วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวงเสวนา “ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง”

 


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวงเสวนา "ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง"


ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons”

โดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project ร่วมกับ คณะก้าวหน้า - Progressive Movement และ Common SchoolKINJAI CONTEMPORARY เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565


ทำไมเราต้องไปร้อง ICC – กระบวนการในการร้องมันเกิดขึ้นอย่างไร ผลการร้องเป็นอย่างไร - อนาคตเราจะทำอะไร?


ทำไมเราต้องไป มันไม่ใช่เป็นเพราะคนเสื้อแดงตาย มันไม่ใช่เพราะกรณีปี 53 แต่ประเทศไทยถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ดิฉันไม่ใช่ไปเรียกร้องเฉพาะกรณีปี 53 เพราะเรารู้ว่าเมื่อเทียบกับกรณีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก การตายของเราจำนวนประมาณ 90 กว่าศพ คือทางอาจารย์ทำเอาไว้ 94 ศพ แต่เราไปหาข้อมูล คนที่เราแน่ใจว่าเกี่ยวข้องแต่เสียชีวิตทีหลังอีก 5 ศพ ก็เป็น 99 ศพ เพราะฉะนั้นเราก็มีส่วนข้อมูลของเราอยู่จำนวนหนึ่ง (นอกเหนือจากที่ ศปช. ทำไว้)


แต่ว่าอย่างไรก็ตาม การมาวันนี้และการที่มี ศปช.ได้ทำ ดิฉันต้องขอขอบพระคุณแทนพี่น้องประชาชนเสื้อแดงและคนไทยทั้งหมด ขอบคุณมาก เพราะว่ามีคนตั้งคำถามว่าทำไม นปช.ไม่ทำศูนย์ข้อมูล คำถามว่า นปช.ทำแล้วมีใครเชื่อ? พูดอะไรออกไป เห็นหน้าบางทีก็ยังไม่อยากมอง พวกนี้ควายแดง! ไอ้พวกนี้ลูกน้องทักษิณ! อะไรประมาณนั้น เพราะฉะนั้นการที่มีคนนอกและนักวิชาการที่น่าเชื่อถือมาทำ และรวมกระทั่งทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น การเขียนหนังสือหรืออย่าง “ฟ้าเดียวกัน” ที่ได้ทำ ดิฉันถือว่าเป็นคุณูปการต่อการต่อสู้ของประชาชน


เพราะว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นมวลชนพื้นฐาน ดังนั้นเสียงก็ไม่ดังเท่าปัญญาชน แต่ดิฉันก็ภาคภูมิใจว่าในประวัติศาสตร์การต่อสู้ นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นทั้งกองหน้าและกองกำลังหลักคือมวลชนพื้นฐาน ไม่ใช่ปัญญาชน กระทั่งแกนนำ จะว่าไปก็ไม่ใช่ปัญญาชนทั้งหมด มีบางส่วนเท่านั้น


เราไป ICC เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ทำไมเราต้องไป ICC เราไม่ได้ร้องทุกข์เฉพาะกรณีปี 53 เราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณฆ่า แล้วคุณก็ลอยนวลพ้นผิด นิรโทษกรรม คนทำก็ย่ามใจ นี่ก็แค่ไม่กี่วันก็ยังลือกันว่าอาจจะทำรัฐประหารก็ได้ ทำแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ไอ้ที่เขียนมาแล้ว 8 ปี อาจจะแก้ใหม่ ไม่ต้อง 8 ปีก็ได้ เพราะฉะนั้น “ประยุทธ์” อาจจะได้อยู่ต่อยาวต่อไปอีกก็ได้ไม่ใช่แค่ 68 นี่ยกตัวอย่าง แล้วก็มีประท้วง การจัดการปราบปรามประชาชนก็อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนเกิดขึ้นกับ 6ตุลา ซึ่งพวกเราได้ดูแล้วว่ามันโหดเหี้ยมมาก มันไม่น่าเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ลอยนวลพ้นผิด ปี 53 ก็เช่นกัน

 

เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ไป ไป ICC เพื่อให้ประเทศไทยไม่ควรจะเกิดแบบนี้อีก นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันพูดคล้าย ๆ กับ อ.ธงชัย ก็คือจดหมายของอ.ธงชัยสะเทือนใจมาก ทั้งอ้อนวอนและขอร้องว่าขอให้ ICC อย่ามองแค่จำนวน เขาตายกันเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน ของเราประมาณร้อย เขาอาจจะมองไม่เห็น แต่เราก็พูดกันว่าการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเป็นการกระทำไม่ใช่แต่เพียงคนที่ตายไป แต่มันกระทำต่อประชาชนที่ยังมีชีวิตอยู่และในอนาคต และประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น เราไปวิงวอนและขอร้อง ดิฉันสะเทือนใจมากที่อ่านจดหมายของอ.ธงชัยทุกครั้ง แต่ใจความคล้ายกันกับที่เราขอร้อง


สรุปก็คือ เราไปเพื่อประเทศเรา เพื่ออนาคต แล้วเราไปร้องเรียน ดิฉันบอกได้เลยว่าดิฉันเป็นประธานนปช. เมื่อ 1 ธันวา 53 จนกระทั่งปี 56 เดือนมีนา ในวันที่ 30 ธ.ค. 2553 จดหมายก็ไปถึง ICC แล้ว รอบแรกขอให้เขามาสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพราะเราเชื่อว่าการเสียชีวิตและการจับกุมคุมขังคน เรียกว่าหลายพันคน 5-6 พันคน ตอนต้องประกันตัว 4 พัน แล้วที่ตายไป และบาดเจ็บก็ประมาณ 2 พัน มันเป็นงานใหญ่มาก เราไม่มีศูนย์ทนายแบบนี้ ไม่มีกองทุนราษฎรประสงค์แบบคุณไอดา, อ.ชลิตา ทำกับกลุ่มราษฎร ดิฉันก็ต้องชื่นชมว่าทำได้ดี ตอนนั้นลำบากมาก


แต่ว่ายังไงก็ตามเราจำเป็นต้องร้องทุกข์ เพราะประเทศไทยจะอยู่อย่างนี้อีกไม่ได้แล้ว ที่ตายก็ตายไปแล้ว แต่เราไม่ต้องการให้ตายต่อไปอีกข้างหน้า ดังนั้นเราก็เริ่มตั้งแต่ปี 53 แล้วก็ต้องขอบคุณทนายอัมสเตอร์ดัม ทำจดหมายเป็นระยะ ๆ จดหมายของอัมสเตอร์ดัมนั้นบรรยายมาตราต่าง ๆ ของธรรมนูญกรุงโรมตั้งแต่มาตรา 10 กว่า ไปจนถึงมาตรา 20 กว่า บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าสมควรที่อัยการจะมารับเรื่องที่เราไปร้องทุกข์ แล้วเมื่อเขาเห็นว่าสมควร มันก็เป็นแบบที่อาจารย์ปิยบุตรกล่าวในข้อ 3 คืออัยการรับเรื่อง ผลที่เกิดขึ้นคือจากการที่เราไป แล้วก็จดหมาย มีเอกสารร้องทุกข์มาเป็นลำดับ และเขาได้รับเรื่องเอาไว้จริง แล้วพิจารณาแล้วว่ามันน่าจะสมควรรับเรื่อง


ดังนั้นต่อมาในวันที่ 1 พ.ย. 2555 คุณ Fatou Bensouda อัยการ ICC ก็มาคุยกับคุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมต.ว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ผลมันก็คืออัยการได้มาคุย โชคดีที่เขามีประชุมด้วย คือคุณ Bensouda กรุณาอธิบายให้คุณสุรพงษ์มีความรู้ทั้งหมดว่าคุณทำแบบนี้นะ คุณใช้มาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรมนะ คุณไม่ต้องให้สัตยาบันนะ คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าประมุขของคุณจะโดนเล่นงานนะ ไม่เกี่ยวเลย เอาเฉพาะกรณีนี้ แค่เปิดประตูให้ ICC มา เพื่อจะมาหาหลักฐานรวบรวม ศาลคุณก็ทำไปซิ เพราะว่า ICC เป็นศาลเสริม ไม่ใช่ว่าจะมาทำให้ศาลไทยหมดอำนาจ แต่ถ้าศาลไทยไม่ประสงค์จะทำ หรือว่าทำแล้วมีปัญหามากเขาก็จะเป็นส่วนเสริมที่ทำงานต่อไป ที่สำคัญคือเขามาให้ความรู้ว่าคุณไม่ต้องไปกลัวเรื่องอื่นทั้งหมดเลย เอาเฉพาะกรณีนี้ก็ได้


แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่ารมต.สับสน เพราะว่าคิดว่าต้องให้สัตยาบันหรือเปล่า เพราะว่ามีความกลัวเรื่อง ICC กันมาก  เพราะฉะนั้นปัญหาสำคัญของเราตรงนี้ก็คือต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า ในประเทศของเราที่มีปัญหามากในเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งมีสองวรรค วรรคแรกว่าจะละเมิดไม่ได้ วรรคที่สองก็คือมาเติมเอาในรัฐธรรมนูญปี 2492 นะ จะฟ้องร้องไม่ได้ด้วยวิธีใด ๆ ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญปี 2475 ก็ไม่มี แล้วก็มามีอีกทีในรัฐธรรมนูญปี 2521 มาจนถึงบัดนี้ นี่คือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 6 ปัจจุบัน มันไม่ได้มีตั้งแต่ตอนต้น มันเพิ่งมี


ที่เขากลัวมากก็คือพอพูด ICC คือกลัวการให้สัตยาบัน แล้วอ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ก็คือใครจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ คือนอกจากจะละเมิดมิได้แล้วก็วรรคสองด้วย เขามีการตั้งกรรมการเท่าที่ดิฉันจำได้ก็คือ ทางรมต.บอกว่ามีคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการต้องไปพิจารณา แต่สำหรับดิฉันคือเราเป็นนักต่อสู้ประชาชน เราไม่คิดอย่างเขา เมื่อมันควรจะทำมันก็ต้องทำ แล้วเราก็ต้องรับผิดชอบการกระทำนั้นได้ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ามันเฉพาะกรณีนี้ ทำไมไม่ทำ! นี่เป็นความคิดของดิฉัน


แต่ว่าคุณสุรพงษ์ แม้กระทั่งวันใกล้วันทำรัฐประหาร คุณหมอเหวงโทรไปหา ขอร้อง ว่านี่อีกไม่กี่วันเขาทำรัฐประหารแน่นอน คุณช่วยกรุณาได้มั้ย? เซ็นรับรองเขตอำนาจศาล ICC เฉพาะกรณีปี 2553 ซะหน่อย คำตอบก็ไม่มี แต่ตามความคิดของดิฉันก็คือ เขาเกรงมาตรา 6 ว่าข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม จะไปมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นี่มองในด้านบวกแล้วนะ ก็คือว่าเขาไม่รู้ว่า ถ้าใช้มาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม มันก็ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวกับประมุขเลย แล้วในนี้ระบุเฉพาะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพราะ ICC เขาจะเล่นงานบุคคล ไม่ใช่เล่นงานรัฐ


นอกจากเล่นงานบุคคลแล้ว บุคคลที่ถูกเล่นงานมันจะต้องอยู่ในรัฐภาคี ปรากฏว่าทนายอัมสเตอร์ดัมไปรู้มาว่าคุณอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ แล้วไม่ได้ถอนสัญชาติอังกฤษ ดังนั้นการฟ้องคุณอภิสิทธิ์จึงฟ้องได้ นี่ไม่ใช่อยู่ ๆ เราไปรับรองเขตอำนาจศาลแล้วจะไปฟ้องใครได้นะ จะฟ้อง “สุเทพ” ก็ยังไม่ได้ เพราะสุเทพไม่ใช่คนอังกฤษ มันมีรายละเอียดของมัน ดังนั้น กรณีนี้เราทำการบ้านกันมาจนหมดแล้วว่าฟ้อง “อภิสิทธิ์” ได้ แล้วนอกจากนั้นก็เป็นศาลเสริม คือคุณ Bensouda เขาก็บอกว่าเปิดประตูขอให้ได้นับหนึ่ง มันยังใช้เวลาอีกนาน แล้วถ้ามีกฎหมายอะไรที่ไม่สอดคล้อง มันยังมีเวลาอีกนานที่จัดการได้ และขอให้รัฐไทย หมายถึงกระทรวงการต่างประเทศโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีปี 53 ก่อนเลย แล้วจากนั้นก็นับหนึ่ง เปิดประตุให้ ICC เข้ามาหาข้อมูล


อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ (ผู้ดำเนินรายการ) : เพราะฉะนั้นขอพูดไปถึงอนาคตนิดหนึ่งได้มั้ยคะอาจารย์ ก็คือว่า เราก็รู้กันว่าตอนนี้มันอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง นปช.เองก็ถือว่าเป็นพลังสำคัญในการที่จะหาเสียงเลือกตั้งให้เกิดแลนด์สไลด์


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : ดิฉันขอพูดอย่างหนึ่งนะคะ ดิฉันไม่ได้คิดว่าตัวองค์กรนำนปช.ยังดำรงอยู่นะ


อ.พวงทอง : หมายถึงใครคะ


อ.ธิดา : คือประชาชนและสมาชิกนปช.ยังอยู่ แต่ภาวะการนำเป็นองค์กรมันไม่มี ดิฉันพูดได้ในฐานะส่วนตัว


อ.พวงทอง : แต่ว่าแกนนำนปช.เองน่ะค่ะ


อ.ธิดา : ก็ไปคนละทิศคนละทาง (หัวเราะ)


อ.พวงทอง : โอเค ในส่วนตัวอาจารย์ก็แล้วกัน อาจารย์ก็มีความสัมพันธ์กับแกนนำนปช.หลาย ๆ คนด้วย อย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ


อ.ธิดา : ใช่ ๆ และที่สำคัญก็คือดิฉันมีความเชื่อว่าในระหว่างเวลาที่ทำงานเป็นประธานนปช.และเปิดโรงเรียนนปช. เป็นโรงเรียนการเมืองแบบบ้าน ๆ สำหรับชาวบ้าน แต่ว่ากันทีเป็นพัน ๆ คนและก็ร้องห่มร้องไห้ถ้าไม่ได้เข้าเรียน มันก็ได้ผลจำนวนหนึ่งก็คือว่ามันสามารถสร้างชาวบ้านประชาชนธรรมดาเป็น Active Citizen และเข้าใจว่าเขาทำงานการเมืองเพื่ออะไรนอกรัฐสภา ในรัฐสภาเขาก็เลือกเพื่อไทย หรือบางส่วนมาเลือกก้าวไกลก็มี ดิฉันคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่ายากที่จะกระโดดไปที่อื่น แค่นี้ดิฉันก็ภูมิใจแล้ว


ทีนี้ถ้าถามว่าพูดแทนหัวใจคนเสื้อแดง-นปช.และแกนนำจำนวนมากได้ แต่ดิฉันไม่กล้าพูดในนามองค์กร เพราะว่าภาวะการนำไม่มี ถ้าไม่มีการนำรวมหมู่ ไม่มีการประชุม ภาวะการที่จะเป็นการนำโดยองค์กรก็ไม่มี แต่เป็นการนำทางอุดมการณ์และเหตุการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป ดิฉันมีความคิดอย่างนี้ “อะไรที่ทำง่าย ทำก่อน” ก็คือ


