ศูนย์ทนายฯ
จัดเวทีให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายคดีการเมือง "เพื่อไทย-ก้าวไกล-สามัญชน"
เห็นด้วยกับนิรโทษกรรม แต่ต้องย้อนถึง 2549 ทุกสีเสื้อยกเว้นคดีความผิดต่อชีวิต
เมื่อวันที่
26 เมษายน 2566 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
(FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเวทีให้พรรคการเมืองที่ร่วมลงรับเลือกตั้ง
2566 ได้นำเสนอนโยบายในประเด็น “คดีการเมืองจัดการอย่างไร :
เวทีเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง”
โดยมีทั้งนักกิจกรรมและตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล
พรรคสามัญชนและพรรคชาติพัฒนากล้ามาร่วมงาน
พูนสุข
พูนสุขเจริญ นักวิจัยและทนายความของศูนย์ทนายความฯ
ให้ข้อมูลสถิติของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการติดตามคุกคาม
การเรียกรายงานตัว ควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การห้ามทำกิจกรรมเสวนาและการชุมนุม
รวมถึงการดำเนินคดีข้อหาตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ที่เกิดขึ้นในช่วงที่
คสช.ครองอำนาจโดยใช้ศาลทหารมาพิจารณาคดีและยังมีบางคดีที่ปัจจุบันยังไม่ถึงที่สุด นอกจากนี้การใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย
ยังนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศที่สามไม่น้อยกว่า 100 ราย
อย่างไรก็ดี
พูนสุขกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ศูนย์ทนายความฯ มีถึงพรรคการเมืองมี 3
ประเด็นหลักคือ
1.
ตรากฎหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2557
ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อเสนอนี้หากต้องการขยายไปถึงช่วงเวลาอื่นๆ ก็สามารถทำได้
เนื่องจากกรอบเวลาของทางศูนย์ทนายความฯ
อิงตามข้อมูลที่ทางศูนย์ทนายเริ่มเก็บภายหลัง 22 พ.ค.2557
สำหรับการดำเนินการให้มีการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาว่าคดีลักษณะใดเป็นคดีการเมืองและคดีใดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง มีรายละเอียดดังนี้
- คดีการเมือง คือ คดีสามารถระบุฐานความผิด หรือ เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุได้ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของ คสช. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีมาตรา 112 เป็นต้น
- คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือ คดีที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ระบุว่าเป็นคดีการเมืองหรือเกิดเหตุการณ์ในวันที่ระบุไว้ แต่สามารถพิสูจน์แรงจูงใจในการดำเนินการได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
2.
ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง
ซึ่งจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นฐานในการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดและดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อไป
3.
รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น
ทั้งการแถลงการณ์ขอโทษเพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับข้อเท็จจริง
รวมถึงการรับรองว่าจะว่าไม่ให้เกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นซ้ำอีก
ด้าน
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
เขาเห็นด้วยกับพวงทองที่ต้องแบ่งเป็น 2
กลุ่มคือคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและคดีที่ศาลตัดสินแล้วยังจำคุกอยู่หรือพ้นโทษมาแล้วต้องนิรโทษกรรมให้ไม่มีความผิดหรือให้คดีสิ้นสุดไปถ้าคดียังไม่จบ
เพราะมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากที่นับมาตั้งแต่ปี 2549
ที่พ้นโทษมาแล้วหรือถูกลงโทาปรับ หรือรอลงอาญายังมีความจำเป็นต้องล้างความผิดให้
ส.ส.ก้าวไกลเล่าว่า
มีคนที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 เพราะทำเพจล้อการเมืองโทรศัพท์มาขอให้ช่วย
เพราะว่าจะไปสมัครเป็นไรเดอร์แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้ทำงาน เพราะมีประวัติอาชญากรรมอยู่
ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปสอบเป็นผู้พิพากษา แค่เป็นไรเดอร์ก็ยังไม่ได้
ชัยธวัช
กล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมให้ทุกเฉดสีการเมือง
แต่ยังไม่รวมข้อหาคดีทุจริตเพื่อป้องกันแรงเสียดทานทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นและคดีที่เป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างกายซึ่งเขาคิดว่าควรให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไป
และต้องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีขึ้นมาพิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมคดีใดบ้างแล้วทยอยประกาศล้างความผิดไปซึ่งเขาคิดว่ากระบวนการนิรโทษกรรมน่าจะสำเร็จได้ภายในสองปี
