วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

'รัฐศาสตร์ จุฬาฯ' จัดเวทีรำลึก 92 ปี 'จิตร ภูมิศักดิ์' ครบรอบวันถูกโยนบก วงเสวนาร่วมวิพากษ์สื่อปัจจุบัน ควรเรียนรู้ความกล้าหาญ ตรวจสอบอำนาจรัฐ ย้ำอุดมการณ์ 'จิตร' ส่งต่อสู่อนาคต

 


'รัฐศาสตร์ จุฬาฯ' จัดเวทีรำลึก 92 ปี 'จิตร ภูมิศักดิ์' ครบรอบวันถูกโยนบก วงเสวนาร่วมวิพากษ์สื่อปัจจุบัน ควรเรียนรู้ความกล้าหาญ ตรวจสอบอำนาจรัฐ ย้ำอุดมการณ์ 'จิตร' ส่งต่อสู่อนาคต


วันที่ 28 ต.ค. 2565 ที่ลานเสรีภาพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกิจกรรมรำลึก '92 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์' เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ ถูก 'โยนบก' โดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2496 


โดยบรรยากาศภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์สามัญชนและนิสิตจุฬาฯ ซุ้มหนังสือโดยจากสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน รวมถึงการแสดงดนตรีสดจากวง 'สามัญชน'


จากนั้นเป็นเวทีเสวนา 'จิตรสร้างสื่อ สื่อสร้างจิตร : จิตรกับการเป็นสื่อ และสื่อในการสร้างตัวตนจิตร' โดยวิทยากร ประกอบด้วย ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟาห์เรน นิยมเดชา จากรายการ Backpack Journalist สำนักข่าวไทยพีบีเอส และ ณัฐนนท์ เจริญชัย อดีตบรรณาธิการนิสิตรีคอร์เดอร์ และผู้สื่อข่าว The Reporters


***วงเสวนาวิพากษ์ 'จิตร' บนหน้าสื่อปัจจุบัน


ธิบดี กล่าวว่า เมื่อมอง จิตรกับสื่อ ต้องตั้งคำถามก่อนว่านิยามของคำว่าสื่อคืออะไร แล้วจะนับ จิตร เป็นสื่อได้หรือไม่ อาจจะนับในแง่ของผลงานที่ จิตร สื่อออกมาสะท้อนอะไรสู่สังคมบ้าง มีช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ จิตร ถูกพักการเรียนหลักถูกโยนบก ก็มีช่วงที่ทำอาชีพข้องเกี่ยวกับสื่ออยู่บ้างในฐานะคอลัมน์นิสต์ 


อย่างไรก็ตาม เรายังรู้จักชีวิตของ จิตร น้อยเกินไป จนอาจไม่มีการบันทึกผลงานในช่วงนั้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งจะว่าไปแล้วผลงานในด้านนั้นอาจไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อสังคมมากเท่าผลงานด้านอื่น ๆ ก็ได้


ขณะที่ ฟาห์เรน ระบุว่า ในฐานะคนทำงานสื่อ ปัจจุบันการตีความหมายของสื่อแคบลง ส่วนตัวตนรู้สึกว่าใครก็เป็นสื่อได้ ทั้งทางการหรือสังกัดองค์กร เท่าที่จำความได้ตนไม่เคยเห็นสื่อกระแสหลักนำเสนอ จิตร จะเห็นอยู่บ้างทางสื่อออนไลน์ ซึ่งตนถือว่าสื่อเหล่านี้คือสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน ดังนั้นการตีความหมายสื่อกระแสหลักกระแสรองแบบเก่าได้เปลี่ยนไปแล้ว


เมื่อเปรียบเทียบกับ สืบ นาคะเสถียร ที่เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อในวันครบรอบแต่ละครั้ง ขณะที่ จิตร เองก็ถูกจดจำในฐานะผู้ใช้งานเขียนเพื่อการปฏิวัติทางชนชั้นที่ไม่เป็นธรรม และสื่อเองเกิดมาได้เพราะเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นไอดอลของใครหลายคน 


"ดังนั้น อย่างน้อยในวันของ จิตร ควรจะมีการนำเสนอ จิตร ในฐานะบุคคล ผมมองว่าสื่อกระแสหลักกลัวความเป็นบาดแผล มากกว่าผลงานที่ถูกเชิดชู หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องอยู่เป็น"


ด้าน ณัฐนนท์ มองว่า จริงอยู่ที่ช่วงไม่กี่ปีให้หลังมาเริ่มมีการนำเสนอตัวตนของ จิตร ผ่านสื่อสมัยใหม่มากขึ้น แต่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก แทบไม่มีโอกาสที่เรื่องราวของ จิตร จะผ่านไปสู่ผู้เสพสื่อแบบเก่าได้เลย คำถามสำคัญจึงกลายเป็นจะทำอย่างไรให้ตัวตนของ จิตร ถ่ายทอดผ่าน Echo Chamber ไปสู่ผู้ที่เสพสื่อโทรทัศน์หรือสื่ออื่น ๆ เป็นหลักได้ด้วย


ความสำคัญของ จิตร นอกจากแง่อุดมการณ์แล้ว ยังได้เห็นความกล้าหาญของ จิตร ที่จะพยายามเปลี่ยนบทบาทของสื่อในยุคนั้น จาก 'โทรโข่ง' มาสู่ 'หมาเฝ้าบ้าน' มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเพื่อรัฐ เป็นการตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบโครงสร้างอำนาจรัฐมากกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมก้าวหน้าไป


"แม้ว่าตัวจิตรจะไม่อยู่แล้ว แนวคิด คำพูดของเขายังคงอยู่ในอุดมการณ์ของการต่อสู้ และช่วยกระตุ้นเร้าและย้ำเตือนเราถึง จิตร ตราบใดที่ยังมีการต่อสู้ แรงกัดดันนั้นก็ยังคงมีอยู่"


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จิตรภูมิศักดิ์