อันแรกที่ทำง่ายที่สุดก็คือ 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม ก็คือขอให้ได้นับหนึ่ง แม้จะเป็นกรณีของคนเสื้อแดงก็ตาม ขอให้รัฐ หมายถึงพรรคการเมืองทั้งหลายที่มาเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริง คุณจะปล่อยให้มีการฆ่าคนซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ไม่ได้ คุณต้องนับหนึ่ง นับหนึ่งที่ง่ายที่สุดก็คือดำเนินงานที่อัยการ ICC เขามาเดินเรื่องไว้แล้ว แล้วเซ็นเอกสารแค่นั้น เอาเฉพาะกรณี หรือคุณอยากจะจิ้มเรื่องอื่นที่หลัง 1 ก.ค. 2545 อันเป็นวันที่มีการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็ได้ แต่มันง่ายที่สุดคือเรื่องนี้ที่มันไปตั้งอยู่ที่อัยการแล้ว เราทำข้อมูลและเอกสารเยอะแยะมาก แล้วกว่าที่เขาจะหยิบเอกสารรับเรื่องไปใส่ที่อัยการ แล้วกว่าที่อัยการเอาไปใส่อีกกะบะหนึ่งเพื่อพิจารณามันใช้เวลาแต่ก็ได้ผล จนกระทั่งอัยการเดินทางมาประเทศไทย


ดังนั้น ข้อแรก ขอให้รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม เฉพาะกรณีของปี 2553 อันนี้ง่ายที่สุด ขอให้ทำก่อนเลย!


ในข้อสอง ข้อเสนอของดิฉันก็คือ คุณต้องแก้กฎหมายและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อนี้ดิฉันขอให้เสนอไปในลักษณะทางบวก คือเราสร้างความคิดบวกให้ ก็คือตั้งคำถามกับพรรคการเมืองว่าคุณต้องการให้ประเทศนี้ ระบอบประชาธิปไตยเป็นสากลมั้ย? และอำนาจเป็นของประชาชนแท้จริงมั้ย? ถ้าคุณต้องการอย่างนั้น คุณต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วคุณต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาหลักของสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คือพวกนี้ก็ต้องแก้หมด เราชูธงด้านบวก ถ้าคุณอยากจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบสากล คุณต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้อง นี่ไม่ได้พูดเรื่องการไปล้มสถาบันไหนเลยนะ


ตรงนี้ไม่ใช่แต่กฎหมายอย่างเดียว หมายถึงรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่คำว่า “จะละเมิดมิได้” แล้วประเทศอื่นเขาก็มี แต่เขาก็ลงสัตยาบันให้ แต่ดันไปเติมอีกวรรคหนึ่งว่า “ห้ามฟ้องร้องโดยวิธีใด” อันนี้มาเติมเอาในรัฐธรรมนูญปี 2492 และรัฐธรรมนูญปี 2521 แล้วก็ไล่มาเป็นลำดับ


แต่ที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เหนือกว่ากฎหมายคือความคิดและทางเดินของพรรคการเมืองว่าคุณต้องการให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแบบสากลหรือเปล่า ถ้าบอกว่าเป็นก็ต้องแก้ และที่สำคัญคือแก้ให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรมด้วย


ข้อสามก็คือ ให้สัตยาบัน เพราะดิฉันรู้ว่ากว่าจะถึงสัตยาบันได้ คุณต้องรบในข้อสองมาก


นี่ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าเราน่าจะร่วมมือกัน โดยเฉพาะกลุ่มผลักดันเรื่อง 6ตุลา เหตุการณ์ 6ตุลา ไม่สามารถไปฟ้อง ICC ได้ เวลามันเลยไปแล้ว คือก่อนหน้าจะจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ  หรือ ICC ดังนั้น ดิฉันมองว่าเป็นรูปธรรมของการทำงานด้วย ควรจะมีการร่วมมือกันในการที่ว่า สิ่งที่กลุ่ม6ตุลาได้ทำ ที่อาจารย์ได้ทำกัน รวมทั้งบันทึก6ตุลา อะไรต่าง ๆ ทำได้ดีมาก ดิฉันคิดว่าเราควรจะร่วมมือกันในส่วนของการประสานกับคนเสื้อแดงและนปช. ดิฉันยินดี เพราะว่าเราก็ทำอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง มันต้องผนึกกำลังกัน เพราะว่าการที่จะผ่านด่านกฎหมายของความคิดจารีตมันไม่ใช่ง่าย แต่ยังไงดิฉันก็อยากให้ชูธงด้านบวกก็คือว่า คุณจะเปลี่ยนประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแบบสากลหรือประชาธิปไตยแบบไทย ๆ แบบนี้  จะเอามั้ย? ถ้าเอามันต้องเดินหน้า ช่วยกัน!


