วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2565

อานนท์-ไผ่-มายด์-ลูกเกด ร่วมเปิดตัว"เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน" บันทึกภาพประวัติศาสตร์การชุมนุมที่เบ่งบานในช่วงปี 63-65 ร่วมพูดคุยถึงอดีต-ปัจจุบัน และความหวังในอนาคต ย้ำ เชื่อมั่นในประชาชน


อานนท์-ไผ่-มายด์-ลูกเกด ร่วมเปิดตัว"เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน" บันทึกภาพประวัติศาสตร์การชุมนุมที่เบ่งบานในช่วงปี 63-65 ร่วมพูดคุยถึงอดีต-ปัจจุบัน และความหวังในอนาคต ย้ำ เชื่อมั่นในประชาชน


เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ GalileOasis ซอยหลังโรงเรียนกิ่งเพชร เขตราชเทวี กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในนามของโครงการ Mob Data Thailand จัดงานเปิดตัวหนังสือ “There’s Always Spring : เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน” หนังสือบันทึกภาพประวัติศาสตร์การชุมนุมที่เบ่งบานขึ้นในช่วงปี 2563-2565 


โดยภายในงานยังมีนิทรรศการ ที่จัดแสดงภาพถ่ายในเหตุการณ์การชุมนุม ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ภาพคลื่นผู้ชุมนุมและ ‘ทะเลดาว’ จากแสงแฟลชโทรศัพท์, ภาพดวงหน้า แววตาวาดหวังของผู้คนในกระแสความเปลี่ยนแปลง, ภาพบันทึกวินาทีที่ลำพังระยะสายตาคนไม่อาจคว้าทัน, ภาพสายรุ้งพาดผ่านที่ชุมนุม, ภาพที่เป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมของการใช้ความรุนแรง และภาพที่ ‘ล่วงละเมิด’ ไม่ได้ พร้อมทั้งนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุมมาร่วมจัดแสดงด้วย


เวลา 18.00 น. วงเสวนา ดอกไม้แห่งความหวัง พูดคุยนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สะท้อนภาพการชุมนุมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ทะลุฟ้า, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด โดยมี นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ดำเนินรายการ


โดยช่วงแรกของการพูดคุย นายยิ่งชีพ ได้มีเกมส์เปิดภาพถ่ายจากเหตุการณ์การชุมนุมให้อานนท์-ไผ่-มายด์-ลูกเกด ให้แข่งกันยกมือเพื่อตอบว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ สถานที่ไหน วันที่เท่าไหร่ และให้เล่าถึงเรื่องราวในขณะนั้น


ต่อมา นายยิ่งชีพ ได้ชวนผู้ร่วมวงเสวนาย้อนกลับไปถึงการชุมนุมปี 2563-2564 ที่มีพัฒนาการทางการเมืองหลายช่วง ว่านึกถึง หรือเห็นภาพอะไรบ้าง ? 


มายด์ ภัสราวลี กล่าวว่า ปี 63 ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น เห็นแสงสว่างที่เราอยากเห็นจริง ๆ เห็นความคิดสร้างสรรค์ผ่านการประชันแฮชแท็กที่ใช้ในการชุมนุม เห็นการตื่นตัวอย่างรวดเร็วถูกขยายออกไปมากขึ้น 


ขณะที่ อานนท์ ระบุว่า มีเรื่องประทับใจเยอะ สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนมีเยอะมาก ตั้งแต่การนัดหมายชุมนุมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และต้องยกเครดิตให้เยาวชนปลดแอก ความรู้สึกเหมือนเด็กแรกรุ่น ที่ได้จับมือคนรัก และมันก็เต็มไปด้วยบาดแผลมากมาย จากนั้นมีม็อบแฮมทาโร่ แฮร์รี่พอตเตอร์ ทำให้ภาพการเมืองไทยที่มัว ๆ ชัดเจนขึ้น


ด้าน ไผ่ จาตุภัทร์ กล่าวว่า มันมีความหวัง ความฝัน การต่อสู้กระจายไปต่างจังหวัด ที่ไม่เคยออกมาก็ออกมา ปี 2557 เราสู้กับรัฐประหาร คนด่าว่าเรา ไม่เข้าใจ พอปี 2563 - 2564 เป็นการยืนยันว่า มีคนคิดอย่างนี้เยอะ มีความหวัง ตอนนั้นอยู่ขอนแก่นก็ได้รับรู้พลัง มหาวิทยาลัยไม่เคยจัด ก็มีขึ้น


ขณะที่ ลูกเกด ชลธิชา ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งจัดกิจกรรมปี 2557 มีคนมาร่วมกิจกรรมหลักสิบก็ดีใจแล้ว แต่ในปี 2563-2564 มีจำนวนคนที่มากขึ้น อีกทั้งได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเด็นรูปแบบการชุมนุมที่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ เป็นม็อบออร์แกนิก ประชาชนผู้เข้าร่วมสามารถตัดสินใจการขับเคลื่อนในสิ่งที่เขาต้องการได้ ซึ่งการชุมนุมรูปแบบนี้ก็เป็นเทรนด์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศด้วย เช่น ในฮ่องกง ชิลี


จากนั้นนายยิ่งชีพได้ถามว่า ถ้าปี 2563 ให้ความหวัง ให้พลัง แล้วตอนนี้ไม่มีการชุมนุมใหญ่ ความหวังที่เบ่งบานยังจะมีอยู่หรือไม่ ?