และถ้ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีคนใดไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเช่นกรณีของธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจที่มีคดีติดอยู่ ก็สามารถขอใช้สิทธิได้เพื่อไม่ให้มีการกล่าวหาโจมตีกันว่าทำเพื่อมาช่วยพวกพ้อง
เลขาฯ
ก้าวไกลย้ำว่าสำหรับพรรคเองก็มีร่างกฎหมายรอไว้อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่หลังเลือกตั้งถ้าสภาเปิดมาก็สามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้เลยเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน
และยังมีร่างกฎหมายอีก 40ฉบับ ที่หลังเลือกตั้งเสร็จก็จะทำให้ร่างสมบูรณ์พอแล้วยื่นเข้าสภาไปด้วยเช่นกัน
ชัยธวัชได้กล่าวเสริมถึงเรื่องการนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ไว้ว่า
เขาคิดว่าเรื่องนี้ใส่ในบทเฉพาะการในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้และเป็นเรื่องที่ต้องมีด้วย
ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลชี้ที่ต้องทบทวนคดีการเมืองในปัจจุบันก็คือ
เพื่อยุติความขัดแย้งเฉพาะหน้า แต่เขาก็เสริมว่าสำหรับเรื่องสลายชุมนุมปี 2553
คดีความของผู้เสียชีวิตก็ควรจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่และผลักดันให้มีการไต่สวนการตายและคดีใดที่ไต่สวนการตายแล้วและยังอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรืออัยการก็ต้องทำให้เข้าสู่การพิจารณาคดี
และการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่น่าจะให้ความยุติธรรมได้
นอกจากนั้นจะมีกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก
แก้ไขกฎหมายในหมวดความมั่นคงอย่างการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
แล้วออกเป็นพ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินแทน
หรือกฎหมายที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงแต่ถูกเอามาใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งกฎหมายมาตรา 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กฎหมายฐานหมิ่นประมาททั้งหมดรวมมาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นคือการออกกฎหมายเพิ่มฐานความผิดบิดเบือนกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนสามารถฟ้องดำเนินคดีกับตำรวจจนถึงศาลถ้ามีการบิดเบือนกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ชัยธวัชกล่าวว่า
พรรคยังเสนอให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเพื่อสร้างฉันทามติใหม่ในสังคม
เพราะความขัดแย้งที่มีอยู่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการออกแบบอำนาจของสถาบันทางการเมือง
ซึ่งรัฐบาลใหม่น่าจะสามารถทำประชามติได้ตั้งแต่ภายใน 100
วันแรกและคิดว่าไม่เกินพ.ศ. 2570 น่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พรรคก้าวไกลยังมีการปฏิรูปกองทัพ
และจะมีการแก้ไขกฎอัยการศึกให้ผู้ที่มีอำนาจประกาศใช้มีเพียงรัฐบาลและต้องใช้ได้เฉพาะสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศเท่านั้น
“ข้อสุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้ในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์
รัฐบาลใหม่ควรมีกุศโลบายเพื่อยุติในการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งที่ร้าวลึกในสังคมปัจจุบัน”
ชัยธวัชกล่าวว่า
เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันและเขาอยากสื่อสารถึงคนจำนวนมากที่ไม่สบายใจหรือกังวลใจหรือโกรธเกลียดคนที่แสดงออกต่อสถาบันไม่เหมือนกับพวกเขา
แต่เขาคิดว่าต้องทบทวนว่าสิ่งที่เกิดทุกวันนี้เป็นผลมาจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ที่บางฝ่ายที่เอาเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นการชูคำขวัญ
“เรารัก เราจะต้องสู้เพื่อในหลวง”
มาขับไล่รัฐบาลหรือสนับสนุนการรัฐประหารและตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็ไม่เคยยุติ
ดังนั้นถ้าจะยุติความขัดแย้งที่ร้าวลึกก็ต้องยุติกระบวนการตรงนี้ด้วยแล้วก็เอาสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมือง
แล้วใช้กระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามประชาธิปไตยมาหาฉันทามติที่พอจะร่วมกันได้ด้วยในสังคม
เพราะเมื่อพูดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยจะปิดตาไว้ข้างหนึ่งไม่ได้เพราะจะกลายเป็นระเบิดเวลา
ต่อมา
ขัตติยา สวัสดิผล
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าจุดยืนของพรรคมองว่าที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับประชาชนหลังการรัฐประหารเยอะมากเช่นข้อหาขัดคำสั่ง
