วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566

‘ก้าวไกล’ ร่วมรำลึก 13 ปี 10 เมษา 53 ตอบรับทุกข้อเสนอ คปช.53 ‘ชัยธวัช’ ย้ำนโยบายก้าวไกลชัดเจน ผลักดันกระบวนการทั้งในและระหว่างประเทศ คืนความยุติธรรมคนเสื้อแดง ด้าน ‘ปิยบุตร’ ชูจุดยืนก้าวไกล ไม่ร่วมรัฐบาลคนทำรัฐประหาร-เกี่ยวข้องสลายชุมนุม ปี 53

 


ก้าวไกล’ ร่วมรำลึก 13 ปี 10 เมษา 53 ตอบรับทุกข้อเสนอ คปช.53 ‘ชัยธวัช’ ย้ำนโยบายก้าวไกลชัดเจน ผลักดันกระบวนการทั้งในและระหว่างประเทศ คืนความยุติธรรมคนเสื้อแดง ด้าน ‘ปิยบุตร’ ชูจุดยืนก้าวไกล ไม่ร่วมรัฐบาลคนทำรัฐประหาร-เกี่ยวข้องสลายชุมนุม ปี 53

 

วันนี้ (10 เม.ย. 66) แกนนำพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมรำลึกครบรอบ 13 ปีการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง 10 เมษายน 2553 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยวางพวงมาลาและกล่าวคำไว้อาลัยร่วมกับญาติวีรชน อดีตแกนนำ นปช. และพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก่อนเข้าสู่ช่วงเวทีแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

 

ชัยธวัช ได้ขึ้นกล่าวในฐานะตัวแทนจากพรรคก้าวไกลว่า ในฐานะผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์วันนั้น ตนและเพื่อนต่างกลับมาคิดว่าในฐานะผู้รอดชีวิต จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อพี่น้องที่ล้มตายไปจำนวนมากได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทวงคืนความยุติธรรม จึงได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มภาคประชาชนขึ้นมา ผลักดันให้เกิดการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนพี่น้องภาคประชาชนหลายส่วน จนรวบรวมหลักฐานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

 

แต่น่าเสียใจ 13 ปีผ่านไป ข้อมูลที่เรามีชัดเจนมาก ทั้งพยาน คลิป ข้อมูลการเสียชีวิต ทั้งเวลาและสถานที่ มีอาวุธในมือหรือไม่ ที่เราได้รวบรวมกันมากว่า 2 ปี จนมั่นใจว่าเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่เราเคยมีมาในการชำประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมของประเทศนี้ แต่กระบวนการกลับไม่เดินไปเช่นนั้น หลังการรัฐประหาร 2557 ทุกอย่างหยุดนิ่งลง

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า วันนี้ทุกคนที่อยู่เบื้องหลังการสลายการชุมนุมยังคงลอยนวลทั้งหมดและยังอยู่สบายดี ไม่ใช่เพราะบริสุทธิ์ แต่เพราะกระบวนการยุติธรรมที่บิดผัน จากเดิมที่ดำเนินการในชั้นศาลยุติธรรม ต่อมาศาลยุติธรรมกลับไม่รับฟ้อง ให้ต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านการชี้มูลโดย ป.ป.ช. ซึ่งก็ไม่รับฟ้องอีก

 

ทำให้ในเวลานี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังคงอยู่สบายดี ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในวันนั้น คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่วันนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รอง ผอ.ศอฉ. ที่วันนี้เป็นรองนายกฯ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าจะมาปรองดองก้าวข้ามความขัดแย้ง, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นคนมีบทบาทสำคัญในการสลายการชุมนุม รวมถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ผอ.กอ.รมน. และ กรรมการ ศอฉ. ผู้รับผิดชอบหลักในการสลายการชุมนุม ที่เมื่อสลายเสร็จยังออกแถลงโทรทัศน์ด้วยความภูมิใจ ว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 100 คน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าไม่ถึง 500 คน ทุกวันนี้ได้เป็นองคมนตรีไปแล้ว

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้กระบวนการยังไม่จบลง ยังสามารถดำเนินการต่อได้ทั้งจากกลไกภายในประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ถ้ารัฐบาลหน้าเป็นรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องมีการเดินหน้าต่อ ที่ผ่านมากระบวนการเอาผิดอภิสิทธิ์และสุเทพ ล้วนรอดพ้นเพราะเหตุผลทางเทคนิค เช่น ฟ้องผิดศาล แต่ความจริงยังมีช่องทางอื่นๆ ในอนาคตที่นำมาจัดการได้อีก และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือผู้ปฏิบัติ ต้องมีการดำเนินคดีต่อทหารตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาไปจนถึงพลทหารที่พิสูจน์ได้ว่าเหนี่ยวไกยิงประชาชน ซึ่งบัดนี้ยังไม่มีคดีใดขึ้นสู่ชั้นศาลเลย

 

ทั้งหมดนี้มีหลักฐานทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับดีเอสไอกับอัยการจะส่งขึ้นศาลหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลฝ่ายไหนมีอำนาจ ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังก็เดินต่อได้ และถ้าในที่สุด กระบวนการยุติธรรมในประเทศเดินหน้าไม่ได้ ก็ต้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เข้ามาทำต่อ เรื่องนี้พรรคก้าวไกลยืนยันว่ารัฐบาลหน้าสามารถลงนามรับรองเขตอำนาจศาล ICC เป็นกรณีเฉพาะได้ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล

 

เพื่อให้เป็นหลักประกันสำหรับประชาชนทุกคนในปัจจุบันและในอนาคต เราต้องใช้กระบวนการยุติธรรมนำคนเหล่านี้มารับโทษไม่ให้ลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคต” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการแก้กฎหมายเกี่ยวกับศาลทหาร ให้ความผิดที่เกี่ยวกับพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน เพราะทุกวันนี้ทหารทำผิดเอาขึ้นศาลทหาร ที่อัยการและผู้พิพากษาล้วนแต่เป็นทหาร จึงยากที่จะคาดหวังความยุติธรรมจากศาลทหารได้

 

ส่วนที่มีข้อเสนอเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคก้าวไกลเห็นว่าสามารถทำได้เลยภายใน 100 วันหลังเป็นรัฐบาล โดยจัดให้มีการประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยต้องย้ำว่าให้ สสร. จัดทำใหม่ได้ทั้งฉบับทุกหมวด เพื่อยืนยันหลักการว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

 

สำหรับการป้องกันการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. และไม่อนุญาตให้การกระทำของ คสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญอีก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนเอาผิดต่อ คสช. ได้ในอนาคต เป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อีก

 

ข้อเสนอ ยกเลิก กอ.รมน. เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว เพราะเราเห็นว่า กอ.รมน. เป็นรัฐซ้อนรัฐ สามารถแทรกแซงกิจการของรัฐบาลพลเรือนได้ทั้งหมดและมองประชาชนเป็นศัตรู ไม่ใช่เจ้าของประเทศ การยกเลิก กอ.รมน. เป้าหมายเพื่อทำให้การจัดการความมั่นคงภายในประเทศเป็นกิจการของพลเรือน ไม่ใช่เรื่องของกองทัพ

 

เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 และกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมถึงกฎอัยการศึก ที่ต้องไม่ยอมให้กองทัพประกาศกฎอัยการศึกได้ตามอำเภอ อำนาจในการประกาศต้องเป็นของรัฐบาลพลเรือนและใช้ได้ในยามศึกสงครามรุกรานจากภายนอกเท่านั้น

 

เรื่องปฏิรูปกองทัพ นโยบายของพรรคก้าวไกลมี 3 เป้าหมาย หนึ่งคือให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ สองทำให้กองทัพจิ๋วแต่แจ๋ว ขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ลดจำนวนนายพลแล้วไปเพิ่มสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย และสาม ทำให้กองทัพมีภารกิจเฉพาะความมั่นคงระหว่างประเทศเท่านั้น

 

เรื่องการกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกลมีนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อโอนภารกิจ งบประมาณ และบุคลากรจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาขึ้นอยู่กับท้องถิ่น

 

และสุดท้าย เรื่อง ส.ว. หลายพรรคเสนอให้มี ส.ว. เลือกตั้ง แต่พรรคก้าวไกลขอเสนอให้พิจารณาการยกเลิก ส.ว. เพราะ ส.ว. ไม่มีความจำเป็นในการเป็นพี่เลี้ยง ส.ส. ในปัจจุบัน ไม่มีอะไรรับประกันว่า ส.ว. จะมีความสามารถเหนือ ส.ส. และที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ส.ว. เป็นมรดกจากการรัฐประหาร 2490 ที่ต้องการให้ ส.ว. มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล กล่าวถึงวาระครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษายน 2553 บนเวทีปราศรัยหาเสียงจังหวัดอุดรธานี ความตอนหนึ่งว่า คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ที่มี ธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคก้าวไกล เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาว่า ข้อเสนอที่อยู่ในหนังสือนั้น ตนทราบว่าได้กลายเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น

 

1. ข้อเสนอเรื่องการสะสางความจริง ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด ก็สอดคล้องกับจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครกล้าทำความผิดและอ้างว่า 'ก้าวข้ามความขัดแย้ง' อย่างที่เป็นอยู่

2. ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

3. ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ก็ปรากฏเป็นนโยบายการเมืองดีของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการให้กองทัพไปเป็นทหารมืออาชีพ ไม่มายุ่งเรื่องการเมือง และให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งหลาย

4. ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลก็ประกาศชัดเจนว่า หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 100 วัน ทันที ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระ

5. ข้อเสนอให้รัฐบาลไทยลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ซึ่งเป็นข้อเสนอที่คนเสื้อแดงเรียกร้องมาตลอด เพื่อป้องกันให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก และให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเข้ามาจัดการกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงได้ โดยพิธาประกาศชัดเจนว่า หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะมีการลงนามสัตยาบันกรุงโรมทันที

 

ปิยบุตรยังกล่าวย้ำจุดยืนทิ้งท้ายว่า "พรรคก้าวไกลประกาศว่าไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 53 และคนที่มีส่วนในการรัฐประหารได้ เพราะนั่นเป็นการเหยียบย่ำหัวใจของประชาชน"

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง #ก้าวไกล