มายด์ ภัสราวลี กล่าวว่า ตั้งแต่ 64 ผลักเพดานมาจนถึงจุดที่ทุกคนต้องการหาคำตอบด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ทวิตเตอร์ ยังมีประเด็นร้อนแรง ประเด็นถูกฝัง และคนกำลังหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลายคนมองว่าไม่มีม็อบเลย แต่มายด์คิดว่าเป็นการแสดงออกด้านอื่นมากกว่า อย่างงาน 6 ตุลา ที่ปีนี้มีการจัดงานเยอะมาก คนขุดคุ้ย หาคนผิดมาลงโทษ หรือการจัดงานกรณีตากใบ ที่สะท้อนว่าคนตื่นตัวการเมือง และกำลังสั่งสมวิธีคิดเพื่อเอาชนะ เมื่อถึงวันหนึ่งที่ผลิดอก พร้อมฝ่ายรัฐอ่อนแอ ประชาชนจะลุกฮือ และวันนั้นอาจจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปเลยก็ได้ 


ด้าน ไผ่ จตุรภัทร กล่าวว่า ปี 2563 - 2564 คือการเรียนรู้ ไม่ว่าใครที่ออกมาต่อสู้ รุ่นไหน เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ชนะ แต่เราทำสิ่งที่ต้องการ เขาไม่ฟังก็เรื่องของเขา แต่เป็นเรื่องของเราว่าจะสู้ต่ออย่างไร บางคนมองว่า 3-4 เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มันคือความคาดหวัง และยังเป็นเพียงการเรียนรู้ ทุกคนได้สร้างประสบการณ์ร่วมกันแล้ว การต่อสู้ครั้งหน้าเส้นทางดอกไม้จะบาน


ทุกคนเป็นมนุษย์ เหนื่อยก็พัก ผิดหวังก็ไปสร้างความหวัง เมื่อเราพร้อม มีพลัง ก็จะกลับมาสู้อีกครั้ง กว่า 10 ปี เห็นการต่อสู้ของประชาชนมาโดยตลอด เมื่อเราเข้มแข็ง มีพลัง ก็ออกมาสู้ต่อ 


ผมเชื่อว่า บ้านเรา ถ้าใครเห็นสถานการณ์หลาย ๆ อย่าง สถาบันที่ยังหวังได้ คือสถาบันประชาชน รอให้ทุกคนมีแรง และกลับมา ประเทศนี้เป็นของทุกคนอยู่แล้ว ไผ่ จตุรภัทรกล่าว


ขณะที่ อานนท์ ระบุว่าเป็นช่วงตกผลึกทางความคิด มันนิ่ง และลึก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อันตรายของฝ่ายรัฐ


ถ้าเรายังชุมนุมเคลื่อนไหว คงหาทางปิดช่องได้หมด แต่การที่เรานิ่ง สะท้อนพลังเป็นบางครั้ง อย่างผลการเลือกตั้งใน กทม. เขตหลักสี่ หรือ ผู้ว่าฯ กทม เหมือนภูเขาไฟที่มีควัน ไม่ไช่การเงียบหาย แค่รออะไรบางอย่าง คนอาจจะคิดว่า รอเลือกตั้งหรือเปล่า แต่ผมว่าคนสั่งสมอารมณ์รอจะปลดปล่อยอีกครั้ง ผมเชื่อมั่นว่า ม็อบที่จะใหญ่ไม่ใช่ปี 63 64 แต่จะเป็นปี 2566 ทุกอย่างสะท้อนเป็นหลักการหมด เรื่องการต้มเหล้าเบียร์ เพศสภาพ แต่ไม่ใช่ม็อบหายไป กลางวันสว่าง แต่ดาวไม่ได้หายไป แค่มองไม่เห็น แต่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีทางเป็นเผด็จการแน่นอน อานนท์กล่าว


ขณะที่ ลูกเกด ชลธิชา กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว เช่น ใช้การบรรยายในมหาวิทยาลัย และเราหลายๆ คนกำลังทำงานอย่างหนัก ทั้งจัดค่าย อบรม เพื่อมีเพื่อนพร้อมเดินไปด้วยกันอีกครั้ง เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน เราจะลุกฮือขึ้นมาบนถนนอีกครั้ง และเชื่อว่า จะมีพลังมากกว่าครั้งไหน ๆ


อยากให้ช่วยกันส่งเสียง เตือนสติผู้พิพากษาให้อยู่ในร่องในรอย สาเหตุหนึ่งที่เงียบหายไป มาจากการถูกข้อหา ติดกำไลอีเอ็ม อีกเรื่องที่พูดตลอด คือการกำหนดเงื่อนไขประกันตัว ที่มักมีเงื่อนไขแปลก ๆ ออกมา ถามผู้พิพากษาว่าหมายความอย่างไร ได้คำตอบเป็น 10 แบบ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกถอนประกัน


กำไล EM มีแค่ประเทศไทย ที่ยังดักดานใช้ จากที่ทำงานร่วมกับเพื่อนด้านสิทธิ ไม่มี มีแค่ไทยที่ยังดักดาน เลือกที่จะใช้กับผู้ต้องหา ที่ใช้เสรีภาพทางความคิด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุม แต่รูปแบบการเคลื่อนไหว จะเปลี่ยนไป ลูกเกด ชลธิชา กล่าว


จากนั้นได้สลับเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี โดยอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ และปิดท้ายกิจกรรมด้วยวงเสวนา "ผู้สังเกตการณ์" การชุมนุม ที่มาถอดประสบการณ์การเก็บข้อมูลที่ต้องผ่านแก๊สน้ำตา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ราษฎร