“รอมฎอน” โต้วงเสวนา “กอ.รมน.” ชี้
การเสนอยุบไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมายแต่เป็นเรื่องรัฐซ้อนรัฐ-สร้างภัยคุกคามต่อประชาชนและประชาธิปไตย
หวังนายกฯ เซ็นรับรองร่างกฎหมายให้สภาฯ ได้ถกเถียงต่อไป
วันที่
11 พฤศจิกายน 2566 รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล
แสดงความเห็นต่อวงเสวนาที่จัดขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
(กอ.รมน.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งออกมาโต้แย้งร่างกฎหมายยุบ
กอ.รมน. ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ
รอมฎอนระบุว่า
ตนรู้สึกยินดีอย่างมากที่ กอ.รมน. จัดเสวนาวิชาการนี้ขึ้น
และเสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วมแม้ในตอนแรกตั้งใจไว้แล้วว่าจะเข้าร่วม
เนื่องจากติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพฯ ชายแดนใต้/ปาตานี
ที่รัฐสภาในวันเดียวกัน
การจัดเวทีเช่นนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างบทสนทนาถกเถียงและแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
และอย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าการสื่อสารที่มุ่งด้อยค่าผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร
(ไอโอ) ที่ตอนนี้ตนก็ตกเป็นเป้าอยู่เช่นกัน ซึ่งหากทาง กอ.รมน.
จัดเวทีลักษณะนี้อีก ตนยินดีตอบรับเข้าร่วมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี
รอมฎอนระบุว่ามีประเด็นที่ควรต้องโต้แย้งในสาระสำคัญ 3 ประการที่มีการอภิปรายในงานเสวนานี้
กล่าวคือ
ประการแรก
การระบุว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดหลักการของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและเป็นการข้ามขั้นตอนไป
ซึ่งต้องย้ำอีกครั้งว่าหลักใหญ่ใจความของร่างฯ ดังกล่าวคือ การยุบ กอ.รมน.
ไม่ใช่เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญใด ๆ
ดังที่ผู้เสวนาหลายท่านทึกทักเข้าใจไปเอง โดยเป็น 1 ใน 5 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลยื่นเพื่อผลักดันวาระการปฏิรูปกองทัพ
เอาทหารออกจากการเมือง และการปฏิรูประบบงานความมั่นคงโดยรวม
จัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาธิปไตยจะตั้งมั่นอย่างเข้มแข็งในประเทศนี้
ในร่างกฎหมายชุดแรกจึงไม่ใช่มีเพียงแค่การยุบ
กอ.รมน. เท่านั้น แต่ยังมีอีก 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างกฎหมายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร
2) ร่างกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.
ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3) ร่างกฎหมายแก้ไขระเบียบราชการกลาโหม
เพื่อยกเลิกกลไกพิเศษที่ให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และ 4) ร่างกฎหมายการเงินการคลัง
เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบเงินนอกงบประมาณของกองทัพ
รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า
ในมิติด้านลึก
คำถามใหญ่จึงไม่ใช่เพียงเรื่องสาระสำคัญของกฎหมายเดิมหรือการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหาหรือไม่
แต่เกี่ยวข้องกับเหตุผลในการดำรงอยู่ของ กอ.รมน.
ในฐานะเครื่องมือสำคัญของกองทัพในการควบคุมและแทรกซึมสังคมประหนึ่งเป็นรัฐซ้อนรัฐ
กลายเป็นภัยคุกคามที่ใหม่และใหญ่กว่าต่อประชาชนและประชาธิปไตย
นี่จึงไม่ใช่เรื่องของการจัดการองค์กรว่ามีความเป็นสากลหรือไม่
มีหลักการรองรับทางวิชาการตามหลักวิชาบริหารรัฐกิจหรือทฤษฎีองค์การหรือไม่
ดังที่วิทยากร กอ.รมน.หลายคนนำเสนอ แต่เป็นคำถามในเชิงภววิทยาของสิ่งที่เรียกว่า
“ภัยคุกคามภายใน” และกลไกที่ใช้รับมือกับมันอย่าง กอ.รมน.ยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ประการที่สอง
การเสนอร่างกฎหมายนี้เป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจและหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล การตัดสินใจยุบหรือไม่ยุบ กอ.รมน.
