ทนายความ
และประชาชนคนเสื้อแดงผู้รักความเป็นธรรม
ได้เดินทางมาร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เกี่ยวกับนโยบายทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง
และประชาชนทั่วไปในปัจจุบันที่ถูกกระทำจากการเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง
พร้อมทั้งมีข้อเสนอนโยบายทางการเมืองและการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ
ทั้งนี้
โดย อ.ธิดา เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา
ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ
และพรรคพลังปวงชนไทย
จากนั้น
อ.ธิดา ในฐานะเลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553
ได้กล่าวขอบคุณพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ให้เกียรติประชาชนออกมาต้อนรับ ซึ่งมีข้อเสนอที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทุกพรรค
อ.ธิดากล่าวว่า ขณะนี้ทางการเมืองที่จะเกิดการยุบสภาจะมาเร็ว สำคัญที่สุดคิดว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหมดได้ดำเนินงานมาด้วยดีตลอดเวลา
4 ปี ในนามประชาชนเราขอขอบคุณพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยืนหยัดในการทำงานได้เป็นอย่างดี
ช่วยทำให้ประชาชนเข้าใจและได้รับข้อมูลมากมาย แม้จะมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง
อ.ธิดา
กล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย
การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นอารยะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของคนจำนวนมาก
มันจึงเป็นการใช้เวลา เรานอกจากมาขอบคุณ มีข้อเสนอ
และยังมีกำลังใจที่อยากจะให้พรรคฝ่ายค้านทั้งหมดได้ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
อ.ธิดา
กล่าวอีกว่า ไม่ว่าท่านจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่เราหวังว่าจะได้เป็น
หรือแม้กระทั่งจะทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติก็ตาม เราก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์
เพราะสิ่งที่เราเสนอและพูดวันนี้เราพูดแทนหัวใจของประชาชนไทยที่รักประชาธิปไตย
รักความยุติธรรม โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ยาวนานและได้รับความเจ็บปวด
ด้านหนึ่งภูมิใจในลักษณะการเป็นนักต่อสู้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเจ็บปวดจากบาดแผล
2553
ข้อเสนอของเราวันนี้มี
8 ข้อ 3 ข้อแรกเป็นข้อทีเกี่ยวกับเรื่องราวที่อยากให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้ดำเนินงาน
ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม เพื่อที่จะช่วยให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกในปัจจุบันและอนาคต
นั่นก็คือการฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางถนนลอยนวนพ้นผิด นอกจากเอาผิดไม่ได้
ยังสามารถครองอำนาจได้ยาวนาน เราไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ถ้าเราปล่อยให้การฆ่าประชาชนกลางถนนลอยนวลพ้นผิด
มันเคยเกิดขึ้นได้ทั้ง ๆ ที่มีคนเสื้อแดงนับล้าน ๆ คน
มันก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก วงจรอุบาทว์ก็จะมี ยุบพรรคการเมือง ทำรัฐประหาร
เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อ.ธิดากล่าว
ดิฉันมุ่งหวังว่าวิถีทางรัฐสภามันไม่ใช่วิถีทางที่มีแต่ด้านสวยสดและด้านผลประโยชน์ การต่อสู้ในเวทีรัฐสภาก็เป็นการต่อสู้อีกด้านหนึ่งของประชาชน
และประชาชนที่จะใช้สิทธิใช้เสียงในการเลือกพรรคการเมือง ก็เป็นการต่อสู้โดยใช้การกาบัตรเลือกตั้งว่าจะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการพรรคไหนอันนั้นก็เป็นสิทธิ์
และคนที่รักประชาธิปไตย ต้องการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้ใช้สิทธิ์ครั้งนี้
นี่เป็นการต่อสู้สันติวิธีโดยแท้
ก่อนเข้าสู่
8 ข้อเรียกร้อง อ.ธิดากล่าวว่า 8 ปี หลังการทำรัฐประหารทำให้คดีความหยุดชะงัก
คือคนตาย 99 ศพ มีหลักฐานชัดเจน 95 ศพ ในจำนวน 95 ศพ ยังไม่ได้แม้กระทั่งทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ
62 ศพ และที่ทำสำนวนชันสูตรพลักศพไปแล้วมี 17
ศพที่ศาลวินิจฉัยว่ากระสุนปืนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ อีก 15 ศพ ไม่รู้ว่ากระสุนมาจากไหน
ซึ่งเป็นข้อที่น่ากังขาเพราะว่าการตายไล่เลี่ยกัน ในเวลาเดียวกัน ณ จุดเดียวกัน
แต่ว่าก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร คำวินิจฉัยอาจจะเบี่ยงเบนต่างกัน
ผลการรัฐประหารแช่แข็งทุกอย่าง
เมื่อคำวินิจฉัยการตายว่ากระสุนมาจากเจ้าหน้าที่
และเราฟ้องไปที่ศาล ปรากฎว่าผู้ที่เป็นนักการเมืองถูกศาลปัดให้ไปศาลอาญาของนักการเมืองโดยที่ป.ป.ช.ปัดตก
แปลว่านักการเมืองพ้นผิดโดยไม่ใช่ศาลคดีอาญาด้วยซ้ำ
ส่วนที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารก็ถูกโยนให้ไปศาลทหาร นี่คือภาวะปัจจุบันของคดีนี้ ดังนั้นข้อเรียกร้องในข้อ
1 ซึ่งถือว่าท่านทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ม.ค. 66 คือขอให้ท่านช่วยผลักดันและเร่งรัดคดีความกรณีปี
2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน
ไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าภายใต้กฎหมายที่มีอยู่
รวมถึงการให้ความเป็นธรรมกับคนเป็นด้วย
แม้กระทั่งปัจจุบันที่ไม่ได้รับการประกันตัว ปรากฏว่าถูกขังฟรีเนื่องจากศาลยกฟ้องและไม่ได้รับการเยียวยา
โดยอ้างว่าศาลไม่ได้ยกความผิดแต่หลักฐานไม่เพียงพอจะเอาผิด ดังนั้น คนเสื้อแดงตายฟรี
ติดคุกฟรี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ข้อ
2 เราขอเสนอกฎหมาย ทหารที่ทำผิดทางอาญาต่อประชาชนให้ขึ้นศาลพลเรือน
ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร นักการเมืองที่ทำความผิดอาญาต่อประชาชนให้ขึ้นศาลแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป
เพราะฐานความผิดไม่เท่ากันเลย
ข้อ
3 ถ้าได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีเหตุการณ์
2553 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งสามารถทำได้เลย
อ.ธิดา
กล่าวว่า นี่เป็นคำขอ 3 ข้อ สำหรับคนเสื้อแดงซึ่งยังมีความเจ็บปวดที่ร้าวลึกและมีแผลอยู่ในใจตลอดเวลา
อีก 5 ข้อ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย คือข้อ 4 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อเรามาทวงความยุติธรรม เราต้องการให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งข้อนี้สอดคล้องกับพรรคการเมืองทุกพรรค คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีที่มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งสสร.
แก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนแบบสากลจริง โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชน
สิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้ลงนามไว้ในสหประชาชาติ
รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม
ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว
ข้อ
5 แก้ไขกฎหมายอื่น ซึ่งในทัศนะอ.ธิดา กฎหมายเขียนโดยคน ชนชั้น และผลประโยชน์
ดังนั้นแก้ไขได้ ที่แนะนำก็คือกฎหมาย กอ.รมน. ที่เป็นรัฐซ้อนรัฐ พ.ร.บ.นี้ควรจะมีการแก้ไขใหม่
เป็นรัฐทหารซ้อนรัฐพลเรือนไม่ได้ มาตรา 112 ก็เป็นผลพวงการทำรัฐประหาร 2519
ข้อเสนอคือนี่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว โลกต้องเปลี่ยน ไม่มีกฎหมายใดอยู่กับที่
แม้ในสมัยร.5 ก็มีการปฏิรูปกฎหมายหลายรอบ สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมและเปนประโยชน์กับประชาชนก็ควรจะเขียนโดยประชาชน
ส่วนข้อเสนอที่เหลือก็เป็นการปฏิรูป
เช่น กระบวนการยุติธรรม, กองทัพ, องค์กรอิสระ และวุฒิสมาชิก ซึ่ง ส.ว.
เสนอให้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากไม่สามารถเลือกตั้งทั้งทางตรงหรือทางอ้อมได้
ก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย สุดท้ายมีข้อเสนอเรื่องกระจายอำนาจด้วย
อ.ธิดากล่าวทิ้งท้ายว่า
อยากจะฝากให้ผลักดันเป็นนโยบายพรรคการเมืองให้ได้
เพราะเวทีรัฐสภาก็คือเวทีการต่อสู้ ท่านไม่ได้มีเกียรติยศในฐานะเป็นส.ส.