อ.พวงทอง : แต่ว่าอ.ธิดากับอ.ปิยบุตรก็พูดถึงในแง่ว่า โอเคเราต้องแก้ที่กฎหมาย ในที่สุดแล้วเจตจำนงทางการเมืองมันคืออะไร ดิฉันเข้าใจว่าอาจารย์เองก็ยังมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมแน่ แต่แน่นอนก็ต้องอาศัยพลังของพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคใหญ่ที่จะต้องร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ด้วย เราพูดกันลอย ๆ โดยไม่กดดันพรรคการเมืองมันก็ไม่มีผล อาจารย์เองในฐานะที่เป็นแกนนำนปช. ดิฉันเชื่อว่าอาจารย์เองยังมี Active Citizen คนเสื้อแดงอีกมากที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ อันนี้จะเป็นที่ Agenda ที่สำคัญของอาจารย์ที่จะผลักดันให้กับพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ที่อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนทำเรื่องนี้ต่อไปมั้ยคะ


อ.ธิดา : ดิฉันยินดีสนับสนุนเต็มที่ และกำลังจะขอให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม6ตุลา


อ.พวงทอง : อาจารย์พูด คุณณัฐวุฒิพูด ดิฉันว่าคนก็ฟัง


อ.ธิดา : ไม่พอค่ะ ไม่พอ เพราะว่าอย่างที่อาจารย์ทำกันเรื่อง 6ตุลา ทำกันมาตั้งกี่ปีแล้วลองคิดดู ดิฉันคิดว่า 6ตุลา มันเป็นบรรยากาศของปัญญาชน แต่เรื่องของ เมษา-พฤษภา 53 พูดตรง ๆ ว่ามันเป็นไพร่ชนบทนะ ดังนั้น ถ้ามันสามารถผสมผสานร่วมมือกัน มันจะมีพลังมาก ลำพังพูดอย่างเดียวตัวดิฉันเองอาจจะไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่สำหรับพรรคการเมืองนะ


อ.พวงทอง : ดิฉันเชื่อว่าอาจารย์มี คุณณัฐวุฒิมี หลาย ๆ คน แกนนำนปช.มี ถ้าพูดกับพรรคเพื่อไทย พูดตรง ๆ พูดกับพรรคเพื่อไทยโดยตรงเลย ในฐานะแกนนำนปช. ซึ่งก็ต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อมวลชนของตัวเอง


อ.ธิดา : ที่เมื่อกี้เสนอนั่นแหละคือวิธีการ ก็คือในข้อ 2 ที่บอกว่าเราต้องถามพรรคการเมืองไทย นี่คือสิ่งที่ควรพูดว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องการประชาธิปไตยแบบสากลหรือประชาธิปไตยเท่าที่ได้แบบไทย ๆ ถ้าคุณต้องการประชาธิปไตยแบบสากล คุณก็ต้องร่วมมือในการทำ 1-2-3 ที่ว่า ถ้าเราไปด่าว่าเขาก่อนมันไม่ได้ผลหรอก ดิฉันอยากให้ชูธงทางบวกว่า ถ้าเราจะผลักประเทศไปข้างหน้าแล้วก็ดำเนินไปตามกติกาสากล ยึดตามกฎปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาสากลต่าง ๆ รวมทั้งให้สัตยาบันสนธิสัญญากรุงโรม คือคนทั้งโลกเขาตกลงกันอย่างนี้ เราจะเห็นด้วยมั้ย พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน จะเห็นด้วยมั้ย หรือคุณอยากเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็บอกมา


ดิฉันคิดว่านี่คือสิ่งที่จะพูด เราต้องพูดอย่างนั้น เพราะดิฉันเชื่อว่าถ้าเรานำเสนอด้านนี้ มีโอกาสสูงที่ว่าเราต้องรณรงค์เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้คนที่ก้าวหน้าไปสมัคร สสร. ให้มาก แล้วผลักดันธงประชาธิปไตยแบบสากลนี้ เพราะระบอบที่มีอยู่ปัจจุบันมันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ 

#ICCกับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง 

#6ตุลาเผชิญหน้าปีศาจ