วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ธิดา” โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรธน. กรณีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นอีกครั้งที่ศาลรธน.และอำนาจตุลาการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แสดงบทบาทเหนืออำนาจนิติบัญญัติ


“ธิดา” โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรธน. กรณีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นอีกครั้งที่ศาลรธน.และอำนาจตุลาการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แสดงบทบาทเหนืออำนาจนิติบัญญัติ


วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2567) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ต่อกรณีการแก้ไขมาตรา 112 ความว่า


ความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567


ธิดา ถาวรเศรษฐ / 3 ก.พ. 67


เป็นอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญและอำนาจตุลาการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ได้ควบคุม ลงโทษ แสดงบทบาทเหนืออำนาจนิติบัญญัติ ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ยังไม่ได้เป็นตัวบทกฎหมายตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ (1) และ (2) ซึ่ง สส., สว. 1 ใน 10 หรือร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้ง 2 สภา สามารถส่งความเห็นคัดค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือนายกฯ ก็อาจส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย


ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อาจให้พระราชบัญญัติตกไป หรือ ข้อความที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญตกไป หรือดำเนินไปตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 145


นี่เป็นระบบการออกกฎหมายของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนโดยคณะของผู้ทำรัฐประหารของฝ่ายจารีต-อำนาจนิยมเอง ที่ให้บทบาทศาลรัฐธรรมนูญต่อฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อผ่านกฎหมายจากทางรัฐสภาไปแล้ว ไม่มีข้อไหนที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาจัดการ ตั้งแต่ตอนเสนอร่าง และไม่ได้ถูกบรรจุในวาระในสภาเลย


นี่เป็นประเด็นสำคัญในการมองขอบข่ายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใช้มาตรา 49 ซึ่งเกี่ยวกับบุคคล คณะบุคคล ที่ไม่ได้ใช้กระบวนการอำนาจนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย


ดิฉันเห็นว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีการคานอำนาจ 3 อำนาจ กลายเป็นอำนาจที่ 4 เหนืออำนาจอื่น ๆ เหนือกว่าอำนาจที่มีที่มาจากประชาชนในการออกกฎหมาย ฤาว่า ขณะนี้เราอยู่ในระบอบอื่น ที่องค์กรอิสระและอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารมีอำนาจเหนือกว่าประชาชน


การตรวจสอบเนื้อหากฎหมาย ควรเป็นอำนาจของรัฐสภา แล้วจึงลงมติเห็นชอบหรือไม่ นี่เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ใช่องค์กรอื่นมาจัดการแทน ก่อนที่จะได้เข้ารัฐสภาด้วยซ้ำ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาจัดการได้ตามมาตรา 148 ที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกฎหมายผ่านรัฐสภาแล้ว หรือตามมาตรา 210 ไม่ใช่มาตรา 49


เมื่อพิจารณาประเด็นเนื้อหาในร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล กรณียกเว้นความผิดที่เป็นเนื้อหาสำคัญ ผู้เสนอร่างน่าจะเอามาจากกฎหมายอาญา กรณีในปี 2478 ที่เขียนยกเว้นไว้ กรณีให้ สน.พระราชวัง เป็นผู้ร้องทุกข์ ก็น่าจะเอามาจากต่างประเทศและ คอป. ชุดนายคณิต ณ นคร


ดิฉันไม่ต้องการลงรายละเอียดในร่างของพรรคก้าวไกล เพราะนั่นควรเป็นหน้าที่ของรัฐสภา เพื่อเข้าสู่วาระในรัฐสภา


อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อดังหลายท่านเชื่อว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเป็นไปตามหลักนิติธรรม, Rule of Law ที่เป็นยุคสมัยของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของคณะบุคคลชั้นนำจารีต


อาทิ การแบ่งลักษณะปฏิบัติการดูหมิ่นและการอาฆาตมาดร้าย เพื่อให้การลงโทษสอดคล้องกับเหตุแห่งโทษนั้น


รวมทั้งการให้โทษขั้นสูงสุดไม่ควรสูงกว่าหรือเท่ากับที่เคยมีในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็น 3, 7 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ำ


การที่ปัจจุบันมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี โทษขั้นสูง 15 ปี มันเกินควรหรือไม่?


รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องกลั่นแกล้งโดยไม่สมควรที่มีมากมาย เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ฟ้องประชาชน เยาวชน อย่างนี้เข้าข่ายบ่อนเซาะกัดกร่อนทำลายสถาบันฯ หรือไม่? พิจารณาดู


อนึ่ง ตัวมาตรา 112 ปัจจุบันนี้ ก็มีที่มาจากการแก้ไขโดยข้อ 1 แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 [ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 134 หน้า 46 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 21 ตุลาคม 2519]


ดิฉันเชื่อว่า วิถีทางรัฐสภาของพรรคการเมือง ไม่ใช่วิถีทางล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตรงข้าม สถาบันตุลาการ และศาลรัฐธรรมนูญ กลับเห็นชอบกับการทำรัฐประหารโดยกองทัพและกลุ่มคนที่เอาสถาบันมาแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ อย่างนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและฝ่ายใดเลย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #มาตรา112 #ม112 #ล้มล้างการปกครอง