เป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้การตัดสินใจทางการเมืองที่มีความชอบธรรมมากพอ
จึงต้องอาศัยสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา
ตอนนี้รอเพียงแต่นายกรัฐมนตรีจะให้คำรับรองและเปิดทางให้สภาฯ
ได้พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินฉบับนี้ต่อไป
ไม่ดองเก็บไว้บนโต๊ะและไม่สกัดขัดขวางการทำงานของสภาฯ
โดยเฉพาะการลงนามไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายนี้ตามคำแนะนำของ กอ.รมน.
ประการที่สาม
บริบทของการรัฐประหารทั้งสามครั้ง ในปี 2534, 2549 และ 2557 รวมถึงมรดกของ คสช. ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลยในวงเสวนา
ทั้งที่สัมพันธ์โดยตรงกับการฟื้นตัวและขยายอำนาจของ กอ.รมน.
หลังยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในผลพวงของการรัฐประหาร 2549 คือให้สถานะที่มั่นคงขึ้นของ กอ.รมน. ผ่านการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 2551
ในขณะที่หลังการรัฐประหารในปี 2557 มีการขยายบทบาทของกองทัพในกิจการความมั่นคงภายในผ่าน
กอ.รมน. โดยอาศัยอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหารตามมาตรา 44 และคำสั่งหัวหน้า
คสช.ที่ 51/2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญของ
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความหมายของ
“ความมั่นคง” ให้กว้างขวางขึ้นครอบคลุม “สาธารณภัย”
ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทของผู้นำกองทัพให้เข้ามากำกับงานในระดับนโยบายและโครงสร้างในระดับภาค
จนกลายเป็น “รัฐบาลน้อย” หรือ “ซูเปอร์ กอ.รมน.”
“กอ.รมน. จึงเป็นผลผลิตของระบอบรัฐประหารทั้งสามครั้ง
ที่ปั่นประสาทให้หวาดกลัวและอ้างภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่
ไม่ใช่แค่ร่างทรงกองทัพ หากเป็นทายาทอสูรของ คสช. ที่คายน้ำลายเอาไว้
และด้วยเหตุนี้ ในร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. ที่มีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 จึงไม่ใช่เพียงแค่การยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ. 2551 เท่านั้น หากแต่ยังต้องใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า
คสช. ที่ 51/2560 อีกด้วย” รอมฎอนกล่าว
รอมฎอนกล่าวต่อว่า
ที่น่าสนใจและย้อนแย้งก็คือ ในการรัฐประหารสองครั้งล่าสุด
เป็นการล้มรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 และรัฐบาลที่นำโดยยิ่งลักษณ์
ชินวัตรในปี 2557 แต่รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน
กลับมีท่าทีที่ยืนกรานชัดเจนว่าจะไม่ยุบ กอ.รมน. และยังจะเพิ่มบทบาทให้อีก
ทำให้ดูเหมือนว่าบทเรียนสำคัญที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกล่าวว่า
การยุบ กอ.รมน. เป็นเรื่องการเมืองที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน
ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยต้องทำกันในสภาฯ
โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดเวทีเสวนาที่
กอ.รมน. ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรสนับสนุน ยิ่งเรามีพื้นที่สนทนาในประเด็นที่แหลมคมเหล่านี้มากขึ้นเท่าไร
เราจะยิ่งมีทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น
“การจะอัปเกรด สมช.
หรือจัดตั้งทบวงใหม่เพื่อรองรับความท้าทายก็เป็นผลมาจากการถกเถียงเหล่านี้
ผมคิดว่าเราน่าจะมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่านี้หากได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจัง
พื้นที่อย่างมหาวิทยาลัย ร้านกาแฟ หรือรัฐสภาก็น่าจะจัดถกเถียงกันเรื่องนี้
และจะยิ่งน่าสนใจเมื่อเชิญเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. มาร่วม
เราอาจได้เห็นภาพของงานความมั่นคงแบบใหม่ที่ไม่ได้ผูกขาดอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็เป็นได้
เพราะความมั่นคงเป็นเรื่องของชีวิตพลเมืองมือเปล่าอย่างเรา ๆ ด้วย” รอมฎอนกล่าว