เปิดคำชี้แจงมีชัยปมวาระนายกฯ
ครบ 8 ปี ระบุเริ่มนับวันที่รัฐธรรมนูญเริ่มบังคับใช้ คือ 6 เม.ย. 60
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวาระพิเศษในวันที่
8 กันยายนนี้ เพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาคำร้องของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
เรื่องการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ล่าสุดวันนี้
(6 กันยายน) มีรายงานข่าวปรากฏเอกสารในโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่เอกสารการชี้แจงของ
มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยหนังสือชี้แจง
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
มีชัยอ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ
ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระบุว่า
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น
สั่งให้ตนในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด
ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264
สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใดนั้น”
ขณะที่มีชัยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว
4 ข้อดังต่อไปนี้
1.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6
เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า
และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ
ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ
เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
2.
ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ,
ที่มา, วิธีการได้มา, กรอบในการปฏิบัติหน้าที่,
ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
และผลจากการพ้นจากตำแหน่งไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา
และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ
บทบัญญัติต่างๆ
เหล่านั้นจึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ
ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ
3.
การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช
2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
2560 ก่อน
แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล
เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา
264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า
“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”
โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ
และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
4.
โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว
คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ
วันที่ 6 เมษายน 2560
และโดยผลดังกล่าว
บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่
6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา
158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป
นอกจากนั้น
มีชัยได้ระบุถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกรที่ 7
กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของตนเองนั้น เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน
เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น
เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย
และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน
2561
ที่มา
: THE
STANDARD
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประยุทธ์ #8ปีประยุทธ์