วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"ธีรยุทธ" ไม่หวั่นเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต เดินหน้ายื่นยุบพรรคก้าวไกล ผ่าน กกต. ชี้ช่องแก้ 112 ได้ แต่ต้องทำตามครรลอง

 


"ธีรยุทธ" ไม่หวั่นเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต เดินหน้ายื่นยุบพรรคก้าวไกล ผ่าน กกต. ชี้ช่องแก้ 112 ได้ แต่ต้องทำตามครรลอง 


วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของพุทธะอิสระ ซึ่งเป็นผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรรคก้าวไกลในกรณีการหาเสียงนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยในวันนี้ นายธีรยุทธ ได้นำคำร้องพร้อมเอกสารประกอบทั้งหมดจำนวน 116 แผ่น มายื่นต่อ กกต. ให้บังคับใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ 2560 ในมาตรา 92 ที่ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งในบัญญัติดังกล่าวได้ระบุบางช่วงบางตอนไว้ว่า การกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ กกต.ดำเนินการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้ยุบพรรคก้าวไกล 


นายธีรยุทธ ระบุว่า ในวันนี้ที่มายื่นคำร้อง เพราะต้องการทำหน้าที่ให้ครบถ้วน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วตนจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้นกระบวนการ 


เมื่อถามว่า วัตถุประสงค์ที่มายื่นเดิมทีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะยุบพรรคก้าวไกลเลยหรือไม่ นายธีรยุทธ ตอบว่า แค่ต้องการให้ศาลหยุดการกระทำ แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย และได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียดแล้ว เห็นว่าตนมีภาระผูกพันจำต้องทำกระบวนการต่อไป ในการทำหน้าที่ ว่าใครเป็นคนสร้างเหตุให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ 


ส่วนในอนาคตหาก กกต. มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล จะทำให้ในอนาคตภายภาคหน้าเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ นายธีรยุทธ ย้ำว่า ไม่กังวล เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครอง อีกทั้งพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคการเมืองที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เชื่อว่าหากเกิดความขัดแย้ง เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่แต่ละคนควรจะต้อง พิจารณาถึงหลักการ 


ส่วนคำวินิจฉัยของศาลเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) เป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในการแก้กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อาจจะไม่สามารถพูดหรือนำเสนอได้ทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะ ม.112 นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด บรรทัดสุดท้ายมีการวินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นการปิดประตู แต่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นไปตามครรลองของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 


”การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 จะต้องเป็นฉันทามติ ไม่ใช่วาระซ่อนเร้น ผ่านทางการเมือง โดยประชาชนอาจจะยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของกฎหมาย โดยสารเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีหลักการและเหตุผลในการพิจารณา ซึ่งก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยศาลได้มีการประชุมพิจารณา คำร้องของตนเองหนาถึง 62 ครั้ง ถือได้ว่าเป็นจำนวนมาก กว่าการพิจารณา แล้วตนมองว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นมีความละเอียดรอบด้านแล้ว“


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กกต #ยุบพรรค #ก้าวไกล