เป็นรัฐบาลหรือรัฐมนตรี แต่ท่านมีเกียรติยศในฐานะที่เป็นส.ส. เป็นรัฐบาลของประชาชน
นี่เป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่
หรือท่านจะเลือกเป็นส.ส.หรือเป็นรัฐบาลที่ร่วมกับการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
นั่นแปลว่าท่านไม่ได้อยุ่ในปริมณฑลของการต่อสู้
แต่ท่านได้ย้ายข้างไปทำให้การต่อสู้ของประชาชนยากลำบากมากขึ้น
จากนั้น
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอบคุณคณะประชาชนทวงความยุติธรรม
2553 ที่มั่นใจในพรรคฝ่ายค้านที่จะนำข้อเรียกร้อง 8 ข้อไปดำเนินการต่อได้
เบื้องต้นเรายังไม่มีอำนาจรัฐ จึงขอรับมาเพื่อจะพิจารณาและนำเข้าสู่นโยบายของพรรคการเมืองและขับเคลื่อนต่ออย่างไร
ขอรับข้อเสนอทั้งหมดเพื่อดำเนินการต่อไป
ด้านพรรคก้าวไกล
ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เป็นตัวแทน ได้กล่าว ในนามพรรคก้าวไกล เราไม่ได้รับ 8
ข้อเสนอนี้ไปทำนโยบาย แต่พรรคก้าวไกลได้ทำนโยบายในเรื่องทั้งหมดนี้แล้ว
เรามีนโยบายที่จะยกเลิกนโยบายหลงยุคโดยพ.ร.บ.ความมั่นคงในปี 51 และขยายอำนาจให้
กอ.รมน. มากขึ้นหลังรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะยกเลิก กอ.รมน.
ไปเลย ส่วน ICC
ก็ทำเป็นนโยบายเรียบร้อยแล้ว ทันทีที่พรรคก้าวไกลมีอำนาจ เราจะผลักดันเรื่อง
ICC เป็นประเด็นเร่งด่วนทันที รวมถึงแก้ไขมาตรา 112, 116
และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
นพ.เหวง
โตจิราการ กล่าวว่า ผมเชื่อมั่นว่าพวกท่านจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้และได้เป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน
แม้จะมี 250 ส.ว. เป็นอุปสรรค และจะเป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายจะพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยขอเสนอ 5 ข้อ คือ
1)
ขอให้ยุติการรัฐประหารให้เด็ดขาด โดยเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วช่วยส่งเรื่องไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
เพื่อทบทวนการยึดอำนาจรัฐประหารที่ชนะเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วก็ยังมีความผิดมาตรา 113
สามารถเอาผิดผู้ยึดอำนาจที่มีชีวิตอยู่ดำเนินคดีได้
2)
ยุติการฆ่าประชาชนสองมือเปล่าที่มาเรียกร้องทางการเมือง โดยเอาศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ มาลงโทษทางการเมืองให้ได้
3)
รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีปี 2553
4)
แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล อำนาจตุลาการต้องผูกพันกับประชาชน
5)
ขอให้พิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจทหารชั้นผู้น้อยสามารถประกาศกฎอัยการศึกได้
พรรคเสรีรวมไทย
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นตัวแทน กล่าวทุกอย่างที่ คปช.53
เสนอมานั้นอยู่ในนโยบายของพรรคเสรีรวมไทย
พ.ต.อ.ทวี
สอดส่อง ตัวแทนหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เหตุผลการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เพื่อจะเป่าคดี
99 ศพ โดยการส่งเรื่องต่อไปให้ศาลทหารพิจารณา
ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้เสียหายจะไปฟ้องร้องเองไม่ได้ ผิดกับศาลพลเรือน
ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายสามารถไปฟ้องร้องเองได้ พรรคประชาชาติได้เสนอแก้ธรรมนูญศาลทหาร
โดยระบุว่าถ้าทหารกระทำผิดต่อประชาชนก็ให้ขึ้นศาลยุติธรรม แต่โชคร้ายที่ครม.ไม่เห็นด้วยต่อการแก้กฎหมายฉบับนี้
ทั้ง ๆ ที่ส.ส.เห็นด้วยแล้ว สำหรับข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคที่จะนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
ด้านหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
กล่าวว่า ยินดีร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านและสนันสนุนทุกข้อเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของประชาชน
โดยเฉพาะพี่น้องคนเสื้อแดง รอให้ยุบสภาแล้วจะประกาศเป็นนโยบายต่อไป
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง #เลือกตั้ง66