คสช. ทำให้บางคนต้องลี้ภัยหรือการใช้มาตรา 44 กดขี่ประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ
การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนซึ่งงขัดนิติรัฐและนิติธรรม อีกทั้งรัฐบาล
คสช.ยังสืบทอดอำนาจตัวเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วบริหารอย่างไม่เป็นมือาชีพจนมีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับข้อเรียกร้อง
3 ข้อ จนถูกดำเนินคดีทั้งที่พวกเขายังเป็นเยาวชน
ขัตติยากล่าวว่าทางพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอของศูนย์ทนายความฯ
และหากก้าวไกลจะผลักดันเรื่องนี้ในสภาก็จะสนับสนุน
อย่างไรก็ตามการจะออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะมีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายแน่นอน
แม้ว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้ง
แต่หากมีการโต้แย้งก็ต้องตระหนักให้มากและนอกจากการนิรโทษกรรมแล้วยังมีเครื่องมืออื่นๆ
เช่น การสานเสวนาหรือการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้นเธอเห็นว่าการผลักดันการนิรโทษกรรมนี้ยังต้องมีกลไกนอกสภาด้วยคือการเปิดรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้นโดยทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
เพราะประวัติศาสตร์มาแล้วว่าถ้าไม่รับฟังเสียงจากทุกฝ่ายก็ทำให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีอำนาจอยู่ในทุกวันนี้
ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายเข้าไปในสภาเพื่อไทยก็จะไม่เป็นศัตรูและเชื่อจะสามารถนำการมีส่วนร่วมของประชาชนมาผลักดันกฎหมายนี้ได้
ขัตติยากล่าวว่าพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมใน
5 กลุ่มคดีคือ
1.
คดีการเมือง
2.
คดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
3.
คดีความมั่นคง
4.
คดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด
5.
คดีที่รัฐส้รางขึ้นมาเองโดยการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร เช่น
ข้อหาฝ่าฝืนเรียกรายงานตัว
นอกจากนั้นประเด็นแรกที่ควรจะต้องพิจารณายกเลิกก่อนคือการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
กับเยาวชนช่วงในที่ผ่านมา
แต่เรื่องที่ยังมีความยากคือการจะกำหนดหรือจะนิยามคดีการเมือง
คดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน คดีความมั่นคง
คดีที่เกี่ยวกับความแตกต่างทางความคิดได้อย่างไรบ้าง
คนที่ถูกใช้กระบวนการยุติธรรมที่ผิดเพี้ยนจะอยู่ในข่ายหรือไม่ จะนิรโทษกรรมคดีม.112
ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำนิยามของคดีเหล่านี้
จึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาเพราะหากไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยทุกฝ่ายก็จะมีการชุมนุมต่อต้านตามมาแล้วเหตุการณ์ก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม
แต่ก็ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะยังมีคนในเรือนจำที่เขาอยากออกมา
และยังมีคนที่อยากเคลียร์ประวัติตัวเอง
ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องได้บทสรุปที่เร็วที่สุด
ประเด็นเรื่องกรอบเวลาของการนิรโทษกรรมขัตติยาเห็นว่าจะต้องย้อนกลับไปถึง
2549 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคของทุกคน เพื่อให้เกิดการยอมรับกันในสังคมไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเอื้อให้กับแค่บางกลุ่ม
แต่จะต้องไม่รวมคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิตเช่นการฆ่าคนตายและกระบวนการยุติธรรมการค้นหาความจริงต้องดำเนินต่อไป
“ถ้าสังคมนำไปสู่การนิรโทษกรรมแล้วจริงๆ
สังคมจะต้องยอมรับว่าการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
และนั่นไม่ใช่ความผิด”
ขัตติยากล่าวว่า จำเป็นต้องมีกระบวนการเยียวยาให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องลี้ภัยออกไป
ซึ่งจะต้องมีทั้งตัวเงินและโอกาส การได้แสดงออกของผู้บังคับใช้กฎหมายต่อสังคมด้วย
ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงส่วนกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมปี
2553
ว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรมไปถึงและในตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังได้เคยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองย้อนไปถึง
2548 แล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมก็ถือว่าทำสำเร็จในแง่ที่ว่าทำให้เกิดการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ใน
DSI ไปจนถึงศาลได้ แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ
