วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

“ธาริต-ญาติ 99 ศพ” ร้องขอศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้คนเจ็บ – ตาย 99 ศพ ให้พ้นจากตราบาป เผย ถูกนายทหารใหญ่เรียกพบ ขู่ให้หยุดทำคดี 99 ศพ ถ้าไม่เชื่อ พวกอั๊วปฏิวัติ!

 


ธาริต-ญาติ 99 ศพ” ร้องขอศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้คนเจ็บ – ตาย 99 ศพ ให้พ้นจากตราบาป เผย ถูกนายทหารใหญ่เรียกพบ ขู่ให้หยุดทำคดี 99 ศพ ถ้าไม่เชื่อ พวกอั๊วปฏิวัติ!


วันนี้ (8 กรกฎาคม 2566) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดี DSI และตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต 99 ศพ ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน ร้องขอศาลฎีกาให้คืนความยุติธรรมให้ ผู้เสียชีวิต 99 ศพ และครอบครัวผู้ตายกับผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เมษายน – พฤษภาคม 2553 “99 ศพ สมควรได้รับคืนความยุติธรรมและพ้นจากตราบาปว่าเป็นผู้ผิด”

 

โดยนายธาริต แบ่งกล่าวเป็น 3 ประเด็น

 

ประเด็นที่ 1 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีข้าพเจ้า นายธาริต เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289

         

จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของข้าฯ ในนามอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดี คือ นายอภิสิทธิ์ฯ และนายสุเทพฯ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่าพนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดี

              

เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ข้าพเจ้าเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทำหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับและถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่างด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง

              

ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่าศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัย เสียเองไม่ได้

 

ประเด็นที่ 2 ตามที่มีข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า นายธาริต ได้เลื่อนการฟัง คำพิพากษาศาลฎีกาหลาย ๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น นายธาริต ได้ชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลาย ๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่

(1) การส่งหมายศาลในครั้งแรกไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย

(2) จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง เส้นเลือดในสมองตีบ และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลศิริราช

(3) มีญาติผู้ตายของ 99 ศพยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ

(4) จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ


ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั้นเอง การเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีนี้หลาย ๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการ ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากความผิดของนายธาริต ที่จะหลบเลี่ยงไม่ฟังคำพิพากษา


ประเด็นที่ 3 นายธาริต และญาติของผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตาย เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย ส่วนนายธาริตฯ เอง ก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่าง ๆ ที่กล่าวมายังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่ง มาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

 

ประเด็นที่ ข้อกังวลและไม่สบายใจของนายธาริตฯ และญาติผู้ตายเป็นอย่างยิ่งคือ ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องนายธาริต กับพวก เพราะเหตุว่าได้กระทำการตามหน้าที่และผู้ตายทั้ง 99 ศพ ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ แต่หากศาลฎีกาจะได้พิพากษากลับ ไม่เป็นไปตามศาล ชั้นต้น โดยลงโทษนายธาริต กับพวก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า การที่นายธาริตกับพวกพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ฯ กับนายสุเทพฯ นั้น ไม่ชอบเป็นความผิดเพราะ นายอภิสิทธิ์ฯ และนายสุเทพฯ กระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิงทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต 99 ศพ นั้น เพราะเกิดเหตุร้ายแรงจากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ตายดังกล่าว การสั่งให้ระงับเหตุของนายอภิสิทธิ์ฯ และนายสุเทพฯ จึงเป็นกรณีสมควรแก่เหตุแล้ว ผลก็จะเปรียบเสมือนการ “รับรองยืนยันหรือการันตี” ให้นายอภิสิทธิ์ฯ และนายสุเทพฯ และผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ในขณะที่ผู้ตายทั้ง 99 ศพ พร้อมครอบครัวและผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนจะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาในความเสียหายทันที และเป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพ ว่าเป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่าทำแล้วไม่ต้องรับผิดและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งดีเอสไอและหน่วยงานอื่น ๆ จะไม่กล้าดำเนินคดีเพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด


บทสรุปคือ ดังที่นายธาริต ได้แถลงชี้แจงมาเป็นลำดับก็ด้วยนายธาริต มีความประสงค์จะร้องขอให้ศาลฎีกาได้โปรดเมตตาคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถึงแก่ความตาย 99 ศพ พร้อมครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน รวมถึงตัวนายธาริตกับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายด้วย ในสถานการณ์ของบ้านเมืองเช่นนี้คงมีแต่ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะผดุงความยุติธรรมตามความเป็นจริง และความยุติธรรมตามธรรมชาติที่สมควรจะพึงมีอยู่ต่อไป ด้วยความเคารพและคาดหวังเป็นอย่างสูง “แล้วในวันที่ 10 กรกฎาคม นี้จะเกิดอะไรขึ้น” นายธาริตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลต่อความยุติธรรมว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะนายธาริตได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่อง ป.อาญา มาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำร้องได้ยื่นเมื่อวันศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญว่า ศาลอาญาอาจส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีคำสั่งทันทีให้ยกคำร้องที่ขอศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วสั่งศาลอาญาอ่านคำพิพากษาจำคุกนายธาริตส่งตัวเข้าคุกทันที หรือศาลฎีกาอาจสั่งให้ส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้


อนึ่ง แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจะได้พิพากษายกฟ้องนายธาริตกับพวกและระบุว่าผู้ตาย 99 ศพ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่าเป็นความผิด คำพิพากษาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเคยร่วมชุมนุมกับกปปส. และเมื่อคดีของนายธาริตกับพวก ขึ้นสู่ศาลฎีกา บุคคลดังกล่าวก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเช่นกัน นายธาริต กล่าวว่าประเด็นนี้เป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง


นายธาริต พร้อมติดคุกและยืนยันเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาที่ทำงานอย่างมืออาชีพ โดยกล่าวว่า หากผมจะต้องติดคุกอีกเหมือนคดีทุจริตโรงพักร้าง 365 แห่งทั่วประเทศ ที่ผมก็ได้ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย (แต่กลับถูกนายสุเทพ ฯ ฟ้องกลับ) ผมก็จำเป็นต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผมไม่อาจทำใจยอมรับได้โดยต้องเสียใจอย่างที่สุด และการออกมาชี้แจงครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายหรือ Last War เพื่อแสวงหาความยุติธรรมว่าสมควรมีอยู่จริง และเพื่อใช้สิทธิชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจเหตุการณ์ตายของ 99 ศพ และตัวผมจากข้อความจริงว่าเป็นอยู่อย่างไร และขอให้กำลังใจ ต่อข้าราชการที่ล้วนทำงานอย่างมืออาชีพทุกคนว่าเราจะต้องไม่ย่อท้อต่อการแสวงหาความยุติธรรม” นายธาริต กล่าว


ที่สำคัญ นายธาริตได้เปิดเผยตอนหนึ่งว่า ช่วงที่ตนกำลังดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI อยู่นั้น ได้มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่มากและเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเรียกไปพบแล้วพูดว่า “เฮ้ย ธาริต อย่าดำเนินคดีเรื่อง 99 ศพนะ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั๊วปฏิวัติ” ผมจะทำยังไงในเมื่อศาลได้ชี้มาว่าการตายมันเกิดจากทหารใช้อาวุธสงคราม ถ้าผมไม่ทำผมก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ผมไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำ เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย นายธาริต กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธาริตเพ็งดิษฐ์ #เมษาพฤษภา53