วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ทะลุฟ้า-ทะลุวัง-ทะลุแก๊ซ ร่วมเสวนา "รวมพลเยาวชน ทะลุ..." บอกเล่าถึงการตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว แบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ชี้ทุกเหตุการณ์ประชาชนได้เรียนรู้และเติบโตทางความคิด หวังทุกกลุ่มจับมือสู้ปีศาจ 6 ตุลาไปด้วยกัน

 


ทะลุฟ้า-ทะลุวัง-ทะลุแก๊ซ ร่วมเสวนา "รวมพลเยาวชน ทะลุ..." บอกเล่าถึงการตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว แบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ชี้ทุกเหตุการณ์ประชาชนได้เรียนรู้และเติบโตทางความคิด หวังทุกกลุ่มจับมือสู้ปีศาจ 6 ตุลาไปด้วยกัน 


วันนี้ (29 ต.ค. 2565) เวลา 13.00 -15.00 น. ที่ KINJAI CONTEMPORARY เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานเสวนา"รวมพลเยาวชน ทะลุ..."


ซึ่งเป็นวงเสวนาที่จะชวนคุยถึงความฝัน ความหวัง ความต้องการของเด็กและเยาวชน ไปจนถึงความท้าทายที่ต้องเจอในชีวิตปัจจุบันและอนาคต และที่สำคัญที่สุด การส่งเสียงของพวกเขาบนถนนต้องแลกกับอะไรไปบ้าง ร่วมเสวนาโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ทะลุฟ้า, จิรภาส กอรัมย์ หรือแก๊ป ทะลุแก๊ซ, ณัฐนิช ดวงมุสิทธ์ หรือ ใบปอ ทะลุวัง, เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ สื่อมวลชน ดำเนินรายการโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล


จตุภัทธ์ ได้กล่าวว่า ตนเองเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาลงพื้นที่ไปพบปะกับชาวบ้านทำให้พบว่าชาวบ้านถูกเอาเปรียบ พอออกมาเรียกร้องก็ถูกรัฐจับกุม ถูกใช้ความรุนแรง และรู้สึกว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้เกิดความอยุติธรรม จึงตั้งปณิธานตั้งแต่นั้นว่าจะต่อสู้กับความอยุติธรรม ภายหลังจากรัฐประหาร 2557 ก็ออกมาเคลื่อนไหว และถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2559 หลังจากนั้นก็ยังคงเคลื่อนไหวในภูมิภาคของตัวเอง และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเดินทะลุฟัา จนกลายมาเป็นกลุ่มทะลุฟ้าในปัจจุบันนี้


การที่ตัดสินใจออกมาต่อสู้ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นที่อำนาจรวมศูนย์ แม้ปัจจุบันนี้จะยังไม่สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 ก็ได้เปลี่ยนสังคม อย่างน้อย ๆ ที่เห็นก็คือ วัฒธรรมเปลี่ยนไป คนเห็นค่าความเท่ากัน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้น หลายมหาวิทยาลัยยกเลิกระบบโซตัส การต่อสู้ในเรื่องอำนาจนิยมตามโรงเรียนมีมากขึ้น ถือว่าเป็นการปักหมุดหมายทางความคิดไปแล้ว แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพยังไม่เกิดขึ้น จตุภัทร์ กล่าว


การใช้อำนาจกฎหมายหรืออำนาจที่รัฐมีอยู่ในมือ จัดการกับประชาชนยังมีอยู่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจคิดผิดมาตลอด คิดว่าฆ่าได้ สลายได้แล้วจะจบไป มันไม่ใช่ ยิ่งความอยุติธรรมเกิดขึ้นการต่อต้านก็ยิ่งมากขึ้น มองว่าการต่อสู้ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ตลอด ดังนั้นไม่ว่าจะเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ คนก็ยังออกมาต่อสู้ สิ่งที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนได้ คือรัฐต้องฟังเสียง ฟังข้อเรียกร้องของเรา ทำให้บ้านเมืองนี้มีหลักการ ความขัดแย้งจะหายไปก็คือต้องคืนความยุติธรรมและคืนความจริงให้กับสังคม 


จตุภัทร์ ระบุถึง การเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการ กับรัฐบาลที่เขาไม่ต้องการการเลือกตั้ง เพราะเขาเองรู้ว่าไม่สามารถสู้ได้ในสนามการเลือกตั้ง ทำไมการรัฐประหารการใช้อำนาจที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เพราะเขาไม่สามารถชี้นำทางความคิดกับสังคมได้ จึงต้องใช้อำนาจมาจัดการ และสิ่งที่ทำก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน เพราะทุกคนจดจำและมีความเจ็บช้ำ


ตราบใดที่ยังมีคนสู้ยังมีคนยืนหยัดไม่ว่าจะมากหรือน้อย ความคิดและการต่อสู้มันก็จะยังมีต่อไปเรื่อย ๆ ผู้มีอำนาจจะหยุดความคิดที่ก้าวหน้า หยุดความฝันของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อความฝันนั้นมันเป็นจริง ที่ใดที่คนมีอำนาจยังไม่แชร์ความฝันของประชาชน คิดว่าเป็นเจ้าของประเทศแต่เพียงผู้เดียว จึงมีเด็กใหม่ ๆ ที่ออกมาต่อสู้และเขากำลังเติบโตในทางความคิด นั่นคือความงดงาม คือความหวังในการเปลี่ยนแปลง


ขณะที่ณัฐนิช ระบุว่า การชุมนุมเมื่อปี 63 ตนเองใส่ชุดนักศึกษาไปร่วมชุมนุม ก็ถูกรุ่นพี่เตือนว่าให้ถอดอะไรที่ระบุตัวตนออก ซึ่งตนมองว่าก็เป็นประชาชนคนหนึ่งออกมาใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ทำไมเราต้องป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ได้รับความรุนแรงหรือการถูกดำเนินคดีจากรัฐ จึงเกิดคำถามว่าทำไมกฎหมายไม่คุ้มครองประชาชนอย่างเรา เราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง กระทั่งในช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหว 2564 จนต้องติด EM แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่สายสืบมาตามติดชีวิตประจำวันอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้


มั่นใจว่าการตั้งคำถามด้วยการทำโพลไม่ผิด เพราะเราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากออกมาเริ่มเคลื่อนไหวก็โดนติดตาม คุกคาม จนถูกดำเนินคดี


ที่ผ่านมาทุกคนอาจท้ออาจเหนื่อย แต่เรายังมีความหวังอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลง เชื่อว่ามีหลายสิ่งอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว จากการที่เราออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ประเทศนี้ทำให้เด็กหลายคนคิดว่าโดนปิดกั้นความฝัน ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ซึ่งรัฐไม่สามารถหยุดความคิดของเยาวชนได้ ยกตัวอย่างเช่นรุ่นพี่ ๆ อย่างเช่นรุ่นพี่ไผ่ ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำก็ยังมีรุ่นใบปอออกมาต่อสู้ต่อ ซึ่งทำให้เชื่อว่าในอนาคตถ้ารัฐจะจับนักกิจกรรมเข้าไปอีกก็จะมีคนรุ่นใหม่ ๆ ออกมาต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้ง


ด้านเนติพร กล่าวว่า เริ่มจากการออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักเรียนเลว ในตอนนั้นได้เจอทนายอานนท์ นำภา ซึ่งได้พูดคุยกันว่า ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง ต้องตั้งคำถามได้ด้วยการทำโพล จึงได้เริ่มเคลื่อนไหวกับน้อง ๆ จนกลายเป็นกลุ่มทะลุวัง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำมาทุกรูปแบบแล้ว ทั้งที่สันติวิธีมาก ๆ ที่คิดว่าสร้างสรรค์สุด ๆ แล้ว แต่สิ่งที่รู้สึกคือสิ่งที่รัฐกระทำนั้นไม่เห็นพวกเราเป็นมนุษย์อยู่เลย ไปถึงทำความรุนแรงกันขนาดนี้ เพียงแค่ตอนนี้ขบวนเราเหนื่อย เนื่องจากเคลื่อนไหวมานาน ไม่มีทรัพยากรเท่ากับรัฐ ประชาชนจึงเหนื่อยกันมาก และพวกจะแค้นหนักกว่าเดิม ทำไมถึงไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลย ทั้ง ๆ ที่เราแค่ออกมาตั้งคำถาม


เนติพร ยังได้ระบุอีกว่า ความสวยงามของประชาธิปไตยคือการถกเถียง คุยกันได้ อยากขอให้ฝ่ายเราอย่าตีกันเยอะ เอาเรี่ยวแรงของเราที่ตีกันไปตีกับรัฐดีกว่า เราต้องแสดงให้รัฐเห็นว่าวิธีที่รัฐทำมันไม่ได้ผล อยากให้ยืนหยัดสู้ต่อจนกว่าจะได้ชัยชนะ แล้วถ้าถึงวันนั้นที่เราจะวางเรื่องนี้ลงได้สักที และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของเรา


จิรภาส ระบุว่า การเคลื่อนไหวที่ดินแดง เกิดจากกลุ่มคนที่อยากสู้ต่อ การไปที่ดินแดงมีจุดหมายเพื่อไปบ้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และเราโดนสลายการชุมนุมทุกครั้งที่จะไป หลังจากนั้นก็โดนคุกคามโดยการไปหาเราที่บ้าน ไปตั้งด่านดัก สร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านข้าง ๆ บอกให้ชาวบ้านในพื้นที่เกลียดชังเราเพราะเราสร้างความเดือดร้อน เป็นตัวปัญหา ความรุนแรงที่กลุ่มทะลุแก๊ซถูกกระทำ เราโดนกระสุนยาง โดนกระทืบ คือรัฐไม่สนใจว่าเราเป็นเยาวชนหรือเป็นประชาชน เวลาจะออกไปไหนก็จะถูกค้นตัวค้นรถ ถ้าจะทำกิจกรรมก็จะมาที่บ้าน มาขอดูอุปกรณ์มาขอดูข้อความในป้ายที่เขียน และตอนนี้ทะลุแก๊ซหลาย ๆ คนออกจากคุกมาไม่มีงานทำ บางคนไม่มีที่อยู่เพราะเจ้าของหอพักเอาห้องคืนเมื่อครั้งเข้าเรือนจำ 


