วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565

วงเสวนา "เด็กในวันนั้นและเด็กในวันนี้ ชะตากรรมเยาวชนไทยในยุคเผด็จการ" ชี้ 6 ตุลา ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่คือการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด ชวนจับตาโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว เชื่อมั่นประชาชนเท่าทันผู้มีอำนาจ

 


วงเสวนา "เด็กในวันนั้นและเด็กในวันนี้ ชะตากรรมเยาวชนไทยในยุคเผด็จการ" ชี้ 6 ตุลา ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่คือการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด ชวนจับตาโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว เชื่อมั่นประชาชนเท่าทันผู้มีอำนาจ


เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 เวลา 17.30 -19.30 น. ที่ KINJAI CONTEMPORARY เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานเสวนา "เด็กในวันนั้นและเด็กในวันนี้ ชะตากรรมเยาวชนไทยในยุคเผด็จการ" 


ซึ่งเป็นวงเสวนาที่ว่าด้วย หากเราเชื่อตามคำพูดที่ว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ย่อมหมายความว่าผู้ใหญ่ในวันนี้ก็คือเด็กในวันนั้น และหากเปรียบเทียบระหว่าง 6 ตุลา กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นบทบาทสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งในสองเหตุการณ์


สำหรับวงเสวนา “เด็กในวันนั้นและเด็กในวันนี้ ชะตากรรมเยาวชนไทยในยุคเผด็จการ” คือวงที่จะชวนอดีตเยาวชนที่ถูกจับกุมและดําเนินคดีในช่วง 6 ตุลา กับเยาวชนในยุคปัจจุบันที่ถูกจับกุมและดําเนินคดีทางการเมืองเช่นกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าสถานการณ์การเมืองในตอนนั้นและตอนนี้มีความคล้ายคลึงกันแค่ไหน อะไรคือความท้าทายในการออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ ตลอดจนแลกเปลี่ยนมุมมองต่อรัฐเผด็จการ ทหาร และบรรดาเยาวชน


ร่วมเสวนาโดย กุลวดี ศาสตร์ศรี ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย, ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า, ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และดำเนินรายการโดย กฤษฎางค์ นุตจรัส


ด้าน กุลวดี ได้เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งคืนรอยต่อ วันที่ 5 ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 46 ปีที่แล้ว พร้อมทั้งได้กล่าวชื่นชมเด็กในยุคสมัยนี้ที่มีความกล้ามากกว่าเด็กในยุครุ่นก่อน จึงมีความหวังและรอคอยได้


กุลวดี มองว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่มีลำดับของมันเอง ดังนั้นมาถึงทุกวันนี้คิดว่าเมื่อไหร่ก็รอได้เพราะรอมานานแล้ว รวมทั้งได้ฝากถึงเรื่องการให้โอกาสของการตาสว่าง หรือการอกหักผิดหวังในหมู่ของคนที่คิดตรงข้ามกับเรา หรือในหมู่พวกเรากันเอง ว่าสิ่งไหนที่ควรจะให้โอกาสหรือควรให้อภัย รวมถึงการที่จะเคารพสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของเขา จึงได้ฝากในเรื่องของการแสวงแนวร่วมสงวนจุดต่าง แต่เน้นย้ำว่าหลักการก็ต้องเป็นหลักการ ถ้าไม่ใช่ก็คือต้องไม่ใช่


ขณะที่ ธนพัฒน์ ระบุว่า ไม่เสียใจกับทุกการเคลื่อนไหวในสิ่งที่ทำลงไป และทุกสิ่งที่พูด คือการใช้สิทธิเสรีภาพ และมั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ที่รู้สึกเสียใจก็คือการที่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถช่วยเราได้อย่างแท้จริง ทั้งยังมองว่า ปัจจุบันนี้คนตื่นตัวทางการเมืองเนื่องด้วยจากอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการมาเป็น 10 ปี มองเห็นการทุจริตคอรัปชั่น และความไม่โปรงใส 


จึงมีเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 แต่ทั้งนี้ตนก็ยังมองว่า ชนชั้นปกครองก็จะทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจของพวกเขาไว้อยู่ ฝ่ายผู้มีอำนาจได้มีการเรียนรู้มากขึ้นเช่นกัน อาจจะใช้วิธีการรักษาอำนาจนั้นด้วยวิธีการที่แยบยลมากขึ้นเพราะการรัฐประหารอาจจะเป็นการลงทุนที่เยอะเกินไป แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้าชนชั้นปกครองดิ้นนั่นก็จะเป็นช่วงอันตรายที่สุดของฝ่ายพวกเขาแล้ว


อย่างไรก็ตามชนชั้นปกครองมีบทเรียนแต่ฝ่ายประชาชนเองก็มีบทเรียนเช่นเดียวกัน อีกทั้งเยาวชนคนหนุ่มสาวก็มีการเรียนรู้และสืบหาข้อมูลทำความเข้าใจมากขึ้น ตนจึงมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า 


ขณะที่ โรม ได้มอง 6 ตุลา ถึงปัจจุบันนี้ ว่า 6 ตุลา ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่คือการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด โลกทางความคิดของฝ่ายอำนาจนิยมแพ้ราบคาบแล้ว ขบวนการประชาชนยังมีความหวังในการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ยุคสมัยนี้กลุ่มคนหนุ่มสาวได้ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เด็กอายุ 13 ก็พูดถึงการเมืองแล้ว และหลายคนมองภาพการเมืองอย่างมีความหวัง ตั้งแต่บทเรียนเหตุการณ์คนเดือนตุลาคม เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 เหตุการณ์การสลายชุมนุมพี่น้องเสื้อแดง 53 มาจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บทเรียนเหล่านี้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว คำถามสำคัญก็คือแล้วเมื่อไหร่ที่โครงสร้างทางการเมืองจะเปลี่ยน ซึ่งตนคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้


ด้านชลธิชา ระบุว่า จากการออกมาเคลื่อนไหวภายหลังรัฐประหาร 2557 มาถึงวันนี้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ สำหรับการปักธงในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันฯ มองว่าสังคมไปไกลแล้ว ไปไกลกว่าที่ตนเคยฝันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากจะให้กำลังใจ ในส่วนของตนเองก็มีคดีความมากมายแต่พร้อมยืนหยัดร่วมในกระบวนการนี้ต่อไป ตนได้สัมผัสถึงพี่น้องเสื้อแดง ลุง ๆ ป้า ๆ ที่สู้มานานแล้วและทุกวันนี้ก็ยังสู้อยู่ ทั้งได้มองเห็นถึงพลังคนรุ่นใหม่ จากนี้ก็ให้ช่วยกันจับตามอง ปรากฏการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการบิดเบี้ยวในโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองไทย ถึงการขยายอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ณ วันนั้นเราต้องช่วยกันอีกรอบหนึ่ง ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาวและพลังของผู้ที่รักประชาธิปไตยทุกรุ่นวัย


ทั้งนี้งานเสวนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ #6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ คณะก้าวหน้า และ Common School สามารถเข้าชมนิทรรศการได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์)


#6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ #6ตุลา #UDDnews #ยูดีดีนิวส์