เทือกสุบรรณก็ได้ใช้เทคนิคกฎหมายทำให้ศาลอาญามีคำสั่งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและเมื่อคดีไปอยู่ใน
ปปช.ก็ตีตกแล้วไปศาลทหารแทนซึ่งความมั่วของการใช้กฎหมายแบบนี้ทำให้ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเพื่อจัดโครงสร้างอำนาจของฝ่ายบริหาร
นิติบัญญัติ และตุลาการ
รวมถึงองค์กรอิสระเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งว่าเรื่องใดอยู่ในอำนาจของใครถ้าจัดการเรื่องนี้ได้ก็จะจัดการปัญหาความขัดแย้งในอนาคตได้
ทั้งนี้
ขัตติยาตอบคำถามพิธีกรว่า ทางพรรคมีแผนจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเองหรือไม่
เธอตอบว่ามีทางพรรคเองก็มีข้อมูลคดีอยู่แล้วก็ยังคุยกันอยู่ว่าจะมีการเสนอร่างเองหรือไม่
ชัยธวัช
เลขาธิการพรรคก้าวไกล เสริมว่า คือการใช้กลไกคณะกรรมการโดยให้รัฐสภาตั้งขึ้นมามีข้อข้อดีคือเป็นเวทีให้คนจากหลายฝ่ายได้มาถกเถียงกันได้
และยังจัดความสำคัญได้ด้วย เช่น
ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าคดีของเยาวชนจำคุกอยู่หรืออยู่ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการก็ออกประกาศมายกเลิกไปทีละกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึง
2 ปีค่อยประกาศเลิกทีเดียวทั้งหมด และยังเป็นกลไกถกเถียงแลกเปลี่ยนได้ว่าพฤติการณ์คดีแบบใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
ซึ่งเขาเห็นว่าคดียึดสนามบินหรือยึดทำเนียบก็ควรจะได้นิรโทษกรรม
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า
จากที่เคยได้พูดคุยกับ
ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและส.ว.เองก็บางคนก็ยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแม้พวกเขาจะยังมองว่าไม่ควรนับรวมคดี
ม.112
แต่ตัวเขาเองยังเห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ใช้กลไกคณะกรรมการมาคุยกันได้
นอกจากนั้นที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมเคยมีฉันทามติร่วมกันมาแล้วว่าให้นิรโทษกรรมหมดทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง
แต่ตอนนั้นมีการใส่เนื้อหาที่ถูกตีความว่าเป็นการเหมาเข่งบ้าง
แล้วเสื้อแดงเองก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะไปนิรโทษกรรมให้ทหารที่ยิงประชาชน
ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้ต้องกลับมาตั้งหลักคุยกันใหม่
เลิศศักดิ์
คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากพรรคสามัญชน กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรมที่เสนอกันมาและมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐควรจะเป็นคนเซ็ตซีโร่ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดความปรองดองและควรจะย้อนไปถึงคดีที่เกิดหลัง
2549 เป็นอย่างน้อย
และทางพรรคเองยังมีร่างกฎหมายที่จะนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่าด้วยเพราะที่ผ่านมามีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากเรื่องนี้ถึง
4 หมื่นกว่าคดีมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วกว่าพันคน
อีกทั้งประชาชนยังเดือดร้อนจากการโดนแย่งยึดที่ดินไปกว่าหนึ่งล้านไร่จากการใช้อำนาจของ
คสช.
อย่างไรก็ตาม
เขามีความเห็นเรื่องการใช้คำว่า “นิรโทษกรรม”
ว่าระหว่างทางของการพิจารณาร่างกฎหมายอาจจะต้องหาคำอื่นมาใช้แทนเนื่องจากว่าสำหรับประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งจากรัฐเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองได้กระทำความผิด
แล้วเหตุใดจะต้องได้รับการนิรโทษกรรมในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด
อรัญ
พันธุมจินดา รองเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า
กล่าวว่ายินดีที่ได้มารับฟังสภาพปัญหาของประชาชนเพราะที่ผ่านมาพรรคเองก็เน้นไปที่นโยบายเรื่องปากท้อง
ซึ่งจะรับฟังปัญหาไปเพื่อขับเคลื่อนต่อไป
อรัญกล่าวว่า
สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายยังต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้เกิดจากตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ไปตามตัวบทกฎหมายหรือไม่
แต่เขาก็เห็นว่ากฎอัยการศึกมีเรื่องที่ต้องแก้ไขหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ก็จะต้องทำให้เกิดสมดุลกันระหว่างการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และเสรีภาพของประชาชน
และพรรคเชื่อว่าการแก้ความขัดแย้งในสังคมและคดีการเมืองสามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม
อรัญไม่ได้กล่าวว่าทางพรรคมีความเห็นอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง
อ่านรายละเอียดที่ https://prachatai.com/journal/2023/04/103867
ที่มา
: ประชาไท