จิรภาส ได้กล่าวต่อในฐานะตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊ซว่า เรื่องการโดนสลายการชุมนุมไม่ได้ทำให้เราอยากหยุดเคลื่อนไหว เราไม่ได้มีความกลัว เพราะถ้ากลัวคงไม่ทำตั้งแต่แรก และสิ่งที่ถูกกระทำ ทำให้รู้สึกเจ็บแค้น ยิ่งเลิกสู้ไม่ได้


ตอนนี้เองทางกลุ่มทะลุแก๊ซเริ่มมาช่วยม็อบชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเนื่องจากความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นในที่ทำกินที่อยู่อาศัย ก็ไปเป็นการ์ด อำนวยความสะดวก ไปร่วมทำกิจกรรมยืนหยุดขังเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ แต่เราก็ยังโดนดำเนินคดี เราไม่เคยใช้ความรุนแรงกับรัฐก่อน เพราะเราโดนตราหน้าจากฝั่งเดียวกันเยอะว่าเราใช้ความรุนแรง เราจึงพยายามต่อสู้ในเชิงสันติวิธีกันอยู่ ครั้งล่าสุดเราก็ไม่ได้ทำอะไรไปแต่ก็ยังโดนดำเนินคดี


ด้านธนาพงศ์ ระบุว่า ตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปี 2563 นอกจากรัฐจะใช้กำลังกับประชาชนแล้ว ยังใช้กับสื่อด้วย ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อวิชาชีพสื่อมวลชนคือการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน ตั้งแต่การชุมนุม 2563 รัฐมีเทคนิควิธีการหลากหลายรูปแบบ มันเป็นความโกลาหลทางกฎหมาย ตั้งแต่การบังคับให้ติดปลอกแขนต้องมีบัตรสื่อ บัตรบริษัท มีบัตรกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราจะเห็นความรุนแรงในเชิงการจำกัดเสรีภาพกับสื่อมากเป็นพิเศษ รวมถึงการจำกัดพื้นที่การทำงานในพื้นที่การชุมนุมโดยอ้างเรื่องเหตุแห่งความปลอดภัย แต่นั่นทำให้สื่อทำงานไม่ได้เพราะถูกกันไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถถ่ายภาพหรือเห็นเหตุการณ์ได้เลย นอกจากสื่อแล้วก็ยังมีผู้สังเกตการณ์นักวิจัยที่ไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุมก็จะถูกกันออกนอกพื้นที่


ความรุนแรงที่รัฐเองเลือกใช้วิธีการจัดการกับหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน อย่างทะลุฟ้าก็ได้รับความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมายหรือการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ในส่วนทะลุแก๊ซที่จิรภาสเคยบอกว่าเป็นเด็กหลังสังคม ไม่ได้ถูกสังคมสนใจ และมองข้ามอยู่เสมอ เป็นคนจนเมืองรุ่นใหม่ และจะถูกกระทำความรุนแรงโดยตรงได้ค่อนข้างง่าย เขาเลยจะกระทำด้วยการกดดันเพื่อนบ้านให้เกลียดชังเรา ให้มองว่าเราเป็นตัวปัญหา และในส่วนบุ้งและใบปออาจจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ จึงเลือกใช้อีกวิธีหนึ่งในการคุกคามและกดดัน


ธนาพงศ์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐได้ทำมานั้น ต่อให้ประชาชนไม่ออกมาบนท้องถนน ประชาชนก็จะไม่กลับไปคิดแบบเดิมอีกแล้วแน่นอน ถ้าเราดูจากกระแสในโซเชียลตั้งแต่มีการชุมนุม 2563 ซึ่งจะต่างจากม็อบก่อน ๆ ที่จะพูดถึงในเรื่องปัญหาของรัฐบาลและการเมือง การชุมนุม 2563 เป็นต้นมาจะพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงสิทธิมนุษยชน เต็มไปหมดบนโลกออนไลน์ นั่นเพราะประชาชนเกิดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้นเป็นลำดับ จึงรู้สึกว่าความคิดนั้นมันเปลี่ยนมาแล้ว และจะไม่เปลี่ยนกลับไปแบบเดิมแน่นอน และปีศาจที่เราเผชิญกันในวันนั้น 6 ตุลา 2519 ก็เป็นตัวเดียวกันกับที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ แต่ด้วยการเมืองโลก ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ก็จะทำให้ปีศาจตัวนั้นอ่อนแรงลงแล้ว ให้ฝ่ายเราจับมือกันไว้แน่น ๆ ปีศาจอาจเปลี่ยนไป และจะกลายเป็นปีศาจที่ต้องมาเผชิญหน้ากับเราแทน ธนาพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้งานเสวนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ #6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ คณะก้าวหน้า และ Common School สามารถเข้าชมนิทรรศการได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #6ตุลา #ทะลุฟ้า #ทะลุแก๊ซ #ทะลุวัง