วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เสวนา"6 ตุลากับ 112" ชวนถกปัญหามาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกมาตรานี้

 


เสวนา"6 ตุลากับ 112" ชวนถกปัญหามาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกมาตรานี้


วันนี้ (15 ต.ค. 65) ที่ KINJAI CONTEMPORARY เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เวลา 17.30 น. ได้จัดกิจกรรมเสวนา "6 ตุลากับ 112" ซึ่งเป็นวงที่จะชวนผู้ฟังตั้งคำถามถึงปัญหาของ มาตรา 112 และความเป็นไปได้ในการยกเลิกมาตรานี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง อานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ และดำเนินรายการโดย พรรณิการ์ วานิช  


นายอธึกกิต กล่าวว่า เวลาย้อนเรื่อง 112 เราจะพบว่าคนรุ่นใหม่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่จริง ๆ แล้ว ใน 6 ตุลา คนโดน 112 ไม่ได้เยอะขนาดนั้น ซึ่งสมัยก่อนนั้นยังมีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันได้ แต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้เอากฎหมายนี้เข้ามารวมกับกฎหมายความมั่นคง ซึ่งใน 6 ตุลา รัฐก็ได้เพิ่มโทษดังกล่าว โดยในการใช้จริง ๆ 18 รายที่โดนก็ขึ้นศาลทหาร แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกยกเลิกโดยการนิรโทษกรรมในเวลาต่อมา 


ถ้าพูดถึง 112 ในช่วงนั้นคือใช้โดยทหาร ซึ่งเมื่อขึ้นศาลแล้วก็มีการสืบพยาน แต่กลับกันคดีหลัง ๆ ในหลาย 10 ปีนี้ ไม่มีการสืบพยานแล้ว 


6 ตุลา มีจุดร่วมคือการอ้างสถาบันมาเพื่อ อ้างแล้วฆ่า แต่ไม่ได้ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือ ดำเนินคดีโดยไร้เหตุผล ไม่มีหลักการทางกฎหมาย มันเป็นการเลือกปฎิบัติต่อตัวบุคคล นายอธึกกิต กล่าว


ขณะที่นายอานนท์ ระบุว่า ในการมองคดี 112 ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงที่มีวิกฤติการเมืองก็จะมี คดี 112 มาโดยตลอด ส่วนหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับคนรุ่นใหม่ก็มีกลุ่มของเขา อัยการก็เป็นคนที่เรียนกฎหมายมา แต่น่าแปลกที่มีการตีความในคดีที่รู้สึกว่าค่อนข้างคาใจ 


คนสมัยใหม่ รู้สึกว่าการตีความคดี 112 นั้นไม่สมเหตุสมผล ปัญหาของ 112 กลายเป็นปัญหาทั้งระบบ ซึ่งห้ามพูดอะไรที่ทำให้เสื่อมเสียแม้จะเป็นเรื่องจริง ซึ่งปัจจุบันเรากำลังเจอกับความวิปริตในการตีความคดีครั้งนี้ 


นายอานนท์ ได้กล่าวต่อว่า ชนชั้นนำไทยใช้ศาลเป็นเครื่องมือที่ใช้พยุงอะไรบางอย่างไว้ ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ใช้พยุงอาจถูกทำร้ายไปด้วย มันมีความชอบธรรมบางอย่างที่ไม่ปกติขึ้นมา มันเริ่มมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งที่ยกฟ้อง คดี 112 ซึ่งนั่นหมายถึงไม่อาจปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ต่อไปอีกแล้ว การตัดสินของศาลควรจะสมเหตุสมผล และทำให้ทุกคนเคารพในกระบวนการศาลในครั้งนั้นได้


นายอานนท์ยังกล่าวอีกว่า ความเป็นได้ของการแก้ไข หรือยกเลิก 112 ถ้าสถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริง มันจะยกเลิก 112 ได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีทางยกเลิกได้ สังคมเรากำลังเขยิบขึ้นไปข้างหน้า แต่คนที่เป็นแกนกลางของปัญหาพยายามที่จะย้อนกลับไปในอดีต แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่สามารถปิดกั้นคนรุ่นใหม่ได้ ทั้งนี้หากชนชั้นนำไทยไม่ปรับตัวคงอยู่ได้ยาก ซึ่งหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่มีทางแก้ไขหรือยกเลิก 112 ได้ ซึ่งในประเด็นนี้พรรคการเมืองต้องซื้อความคิดคนรุ่นใหม่หากพรรคการเมืองยังยึดติดสิ่งเดิม ๆ ก็คงไปไม่รอด 


ด้านน.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า เราไม่สามารถตัดสถาบันออกจากการเมืองไปได้เลย มันชัดเจนอยู่แล้วว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการทิ้งคำถาม จุดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังคืออะไรนั้น ก็คือความจงรักภักดี และการที่ประชาชนในสังคมไทยติดกรอบ 112 ทำให้ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย


สถานการณ์ตอนนี้กลับกัน สังคมไทยต้องการพูดถึงสถาบันมากยิ่งขึ้น และก็มีความเชื่อของกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าหากไม่มี 112 สถาบันอยู่ไม่ได้ แต่จริงๆแล้ว 112 หรือไม่ที่จะทำให้สถาบันอยู่ไม่ได้ 


น.ส.ภัสราวลี ยังกล่าวอีกว่า ร่างแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เข้าสภาฯได้ ยกเว้น 112 สภาฯบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งนี่ก็จะเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้กันต่อไป หาก 112 ยังไม่สามารถแตะต้องได้แล้วต่อไปจะเป็นยังไง


เรายังมีความหวังเสมอว่าจะยกเลิก 112 ให้ได้ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือทุกครั้งที่ ครย.(คณะราษฎรยกเลิก112) ไปเปิดบูธก็จะมีคนมาร่วมลงชื่อยกเลิก 112 สังคมในปัจจุบันเห็นความสำคัญในการทลายกรอบตรงนี้ทิ้ง และสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นว่า มาตรา 112 ได้เอาความเป็นธรรมออกไปและสร้างบาดแผลต่อคนที่ออกมาต่อสู้จำนวนมาก ดังนั้นมาตรา112 จึงไม่ใช่แค่ต้องการปกป้องคนใดคนนึง แต่กลับนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทิศทางทางอำนาจต่อคนกลุ่มนั้น


มาตรา 112 เป็นกำแพงสำคัญที่ไม่สามารถเปิดพูดคุยกันได้อย่างชัดเจน ถ้ายกเลิกไปได้จะเป็นจุดป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่ออกมาเรียกร้องด้วย น.ส.ภัสราวลี กล่าว


ทั้งนี้งานเสวนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ #6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ คณะก้าวหน้า และ Common School สามารถเข้าชมนิทรรศการได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #6ตุลา