วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566

‘พริษฐ์’ ยก 4 เหตุผล เสนอประธานสภาเร่งนัดตัวแทนทุกพรรคหาข้อสรุปตั้ง กมธ.สามัญ เพิ่มกลไกแก้ปัญหาประชาชน ไม่ต้องรอตั้งรัฐบาลใหม่

 


พริษฐ์’ ยก 4 เหตุผล เสนอประธานสภาเร่งนัดตัวแทนทุกพรรคหาข้อสรุปตั้ง กมธ.สามัญ เพิ่มกลไกแก้ปัญหาประชาชน ไม่ต้องรอตั้งรัฐบาลใหม่

 

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งมีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

 

ในช่วงหนึ่ง ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นหารือถึงปัญหาการประสานงานระหว่างพรรคการเมืองในการหาข้อสรุปประเด็นต่างๆ เมื่อเสร็จสิ้น วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงกล่าวถึงความคืบหน้าข้อเสนอของพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ให้รีบนัดตัวแทนของทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมหาข้อสรุปเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการสามัญ 35 คณะโดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่ โดยประธานรัฐสภาระบุว่า ได้สั่งการให้พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งดูแลเรื่องกรรมาธิการ เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าจะสามารถแจ้งสัดส่วนใน กมธ. ให้ สส. ทราบได้

 

จากนั้น พริษฐ์ใช้สิทธิพาดพิง กล่าวขอบคุณประธานที่รับฟังและพยายามเร่งรัดข้อเสนอดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ผูกติดเงื่อนไขให้การตั้ง กมธ. สามัญ 35 คณะ ต้องรอให้มีฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก่อน เพียงแต่กำหนดสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองตามจำนวน สส. ที่มีอยู่

 

นอกจากนั้นข้อดีอีกประการ หากตั้ง กมธ. สามัญได้ก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาล อาจช่วยให้สภาฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้มีประสิทธิภาพและเข้มข้นมากขึ้น เพราะจากสถิติสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว จะเห็นว่าในบรรดา กมธ. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ส่วนใหญ่ของคนที่นั่งเป็นประธานใน กมธ. นั้น มักสังกัดพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ พริษฐ์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว ชี้แจงเหตุผลของข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อที่ 90 กำหนด กมธ. สามัญไว้ 35 คณะ แบ่งตามประเด็นปัญหาต่างๆของประชาชน เช่น พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาการเมือง การเกษตรและสหกรณ์ การศึกษา โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา สภามักตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยกติกาการเมืองที่ไม่ปกติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ได้ดำเนินการมาครบ 1 เดือนวันนี้ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของสมัยประชุมนี้ โดยที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ และไม่แน่ใจว่าจะมีเมื่อไร

 

พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้สภาฯ พิจารณาเร่งรัดการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญอย่างเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามข้อบังคับ โดยมี 4 เหตุผลประกอบ ดังนี้

 

เหตุผลที่หนึ่ง การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจะทำให้ประเทศมีกลไกเพิ่มเติมในการรับเรื่อง ศึกษา และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาประชาชน ในส่วนกลไกฝ่ายบริหาร เราเข้าใจว่าสังคมและผู้แทนราษฎรอาจยังมีความเห็นต่างกัน ว่าเราควรจะหาสมดุลอย่างไรระหว่างการมีรัฐบาลที่เร็วกับรัฐบาลที่เป็นไปตามมติมหาชนและผลการเลือกตั้ง แต่ในส่วนกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่มีปัญหาลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเลขาธิการสภาได้แจ้งกับ ส.ส. ทุกคนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้จัดสรรจำนวนกรรมาธิการของแต่ละพรรคเรียบร้อยแล้ว

 

จึงหวังว่าเพื่อนๆ ผู้แทนราษฎรจากทุกพรรค ที่ได้แสดงความห่วงใยผ่านสื่อสาธารณะว่าปัญหาประเทศรอไม่ได้ จะร่วมกันสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญโดยเร็ว” พริษฐ์ระบุ

 

พริษฐ์ กล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่สอง การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จะช่วยให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้าดูระเบียบวาระที่ถูกบรรจุเข้ามาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นหลายวาระที่เป็นญัตติในการใช้กลไกของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อมาเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ

 

แม้ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนต่อพี่น้องประชาชน แต่หากเรามีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะตั้งขึ้นมาแล้ว บางปัญหานั้นสามารถถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่ากัน ผ่านกลไกกรรมาธิการสามัญ ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาในห้องประชุมใหญ่เพิ่มมากขึ้นในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่ต่อคิวอยู่จำนวนไม่น้อย

 

เหตุผลที่สาม การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จะช่วยปลดล็อกให้กลไกนิติบัญญัติอื่น ๆ ของสภาที่มีความเชื่อมโยงกับบทบาทของคณะกรรมาธิการสามัญ เดินหน้าต่อได้ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดคือกระบวนการคัดค้านคำวินิจฉัยของประธานสภาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่ต้องส่งให้นายกฯ รับรอง ซึ่งข้อบังคับข้อ 114 และ 115 ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของการประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญทุกคณะ

 

เหตุผลที่สี่ การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญก่อนจะรู้หน้าตาของรัฐบาล อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร หากเราย้อนไปดูสถิติของสภาชุดล่าสุด จะพบว่าในบรรดาคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เกินครึ่งหนึ่งจะมีประธานที่สังกัดพรรคเดียวกันกับรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้น การจัดองค์ประกอบเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลายคนตั้งข้อกังวลว่า อาจเป็นการทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงนั้นเข้มข้นน้อยลง ดังนั้น การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญก่อนจะรู้ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลหรือใครเป็นรัฐมนตรี อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการสามัญในการตรวจสอบรัฐบาล

 

ด้วยเหตุผล 4 ประการนี้ จึงเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้รีบนัดตัวแทนของทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการตั้งกรรมาธิการสามัญ 35 คณะอย่างเร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา